“เราภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นตัวกลางสื่อสารข้อเรียกร้องของประชาชน”: คุยกับจำเลยคดีคาร์ม็อบสุราษฎร์ธานี ก่อนศาลพิพากษา

ในวันที่ 10 ส.ค. 2565 นี้ ศาลแขวงสุราษฎร์ธานีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของประชาชน 5 คน ที่ถูกฟ้องร้องจากการร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ใช้ชื่อกิจกรรมว่า “ราษฎรสุราษฎร ขับไล่ตู่” เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมีจำเลย 2 ราย ยังถูกฟ้องในเรื่องไม่สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกเคหสถานด้วย

คดีนี้นับเป็นคดีคาร์ม็อบคดีแรกในพื้นที่ทางภาคใต้ที่ศาลกำลังจะมีคำพิพากษา หลังกิจกรรมผ่านไปกว่าหนึ่งปีพอดี น่าสังเกตว่าในภูมิภาคอื่น ยังพอมีคดีคาร์ม็อบที่อัยการสั่งไม่ฟ้องอยู่บ้าง แต่ในภาคใต้ คดีในจังหวัดต่างๆ รวม 9 จังหวัด อยู่ระหว่างการต่อสู้ในชั้นศาลแทบทั้งหมดแล้ว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพูดคุยกับ เจษฎา ขอประเสริฐ สมาชิกกลุ่ม “ฅนสุราษฎร์จะไม่ทน” หนึ่งในจำเลยในคดีคาร์ม็อบสุราษฎร์ธานี ผู้เป็นตัวแทนเล่าถึงสถานการณ์การเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและคดีความที่เกิดขึ้น

“ไม่ได้กังวลผลทางคดี ถึงแม้วันที่ 10 นี้ ผลจะออกมาเป็นยังไง แต่ยังไงก็เชื่อว่าการที่เราออกมา มันไม่ได้เป็นความผิดอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณใช้กฎหมายบีบบังคับเรา เราก็พร้อมที่จะสู้ต่อไป”

.

.

ภาวะเศรษฐกิจอันเป็นผลจากรัฐประหารและโควิด ทำให้ออกมาเคลื่อนไหว

เจษฎา อายุ 37 ปี เป็นคนจังหวัดสุราษฎร์ธานีโดยกำเนิด เติบโตและใช้ชีวิตในจังหวัดนี้ เขาประกอบอาชีพเป็นพ่อค้า ทำธุรกิจมาหลายประเภท จนปัจจุบันก็เปิดร้านขายสินค้าประเภทโซดาคราฟเป็นหลัก ด้วยความที่เป็นคนทำมาค้าขาย จึงเกี่ยวพันและระวังไหวต่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเป็นพิเศษ

“ในช่วงที่มีการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 ตอนนั้นเราก็สงสัยว่าว่าประเทศไทยมันทำได้ด้วยเหรอนี่ เราก็ไม่คิดว่ามันจะผลกระทบต่อตัวเอง ตอนนั้นก็ไม่ได้ออกมาทำอะไร แต่เราก็เห็นว่าหลังการรัฐประหารแต่ละครั้ง ธุรกิจมันซบเซามาก ยิ่งมาหนักตอนรัฐประหารของประยุทธ์

“ในช่วงหลังปี 2557 ธุรกิจของผมก็เจ๊งไปตั้งหลายธุรกิจ ผมขายพวกอุปกรณ์เครื่องเขียน ก็เจ๊งไป ลงทุนไปหมดเป็นแสน แล้วตอนหลังก็มาทำขายโมเดล ฟิกเกอร์อะไรพวกนี้ ก็ไปไม่รอดอีก แต่ก็ยังไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวอะไร ตอนนั้นทหารก็ใช้กฎหมายหนัก แล้วภาคใต้การออกมาเคลื่อนไหวก็เป็นไปได้ยาก”

จุดตัดสำคัญที่นำไปสู่การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองสำหรับเจษฎา คือวิกฤติโควิดเมื่อต้นปี 2563 เป็นต้นมา ที่เขาทั้งพบว่ารัฐบาลมีปัญหาในการจัดการทางสาธารณสุข และการจัดการทางเศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง

“พอมาช่วงโควิดแรกๆ แล้วผมไปเห็นชาวบ้านในละแวกบ้านต้องประกาศขายตึก ขายห้องเช่าหมดเลย ได้คุยกัน หลายคนก็บอกเขาไม่ไหวแล้วเหมือนกัน แล้วการเยียวยาของภาครัฐก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย ก็เริ่มคิดว่าตัวเองต้องออกไป Call Out แล้วล่ะ จะปล่อยให้อยู่กันไปแบบนี้ไม่ได้แล้วล่ะ เราเห็นว่าต้องเปลี่ยนแปลง รัฐบาลจากคณะรัฐประหารมันไม่ใช่คำตอบ”

เจษฎา เริ่มออกไปร่วมกิจกรรมชุมนุมในสุราษฎร์ธานี โดยจำได้ว่าม็อบแรกที่ไปคือกิจกรรมที่มีนักศึกษาในพื้นที่เป็นผู้จัดในช่วงกลางปี 2563 ที่มีการเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ จากนั้น เขายังไปร่วมการชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ ช่วงปลายปี 2563 และร่วมกิจกรรมในจังหวัดที่ตนเองอยู่เป็นระยะ จนกระทั่งเริ่มได้รู้จักคนทำกิจกรรมมากขึ้น จึงได้เข้าร่วมกลุ่มกิจกรรมในพื้นที่ในที่สุด

“ตอนแรก เราก็ไม่ได้รู้จักใคร แต่ก็ไปเริ่มรู้จักคนที่ไปในม็อบ ก็ได้คุยรู้จักกันว่าทำไมแต่ละคนออกมากัน ก็มีทั้งคนที่ได้รับผลกระทบจากรัฐประหาร หรือด้านเศรษฐกิจ คนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ก็มีหลายแบบ”

.

.

การคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ กดดันให้การเคลื่อนไหวทำได้ลำบาก

เมื่อออกมาเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในภาคใต้ ก็เผชิญกับแรงกดดันเสียดทานพอสมควร เจษฎาเล่าว่าแรงกดดันสำคัญเกิดขึ้นจากการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีการติดตามถึงบ้าน การกดดันข่มขู่ให้ยุติการเคลื่อนไหว หรือการพยายามปิดกั้นการออกมาทำกิจกรรม

เจษฎาเล่าถึงกรณีของนักเรียนในจังหวัดคนหนึ่ง ที่ในช่วงปี 2563 มีเจ้าหน้าที่รัฐเดินทางไปกดดันถึงทางโรงเรียน โดยมีการนำภาพถ่ายที่นักเรียนไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองไปให้กับโรงเรียนดู และยังมีการเดินทางไปพบผู้ปกครองที่บ้าน กดดันให้ยุติกิจกรรม ทางนักเรียนคนนี้ทนไม่ไหว จึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน ไปเรียนที่ใหม่แทน  หรือมีกรณีของนักศึกษาที่ร่วมขึ้นปราศรัยในสุราษฎร์ธานี ก็ถูกตำรวจติดตามไปถึงหอพัก จนขนาดไม่สามารถอยู่ในหอพักได้ ต้องหลบไปนอนที่อื่น

“ช่วงหลังๆ ถ้ามีการประกาศชุมนุม ตำรวจก็จะมีการตั้งด่านตามจุดในเมือง มีการพยายามสกัดไม่ให้คนมาร่วม แล้วการไปที่บ้านนักกิจกรรมก็กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว หรือมีการพยายามโทรศัพท์มาสอบถามข้อมูลว่าวันนี้มีกิจกรรมอะไรไหม”

สำหรับตัวเจษฎาเอง เขาก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามคุกคามมาถึงบ้านเช่นกัน โดยเขาเล่าถึงกิจกรรมเมื่อปี 2564 ที่เจษฎากับเพื่อน รวม 3 คน ได้ไปทำกิจกรรมแสดงออกเรียกร้องมาตรการเยียวยาประชาชนจากผลกระทบของโควิด-19 ที่หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัด เขาได้ถูกเจ้าหน้าที่พยายามปิดกั้นไม่ให้ทำกิจกรรม จากนั้น ยังมีตำรวจเข้าขับรถติดตามทั้งวัน ไม่ว่าเขาจะไปไหน ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ส่วนที่ไปเฝ้าอยู่หน้าบ้าน คอยถ่ายรูปบริเวณบ้านด้วย

อีกครั้งหนึ่ง ในช่วงที่มีการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดกระบี่เมื่อปี 2564 เขากับเพื่อนนักกิจกรรมในภาคใต้ ตั้งใจจะไปชูป้ายขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยสงบ แต่ก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่คอยติดตามตั้งแต่ที่พัก มีการตั้งด่านตรวจ และขอตรวจค้นรถของพวกเขา กระทั่งมีการระดม คฝ. ทั้งชายและหญิงมาเป็นกองร้อย บริเวณที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่

วันนั้น ตำรวจมีการขอตรวจบัตรประชาชนและขอดูเอกสารการฉีดวัคซีนของพวกเขา ก่อนพบว่าในกลุ่มมีคนที่ไม่ได้นำบัตรมา ตำรวจจึงพยายามเชิญตัวไปสถานีตำรวจ โดยมีการนำทั้งรถตำรวจและรถของหน่วย SWAT มานำรถของพวกเขาไป หลังจากนั้น ยังมีการพยายามกักตัวไว้ที่สถานีตำรวจ แม้ไม่มีหมายใดและกลุ่มของพวกเขาก็ยังไม่ได้แสดงออกใดๆ เลย จนเจษฎาและเพื่อนตัดสินใจเดินกลับออกมาเลย แต่ตำรวจก็ยังสั่งทีมงานประมาณ 10 คันรถ คอยติดตามพวกเขาไปตลอดวันนั้นด้วย

“สิ่งที่อยากเรียกร้องคือ การคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้การออกมาเรียกร้องหลายครั้ง ไม่สามารถกระทำได้ ทำให้หลายคนไม่กล้าออกมาเรียกร้อง เราอยากให้เห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วก็รัฐบาลชุดนี้ มันบกพร่องหรือเปล่า มันถูกกฎหมายหรือเปล่า” เจษฎาสรุปถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้แสดงออกคัดค้านรัฐบาล

.

ภาพการชุมนุมของประชาชนไม่เอาม็อบเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564

.

การดำเนินคดีต่อประชาชนฝั่งหนึ่ง แต่เห็นว่าผู้ชุมนุมอีกฝั่งไม่มีความผิด

สถานการณ์ในภาคใต้อีกลักษณะหนึ่ง คือการมี “ม็อบมาชนม็อบ” โดยเจษฎาเล่าว่าในช่วงแรกของการชุมนุมก็ไม่ได้มีแบบนี้ จนกระทั่งในวันที่จัดคาร์ม็อบปี 2564 ซึ่งเป็นที่มาของการถูกดำเนินคดีนี้ ปรากฏว่ามีกลุ่มประชาชนที่ประกาศตัวเองว่าเป็น “ม็อบไม่เอาม็อบ” แต่มาจัดชุมนุมต่อต้านกลุ่มที่จัดคาร์ม็อบ โดยรวมตัวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัด

“ตอนนั้นเราจัดคาร์ม็อบ เราก็มีมาตรการเซฟอย่างดี ไม่ได้มีการรวมตัวกัน แต่มีช่วงแรก ที่ตำรวจเอากรวยมาปิดกั้น ไม่ให้จัดขบวนได้ ทำให้มีมวลชนที่ไม่รู้ว่าตรงไหนคือจุดเริ่มต้นขบวน ก็มีคนออกจากรถมารวมตัวคุยกัน 4-5 คน แล้วก็กลายเป็นกล่าวหาว่าเราเสี่ยงต่อโรค แล้วพอเราเคลื่อนขบวนไปถึงหน้าศาลากลาง เราก็เจอกลุ่มคนใส่เสื้อสีเหลือง อยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อนยิ่งกว่าพวกเราอีก แล้วกลุ่มนี้ก็มีเจ้าหน้าที่รัฐคอยรักษาปลอดภัยด้วยนะ

“ตอนหลังกลายเป็นเราโดนคดีอยู่ฝั่งเดียว ผมก็ได้ทำหนังสือสอบถามไปทางตำรวจด้วย ว่าทำไมอีกฝั่งหนึ่งที่เขามาชุมนุมเหมือนกัน ทำไมถึงไม่โดน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหมือนกัน แต่ตำรวจได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า เห็นว่าไม่เป็นความผิดตามข้อกฎหมายใด” เจษฎาเล่าถึงความรู้สึกที่ว่ามีการเลือกปฏิบัติในการใช้ ‘กฎหมาย’ ต่อประชาชนคนละกลุ่มกัน

.

ภาพหนังสือตอบกลับของตำรวจ สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี หลังกลุ่มราษฎรสุราษฎรทำหนังสือสอบถามกรณีการดำเนินคดีต่อประชาชนฝั่งหนึ่ง แต่ไม่ดำเนินคดีต่อประชาชนอีกฝั่ง (ภาพจากเพจราษฎรสุราษฎร)

.

คาร์ม็อบในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ยังน่าสนใจ ในแง่ผู้จัด คือกลุ่ม “ราษฎรสุราษฎร” ประกาศประชาสัมพันธ์ตั้งแต่ต้นว่า ผู้เข้าร่วมงดลงจากรถ เพื่อไม่ให้มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ให้แต่ละคนอยู่บนรถตนเอง ขับจากบริเวณโรงแรมร้อยเกาะ ไปยังหน้าศาลากลางจังหวัด โดยมีรถกระบะติดตั้งเครื่องขยายเสียงคันหนึ่ง ที่มีนักกิจกรรม 2 คน คอยปราศรัยและประกาศข้อมูลต่างๆ อยู่บนรถเท่านั้น ในส่วนของเจษฎาเองก็ไม่ได้ร่วมปราศรัย แต่ก็ถูกดำเนินคดีไปด้วย

กิจกรรมวันนั้น ผู้ชุมนุมยังประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ หนึ่ง คือ หนึ่ง ให้รัฐจัดหาวัคซีน mRNA ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไปอย่างเท่าเทียม  สอง ก็คือให้ออกมาตรการเยียวยากับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สาม คือให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งไม่ได้มีเหตุการณ์วุ่นวาย หรือพูดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์

“เราอยู่ในที่โล่งแจ้งด้วย เราขับรถไป ไม่ได้ให้ลงจากรถ มันเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิดตรงไหน แล้วก็ไม่เคยมีข่าวเลยว่าคนที่มาร่วมชุมนุมติดโควิด การปราศรัยก็เกิดขึ้นบนหลังรถกระบะทั้งหมด

“แล้วบนหลังรถก็อยู่กันแค่สองคน มีน้องคนหนึ่งที่ปราศรัย ยังโดนข้อหาไม่สวมแมสด้วย คือเข้าใจไหม คนที่เขาปราศรัยมาตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทาง แล้วเขาเหนื่อย เขาก็เปิดแมส กินน้ำ แต่ตำรวจก็ไปถ่ายภาพตรงนั้น ผมก็ตั้งคำถามนี่หรือความยุติธรรมของประเทศไทย”

.

ภาพประชาสัมพันธ์กิจกรรมคาร์ม็อบ จากเพจราษฎรสุราษฎร

.

ยืนยันต่อสู้คดีพิสูจน์ความบริสุทธิ์ แม้ตำรวจจะคุยให้รับสารภาพ

แม้จะพยายามมีมาตรการป้องกันโรคที่สุดแล้ว และหลังจากกิจกรรม ก็ไม่มีรายงานว่ามีใครที่เข้าร่วมติดโควิด-19 แต่ก็ยังมีการดำเนินคดีติดตามมาจากตำรวจอยู่ดี โดยมีผู้ได้รับหมายเรียกทั้งหมด 5 คน ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมที่ร่วมทำกิจกรรมในจังหวัดและร่วมปราศรัยในวันดังกล่าว แต่มีชายวัย 60 ปีคนหนึ่ง ที่ไม่ได้เป็นนักกิจกรรม เป็นเพียงผู้เข้าร่วมเท่านั้น แต่ก็ถูกดำเนินคดีไปด้วย

“ในกลุ่มจำเลยก็มีลุงคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหว ไม่ได้เป็นผู้จัดอะไรเลย แกแค่เป็นคนไปคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจวันนั้น เหมือนกับไปช่วยเจรจาให้ตำรวจเปิดทาง แต่ตอนหลังตำรวจยัดแกไปเป็นแกนนำ แกเป็นแค่คนมาร่วมกิจกรรม ผมก็เลยรู้สึกแปลกใจ ว่าทำไมตำรวจถึงยัดลุงเป็นแกนนำ หรือเป็นผู้จัดด้วย” เจษฎาเล่า

ในการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม 2564 เจษฎายังเล่าว่า ตำรวจพยายามพูดคุยให้ทั้งหมดรับสารภาพ เพื่อให้คดีสิ้นสุดโดยเร็ว แต่ทั้งหมดคุยกันแล้ว ยืนยันปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี แม้ต้องใช้ระยะเวลานาน

“ถึงวันนี้ เราก็ยังรู้สึกดีใจที่ไม่ได้รับสารภาพ เราคุยกันในทีมว่าเราอยากจะเห็นความยุติธรรมมันเกิดขึ้น การต่อสู้ครั้งนี้ มันไม่ใช่แค่เราจะชนะหรือแพ้ แต่เราอยากพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเรา”

สำหรับเจษฎา การถูกดำเนินคดี เขาไม่ได้หนักใจมาก เพราะเชื่อว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิดใด เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เขายังคิดว่าการถูกคุกคามนอกกฎหมายจากเจ้าหน้าที่รัฐยังสร้างผลกระทบให้ชีวิตมากกว่า  แต่กระนั้น สำหรับเพื่อนๆ ที่ถูกดำเนินคดีด้วยกัน ก็มีคนที่ได้รับผลกระทบจากคดี  

“มีเพื่อนที่ได้รับผลกระทบจากการงาน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจแย่ แล้วเขามาโดนคดีอีก เขาก็จำเป็นต้องหารายได้ ช่วงที่สืบพยานบางวัน ก็ไม่ได้ไป ต้องขอพิจารณาลับหลังไปบางวัน เขาก็ต้องไปทำมาหากิน คดีนี้มีการสืบพยานค่อนข้างยาวหลายวัน รวม 6 วัน ในสองอาทิตย์” เจษฎาเล่าถึงเพื่อนที่ถูกดำเนินคดีด้วยกัน

การต่อสู้คดีนี้ ยังทำให้เจษฎาเห็นความไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจที่พยายามยัดข้อกล่าวหาให้พวกเขา ทำให้พวกเขากลายเป็น ‘พวกก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง’

“การสืบพยานในศาล เราได้เห็นว่าตำรวจที่ยัดข้อหาประชาชน ไปตอบคำถามยังไง เขาแค่เห็นว่าพวกผมออกมาเคลื่อนไหว ก็เห็นว่าพวกผมผิดแล้ว เขาอ้างว่าการจัดคาร์ม็อบทำให้เกิดความวุ่นวาย ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค

“เขายังบอกในศาลทำนองว่า คาดว่าจะมีกิจกรรมทำนองนี้เกิดไปเรื่อยๆ จะทำให้เกิดความไม่สงบในจังหวัด เขาใช้คำว่า ‘คาดว่า’ ผมก็ เฮ้ย นี่คุณบอกไปล่วงหน้าได้ยังไง คุณใช้ดุลยพินิจคุณเองตัดสินไปก่อน แต่ก็คิดว่าศาลท่านน่าจะให้ความยุติธรรมกับพวกเราอยู่” เจษฎายังคาดหวังถึงทิศทางที่ดีของตุลาการ

.

.

ปรากฏการณ์ความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน ยังเป็นความหวังในการสู้ต่อไป

สำหรับเจษฎาแล้ว เขาไม่ได้เสียใจหรือรู้สึกล้มเหลวกับการเคลื่อนไหว แม้ข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ผ่านมาจะยังไม่ปรากฏเป็นจริง และหลายอย่างคงยังไม่ได้เห็นง่ายๆ แต่เขาก็เห็นชัดเจนถึงความตื่นตัวของประชาชน ที่ยังเป็นความหวังในอนาคตต่อไป แม้ในพื้นที่ภาคใต้เองก็ตาม

“เท่าที่ไปร่วมกิจกรรมในสุราษฎร์มา คิดว่าการจัดคาร์ม็อบถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จที่สุด มันทำให้เรารู้สึกมีกำลังใจที่จะทำอะไรต่อหลายอย่าง ไม่ว่าเราจะโดนคดี มันเหมือนกับเราได้เห็นการสนับสนุนของประชาชน แล้วเห็นความไม่ยุติธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เขาให้ข้อหาเรา ทั้งที่เราออกไปเรียกร้องตามกฎหมาย

“วันนั้นมีกระแสตอบรับที่ดี พอเราขับผ่านเส้นทางต่างๆ เขาเห็นเรา เขาก็ร่วมชูสามนิ้ว แล้วก็มีบางคนวนรถยูเทิร์นมาร่วมขบวนกับเรา ก็ดีใจที่มีหลายคนเห็นด้วยกับเราเรื่องนี้ และภูมิใจที่ได้เป็นตัวกลางที่ร่วมสื่อสารเรียกร้องออกไป

“ถามว่า เราไปทำกิจกรรม เราได้อะไรไหม จริงๆ ก็ไม่ได้อะไร แต่เราก็คิดว่าเราพยายามส่งเสียงสะท้อนของประชาชนออกไป ว่าเราได้ผลกระทบอะไรกันบ้าง แล้วรัฐบาลชุดนี้ทำอะไรกับประชาชนไว้บ้าง ทำให้ประชาชนเห็นว่า มันน่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง”

เมื่อถามว่าความเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็นนั้นคืออะไร เจษฎาสรุปความฝันทางการเมืองของเขาไว้ว่า “อยากเห็นประชาธิปไตยเต็มใบ อยากเห็นวันที่เราได้มีความเท่าเทียมในสังคมมากขึ้น และอยากเห็นรัฐสวัสดิการจากภาครัฐ ที่มันควรจะได้แต่แรก ไม่ใช่ให้ประชาชนต้องไปหาซื้อสิ่งพื้นฐานต่างๆ เอาเอง”

.

X