ชวนรู้จัก มิ้นท์ #นาดสินปฏิวัติ: นางรำฟรีแลนซ์ผู้ถูกคดี ม.112 กับการขับเคลื่อนความเท่าเทียมในวงการนาฏศิลป์ไทย

กล่าวถึง ‘นางรำ’ ตามอุดมคติของสังคมไทยแล้ว พวกเธอคือผู้หญิงที่ต้องมีความอ่อนช้อยงดงามทั้งในท่าทางและกริยาการวางตัว คุณค่าของนางรำถูกผูกติดอยู่กับความสามารถในการสะท้อนเรื่องราวความงดงาม และความล้ำค่าของวัฒนธรรมไทย ตลอดจนการเป็นเครื่องประดับในพิธีการและเกียรติยศของชนชั้นปกครอง

ในเดือนมิถุนายนนี้  “คุณมิ้นท์” ได้เดินทางมาบอกเล่าเรื่องราวปัญหาที่เธอเรียกมันว่า ‘ปัญหาใต้พรม’ ของวงการนาฏศิลป์ไทยให้กับทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ฟัง 

เธอให้นิยามตัวเองว่าแทบไม่มีอะไรที่เป็นไปตามสแตนดาร์ดของนางรำตามมายาคติของสังคมไทยเลยสักนิดเดียว เธอสักลายบนผิวหนัง ตามท่อนแขนปรากฏร่องรอยของงานศิลป์มินิมอลหลากหลายรูปแบบ 

และหากย้อนกลับไปในสมัยเรียน คุณมิ้นท์ในตอนนั้นก็ไม่ได้เป็นไปตามแบบฉบับนักเรียนดีที่ครูคาดหวังไว้เสียเท่าไหร่ เธอเล่าว่าตัวเองทำสีผม ใส่เสื้อทับในชุดนักเรียนสีดำในบางครั้งบางคราวแทนที่จะเป็นสีขาวตามระเบียบของโรงเรียน 

การเดินทางมาบอกเล่าเรื่องราวและประสบการณ์ในแวดวงนาฏศิลป์ไทยของคุณมิ้นท์ จึงไม่ต่างกับการสังคายนาชุดความรู้ทางวรรณคดี ประวัติศาสตร์และนาฏศิลป์ไทยใหม่ เธอมุ่งมั่นและพยายามอย่างหนักกับวงการที่ไม่เคยมีแสงใดส่องถึงปัญหาใต้พรมที่เธอเห็น และไม่เคยถูกตั้งคำถามหรือได้รับความสนใจมาก่อน

.

โหมโรง: ก่อนจะเป็นมิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ

“เรื่องการเมืองมาสนใจในช่วงที่เรียนจบ ตอนนั้นประมาณปี 2560 คือก่อนหน้านี้ต้องบอกก่อนเลยว่าสถาบันที่เราเรียนมา เป็นโรงเรียนที่ค่อนข้างโปรเจ้าแบบจ๋าเลย” คุณมิ้นท์เอ่ย ก่อนจะยกตัวอย่างที่เธอบอกว่า ‘โปรเจ้าแบบจ๋า’ มันเป็นอย่างไร

“โรงเรียนเราสามารถให้นักเรียนหยุดเรียนเพื่อไปรับเสด็จได้ แบบว่าเราจะได้คะแนนถึงแม้ว่าวันนั้นทั้งวันเราจะไม่ได้เข้าเรียนเลย”

“ช่วงที่เราไม่ได้เรียนเลย มันจะเป็นช่วงวันสำคัญของสถาบันฯ โรงเรียนจะให้เราไปซ้อมการแสดงต่างๆ เพื่อถวายเทิดพระเกียรติ” 

“สายที่เราเรียนมันจะเป็นนาฏศิลป์ไทย คือความเป็นอนุรักษ์นิยมมันจะสูงมาก ตอนนั้นสมัยเรียน เราก็ยอมรับนะว่าตัวเราเองยัง conservative อยู่เหมือนกัน แต่ก็มีบางจังหวะที่เราก็ตั้งคำถามถึงเรื่องการเมืองนะ” 

“ต้องบอกก่อนว่าโรงเรียนของเรามันอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเราก็ได้อ่านเรื่องราวของเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เราก็เกิดความสงสัยว่าในวันนั้นโรงเรียนของเราได้เปิดให้นักศึกษาได้เข้ามาหลบภัยไหม เพราะในโรงเรียนของเรามันมีโบสถ์” นี่เป็นความสงสัยที่ไม่มีคำตอบในใจของเธอ เพราะไม่มีหนังสือเล่มใดบันทึกเอาไว้ และไม่มีคำบอกเล่าจากครูบาอาจารย์หรือรุ่นพี่เก่าๆ ที่จบออกไปก่อนหน้านี้

“แต่โรงเรียนเราก็ไม่เคยพูดเรื่องการเมืองเลย เขาแทบจะบอกว่ามันไม่เกี่ยวกับพวกเราด้วยซ้ำ เขาบอกแต่ว่าเราต้องเชิดชูใคร เราต้องถวายพระพรให้ใคร แม้ต้องขาดเรียนไป เขาก็มองว่าไม่ได้เป็นการขาดเรียน คือมันเป็นเรื่องที่สมควรทำแล้ว” ความบิดเบี้ยวที่ไม่เคยมีใครตั้งคำถาม แม้แต่ตัวคุณมิ้นท์ในวันวานก็ไม่ได้ตระหนักคิดในจุดนี้ได้อย่างแจ่มชัดมากนัก

“พอหันกลับไปมอง มันไม่ใช่เรื่องปกติ คือเราเป็นนักเรียนเราก็ควรได้เรียน ไม่ใช่ไปทำอะไรแบบนั้น” เธอกล่าว

ดูเหมือนว่าคุณมิ้นท์ในสมัยที่ยังเป็นแค่นักเรียนไม่ประสีประสาอะไรในเรื่องการเมืองสักเท่าไหร่ เธอถึงกับเอ่ยว่า “เรื่องการเมืองดูเป็นเรื่องไกลตัวเรามาก เราไม่มีศัพท์ทางการเมืองในหัวเลย เอาจริงๆ เรามาเข้าใจคำว่าสิทธิมนุษยชนก็ตอนที่เราเรียนใกล้จบแล้ว”

.

องก์ที่ 1 : เนื้อแท้ของนาฏศิลป์ไทยคือเครื่องราชูปโภค

ตั้งแต่อดีตกาล กิจการละครใดๆ ที่ดำเนินด้วยผู้หญิงมักจะมีบทบาทเป็นเครื่องประดับยศฐาบรรดาศักดิ์ของเจ้าขุนมูลนาย ตลอดจนเป็นสิ่งเชิดชูเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์มานับ 100 ปี การมองพวกเธอเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกันเลยกับการใช้อำนาจที่แฝงเร้น และครอบงำผู้หญิงให้เป็นรอง ทำให้พวกเธอรู้สึกว่าบทบาททางของตัวเองมีเพียงเพื่อสนองความต้องการของผู้ชายเท่านั้น

“ตอนเราเรียนจบมา เราพยายามอธิบายกับกลุ่มคนที่เรียนนาฏศิลป์นะ ไอ้คำว่าเครื่องราชูปโภคนี่มันไม่มีความเป็นคนเลย มันเป็นแค่ไม้ประดับ พวกถ้วย จานอะไรแบบนั้น” คุณมิ้นท์แสดงความผิดหวังอย่างชัดเจนหลังจากที่เคยพยายามถกปัญหาเรื่องนี้กับเพื่อนร่วมวงการ แต่ก็ยังไม่มีใครเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

“อย่างเรื่องของการลิดรอนสิทธิของนักเรียนในโรงเรียนเรามีเยอะมาก คือวิชานี้มันโคตรกดขี่ ครูสร้างเรามาเพื่อให้ถูกเขากดอีกที หรือแม้แต่ครูด้วยกันเองก็ยังกดขี่กันเอง อย่างเช่น ครูที่อายุน้อยกว่าเขาก็ยังมีความเกรงกลัวครูที่อาวุโสกว่าอยู่เลย ไม่ว่าเรื่องนั้นมันจะไม่ถูกต้องยังไง เขาก็ไม่กล้าที่จะออกตัวทำอะไรกัน” 

“เราเป็นคนชอบทำสีผม พอครูเห็นเขาก็จะไม่ชอบ เวลามีงานรับเสด็จ เขาก็จะไม่เอาเราไป เขาจะเลือกแต่เด็กเนี๊ยบๆ เป๊ะๆ พอเห็นอย่างนี้มันก็เป็น Beauty privilege ละ พวกเราก็ดูไม่ใช่คนอ่ะ เขาอยากให้เราหันซ้ายก็ต้องหันซ้าย หรือแม้แต่การกราบ เงยหน้า ก็ต้องทำให้พร้อมกัน ถ้าเราไม่ทำตามคำสั่งเขา มันก็เป็นการสร้างศัตรูกับเขาแล้ว” 

“เราโดนทำโทษทุกวันที่เราไปเรียน จริงๆ ยังมีเรื่องการห้ามใส่เสื้อทับในสีดำด้วยนะคะ หรือการมัดผมนี่ก็ห้ามให้ลูกผมหลุดออกมา ต้องรวบตึงเก็บผมให้เรียบ เขาต้องการให้เราเหมือนกันทุกคนและเขาก็มีความสุขกับการใช้อำนาจอะไรแบบนั้น”

“หรือแม้แต่ในการรับบทตัวพระ – ตัวนางเนี่ย เด็กไม่สามารถเลือกได้นะว่าเราอยากเล่นเป็นตัวอะไร คือเราต้องให้ครูไปเลือกหน้าก่อนว่ารูปหน้ากลมต้องเป็นตัวนาง หน้าทรงรูปไข่ต้องเป็นตัวพระ แล้วในปัจจุบันความหลากหลายทางเพศมันเยอะมากไง แล้วเขายังมาใช้ตรรกะนี้กับเด็กในยุคนี้เพื่อกำหนดบทบาทการแสดงละครอยู่อีก”

“ต้องบอกก่อนว่านี่ไม่ใช่การเลือกตามพิมพ์นิยมนะคะ การเลือกของครูคือมันเป็นไปตามวรรณคดีนิยมเลยค่ะ (หัวเราะ)” คุณมิ้นท์บอกเล่าให้เห็นภาพถึงขั้นกว่าของความเป็นพิมพ์นิยมทั่วๆ ไปในสังคม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับนักเรียนในวงการนี้คือใบหน้าของพวกเธอจะถูกกำหนดและตัดสินผ่านความนิยมของตัวละครในวรรณคดีโบราณ

“เราอยู่ในระบบนี้มาตั้งแต่มัธยมต้นจนถึงปริญญาตรี เราเลยแตกฉาน ถ้าให้สรุปให้ฟังง่ายๆ นะ โรงเรียนนี้มันสร้างมาเพื่อโปรเจ้าแค่นั้นเลย รำถวายพระพร เป็นผักชีโรยหน้า รับเสด็จก็ใช้นักเรียนจากโรงเรียนเราไป” เธอบอก ถึงอย่างนั้นคุณมิ้นท์ก็มีเหตุผลที่อธิบายได้ว่าทำไมโรงเรียนเธอถึงยึดโยงกับสถาบันมากมายขนาดนี้

“มันก่อตั้งในช่วงคณะราษฎร น่าจะประมาณ 2477 โรงเรียนนี้เกิดขึ้นพร้อมกับวัตถุประสงค์สร้างความรักชาติ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งเพลง รำเพลงปลุกใจ อย่างเพลงเราสู้ หรือการสอนให้เกลียดชังพม่า”

“อันที่จริงประเทศไทยมีช่วงที่ห่างเหินจากนาฏศิลป์นะ ในช่วงรัชกาลที่ 6 เขาชอบมาก แต่พอมารัชกาลที่ 7 เขาไม่ได้สานต่อวัฒนธรรมตรงนี้ มันเพิ่งมาถูกรื้อใหม่ในช่วงคณะราษฎร พวกเพลงรักชาติต่างๆ มันเหมือนการสะกดจิต ถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายขวาน่ะ” 

.

องก์ที่ 2 : จุดเริ่มต้นของเส้นทางนักกิจกรรมและการกำเนิดนาดสินปฏิวัติ 

“พอเราหลุดออกมามันเหมือนชีวิตที่ไม่เคยได้ใช้เสรีภาพหรือสิทธิมนุษยชนมาก่อน มันเลยพรั่งพรู ถ้าถามว่าในกลุ่มนาดสินปฏิวัติมีใครบ้าง คือมีมิ้นท์คนเดียวค่ะ (หัวเราะ)”

“เราตั้งใจรณรงค์เรื่องนี้โดยเฉพาะค่ะ ถ้ากิจกรรมที่เราทำเองในกลุ่มก็จะมีเรื่องของการเล่นโขน ตามกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ”

แต่ดูเหมือนว่าชื่อของ ‘นาดสินปฏิวัติ’ เพิ่งจะได้มีโอกาสเฉิดฉายในแวดวงของนักกิจกรรม แล้วก่อนหน้านี้คุณมิ้นท์เอาตัวเองไปอยู่ตรงส่วนไหนของสังคมนักกิจกรรมนี้ ซึ่งเธอก็ได้ตอบว่า “ตอนแรกเราไปเป็นอาสาสมัครให้กลุ่มราษดรัมส์ เป็นแฟลชม็อบหน้าหอศิลป์ เป็นกิจกรรมแรกที่ทำเลยนะคะ”

เธอหมายถึงกิจกรรม ‘รวมพลคนตีกลอง กระหน่ำก้อง ทวงเพื่อนเรา’ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลคืนสิทธิประกันตัว และปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทุกคน เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2564 ที่หน้าศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ 

ภาพคุณมิ้นท์กำลังตีกลองในฐานะอาสามัครกลุ่มราษดรัมส์ (ภาพจาก Voice tv)

“ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักเรานะคะ ยังเป็นมวลชนอยู่ ไม่ได้คิดปราศรัยอะไรเลย เราแค่อาสาไปเท่านั้น คือการตีกลองมันเป็น Performance ที่เราทำได้” 

แต่แล้วเสียงกลองที่เธอทุ่มตีในวันนั้นก็ได้กระหึ่มชื่อของเธอเข้าไปอยู่ในหูของนักกิจกรรมทางการเมืองหลายคน การร่วมกิจกรรมในฐานะมวลชนอาสา ได้นำพาให้คุณมิ้นท์ได้รู้จักกับเพื่อนพี่น้องมากหน้าหลายตาที่มีความสนใจเดียวกันกับเธอ

“จนวันที่ 12 ธ.ค. 2564 มันมีกิจกรรมที่อาสมยศชวนเราไปทำกิจกรรมยกเลิก ม.112 ด้วย จริงๆ คือเขาไม่ได้ตั้งใจจะมาชวนเรานะ คือเขาตามหาน้องผู้หญิงคนหนึ่งในไลน์ แต่เขาเข้าใจผิดว่าเราเป็นน้องคนนั้น (หัวเราะ) แล้วเขาก็ชวนเราคุยว่าเราเรียนจบหรือยัง เพราะเราดูเหมือนนักศึกษาอยู่เลย แต่จริงๆ เราเรียนจบนานแล้ว” 

“วันนั้น อาสมยศถามว่าเราเรียนสายไหนมา เราก็บอกว่านาฏศิลป์ แล้วอาก็บอกว่าเออเพนกวินชอบอะไรแบบนี้” คุณมิ้นท์เล่าถึงการพบกับ สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมรุ่นใหญ่ที่ชักชวนเธอเข้าสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างจริงจัง

“พอเห็นว่าเขาสนใจ คือเราก็มีหวังนะคะ เราเลยบอกว่างั้นขอฝากปัญหาของนาฏศิลป์ไปให้เขาพูดได้ไหม เราไม่รู้ว่าเราจะพูดยังไง เพราะตอนนั้นรู้สึกว่าเราตัวเล็กมากเลย แล้วก็มีคนเดียวด้วย ตอนนั้นเราก็พยายามนำเสนอความเบียวของนาฏศิลป์ แต่เราทำอะไรไปได้มากกว่านี้ไหม ก็ต้องบอกตามตรงว่าเราทำอะไรไม่ได้เลย จนเขามาบอกว่าสนใจนี่แหละ”

ความฝันที่จะได้นำเสนอการแสดงนาฏศิลป์เพื่อมวลชนของคุณมิ้นท์ก็มีหวังมากขึ้น เธอลงทุนลงแรงคิดการแสดงด้วยตัวของเธอเองทั้งหมด เพื่อนักกิจกรรมที่ยังอยู่ในเรือนจำตอนนั้น

“งานรำครั้งแรก หน้าเรือนจำคลองเปรม มันเป็นช่วงปีใหม่ เราทำการแสดงให้กับนักกิจกรรมที่ยังอยู่ข้างใน ชื่อการแสดงว่า ‘ศักดิ์ศรีกรรมกร’ เราใช้เพลงนี้มารำ เพราะเราไม่เคยได้ยินเพลงไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกรรมกรสร้างชาติมาก่อน แล้วพอเราฟังมันก็รู้สึกว่ามันเอามาประดิษฐ์เป็นท่ารำได้”

“ปกติเวลารำเราจะทำการแสดงเพื่อเชิดชูเจ้าใช่มั้ย แต่นี่คือการเชิดชูแรงงาน เราคิดท่าเองหมดเลยนะ แล้วก็ชวนน้องที่รู้จักมารำด้วย” 

“ตอนนั้นรู้สึกดีใจมากเลย เพราะมันเป็นการแสดงครั้งแรกที่เราไม่ได้รำอวยเจ้าอ่ะ เป็นความรู้สึกที่สัมผัสได้ถึงความเป็นคนครั้งแรก เหมือนปลดแอกตัวเองเลยค่ะ” คุณมิ้นท์เล่าย้อนกลับไปในกิจกรรมครั้งนั้น ราวกับว่ามันยังแจ่มชัดอยู่ในหัวจิตหัวใจของเธอ การได้นำเสนอความสนใจทางนาฏศิลป์ไทยและถ่ายทอดเรื่องราวในแบบฉบับของตัวเอง สู่สายตาสาธารณชนเป็นเรื่องที่เธอรู้สึกประสบความสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่ง

.

องก์ที่ 3 : ความเบียวของนาฏศิลป์ไทย

“การเล่นโขนบางตอน อย่าง ‘สุครีพหักฉัตร’ อันนี้เป็นเรื่องต้องห้ามที่ทางกรมศิลปากรเขาไม่ให้เล่นเลย” คุณมิ้นท์เล่าอย่างออกรส เธอเริ่มอธิบายถึงความกลัวของสถาบันกับละครโขนโบราณ

“ตัวฉัตรมันมีความหมายถึงเบื้องบน คือตามความเชื่อการที่ฉัตรถูกทำลายมันเป็นลางร้าย เปรียบได้เหมือนการสิ้นสุดรัชกาล เขาเลยไม่ให้เล่นกัน”

“เรื่องนี้ถูกแต่งขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่พอเอามาเล่นเป็นละครแล้วมันเหมือนแช่งตัวเอง เขาเลยให้ยกเลิกไปแล้ว ถ้าจำไม่ผิดครั้งล่าสุดที่เห็นว่านำกลับมาเล่นก็น่าจะสมัยคึกฤทธิ์ แต่หลังจากนั้นเราคิดว่าก็ไม่น่ามีเอามาเล่นอีกแล้วนะคะ”

ถึงอย่างนั้นการแสดงรำและละครโขนก็ได้ลงถนนสู่สายตามวลชนให้รับชมกันแบบฟรีๆ ในวันที่ 5 พ.ค. 2565 กลุ่มนาดสินปฏิวัติได้จัดกิจกรรม “นาฏศิลป์เพื่อเสรี ดนตรีเพื่อมวลชน” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วงชิงวัฒนธรรมและแสดงเจตจำนงสานต่ออุดมการณ์ของเพื่อนนักกิจกรรมที่ยังอยู่ในเรือนจำ ทั้งนี้ คุณมิ้นท์ได้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัว เก็ท โสภณ จากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำด้วย

ภาพคุณมิ้นท์แสดงรำหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ภาพจากแหล่งข่าว)

19 พ.ค. 2565 กลุ่มนาดสินปฏิวัติร่วมกับราษฎรมูเตลู ก็ได้จัดกิจกรรม ‘นาฏศิลป์เทิดวีรชนคนเสื้อแดง’ ที่แยกราชประสงค์ โดยคุณมิ้นท์ได้ทำการแสดงฟ้อนผีนัตตามความเชื่อของประเทศพม่าในวันนั้น รวมถึงมีกิจกรรมแสดงรามเกียรติ์ในวันเดียวกันอีกด้วย

ภาพคุณมิ้นท์ทำการแสดงฟ้อนผีนัต (ภาพจากประชาไท)

อย่างไรก็ตาม คุณมิ้นท์ได้อธิบายเสริมถึงความเชื่อต่างๆ ในพิธีกรรมไหว้ครู โดยเธอเล่าว่า “ความกังวลพวกนี้มันน่าจะเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 4 คือในตอนนั้นมีการริเริ่มพิธีไหว้ครูก่อนการแสดงรำ หรือเล่นละครโขน คือเขาเชื่อกันว่าถ้าไม่รำ มันจะผิดจารีตแล้วจะเล่นละครในตอนนั้นๆ ไม่ได้ แต่เราก็เคยลองไม่รำนะ แล้วเราก็ไม่ตาย คือกูไม่ตายอ่ะ (หัวเราะ)”

“แต่ก่อนมันไม่มีละครโทรทัศน์ การดูรำก็เหมือนฮาเร็มอ่ะ ถ้าไปพูดอะไรแบบนี้เขาจะรับกันไม่ได้เลย เอาจริงๆ บทละครหลายตอนมันมีการเกี้ยวพาราสี ตัวละครได้เสียกันเยอะมากนะ เป็นร้อยบทเลย ถ้ามาถอดบทเรียนกันจริงๆ มันจะเห็นความเน่าเฟะเยอะมากเลยค่ะ ทั้งการกดขี่ผู้หญิง การข่มขืนทารุณต่างๆ”

“แล้วมันย้อนแย้งนะคะ ตัวนางเอกที่ได้เสียกับพระเอกตั้งแต่อายุ 14 – 15 ปี ในละครกลายเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเรากลับมามองในความเป็นจริง เด็กอายุเท่านั้นอ่ะ ถ้าเห็นว่าเริ่มมีแฟน คือโดนประจาน โดนด่าว่าแก่แดดกันไปแล้ว” คุณมิ้นท์เริ่มวิเคราะห์ถึงบทละครต่างๆ ที่เธอได้ร่ำเรียนมาสมัยเรียน

“หรือตัวละครแบบสีดาที่ได้เสียกับพระรามตอนอายุ 16 นี่คือสิ่งที่เราเรียนกันมา แต่พอเด็กในชีวิตจริงมีความรักบ้าง ผู้ใหญ่กลับรับกันไม่ได้ มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก”

.

องก์ที่ 4 : นางรำกับการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 

ถึงแม้ว่าตัวคุณมิ้นท์จะเพิ่งผันตัวมาทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างจริงจังเมื่อปี 2564 แต่การถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็พุ่งเข้าหาเธอจนแทบจะตั้งรับไม่ทัน

“กิจกรรมใครฆ่าพระเจ้าตากเป็นม็อบแรกที่ตัดสินใจขึ้นปราศรัย แล้ว 112 ก็มาเลย” เธอบอก

เหตุการณ์ในวันที่ 6 เม.ย. 65 กิจกรรม ‘ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก’ ซึ่งจัดโดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ บริเวณอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ เป็นกิจกรรมที่คุณมิ้นท์ตัดสินใจเข้าร่วมในฐานะผู้ปราศรัยครั้งแรกและได้ถูกออกหมายจับพร้อมกับเพื่อนนักกิจกรรมอีกสองราย ทั้งยังเป็นคดีทางการเมืองแรกในชีวิตของคุณมิ้นท์ด้วย

“เนื้อหาที่เราพูดในวันนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เราไปพูดว่าการเรียนการสอนในวิชานี้มีปัญหา มันไม่มีการชำระใหม่เลย แล้วมันก็เป็นการศึกษาของไทยฝ่ายเดียว ไม่ได้อิงจากประเทศอื่นเลย อีกอย่าง ถ้าสอนแบบท่องจำอ่ะ ไม่ต้องสอน มันหาอ่านเองได้ คือการเรียนประวัติศาสตร์มันต้องถกเถียงกัน คือมันสอนแบบเชื่อฟังไม่ได้ เพราะมันไม่มีใครเกิดทันในยุคนั้นสักหน่อย”

“แม้กระทั่งเรื่องไทย – พม่า ที่สอนให้คนไทยเกลียดพม่าแล้ววางตัวให้สถาบันฯ เป็น Super Hero จริงๆแล้วมันไม่เป็นหลักการอ่ะ ในประวัติศาสตร์มันควรมีขาว เทา ดำ แต่ในประวัติศาสตร์ไทยคือทุกอย่างที่สถาบันทำจะต้องเป็นขาว ทุกอย่างต้องดีไปหมด”

“ในประวัติศาสตร์ไทยมันไม่เคยพูดถึงคนทั่วๆ ไป เช่นเราไม่รู้เลยว่าคนสุรินทร์ในสมัยนั้นๆ เป็นยังไง ทำอะไรหรือใช้ชีวิตกันยังไง เราเรียนแค่วิถีพระนคร เรียนแค่เรื่องเจ้า แต่เรื่องไพร่นี่แทบไม่มีเลย แล้วมันจะเรียกประวัติศาสตร์ไทยได้ยังไง แบบนี้เรียกประวัติศาสตร์เจ้าไปเลยดีกว่านะ” คุณมินท์อธิบายถึงประเด็นปัญหาที่เธอเลือกขึ้นไปปราศรัยในกิจกรรมวันนั้น ก่อนที่จะบอกว่านอกจากเรื่องนี้เธอก็ยังสนใจในประเด็นม้าทรงของอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินด้วยเหมือนกัน

“แล้วเราก็ไปพูดถึงเรื่องม้าทรงของพระเจ้าตาก มันเป็นข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ อันที่จริงเราควรพูดได้นะคะ มันไม่น่าเข้าข่าย 112 แต่ก็ยังโดน”

“ไม่รู้เขาจะโกรธอะไรกับม้าทรง เราไปพูดว่ามีคนบางกลุ่มพยายามบิดเบือนอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่เป็นคนสร้างรูปปั้น เขาอยากให้ม้าของพระเจ้าตากทำท่ากระโจนออกศึกเพราะพระเจ้าตากไปออกรบจริง แต่คนกลุ่มนั้นก็ไม่ยอม เรียกร้องให้สร้างรูปปั้นม้าของพระเจ้าตากทำท่ายืนเฉยๆ แต่อาจารย์ศิลป์เขามีนัยยะในการปั้น ที่ทำให้ม้ามีมัดกล้ามคล้ายเกร็งตัวพร้อมกระโจนออกศึกกับปั้นหางม้าให้กระดกขึ้นดูพุ่งทะยานไปข้างหน้า ก็มีคนไปหาว่าม้ากำลังขี้”

“แต่พอเป็นรูปปั้นรัชกาลที่ 5 เขาก็อยากปั้นให้ดูเท่แบบม้าพยศแบบนั้นบ้าง แต่อาจารย์ก็ไม่ได้ปั้นให้ เพราะรัชกาลที่ 5 ไม่ได้ไปออกรบไง”

“นี่ว่าเขาคงโกรธแหละที่เราไปวิจารณ์ขนาดนั้น เลยแจ้งว่าเราไปหมิ่นฯ” คุณมิ้นท์บอก

อย่างไรก็ตาม เมื่อกระแสตอบรับในเรื่องประวัติศาสตร์ที่เธอขึ้นปราศรัยในวันนั้นได้รับความสนใจจากมวลชนอย่างล้นหลาม ในวันที่ 22 เม.ย. 2565 คุณมิ้นท์ได้ร่วมกับเก็ท โมกหลวงริมน้ำ และกลุ่มมังกรปฏิวัติ จัดกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ซึ่งเป็นการเดินชมสถานที่ประวัติศาสตร์สำคัญทางฝ่ายซ้ายไทย รอบเกาะรัตนโกสินทร์ โดยในกิจกรรมนี้ คุณมิ้นท์เล่าว่าเธอได้เป็นหนึ่งในไกด์นำทัวร์ ร่วมกับเก็ท โสภณ อีกด้วย

ภาพคุณมิ้นท์และเก็ท โมกหลวงริมน้ำเดินนำทัวร์ (ภาพจากไข่แมวชีส)

“วันนั้นเราไปเป็นแม่ทัวร์ พามวลชนที่สนใจเดินทัวร์ประวัติศาสตร์ตามเส้นทางรอบเกาะรัตนโกสินทร์ แล้วในวันนั้นก็มีกองกำลังตำรวจมาดักล้อมพวกเราเอาไว้ด้วยนะ เพราะมันจะมีขบวนเสด็จ”

“มีการประกาศเข้าจับ ตำรวจบอกเราว่าถ้ายังไม่หยุดอีก 5 นาที เขาจะเข้ามาจับกุมเรา และมันก็มีการปะทะกันเกิดขึ้นจริงๆ เราถูกถีบที่เข่าให้ล้มลง ตอนนั้นโดนเหยียบเลย” คุณมิ้นท์พยายามอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“มันเป็นภาพที่ตำรวจเขาเข้ามาใช้ขาล็อกที่กลางหลังเรา มันรุนแรงมาก และคนที่ลากเราออกมาจากตรงนั้นก็เป็นสื่อมวลชน”

“พอเราตั้งตัวได้ เดินออกมาเจอแดด ก็เป็นลมไปเลย ป้าๆเสื้อแดงก็วิ่งกันเข้ามาดู (หัวเราะ)”

.

องก์ที่ 5 : การสู้คดีเพื่อความยุติธรรมในศาลอยุติธรรม

“มันเหมือนกับการต่อยมวยนะ กรรมการคือศาล แล้วเราเป็นจำเลยถูกมัดมือมัดเท้า ให้คู่ต่อสู้ชกเราได้เรื่อยๆ ไม่พอกรรมการอย่างศาลก็ลงมาชกเรากับเขาด้วย”

“จริงๆ มีคนมาเตือนแล้วแหละ บอกว่าเออมิ้นท์แกต้องระวังแล้วนะ แต่ก็ไม่มีใครคิดว่ามันจะเป็นวันนั้นเลย”

อ่านข้อมูลคดีเพิ่มเติม >>> จับ “โจเซฟ-มิ้นท์” ตามหมายจับ ม.112 เหตุปราศรัย “ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ก่อนได้ประกัน มีเงื่อนไขห้ามชุมนุมที่กระทบสถาบันกษัตริย์ 

“เราไปกินส้มตำเสร็จก็มีตำรวจเดินมา คือเราก็คิดแล้วนะว่าต้องใช่แน่ๆ เขาเดินเปิดประตูรถลงมาคือ 10 กว่าคน เราก็ตกใจเลยว่าทำไมเยอะจัง ตอนนั้นก็โดนจับไปสโมสรตำรวจ” คุณมิ้นท์เล่า

“ในคดีนี้ยังไม่มีการสืบพยาน ไม่มีการพิจารณาคดี แต่กระบวนการคือเขาฝากขังเราแล้ว คือเราไม่เห็นความเป็นธรรมเลย การไปขึ้นศาลเหมือนเราไปรับความอยุติธรรมมากกว่า” เธอเอ่ยถึงคดีมาตรา 112 ครั้งแรกที่เธอได้รับ แล้วก็ได้พบกับความผิดหวังเมื่อกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ยุติธรรมดั่งภาพที่เธอคาดหวังเอาไว้

“ทำไมเราต้องขอความยุติธรรมจากกระบวนการอยุติธรรมวะ” คุณมิ้นท์ทิ้งทวนคำถามไว้ถึงเรื่องคดีเพียงเท่านี้ 

.

องก์ที่ 6 : ชีวิตและปากท้องของนางรำในม็อบการเมือง

จากเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับประสบการณ์ในแวดวงนาฏศิลป์ ความรู้ทางประวัติศาสตร์และการตั้งคำถามชวนคิดตามต่างๆ นานา คุณมิ้นท์ได้บอกเล่าว่าหลังจากปลดแอกจนเป็นอิสรภาพจากโรงเรียนสอนนาฏศิลป์แล้ว ชีวิตของเธอก็ยังคงวนเวียนอยู่บนเส้นทางของนางรำเรื่อยมา

“เราเคยไปแลกเปลี่ยนในโครงการของจุฬาฯ ตอนนั้นได้มีโอกาสไปอเมริกาช่วงซัมเมอร์สั้นๆ ไปสอนนาฏศิลป์ไทย”

“แล้วก็มีรับถ่ายแบบด้วยนะคะ แต่พอเริ่มมาทำกิจกรรม การถ่ายแบบมันก็เริ่มมีสัญญา ห้ามพูดเรื่องการเมืองในเฟซบุ๊กนะ เพราะลูกค้าจะมาตรวจว่าเราเคลื่อนไหวทางการเมืองอะไรบ้าง แต่เราก็หยุดเคลื่อนไหวไม่ได้ไง เราก็เลยตัดลูกค้าที่เป็นสลิ่มออกไปเลย กูไม่รับ (หัวเราะ)”

“พอช่วงโควิดมา เราก็พยายามเริ่มหางานอย่างอื่นทำด้วย ส่วนตัวชอบวาดรูปอยู่แล้วเลยหันมาเอาทำกราฟฟิคดู ก็ไปลงเรียนค่ะ แต่พอโควิดไม่หายก็จับเป็นอาชีพไปเลย แต่ตอนนี้ก็ยังรับงานถ่ายแบบอยู่นะคะ” เธอบอก

.

ลาโรง: ประวัติศาสตร์กับนาฏศิลป์ของคุณมิ้นท์หน้าตาเป็นอย่างไรในวันที่ประเทศไทยมีประชาธิปไตยเต็มใบ

“ถ้าปลดล็อกกฎหมายหลายๆ อย่างได้ ถ้ายกเลิก 112 ไปแล้ว ประวัติศาสตร์จะถูกวิพากษ์มากขึ้น มันจะมีการเรียนรู้ร่วมกัน กล้าพูดถึงทุกอย่าง มันจะไม่เหมือนกรณีพระเจ้าตากที่เราพูดไปแล้วโดนคดีแบบนี้”

“ส่วนในตัวของนาฏศิลป์เอง เราคงสามารถพูดออกมาได้เต็มที่ว่าเขากดขี่เพศหญิงยังไง เราคงสามารถพูดได้ว่าเขาแฝงอะไรมาในวรรณคดี สอดแทรกความเป็นปิตาธิปไตยยังไงบ้าง ผู้หญิงในวรรณคดีมันไม่มีความเป็นคนเลยนะ”

นอกจากนี้เธอยังได้กล่าวว่า ถ้าอยากให้นาฏศิลป์ไทยมันก้าวไปกับโลกนี้ได้ จารีตเป็นขนบธรรมเนียมที่จะต้องถูกดึงออกไป เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ต่างจากโซ่ตรวนที่ฉุดรั้งความเจริญของศิลปะแขนงนี้เอาไว้

“นาฏศิลป์ไทยมันสวยนะ มันมีเอกลักษณ์ของมันอยู่แล้ว อันที่จริงมันเป็นการแสดงร่วมในอุษาคเนย์ที่รวมวัฒนธรรมไทย ลาว อินเดีย เขมร แต่เราก็ยังมาสร้างอาณาเขต พอมันแบ่งแยกแบบนี้ก็ใส่สีตีไข่ กลายเป็นอะไรที่ลงท้ายด้วย ‘ไทย’ เรารู้สึกว่ามันแย่หมดเลย จริงๆ มันควรจะทำอะไรได้มากกว่านี้นะคะ”

โดยในวันที่ 16 มิ.ย. 2565 ศาลอาญาธนบุรี ได้มีนัดไต่สวนคำร้องถอนประกันคุณมิ้นท์ ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเหตุการณ์ขึ้นปราศรัยในวันที่ 6 เม.ย. 65 กิจกรรม ‘ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก’ ซึ่งจัดโดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ บริเวณอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ 

ซึ่งภายหลังศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องของพนักงานสอบสวนจากสน.บุปผาราม เนื่องจากไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหากระทำความผิดเงื่อนไขและกำชับให้ผู้ต้องหาทำตามเงื่อนไขโดยเคร่งครัด

.

อ่านบันทึกการไต่สวนเพิ่มเติม >>> ยกคำร้อง! ศาลไม่เพิกถอนประกัน “มิ้นท์-นาดสินปฏิวัติ” เหตุร่วมชุมนุม 2 ม็อบ ชี้ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าฝ่าฝืนเงื่อนไข |

X