ศาลพิพากษาจำคุก 1 เดือน ปรับ 1 หมื่น ‘ศิลปินช่างสักเชียงใหม่’ ข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานอีก 1 คดี เหตุชุมนุมท่าแพปี 63 แต่รอการลงโทษจำคุก

15 ส.ค. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาคดีของ พึ่งบุญ ใจเย็น ศิลปินช่างสัก ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 จากกรณีตะโกนคำว่า “ควย” จำนวน 5 ครั้ง พร้อมกับการสไลด์สเก็ตบอร์ดไปรอบรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังยืนประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงให้ยุติการชุมนุมอยู่บนหลังรถตำรวจ ในเหตุการณ์ชุมนุมของนักศึกษาและประชาชน เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 ณ ข่วงประตูท่าแพ 

คดีนี้เป็นคดีดูหมิ่นเจ้าพนักงานคดีที่สองของพึ่งบุญ ซึ่งมีพฤติการณ์การกระทำใกล้เคียงกับคดีแรกที่ศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษาลงโทษจำคุก 1 เดือน ปรับ 10,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี และคุมประพฤติ ทำประโยชน์สาธารณะเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนเช่นกัน

.

เวลา 10.00 น. ณรงค์กฤษณ์ นิมโรธรรม ผู้พิพากษาศาลแขวงเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องโจทก์

คำพิพากษาสรุปได้ว่า พยานหลักฐานรับฟังเป็นที่ยุติว่าขณะ พ.ต.อ.ภูวนาถ ดวงดี ผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงใหม่ ใช้เครื่องขยายเสียงประกาศอยู่ในงานชุมนุม ที่ลานประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 จำเลยได้ไถสเก็ตเข้าไปและตะโกนคำว่า “ควย” 5 ครั้ง จำเลยก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำ

ศาลเห็นว่าการที่จำเลยตะโกนคำว่า “ควย” ใส่ผู้เสียหาย จำเลยย่อมมีเจตนากล่าวใส่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าเป็นการระบายความอัดอั้นตันใจและรู้สึกโกรธนั้นฟังไม่ขึ้น ทั้งคำว่า “ควย” วิญญูชนทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นคำหยาบคาย เป็นการลดทอนคุณค่าอย่างรุนแรง ทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทั้งนี้สิทธิการเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะสามารถกระทำได้ แต่จะต้องอยู่ในขอบเขตและไม่เป็นการกระทบสิทธิของบุคคลอื่น

ส่วนการที่จำเลยอ้างว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงานที่ไม่ได้ปฏิบัติการตามกฎหมายนั้น เห็นว่าในห้วงเวลาดังกล่าวมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้กำหนดให้ข้าราชการตำรวจ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ หน้าที่หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในเขตท้องที่ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 

คดีนี้เหตุเกิดขึ้นที่ตำบลศรีภูมิ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตรับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ ซึ่งในขณะนั้นผู้เสียหายดำรงตำแหน่งเป็นผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่

พยานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ทำให้ได้รับความอับอาย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง อย่างไรก็ดีตามทางพิจารณาปรากฏหนังสือการตรวจสุขภาพจิตของจำเลย และปรากฏว่าจำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าว โดยไม่กล่าวคำใดๆ อื่นอีก

ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 จำคุก 1 เดือน ปรับ 10,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและรายงานสืบเสาะพินิจแล้ว เห็นว่าจำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าว เนื่องจากความไม่พอใจผู้เสียหาย โดยไม่ปรากฏว่ามีการกระทำหรือกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นอย่างอื่นอีก ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำหรือกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นอย่างอื่น ประกอบกับจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดีโทษจำคุกจึงให้รอลงโทษไว้ 2 ปี  

ศาลให้คุมประพฤติจำเลยมีกำหนด 1 ปี ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติสามเดือนต่อครั้ง ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด ให้จำเลยกระทำกิจกรรมทางสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 

ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีแรกของศาลนี้ เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลพิพากษาให้รอการลงโทษจึงไม่อาจนับโทษต่อได้

ทั้งนี้ หลังฟังคำพิพากษา พึ่งบุญได้ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาของศาล โดยเป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

.

ภาพขณะ พ.ต.อ.ภูวนาท ดวงดี ประกาศแจ้งเตือนการชุมนุม (ภาพจากมติชนสุดสัปดาห์)

.

สำหรับคดีนี้ พึ่งบุญถูกตำรวจ สภ.เมืองเชียงใหม่ แจ้งข้อกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 ขณะการชุมนุมบริเวณประตูท่าแพ พ.ต.อ.ภูวนาถ ดวงดี ได้ใช้เครื่องขยายเสียงประกาศแจ้งเตือนการชุมนุม เพื่อให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมเนื่องจากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พึ่งบุญได้ใช้สเก็ตบอร์ดแล่นรอบรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจและตะโกนคำว่า “ควย” เป็นการดูถูกเหยียดหยาม ทำให้อับอาย ต่อมาพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีต่อศาลแขวงเชียงใหม่

คดีนี้ศาลได้สืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 26-27 พ.ค. 2565 โดยฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า หากจะเป็นความผิดตามข้อกล่าวหา “ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่” จะต้องเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ขณะปฏิบัติหน้าที่ แต่จากกฎหมายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างและใช้ในการประกาศเตือนประชาชนในวันเกิดเหตุนั้น ไม่ได้ระบุขอบเขตไว้อย่างชัดเจนว่าตำรวจเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่เพียงใด ทำให้ความเป็นเจ้าพนักงานตามข้อกล่าวหายังไม่ชัดเจน อาศัยเพียงสถานะความเป็นเจ้าพนักงานตำรวจนั้น ยังไม่เพียงพอจะอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้

จนถึงปัจจุบัน พึ่งบุญถูกกล่าวหาในคดีเกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมืองรวม 6 คดี มีคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว 3 คดี คือ คดีดูหมิ่นเจ้าพนักงานในการชุมนุมวันที่ 29 ก.ค. 2563, คดีดูหมิ่นเจ้าพนักงานในการชุมนุมวันที่ 9 ส.ค. 2563 และ คดีเขียนป้ายจราจร ‘ประเทศทวย’ ซึ่งศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกและปรับจำเลยทั้งสามคดี โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ทั้งหมด 

ส่วนอีก 2 คดีเป็นคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการร่วมชุมนุม ซึ่งยังอยู่ในชั้นสอบสวน นอกจากนั้นยังมีคดีตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ จากกรณีร่วมแสดงงานศิลปะกระดาษทิชชู่ที่มีหมายเรียกมาตรา 112 ซึ่งคดีนี้สิ้นสุดไปแล้ว เนื่องจากอัยการไมไ่ด้สั่งฟ้องภายในอายุความ

.

อ่านบันทึกการสืบพยานคดีนี้

ประมวลปากคำพยานคดี “พึ่งบุญ” ศิลปินช่างสัก ถูกฟ้องดูหมิ่นเจ้าพนักงาน คดีที่ 2 ระหว่างชุมนุมเชียงใหม่ ก.ค. 63

.

X