#2ปีเราไม่ลืมวันเฉลิม: ย้อนอ่านถ้อยคำจากผู้คนที่ยังคงติดตามหา “ต้าร์”

เวลา 17.54 น. ของวันที่ 4 มิถุนายน จะครบระยะเวลา 2 ปีแล้ว ที่ “ต้าร์” วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกกลุ่มคนอุ้มขึ้นรถคันหนึ่งหายไปจากหน้าคอนโดที่พักในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ประเทศซึ่งเขาลี้ภัยทางการเมืองจากประเทศไทยไปอยู่ นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 ท่ามกลางเสียงสุดท้ายที่พี่สาวได้ยินผ่านโทรศัพท์ว่า “โอ๊ย หายใจไม่ออก” และจากนั้น ก็ไม่เคยได้ยินเสียงใดๆ จากต้าร์อีกเลย

2 ปีผ่านไป ยังไม่มีความคืบหน้าของการติดตามหาตัววันเฉลิมทั้งในฝั่งไทยและกัมพูชา ยังไม่ทราบว่าเขาเป็นหรือตาย ถ้าหากเป็น แล้วอยู่ที่ไหน และเป็นอยู่อย่างไร ถ้าหากตาย แล้วตายอย่างไร ศพอยู่ที่ไหน กระทำโดยใคร เพื่อเป้าประสงค์ใด แล้วจะเอาผิดผู้กระทำใดหรือไม่ ยังล้วนเป็นคำถามที่ยังไม่ทราบชัดเจน

นี่คือภาวะคลุมเครือของผู้ที่ถูกบังคับสูญหาย ที่จะดำรงต่อเนื่องตราบเท่าที่ไม่ทราบข้อมูลใดๆ และนั่นคือสภาวะความไม่ชัดเจน-ความไม่แน่นอนที่ญาติมิตร หรือคนใกล้ชิดต้องเผชิญภายหลังผู้เป็นที่รัก ถูกบังคับอุ้มหายไปเช่นกัน จะอยู่กับภาวะนี้อย่างไร หรือจะจัดการมันอย่างไร

2 ปีผ่านไป ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนย้อนทบทวนถ้อยคำของครอบครัว และมิตรสหายของต้าร์บางส่วน ที่เคยบอกเล่าถึงเขา ทั้งในแง่ความผูกพัน เรื่องราวในชีวิตของต้าร์ ความผันผวนที่เขาต้องเผชิญในการลี้ภัย กระทั่งความคิดความรู้สึกหลังรับรู้ถึงการถูกทำให้หายตัวไปของเขา

—————–

.

“ต้าร์หายไปครั้งนี้ ต่างจากครั้งหลังรัฐประหาร เพราะตอนนั้นอย่างน้อยเราแน่ใจว่าเขายังมีชีวิตอยู่ เรารู้ว่าเขามีเหตุที่ต้องไป แต่วันนี้มันไม่ใช่ เขาไม่ได้ไปเพราะอยากไป แต่มันคือการบังคับให้สูญหาย ต้องให้เจอกับความทรมาน กระทั่งชะตาชีวิตของเขา เรายังไม่รู้เลยว่าเขารอดหรือเปล่า แต่ถึงไม่รอด ก่อนตาย เราก็รู้ว่าเขาต้องทรมานมาก เรารู้เรื่องนี้อยู่เต็มอก และเราต้องทนอยู่กับความคิดแบบนี้ในทุกวัน”

การถูกบังคับสูญหายของต้าร์ นับได้พลิกเปลี่ยนชีวิตของ เจน’ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของเขาไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากคนไม่ใช่นักเคลื่อนไหว แทบไม่ได้ติดตามการเมือง ต้องกลายเป็นผู้เคลื่อนไหวติดตามหาน้องชายอย่างไม่ลดละ และยังทำให้เธอถูกดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการร่วมชุมนุมทางการเมืองแล้ว 2 คดี แม้จะผ่านไปสองปีแล้ว แต่ “ปลายทาง” ของการเดินทางนี้สำหรับเธอ ยังคงมาไม่ถึง และเจนยังต้องเดินทางต่อไป

“ปลายทางของการเดินทางครั้งนี้ เราแค่อยากรู้ว่าเขาเป็นหรือตาย อยากให้จบโดยเร็ว เราจะได้ใช้ชีวิตต่อได้ ไม่อย่างนั้นเราต้องมานั่งผวา มานั่งรอคอย การรอคอยไปเรื่อยๆ มันทรมาน”

“ถ้าปัจจุบันนี้เขายังอยู่ พี่รู้นิสัยน้องของพี่ดี เขาต้องพูดขำๆ ว่า ‘เป็นไงล่ะ ตอนนี้เรื่องกูดังแล้ว หลังจากเรียกร้องมานาน เมื่อก่อนใครเรียกร้องอะไรก็เสียงไม่ดัง’ แต่ตอนนี้เหมือนเขาได้เรียกร้องสิทธิให้ผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ทั่วโลกที่ต้องเจอชะตากรรมเดียวกัน คนทั่วโลกได้รับรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคืออะไร มันคือความไม่ยุติธรรม พี่ว่าตอนนี้เขาคงภูมิใจที่สุดแล้ว”

“เราอยากให้ทุกคนจดจำต้าร์ในฐานะผู้เรียกร้องสิทธิ ความยุติธรรม และประชาธิปไตย มากกว่าเหยื่อทางการเมือง เพราะสิ่งที่เขาโดนก็คือผลจากการต่อสู้เพื่อสิ่งเหล่านี้ เขาจึงกลายมาเป็นผู้ลี้ภัย พี่อยากให้สังคมจดจำเขาในฐานะนั้น”

อ่านบทสัมภาษณ์ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์: ในวันที่ความรู้สึกยังติดค้าง เราทำได้แค่มุ่งหน้าเดินต่อ

——————-

.

ณภัทร ปัญกาญจน์ หรือ “เจี๊ยบ” เป็นเพื่อนของต้าร์ ที่ได้รู้จักกันในช่วงที่ต้าร์ทำงานด้านกิจกรรมเยาวชน ทั้งสองคนเคยร่วมกันรณรงค์ในเรื่องปัญหาของวัยรุ่น อาทิ ยาเสพติด ท้องไม่พร้อม หรือเรื่องโรคเอดส์ ทำให้สนิทสนมคุ้นเคยกัน ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาสำคัญในชีวิตส่วนตัวของเธอ จนเรียกได้ว่า “อยู่ในทุกช่วงของชีวิต”

“ใจหนึ่ง ถ้าเรายังไม่เห็นหลักฐาน ไม่เห็นร่าง เราจะไม่อยากรู้สึกว่ามันไปแล้วนะ แต่อีกใจหนึ่งก็เริ่มไม่มั่นใจ เพราะตัวอย่างที่มีให้เห็นที่ผ่านมา กี่คนๆ ที่ถูกเอาไป ก็ไม่ได้กลับมา มันก็ทำให้เรารู้ว่ามันไม่อยู่แล้ว แต่ก็รู้สึกว่าไม่อยากให้เป็นแบบนี้ ยังอยากให้มันกลับมาอยู่”

“ต้าร์เป็นคนมุ่งมั่นเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้กับคนอื่นมาตลอด ถ้าตอนนี้ ต้าร์รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่ามีหลายๆ คนร่วมมือกันเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้กับต้าร์ ทั้งหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ทั้งเทรนด์ทวิตเตอร์ ทั้งในโซเชียล ทั้งสื่อต่างๆ ถ้าต้าร์เป็นต้นเรื่องให้กระแสขนาดนี้ ต้าร์จะดีใจและต้าร์จะภูมิใจในความเป็นมันมากเลยนะ

“มันจะรู้สึกแบบ เหี้ย กูทำได้ กูทำให้คนอื่นแบบคนที่ไม่รู้เรื่อง คำว่าสิทธิมนุษยชน เด็กวัยรุ่นอะไรต้องหันกลับมามองว่า คำนี้ๆ หมายถึงอะไร มันทำได้อ่ะ มันก็คงจะบอก ‘อิเจี๊ยบ เป็นยังไง ไอเหี้ยกูแม่งเจ๋งป้ะ มึงดูดิ๊’ ตามสไตล์มันอะนะ อยากให้มันกลับมารับรู้”

อ่านบทสัมภาษณ์ของเจี๊ยบ >> “หัวใจมันตก มันแตก”: คุยกับเพื่อน ‘ต้าร์’ ในวันที่มิตรสหายถูกอุ้มหายไป

———————

.

ขณะเดียวกัน เพื่อนร่วมรุ่นสมัยมัธยมปลายของต้าร์อีกรายหนึ่ง ซึ่งรู้จักกับต้าร์ตั้งแต่สมัยเรียน ม.5 ที่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลราชธานี และได้เห็นต้าร์ทำกิจกรรมในฐานะประธานนักเรียน จนในช่วงหลังได้กลับมาพูดคุยกันอีกครั้ง เพราะความสนใจทางการเมืองที่ตรงกัน

“ก่อนโดนอุ้ม เขาได้รับคำเตือนมาก่อนว่าสถานการณ์เริ่มไม่ปลอดภัย แต่เขายังยืนยันอยู่ที่กัมพูชาต่อ เพราะยังอยากอยู่ใกล้เพื่อนใกล้ครอบครัว ส่วนตัวผมคิดว่า เขายังหวังว่าจะได้กลับมาอยู่ไทยอีกครั้ง เพราะสำหรับเขามันคือบ้าน เขาบอกผมเสมอว่าอยากกลับบ้าน เขารักและคิดถึงบ้าน ครอบครัว แคร์แม่และพี่น้อง”

“กรณีต้าร์ได้สร้างให้เกิดการตื่นรู้ในสังคมไทยที่มีต่อเรื่องผู้ลี้ภัยได้ค่อนข้างมาก ผมยังประหลาดใจพอสมควรจนถึงวันนี้ ผิดกับกรณีอุ้มหายในลักษณะเดียวกันที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ทำให้สังคมไทยตั้งคำถามเยอะมากเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ และการแสดงออกทางความคิด ตั้งคำถามว่าทำไมคนหนึ่งซึ่งมีความคิดต่างจากรัฐถึงขั้นต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศอื่น ถูกใครไม่รู้อุ้มหายไป ทำไมต้องสร้างความหวาดกลัวและแรงกดดันไม่ให้เราใช้สิทธิเสรีภาพทางความคิด ทำไมต้องมีกระบวนการทางอำนาจส่งสัญญาณให้หยุดเคลื่อนไหวเรื่องต้าร์”

อ่านบทสัมภาษณ์ >> ‘ต้าร์’ วันเฉลิม ในเรื่องเล่าของสหาย: แด่ความหวัง ความฝัน และการเปลี่ยนแปลง

———————-

.

‘ป้ามล’ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยรู้จักกับต้าร์ ตั้งแต่เขาไปเข้าร่วมอบรมในฐานะเยาวชน จนเริ่มทำงานในเรื่องคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน

“หากลองมองย้อนกลับไปในหลายปีที่รู้จักกัน ตอนต้าร์ยังเด็กกว่านี้ ภาพของเขาคือเด็กกระตือรือร้น ใฝ่เรียนรู้ในประเด็นที่เข้มข้นและน่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ จุดประกายคำถามให้เราว่า เอ…เด็กแบบนี้มาจากไหน (หัวเราะ) เขาต้องผ่านอะไรมาก่อน? เรียนอะไรมา? เพราะเด็กไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างว่านอนสอนง่าย นานๆ ครั้งเท่านั้น เราถึงจะเจอเด็กแบบต้าร์ซักคน ซึ่งการพบเจอเช่นนี้ทำให้เรารู้สึกว่าสังคมยังมีความหวังเหลืออยู่”

“สำหรับป้า ป้ามองว่าเขาเป็นคนที่มีความกล้าหาญ กล้ารับผิดชอบในสิ่งที่เขาได้เลือก เราเชื่อว่าในสังคมไม่ได้มีคนแบบนี้เยอะนักหรอก และเราไม่เคยรู้สึกว่าเขาเป็นภัยต่อสังคมแม้แต่น้อย”

“สิ่งที่เราอยากเห็นมากที่สุดคือการที่เรื่องของต้าร์สร้างความเปลี่ยนแปลงในวิธีคิดของคนอื่นที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือที่มักพูดกันว่า ‘ตายสิบเกิดแสน’ เราต้องทำให้คำดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ถ้าต้าร์ได้รับรู้ว่าเรื่องราวของเขากลายเป็นทุนของสังคมขนาดมหึมา ป้าเชื่อว่าเขาน่าจะมีความสุข”

อ่านบทสัมภาษณ์ >> ทิชา ณ นคร: เราต้องการความกล้าหาญแบบ ‘ต้าร์’ วันเฉลิม เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

——————————–

.

แล้วถ้าต้าร์ยังอยู่ และเขาสามารถโพสต์เฟซบุ๊กได้อยู่ล่ะ เขาจะโพสต์ว่าอะไร?  

ในช่วงที่ต้าร์ยังสามารถโพสต์เฟซบุ๊กได้ จะพบว่าเขาเป็นผู้ใช้ที่โพสต์ค่อนข้างถี่และต่อเนื่อง การโพสต์ทั้งหมดยังตั้งค่าเป็นสาธารณะ (public) พบเห็นการแชร์ข่าวสารบ้านเมืองจำนวนมาก พร้อมแสดงความคิดเห็นทางการเมืองทุกวัน พบเห็นการติดตามข่าวสารเรื่องเศรษฐกิจ ตลาดหุ้น และธุรกิจต่างๆ  เขายังจัดทำคลิปภาษาอีสานนำเสนอเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองเป็นระยะ และเช่นเดียวกับคนทั่วไป เขายังใช้เฟซบุ๊กโพสต์บ่นระบายถึงเรื่องราวส่วนตัว บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวัน แต่ก็ไม่ได้มีการโพสต์ถึงสถานที่อยู่หรือภาพถ่ายสถานที่ต่างๆ

“วันนี้ คือวันครบรอบ 6 ปีเต็ม ที่ผมออกจากไทย คสช. ประกาศให้ไปรายงานตัวภายหลัง คือในวันที่ 28 พ.ค. 57  วันนี้ มันเป็นความทรงจำหนึ่งในชีวิตผม และเป็นความทรงจำของใครอีกหลายคน ผู้รู้สึกขอบคุณ ซาบซึ้ง ดีใจ ขอโทษ ฯลฯ มันปะปนไปหมด”

“บางคนในความทรงจำ ซึ่งวันนี้ไม่ได้อยู่ข้างกันแล้ว ก็ไม่เป็นไร ชีวิตคนเราก็แบบนี้ล่ะ ช่างมัน สิ่งที่มันเกิดขึ้นผ่านไปแล้ว ก็คือผ่านไป บางอย่าง ก็เก็บเป็นความทรงจำดีๆ บางอย่าง ก็ใช้มันเป็นพลังขับเคลื่อนชีวิต ระหว่างทางมีเรื่องราวให้เรียนรู้เยอะแยะ ผิดพลาดบ้าง ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ก็เรียนรู้ไป ปรับปรุง พัฒนาตัวเอง ไปเรื่อย คนที่ไม่อยู่ละ ก็มีแต่ความปรารถนาดีให้ คนที่ยังสู้กันอยู่ ก็อย่าได้ท้อใจไปก่อนนะครับ เป็นกำลังใจให้กันไปก่อนเนาะ”

“I will not surrender to injustice and I will fight for my path. (Even sometime it feel lonely.)”

นั่นคือข้อความเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2563 ไม่กี่วันก่อนเขาจะถูกบังคับสูญหายไป และเป็นวันที่ครบรอบ 6 ปี ของการลี้ภัยทางการเมืองของวันเฉลิม

อ่านสเตตัสบางส่วนของวันเฉลิม >> อ่านสเตตัส ‘วันเฉลิม’ ผู้ถูกอุ้มหาย: การลี้ภัย ต้านรัฐประหาร และความหวังในชีวิตไกลบ้าน

———————————-

.

ย้อนอ่านชุดบทความในประเด็นการถูกบังคับสูญหายของวันเฉลิม

จาก ‘ผู้ถูกกระทำ’ สู่ ‘ผู้กระทำการ’: การก้าวผ่านของครอบครัวเหยื่อผู้ถูกบังคับให้สูญหาย

‘ความรุนแรง’ ที่ซ้อนเร้นอยู่ในการอุ้มหาย: เมื่อ ‘วันเฉลิม’ ไม่ได้ตกเป็น ‘เหยื่อ’ เพียงลำพัง

 “รัฐอาชญากร ใน อาชญากรรมรัฐ”: 1 ปี การถูกอุ้มหายของ “วันเฉลิม” มองผ่านมุมอาชญาวิทยา

.

X