ประมวลปากคำพยานคดี “พึ่งบุญ” ศิลปินช่างสัก ถูกฟ้องดูหมิ่นเจ้าพนักงาน คดีที่ 2 ระหว่างชุมนุมเชียงใหม่ ก.ค. 63

วันที่ 15 ส.ค. 2565 นี้ เวลา 9.00 น. ศาลแขวงเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของพึ่งบุญ ใจเย็น ศิลปินช่างสัก ที่ถูกฟ้องในข้อกล่าวหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 จากกรณีตะโกนคำว่า “ควย” พร้อมกับการสไลด์สเก็ตบอร์ดไปรอบรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในระหว่างการชุมนุมของนักศึกษาประชาชน เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 ณ ข่วงประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ขณะที่ตำรวจใช้เครื่องเสียงประกาศ อ้างว่าการชุมนุมเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จนสร้างความไม่พอใจให้ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมตะโกนโห่ร้องใส่

คดีนี้นับเป็นคดีข้อกล่าวหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานคดีที่ 2 ที่พึ่งบุญถูกกล่าวหา โดยในคดีแรกเกิดจากเหตุลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่เป็นการชุมนุมคนละเหตุการณ์กัน คือคดีจากการชุมนุมที่ข่วงประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2563 โดยศาลแขวงเชียงใหม่และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่ามีความผิดในคดีแรกนี้ ลงโทษจำคุก 1 เดือน แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี

สำหรับคดีที่ 2 ศาลมีการสืบพยานโจทก์และจำเลยไประหว่างวันที่ 26-27 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ข้อต่อสู้ของฝ่ายจำเลย ได้แก่ หากจะเป็นความผิดตามข้อกล่าวหา “ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่” จะต้องเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ขณะปฏิบัติหน้าที่ แต่จากกฎหมายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างและใช้ในการประกาศเตือนประชาชนในวันเกิดเหตุนั้น ไม่ได้ระบุขอบเขตไว้อย่างชัดเจนว่าตำรวจเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่เพียงใด ทำให้ความเป็นเจ้าพนักงานตามข้อกล่าวหายังไม่ชัดเจน อาศัยเพียงสถานะความเป็นเจ้าพนักงานตำรวจนั้น ยังไม่เพียงพอจะอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้

อีกทั้งจำเลยในคดีนี้ยังร่วมอยู่ในการชุมนุมสาธารณะที่ประชาชนเกิดความไม่พอใจต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนเกิดการตะโกนโห่ร้อง รวมถึงตัวจำเลยก็เพียงได้ร่วมส่งเสียงด้วยถ้อยคำไม่สุภาพเท่านั้น ไม่ได้เจาะจงไปยังบุคคลใดเป็นพิเศษ โดยยังมีถ้อยคำตะโกนอื่นๆ ของจำเลย อาทิ “ตำรวจต้องรับใช้ประชาชน” ที่ไม่ถูกฝ่ายโจทก์นำเสนอ แต่ปรากฏในคลิปเหตุการณ์ การที่ พ.ต.อ.ภูวนาท ดวงดี ผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงใหม่ กล่าวหาว่าจำเลยได้ดูหมิ่นตนนั้นจึงยังไม่เข้าองค์ประกอบ การตีความและกล่าวหาจำเลยเป็นการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม และมีวัตถุประสงค์เพื่อจะปิดปากประชาชน

ก่อนฟังคำพิพากษา ชวนทบทวนการต่อสู้คดีนี้ ผ่านปากคำพยานที่ทั้งสองฝ่ายนำขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาล

.

ศาลถามคำให้การอีกครั้ง ขณะจำเลยยืนยันขอต่อสู้คดี

ก่อนเริ่มการสืบพยาน ศาลได้สอบถามเหตุการณ์และข้อมูลคดี พร้อมสอบถามว่าจะต่อสู้คดีจริงหรือไม่ หากสู้คดีไปจะไม่มีเหตุที่สามารถลดหย่อนผ่อนโทษ อีกทั้งยังมีการสอบถามถึงประเด็นข้อต่อสู้ของจำเลยและทนายความว่าจะเป็นไปได้เพียงใด เนื่องจากมีข้อมูลที่ทางอัยการได้ยื่นส่งศาลมาด้วย พบว่าก่อนหน้านี้ พึ่งบุญก็เคยมีคดีในลักษณะเดียวกันอีก

จำเลยได้แถลงว่าในคดีที่เป็นข้อกล่าวหาเรื่องการดูหมิ่นเจ้าพนักงานนั้น มีเพียง 3 คดี ส่วนคดีอื่นๆ แม้จะเกิดจากการชุมนุมเช่นกัน แต่ก็เป็นข้อกล่าวหาอื่นๆ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เป็นต้น

ทนายความได้ขอพักการพิจารณาก่อนเริ่มสืบพยาน เพื่อพูดคุยและปรึกษาถึงทางเลือกในคดีกับลูกความอีกครั้งก่อน หลังจากใช้เวลาราว 5 นาที พึ่งบุญได้ยืนยันว่าจะขอให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีจนถึงที่สุด โดยพร้อมรับผลของคดีที่จะเกิดขึ้นตามมา ศาลจึงเริ่มการสืบพยาน โดยสืบพยานฝ่ายโจทก์ทั้งหมด 3 ปาก และฝ่ายจำเลย 3 ปาก

.

ภาพขณะ พ.ต.อ.ภูวนาท ดวงดี ประกาศแจ้งเตือนการชุมนุม (ภาพจากมติชนสุดสัปดาห์)

.

ผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงใหม่: ผู้กล่าวหาเห็นว่าถ้อยคำจำเลย เป็นการด่าทอพยานขณะปฏิบัติหน้าที่

พยานโจทก์ปากที่ 1 ที่ขึ้นเบิกความได้แก่ พ.ต.อ.ภูวนาท ดวงดี ผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ปลายปี 2562 ถึงปัจจุบัน เป็นผู้เสียหายและผู้กล่าวหาในคดีนี้

พ.ต.อ.ภูวนาท เบิกความเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 ประมาณ 18.00 น. ที่ลานประตูท่าแพ มีการชุมนุมและเรียกร้องทางการเมือง ผู้เข้าร่วมประมาณหลักร้อยคนขึ้นไป ลักษณะมีแกนนำปราศรัย และมีประชาชนยืนและนั่งรับฟังในลักษณะแออัด ขณะนั้นพยานเป็นหัวหน้าผู้ควบคุมและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉิน อาศัยอำนาจตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในข้อ 4 และข้อ 5 ทำให้พยานมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมแก้ไขและสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม หากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พ.ต.อ.ภูวนาท จึงได้ใช้เครื่องขยายเสียงประกาศเตือนให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม เวลาประมาณ 18.10 น. ขณะที่มีการประกาศแต่งกายด้วยเครื่องแบบตำรวจ โดยรถตำรวจห่างกับผู้ชุมนุมประมาณ 20 เมตร ขณะนั้นมีตำรวจยืนด้านข้างและด้านหน้าด้วยประมาณ 10 คน และมี ส.ต.ท.เมธาสิทธิ์ ได้บันทึกวิดีโอระหว่างที่ พ.ต.อ.ภูวนาท ประกาศไว้

ขณะนั้นจำเลยได้ไถลองบอร์ด มาที่ พ.ต.อ.ภูวนาท พร้อมวนรอบรถ แล้วตะโกนด่าพยานว่า “ควย” 5 ครั้ง พ.ต.อ.ภูวนาท ได้ยินถ้อยคำดังกล่าวเพราะว่าบริเวณรอบรถไม่มีผู้ชุมนุมอยู่ พ.ต.อ.ภูวนาท เชื่อว่าเป็นการด่าตนเอง เพราะปกติการชุมนุมปราศรัยก็ไม่มีคำหยาบคาย แต่จำเลยมาด่าใกล้ตนเองที่อยู่บนรถ เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นการด่าตำรวจคนอื่น

พ.ต.อ.ภูวนาท เห็นว่าถ้อยคำดังกล่าวเป็นคำหยาบคาย ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกลดคุณค่า ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดและเกลียดชังต่อตนเอง จึงรวบรวมหลักฐานแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี โดยไปให้การประมาณวันที่ 27 ส.ค. 2563 โดยได้มอบวัตถุพยานให้พนักงานสอบสวนไว้ในรูปของแผ่นซีดี บันทึกวิดีโอของวันเกิดเหตุ

ตอบทนายความจำเลยถามค้าน ในส่วนที่ พ.ต.อ.ภูวนาท เบิกความว่าเป็นเจ้าพนักงานตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีนั้น พบว่าคำสั่งเป็นการแต่งตั้งในระดับปลัดกระทรวงและผู้บัญชาการทหารสูงสุดเท่านั้น แต่ พ.ต.อ.ภูวนาท เบิกความยืนยันว่าตนเองเป็นเจ้าพนักงานที่ได้รับการแต่งตั้ง ทนายความจึงได้สอบถามต่อว่าได้มีการส่งเอกสารการแต่งตั้ง พ.ต.อ.ภูวนาท เป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาสู่ศาลหรือไม่  พ.ต.อ.ภูวนาท ระบุว่าไม่มี

อีกทั้งจากคำสั่งนายกฯ ฉบับดังกล่าว การจะทำหน้าที่เป็น “เจ้าพนักงาน” ต้องได้รับมอบหมายจากหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ต.อ.ภูวนาท รับว่าใช่

ในการถามค้านของทนายความ พ.ต.อ.ภูวนาท ได้รับว่าสถานที่เกิดเหตุเป็นลานกว้าง โล่งแจ้ง การชุมนุมดังกล่าวเป็นไปโดยสงบไม่ได้เกิดความรุนแรง ไม่ได้มีการยุยงให้ไปกระทำผิดกฎหมาย ส่วนเรื่องสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดเชียงใหม่ ขณะนั้นพยานไม่ทราบแน่ชัด

สุดท้ายทนายได้ซักถามเกี่ยวกับจำเลยในวันเกิดเหตุ โดย พ.ต.อ.ภูวนาท ยอมรับว่า นอกจากพึ่งบุญแล้ว ก็ได้มีผู้ชุมนุมคนอื่นๆ  ตะโกนโห่ร้องไปพร้อมกันจากวิดีโอหลักฐานที่ตำรวจบันทึกไว้ อีกทั้งการตะโกนของพึ่งบุญไม่ได้หยุดต่อหน้าตนเองแล้วตะโกนด่า เป็นการใช้สเก็ตบอร์ดไถไปรอบๆ มีการชำเลืองมองตนเอง ขณะที่มีการประกาศแจ้งเตือนด้วยเครื่องเสียงนั้น ก็มีเสียงดังประกอบกับการโห่ร้องตะโกนของผู้ชุมนุมด้วย ตนเองนอกจากประกาศแล้ว ก็สนใจสิ่งรอบข้างด้วย แม้ในวิดีโอหลักฐาน พยานจะไม่ได้หันมองระหว่างที่พึ่งบุญตะโกนก็ตาม

พ.ต.อ.ภูวนาท ระบุอีกว่า ได้ยินจำเลยตะโกนเพียงคำว่า “ควย” ไม่ได้ยินประโยคอื่นๆ เช่นประโยคที่ว่า “รับใช้ประชาชนแล้วกูจะเคารพ” เพราะมัวแต่ตั้งสมาธิไปที่การประกาศ โดยคำว่า “ควย” ไม่ได้มีการเจาะจงชื่อตนหรือเจาะจงว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ทั้งนี้ระหว่างการถามค้าน ศาลได้หันไปสอบถามจำเลยถึงความตั้งใจในการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาด้วย และสอบถามว่าหากผู้มาด่าเราแบบนี้ เราจะไม่พอใจหรือไม่ ศาลพยายามดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถ้าศาลบอกว่าไม่ผิด จำเลยจะไปทำอีกกี่ครั้งละ ก่อนจะให้ทนายความจำเลยถามค้านต่อไป

.

ภาพการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ข่วงประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 63 (ภาพจาก ilaw)

.

ตำรวจผู้ถ่ายวิดีโอ: จากคลิป ผู้กำกับไม่ได้สนใจจำเลยขณะตะโกน และจำเลยก็ไม่ได้มองผู้กำกับขณะไถสเก็ตบอร์ด

พยานโจทก์ปากที่ 2 ที่อัยการนำเข้าเบิกความต่อศาลสั้นๆ คือ ส.ต.อ.เมธาสิทธิ์ เบ้าพิมพา รับราชการตำรวจ สภ.เมืองเชียงใหม่ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ป้องกันและปราบปราม ตั้งแต่ปี 2560 – ปัจจุบัน เป็นผู้ถ่ายวิดีโอเหตุการณ์ในคดีนี้ไว้

คดีนี้วันที่ 29 ก.ค. 2563 เวลาประมาณ 15.00 น. ส.ต.อ.เมธาสิทธิ์ เดินทางไปติดตามการชุมนุมที่ลานท่าแพ โดยได้รับมอบหมายให้เป็นพลขับของรองผู้กำกับฯ และวันนั้น พ.ต.อ.ภูวนาท ผู้กำกับ ให้พยานบันทึกวิดีโอ ขณะที่นำรถตำรวจเข้ามาจอดและประกาศต่อผู้ชุมนุมในเวลาประมาณ 18.00 น.

พ.ต.อ.ภูวนาท ได้ประกาศเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ใกล้กับผู้ชุมนุม โดยยืนบนรถกระบะสายตรวจ หันหน้าเข้าทางผู้ชุมนุม แต่งตัวใส่เครื่องแบบตำรวจ ส่วนพยานยืนด้านข้างซ้ายตัวรถ ขณะประกาศ ผู้ชุมนุมก็ได้โห่ร้องและมีจำเลยไถสเก็ตมารอบรถตำรวจและตะโกน “ควย” 5 ครั้ง

พยานเห็นว่า ถ้อยคำเป็นการด่าทอ พ.ต.อ.ภูวนาท ที่คิดเช่นนั้นเพราะมีการหันหน้าหาผู้กำกับและตะโกน ขณะนั้นพยานได้บันทึกวิดีโออยู่ เมื่อได้ยินถ้อยคำ ทำให้ตนเองตกใจและทึ่ง เห็นว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยามและดูหมิ่น พ.ต.อ.ภูวนาท ซึ่ง ประกาศตามหน้าที่ หลังเกิดเหตุพยานก็ได้ไปให้การกับพนักงานสอบสวนไว้

ตอบทนายความจำเลยถามค้าน ส.ต.อ.เมธาสิทธิ์ เบิกความรับว่าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ต.อ.ภูวนาท ต้องทำตามคำสั่ง วันเกิดเหตุได้ทำการบันทึกวิดีโอเฉพาะช่วงที่ พ.ต.อ.ภูวนาท ทำการประกาศ ส่วนที่เคยให้การกับพนักงานสอบสวนว่าการชุมนุมเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่จริงๆ แล้วพยานไม่ทราบว่าผิดกฎหมายไหม ส่วนกฎหมาย พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พยานพอจะเข้าใจบ้าง แต่ไม่ทราบรายละเอียดว่าคำสั่งนายกฯ เป็นคำสั่งอะไร เนื้อหาอย่างไร

ส่วนเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับจำเลย ส.ต.อ.เมธาสิทธิ์ รับว่า ตามวิดีโอหลักฐานเห็นว่า พ.ต.อ.ภูวนาท ไม่ได้สนใจจำเลยขณะประกาศและตลอดเหตุการณ์ จำเลยเองก็ไม่ได้เงยหน้าขึ้นมอง พ.ต.อ.ภูวนาท ที่ได้เบิกความว่าถ้อยคำตะโกนทำให้ พ.ต.อ.ภูวนาท เสียหาย เป็นความเชื่อของตนเอง ส่วนผู้กำกับฯ จะเสื่อมเสียจริงหรือไม่นั้นไม่ทราบ และผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ต.อ.ภูวนาท ก็ยังทำตามคำสั่งเช่นเดิม

.

ภาพการชุมนุมที่ข่วงประตูท่าแพวันที่ 29 ก.ค. 2563 (ภาพจากมติชนสุดสัปดาห์)

.

พนักงานสอบสวน: ตามคำสั่งนายกฯ ที่โจทก์อ้าง ไม่ได้แต่งตั้งผู้กำกับฯ เป็นเจ้าพนักงาน และไม่ได้ให้อำนาจประกาศแจ้งห้ามชุมนุม

พยานโจทก์ปากสุดท้ายปากที่ 3 ที่อัยการนำขึ้นเบิกความคือ ร.ต.อ.อมรเทพ ชุมวิสูตร พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ รับผิดชอบสอบสวนคดีนี้ รับราชการตำรวจมาตั้งแต่ปี 2561 – ปัจจุบัน 

เหตุในคดีนี้ เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2563 พ.ต.อ.ภูวนาท ได้มากล่าวโทษกับจำเลยในคดีนี้ ว่าเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 เวลาประมาณ 18.18 น. ขณะที่ผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงใหม่ ประกาศเตือนผู้ชุมนุมบริเวณลานท่าแพ ที่เป็นการชุมนุมทางการเมืองเนื่องจากวันเกิดเหตุมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องห้ามไม่ให้มีการชุมนุมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ซึ่ง พ.ต.อ.ภูวนาท มีอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งของนายกฯ ที่ 4/2563 การชุมนุมขณะนั้นเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

ขณะนั้น จำเลยในคดีนี้ได้ไถสเก็ตบอร์ดรอบรถตำรวจ พร้อมตะโกนคำว่า “ควย” 5 ครั้ง อันเป็นการกล่าวต่อ พ.ต.อ.ภูวนาท ที่กำลังยืนประกาศแจ้งเตือนในที่ชุมนุม ร.ต.อ.อมรเทพ จึงได้สอบปากคำผู้กล่าวหาและพยานไว้

ต่อมาวันที่ 31 ส.ค. 2563 ได้แจ้งข้อหาต่อพึ่งบุญว่า ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 พึ่งบุญให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยมีทนายความร่วมอยู่ด้วย จากนั้นวันที่ 8 ก.ย. 2563 ได้มีการเรียกพึ่งบุญมาแจ้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเรื่องผู้กำกับเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากที่ก่อนหน้านี้แจ้งว่าผู้กำกับเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ในช่วงตอบทนายจำเลยถามค้าน ทนายได้ถามถึงในส่วนเอกสารการแจ้งข้อกล่าวหาจำเลย ที่มีการพิมพ์วันที่ผิดจากวันที่ 29 ก.ค. 2563 เป็นวันที่ 9 ส.ค. 2563 ซึ่งไปตรงกับอีกคดีหนึ่งที่จำเลยถูกกล่าวหา และชื่อผู้กล่าวหาในคดีนี้ก็พิมพ์ผิดเป็นผู้กล่าวหาในอีกคดีหนึ่ง คือ พ.ต.ท.มนัสชัย อินทร์เถื่อน รองผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงใหม่ แต่ศาลได้ขัดทนายความขึ้นมาว่าศาลไม่อยากให้เอาอีกคดีมาพัวพัน ศาลจะบันทึกเพียงว่าบันทึกนั้นลงผิดพลาด

ทนายความจึงได้ถามค้าน ร.ต.อ.อมรเทพ ต่อไปว่า คดีนี้ไม่ได้มีการจัดทำแผนที่เกิดเหตุ เหตุการณ์ต่างๆ มาจากคำบอกเล่าของผู้กล่าวหาเท่านั้น ส่วนที่ทนายความสอบถามว่าวันที่ 27 ส.ค. 2563 พ.ต.อ.ภูวนาท ผู้กำกับมาแจ้งความพร้อม พ.ต.ท.มนัสชัย ได้สอบสวนวันเดียวกัน และได้ทำการสอบปากคำเสร็จสิ้นวันนั้นเลยหรือไม่ พยานตอบว่าจำไม่ได้ แต่ในวันแจ้งความร้องทุกข์พ.ต.อ.ภูวนาท ไม่ได้นำเอกสารคำสั่งนายกฯ ที่ 4/2563 หรือเอกสารการแต่งตั้งอื่นๆ มามอบไว้ให้พนักงานสอบสวน แต่เป็นการแนะนำของหัวหน้างานสอบสวนให้อ้างอิงเอกสารฉบับดังกล่าวเข้ามาในคดีด้วย

ต่อมาทนายความได้สอบถามว่า ผู้กำกับการสถานีตำรวจเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตามคำสั่งนายกฯ ที่ 4/2563 หรือไม่  ร.ต.อ.อมรเทพ เบิกความว่าเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อทนายความถามย้ำอีกครั้งพร้อมกับให้พยานดูคำสั่งฉบับดังกล่าว พยานกลับตอบว่าไม่ทราบ ในส่วนที่จะเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้เป็น เจ้าพนักงาน” อะไรหรือไม่ ก็ไม่ได้มีเอกสารมาแสดงต่อศาล

จากนั้นทนายความได้สอบถาม ร.ต.อ.อมรเทพ ต่อว่า ในส่วนไหนของคำสั่งนายกฯ ที่ 4/2563 ที่ให้อำนาจในการประกาศเตือนการชุมนุมพร้อมกับให้ดูคำสั่งฉบับดังกล่าว เขาตอบว่า ถ้อยคำที่เขียนว่า “ให้ประกาศเตือนห้ามชุมนุม” นั้นไม่มี

เมื่อทนายความสอบถามว่าการประกาศเตือนของ พ.ต.อ.ภูวนาท มาจากความร้ายแรงของโรคโควิด-19 ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.อมรเทพตอบว่าใช่ ทนายความจึงได้สอบถามว่าเขาได้ทำการตรวจสอบข้อมูลตัวเลขผู้ติดโรคโควิด-19 ที่ช่วงนั้นมีคนติดเชื้อเป็น 0 คนหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้สืบค้น

ศาลได้สอบถาม ร.ต.อ.อมรเทพ เองว่าที่ พ.ต.อ.ภูวนาท ไปประกาศ เอาอำนาจหน้าที่อะไรไปประกาศ พยานตอบว่าช่วงนั้นมีการแพร่ระบาดของโควิด -19 การที่ตำรวจไปประกาศก็เพื่อควบคุมโรค

จากนั้น ร.ต.อ.อมรเทพ ได้ตอบทนายจำเลย ยอมรับว่าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 ข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ต้องเป็นการทำในหน้าที่ ถ้าไม่ได้ทำในหน้าที่ ก็ไม่ใช่ความผิดในข้อหานี้ และในคดีนี้ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาอื่นๆ อีก

สุดท้ายทนายความจำเลยได้ซักถาม ร.ต.อ.อมรเทพ เรื่องพฤติการณ์ของจำเลยในวันเกิดเหตุว่า จำเลยตะโกนถ้อยคำว่า “ควย” โดยหันหน้าออกไปทางผู้ชุมนุมและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่นๆ บริเวณดังกล่าวด้วย แต่ ร.ต.อ.อมรเทพ ก็ไม่ได้เรียกผู้ชุมนุมหรือตำรวจคนอื่นๆ มาเป็นพยาน อีกทั้งจำเลยยังมีการพูดประโยคอื่นๆ อีก เช่น “ตำรวจต้องรับใช้ประชาชน คนถึงจะเคารพ” เป็นต้น แต่ที่พยานไม่ใส่ข้อความดังกล่าวเข้ามาในคดี เนื่องจากในคดีเป็นข้อกล่าวหาเรื่องการดูหมิ่นเจ้าพนักงาน เมื่อข้อความดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องจึงไม่ใส่เข้ามา

.

.

จำเลยเบิกความ: เห็นว่าตำรวจกำลังข่มขู่ประชาชน จึงตะโกนไปเช่นนั้น โดยไม่ได้เจาะจงตัวบุคคล

ในการสืบพยานจำเลย พึ่งบุญ ใจเย็น จำเลย ได้ขึ้นเบิกความเป็นพยานปากแรก เริ่มเล่าถึงประวัติของตนเองว่าจบการศึกษาระดับ ปวช. โรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์เชียงใหม่ สาขาวิจิตรศิลป์ และยังมีความสนใจในกีฬาสเก็ตบอร์ด เคยชนะรางวัลในการแข่งขันและเคยเข้าคัดเลือกนักกีฬาทีมชาติในปี 2562 นอกจากนั้นยังทำงานจิตอาสาช่วยสังคม ทำแนวกันไฟ ฝายกั้นน้ำ ทำอาหารแจกช่วงโควิด-19 ระบาด และยังมีความสนใจทางการเมืองด้วย เพราะมองว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับกิจกรรมต่างๆ ที่จำเลยทำอยู่ จึงเข้าร่วมการชุมนุมแสดงออกความคิดเห็น โดยมักจะใช้งานศิลปะวาดภาพเพื่อเสียดสีการเมือง

วันเกิดเหตุในเดือน ก.ค. 2563 เวลาประมาณ 17.00-19.00 น. พึ่งบุญได้ไปเข้าร่วมการชุมนุม โดยไถสเก็ตบอร์ดไป ตอนไปถึงก็เห็นการปราศรัยล้อมวงกันอยู่แล้ว แต่เขาจะอยู่วงนอก บริเวณด้านซ้ายของลานประตูท่าแพ จากนั้น ได้มีรถตำรวจมาประกาศให้ยุติการชุมนุม เขาเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจ แทนที่จะมาดูแลการชุมนุม ดูแลความสงบเรียบร้อย แต่กลับมาประกาศให้ยุติการชุมนุม จึงอึดอัด รู้สึกทนไม่ไหว จึงไถสเก็ตบอร์ด เข้าไปตะโกนคำว่า “ควย” เหตุเพราะรู้สึกว่าตำรวจกำลังประกาศข่มขู่ประชาชน

จำเลยมองว่าการชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยสงบ มีการแสดงความคิดเห็นหลังจากเจอปัญหาโควิด-19 และรัฐบาลบริหารบ้านเมืองไม่ถูกต้อง แต่ตำรวจมาประกาศมาข่มขู่ประชาชนว่าเป็นการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ตะโกนด้วยความอัดอั้นตันใจ หลังจากนั้นก็พูดกับตำรวจว่า “รับใช้ประชาชนแล้วคนจะเคารพ”

พึ่งบุญระบุว่าตนเองไม่ได้มีความโกรธเคืองเป็นการส่วนตัว เพียงแค่ไม่รู้จะเรียกร้องจากใคร ทำได้แค่ตะโกนออก สำหรับเขาแล้วรู้สึกว่าเป็นคนตัวเล็กเหลือเกิน ณ ที่ตรงนั้น จึงใช้การส่งเสียงของตนเองเป็นการสื่อสาร โดยไม่ได้รู้จักกับผู้เสียหายหรือตำรวจตรงนั้น

ทนายความได้เปิดวิดีโอเหตุการณ์ให้ดู เป็นภาพพึ่งบุญยืนพูดต่อหน้าตำรวจนายหนึ่ง ที่ไม่ใช่ พ.ต.อ.ภูวนาท ผู้เสียหาย พึ่งบุญอธิบายต่อว่าการตะโกนก็คือส่งเสียงไปให้ผู้ชุมนุมทุกคนในนั้นได้ยิน เพราะคิดว่าหลายคนก็คิดแบบเดียวกัน

ส่วนเรื่องถ้ามีคนมาพูด “ควย” กับเขา ส่วนตัวตนก็คงสงสัยว่าเราทำอะไร อาจจะไปพูดคุยด้วย คำดังกล่าวสำหรับตนเป็นคำอุทานเมื่อคิดอะไรไม่ออกแค่นั้นเอง

สุดท้าย พึ่งบุญเบิกความว่า เขารู้สึกว่าที่โดนคดีทางการเมืองมาถึงตอนนี้ เพราะตกเป็นเป้าหมายของรัฐและการดำเนินคดีกลั่นแกล้งซ้ำๆ

ในช่วงอัยการถามค้าน ว่าในตอนที่จำเลยไปถึงพื้นที่การชุมนุมมีตำรวจอยู่บริเวณนั้นแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้ด่าตำรวจบริเวณนั้น แต่เมื่อ พ.ต.อ.ภูวนาท ประกาศแจ้งเตือน เขาจึงตะโกน โดยที่เห็นว่าผู้ประกาศแต่งกายในเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีกทั้งในการประกาศก็ใช้ถ้อยคำสุภาพ ไม่ได้ใช้กำลังสลายการชุมนุม  พึ่งบุญรับว่าเหตุการณ์เป็นเช่นนั้นจริง แต่ถึงอย่างไรเขาก็เห็นว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เป็นการข่มขู่ประชาชน  

ในการตอบคำถามติง พึ่งบุญจึงได้อธิบายเพิ่มเติมถึงเหตุที่คิดว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำเป็นการข่มขู่นั้น เพราะสิ่งที่ตำรวจทำ ทำให้ประชาชนไขว้เขวว่าการชุมนุมนั้นผิดกฎหมาย และจะถูกดำเนินคดี

.

ภาพการชุมนุมที่ข่วงประตูท่าแพวันที่ 29 ก.ค. 2563 (ภาพจากมติชนสุดสัปดาห์)

.

ผู้สังเกตการณ์การชุมนุม: จำเลยไม่ได้กล่าวเพียงถ้อยคำตามฟ้อง แต่เรียกร้องให้ “ตำรวจรับใช้ประชาชน” การประกาศห้ามชุมนุมยังกระทบสิทธิตาม รธน.

หลังจากจำเลยขึ้นเบิกความแล้ว ฝ่ายจำเลยได้นำพยานบุคคลอีก 2 ปาก ขึ้นเบิกความ คนแรกได้แก่ ชัยพงษ์ สำเนียง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งไปสังเกตการณ์การชุมนุมในวันเกิดเหตุดังกล่าว

ชัยพงษ์เบิกความว่า เหตุที่พยานไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุม เนื่องจากทำวิจัยเรื่องการชุมนุมอยู่ ขณะนั้นพยานเป็นนักวิจัยของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้ไปสังเกตการณ์ในเวลาประมาณ 17.00-19.00 น. การชุมนุมโดยทั่วไปในวันนั้น มีเนื้อหากล่าวถึงการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล และมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก

พยานเล่าวว่าขณะเกิดเหตุ พยานอยู่ใกล้รถตำรวจ เห็นว่ามีประกาศให้ยุติการชุมนุมซึ่งใช้เสียงดัง ผู้ชุมนุมจำนวนมากแสดงความไม่พอใจ โดยการโห่ร้อง สังเกตเห็นจำเลยในคดีนี้ได้ไถสเก็ตบอร์ดไปรอบรถตำรวจ ได้ยินจำเลยพูดคำว่า “ตำรวจต้องรับใช้ประชาชน” ที่เป็นคำมาจากการชุมนุมในกรุงเทพฯ กับอีกคำคือคำว่า “ควย” แต่ก็ไม่ได้คิดว่าเจาะจงถึงใคร เห็นว่าพึ่งบุญก็หันหน้าไปทั่วบริเวณ เพราะไถสเก็ตบอร์ดไปรอบๆ อีกทั้งยังได้ยิน พึ่งบุญพูดว่า “ตำรวจต้องรับใช้ประชาชน” อยู่หลายครั้ง

ส่วนความเห็นต่อคำว่า “ควย” ไม่ได้มีนัยยะดูหมิ่นเป็นการส่วนตัว และเห็นว่าเป็นเพียงคำผรุสวาส คำหยาบธรรมดา อยู่ที่การนำไปประกอบกับบริบท นอกจากนี้ยังเห็นว่าในทางวิชาการ คำหยาบยังสะท้อนถึงการลดความสูงต่ำของสถานะ เป็นคำแสดงความอัดอั้นตันใจรูปแบบหนึ่ง

พยานเห็นว่า ขณะนั้นสถานการณ์การระบาดของโควิดซาลงแล้ว และไม่พบว่ามีการแพร่เชื้อจากการชุมนุม การประกาศของเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจเป็นการรบกวนการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชน การไปร่วมชุมนุมต่างๆ เขาเห็นว่าเป็นสิทธิที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ ภายใต้มาตรการป้องกันโรค และการดูแลของตำรวจที่เอื้อต่อการใช้เสรีภาพ ดูแลความปลอดภัย แต่พบว่าการใช้เสียงประกาศของเจ้าหน้าที่ได้สร้างความยั่วยุ สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน โดยเขาเองก็ถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากเหตุการณ์วันเดียวกันนี้ ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่คดียังอยู่ในชั้นตำรวจ

.

พิธีกรชุมนุม: จังหวะการประกาศของตำรวจ สร้างความไม่พอใจให้ผู้ร่วมชุมนุม มีการโห่ไล่-ชูป้าย

พยานปากสุดท้ายของฝ่ายจำเลยคือ ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับเหตุในคดีนี้ เขาได้ไปร่วมการชุมนุม และเพื่อนนักศึกษาได้ชวนไปช่วยเป็นพิธีกร โดยไม่ได้เตรียมการมาก่อน ทั้งนี้ ประสิทธิ์เองเคยไปร่วมชุมนุมบ่อยครั้ง ทำให้เคยถูกดำเนินคดีมาแล้ว

ประสิทธิ์ เล่าว่าในช่วงชุมนุมขณะนั้น เขาเห็นผ่านเฟซบุ๊กรายงานของจังหวัดเชียงใหม่ว่า ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นแล้ว จึงได้ไปร่วมชุมนุม

เวลาประมาณ 18.00 น. ได้มีตำรวจมาประกาศแจ้งเตือน ซึ่งขณะนั้นก็มีกิจกรรมอยู่ ตำรวจประกาศเนื้อหาทำนองให้ยุติการชุมนุมเพราะขัดต่อกฎหมาย อ้างการระบาดของโควิด คนที่ยืนอยู่ด้านนอกก็ไม่พอใจตำรวจ มีการโห่ไล่ และชูป้ายไล่ตำรวจ ทุกคนในบริเวณดังกล่าวโห่ใส่ตำรวจกัน ในฐานะพิธีกร จึงพยายามแจ้งให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบ กลัวจะมีการปะทะของมวลชนที่ไม่พอใจการกระทำของตำรวจ

ประสิทธิ์เห็นว่า การมาประกาศของตำรวจ ทำให้ผู้ชุมนุมรู้สึกโกรธ ไม่พอใจ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีจังหวะเงียบ ที่ตำรวจสามารถประกาศได้ แต่ไม่ประกาศในจังหวะดังกล่าว เขาเองก็รู้สึกไม่เห็นด้วยกับการประกาศของตำรวจ เพราะการชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ในความเห็นของเขาแล้ว คำว่า “ควย” เห็นว่าไม่ได้ใช้เป็นคำด่าอย่างเดียว ยังถูกใช้ในการสบถหรือตกใจได้ ถ้าจะเป็นคำด่าควรมีการระบุชื่อ ตัวบุคคล หรือสถานะบุคคลนั้นด้วย

สุดท้ายพยานจำเลยทั้งสองปากนี้ อัยการไม่ติดใจที่จะถามค้าน

.

ภายหลังการสืบพยานทั้งหมดเสร็จสิ้น ศาลได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 เวลา 9.00 น. โดยระบุว่าจะต้องมีการส่งร่างคำพิพากษาให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตรวจคำพิพากษาด้วยเพราะเป็น “คดีอ่อนไหว

ประเด็นที่น่าจับตาในคำพิพากษา ได้แก่ กรณีการกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน และไม่ได้นำเสนอเอกสารหลักฐานอย่างชัดเจนต่อศาลนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร และคำว่า “ควย” ที่ถูกตะโกนออกมาด้วยความไม่พอใจต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่จำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้เจาะจงบุคคลใดเป็นการเฉพาะ แต่ผู้เสียหายกลับรู้สึกว่าถูกลดถอนศักดิ์ศรีลงนั้น จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือไม่ อย่างไร

.

X