“รัฐอาชญากร ใน อาชญากรรมรัฐ”: 1 ปี การถูกอุ้มหายของ “วันเฉลิม” มองผ่านมุมอาชญาวิทยา

ภาสกร ญี่นาง

นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

4 มิถุนายน 2564 นับเป็นวันที่ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ “ต้าร์” ผู้ลี้ภัยทางการเมือง ที่อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา ถูกบังคับให้สาบสูญไป (Forced Disappearance) ครบ 1 ปี และยังคงไม่มีความคืบหน้าหรือความเคลื่อนไหวใดๆ จากทางการของรัฐไทยและกระทรวงการต่างประเทศ ในการติดตามตัว หาเบาะแส สืบสวนสอบสวนหาตัวการ และผู้เกี่ยวข้องกับการสูญหายของวันเฉลิม ขณะที่ ทางการกัมพูชาก็ออกมาปฏิเสธไม่รับรู้ และแม้จะมีการสอบสวนของผู้พิพากษาไต่สวน ที่ศาลแขวงกรุงพนมเปญเมื่อช่วงปลายปี 2563 แต่ก็ยังไม่ได้มีความคืบหน้าเพิ่มเติม

กรณีดังกล่าว ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “คนเห็นต่าง” ซึ่งลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศ ต้องถูกบังคับให้สาบสูญ หรือ “อุ้มหาย” แต่กลับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า[1] โดยแต่ละครั้งล้วนมีผลลัพธ์อย่างเดียวกัน คือ การไม่ทราบชะตากรรมของเหยื่อ กระบวนการยุติธรรมที่ไม่คืบหน้า และการลอยนวลพ้นผิดของผู้กระทำ

เมื่อการอุ้มหายผู้เห็นต่างทางการเมือง ถูกนับว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรงลักษณะหนึ่ง รวมถึงหลายกรณียังเข้าข่ายเป็น “อาชญากรรมโดยรัฐ” บทความนี้จะลองพิจารณาศึกษาปรากฏการณ์อุ้มหาย ผ่านมุมมองทางอาชญาวิทยา เพื่อฉายให้เห็นภาพสังคมไทยที่กำลังป่วยไข้อย่างหนัก และความเป็นรัฐอาชญากรของรัฐไทยที่สามารถใช้ความรุนแรงกำจัดผู้เห็นต่างได้ โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมและกฎหมาย

 

 

“อาชญาวิทยา” (Criminology) คืออะไร

อาชญาวิทยา ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “Criminology” ซึ่งมาจากคำว่า Crime ที่แปลว่า อาชญากรรม กับ logy ที่แปลว่า วิทยาการ ซึ่งหากแปลตามรากศัพท์ จะหมายความว่า “วิทยาการที่เกี่ยวกับอาชญากรรม”[2] อาชญาวิทยาเป็นศาสตร์แบบสหวิทยาแขนงหนึ่ง อันประกอบด้วยความรู้ทั้งทางสังคมวิทยา จิตวิทยา วิทยาศาสตร์ และนิติศาสตร์ ที่ว่าด้วยเรื่อง “อาชญากรรม” โดยเน้นการศึกษาถึงสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาชญากรรม การป้องกันอาชญากรรม ตลอดจนการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ผ่านการวิเคราะห์ พิจารณาพฤติกรรมการฝ่าฝืนกฎหมายอาญา และตัวผู้กระทำความผิด รวมถึงลักษณะโครงสร้างทางสังคมที่บีบคั้นให้คนๆ หนึ่งต้องตัดสินกระทำความผิดทางอาญา[3] บนกรอบคิดทฤษฎีต่างๆ ที่นักอาชญาวิทยาได้วางรากฐานเอาไว้

ในบทความนี้จะมุ่งทดลองตอบคำถามว่า เพราะเหตุใดคนเห็นต่างและผู้ลี้ภัยทางการเมืองต้องถูกบังคับให้สูญหาย? อะไรบ้างที่จะเป็นสาเหตุปัจจัยที่ทำให้ต้องมีการใช้ความรุนแรงลักษณะดังกล่าว? ทั้งๆ ที่ ความเป็นจริงตามธรรมชาติของสังคมมนุษย์ การมีความคิดเห็นที่ต่างกัน ก็ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นได้

วัตถุแห่งการศึกษาของอาชญาวิทยา จะอยู่ในสามเรื่องหลักๆ ได้แก่ “กาย จิต และสภาวะแวดล้อม” ของตัวผู้กระทำความผิด หรือ ตัวอาชญากร เพื่อเป็นการถอดรหัส ตีความ สาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้บุคคลกระทำความผิด แสวงหามาตรการป้องกันเยียวยาปัญหาอาชญากรรม[4] ผนวกกับวิธีการฟื้นฟูให้บุคคลที่เคยกระทำความผิด ให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้  ซึ่งส่วนหลังนี้จะอยู่ในขอบเขตของอีกสาขาวิชาหนึ่งที่เรียกว่า “ทัณฑวิทยา” (Penology)[5]

อย่างไรก็ตาม การประยุกต์ใช้ทฤษฎีทางอาชญาวิทยา มาเป็นกรอบการศึกษาครั้งนี้ จะไม่พุ่งเป้าไปที่ตัวผู้กระทำความผิดรายบุคคล แต่จะเป็นการพิจารณาตัว “รัฐไทย” เป็นหลัก ด้วยเหตุผลเพราะ กรณีการอุ้มหายผู้เห็นต่างทางการเมือง ในฐานะอาชญากรรมที่ได้รับการสันนิษฐานว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากบริบทแวดล้อมของเหตุการณ์ได้ชี้ว่า เหยื่อความรุนแรงส่วนใหญ่ล้วนเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐอำนาจนิยมไทย โดยเฉพาะการตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดี มาตรา 112 ภายหลังการรัฐประหาร ปี 2557[6] จนเป็นเหตุให้ต้องลี้ภัยทางการเมือง ไปยังต่างประเทศ และถูกบังคับให้สาบสูญในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ หากลองจินตนาการว่า “รัฐไทย” เปรียบเสมือนเป็น “บุคคล” ที่มีร่างกาย มีจิตใจ และเคลื่อนไหว หรือแสดงออก ผ่านกลไกเชิงสถาบัน รวมถึงการใช้อำนาจนอกกฎหมายของกลุ่มผู้มีอำนาจ และเจ้าหน้าที่รัฐ การศึกษาปรากฏการณ์ความรุนแรงที่คนเห็นต่างและผู้ลี้ภัยถูกอุ้มหาย ผ่านเลนส์ของอาชญาวิทยา อาจช่วยสะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะ สภาวะ หรือ อาการป่วยไข้ ที่รัฐไทยกำลังประสบอยู่ได้ดียิ่งขึ้น แม้ว่าจะไม่ตรงตามหลักการขององค์ความรู้ดังกล่าวทั้งหมดเสียทีเดียว

 

รัฐอาชญากรโดยกำเนิด: คุณลักษณะที่บ่งบอกความเป็นรัฐไทย

ในการวิเคราะห์เชิงอาชญาวิทยา เกี่ยวกับสาเหตุของอาชญากรรม ช่วงแรกๆ ของวิวัฒนาการองค์ความรู้ จะเน้นการพิจารณาไปที่รูปลักษณ์ภายนอก หรือ “กาย” ของอาชญากร ในต้นทศวรรษ 1870 ซีซาร์ ลอมโบรโซ (Cesare Lombroso) ร่วมกันศิษย์อีกสองคน คือ ราฟาเอล กาโรฟาโร (Raffaele Garofalo) และเอนริโก เฟอริ (Enrico Ferri) ได้ทำการศึกษาลักษณะทางกายภาพของอาชญากร โดยพิจารณาถึงแบบโครงสร้างร่างกายของมนุษย์ (Anthropological Types) กับลักษณะของอาชญากรโดยกำเนิด (Born Criminal) ซึ่งมีผลจากพันธุกรรม และวิวัฒนาการไม่สมบูรณ์ อาทิ กะโหลกศีรษะ กล้ามเนื้อ กราม รูปทรงใบหน้า ฯลฯ ทั้งหมด โดยอยู่บนข้อสันนิษฐานว่า ความผิดปกติต่างๆ ในร่างกายมนุษย์จะมีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรม และอุปนิสัยของมนุษย์คนนั้นๆ ในทางที่จะประกอบอาชญากรรมได้โดยง่าย[7]

 

ภาพตัวอย่างใบหน้าของอาชญากร ใน Criminal Man โดย ซีซาร์ ลอมโบรโซ จาก https://www.history.com/news/born-criminal-theory-criminology

 

ทฤษฎีอาชญากรโดยกำเนิด ของ ลอมโบรโซ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ต่อต้านอย่างรุนแรง และไม่เป็นที่ยอมรับในเวลาต่อมา เนื่องจากขาดน้ำหนัก และความเป็นเหตุเป็นผลในหลายด้าน[8] แต่อีกด้านหนึ่ง ข้อเสนอของลอมโบรโซ ก็มีคุณูปการที่ทำให้เกิดข้อโต้แย้ง ต่อยอด องค์ความรู้ทางอาชญาวิทยาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ปัญหาอาชญากรรมถูกนำมาพิจารณาภายใต้ “หลักวิทยาศาสตร์” รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นการศึกษาอาชญากรรม โดยมีอาชญากรเป็นศูนย์กลาง สนับสนุนให้มีการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดเป็นรายบุคคล และมีความเห็นต่อๆ กันมาว่า การกระทำความผิดย่อมมีสาเหตุจากอิทธิพลผลักดันต่างๆ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงควรให้มีการบำบัดรักษาอาชญากร และปฏิเสธการมุ่งลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างสาสมแก่ความผิดที่เกิดขึ้น[9] เช่น การแยกผู้กระทำความผิดสถานเบา ออกจากผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรง เป็นต้น

เมื่อหันมาลองพิจารณา “กาย-รูปลักษณ์” ของรัฐไทย พบว่า งานศึกษาทางประวัติศาสตร์ของ ธงชัย วินิจจะกูล เคยอธิบายความคิดเกี่ยวกับ ภูมิกายา (Geo-body) ของชาติ เพื่อชี้ให้เห็นว่า สยามเพิ่งถือกำเนิดขึ้นจากแผนที่ และภูมิศาสตร์ โดยที่ชนชั้นนำสยาม ได้ให้ความหมาย สร้างค่านิยมผูกติดไว้ ซึ่งส่งผลต่อการเขียนประวัติศาสตร์และอุดมการณ์ของคนทั้งชาติให้สามารถ “ฆ่าคนอื่น” เพื่อรักษาดินแดนหรืออะไรบางอย่างที่ทรงคุณค่าเอาไว้ ธงชัย เน้นย้ำว่า “ภูมิกายา คือ ฐานของการที่เราสามารถคิดและพูดถึงความเป็นไทยได้”[10]

หากหยิบเอาคำอธิบายถึง “กายา” ของรัฐไทยดังกล่าว มาเจาะลึก รื้อดูลักษณะโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจภายใน จะพบลักษณะที่บ่งบอกว่า รัฐไทย เป็นรัฐที่เสพติดและกระหายความรุนแรง หรือเป็นรัฐแห่งความรุนแรงโดยกำเนิด อยู่ 2 ประการ คือ

 

(1) รัฐอสูรกาย

ธงชัย ให้ความเห็นว่า[11] รัฐไทย (เช่นเดียวกับอีกหลายรัฐทั่วโลก) อาจเป็นรัฐอสูรกาย ที่มองเห็นประชาชน รวมถึงคนที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจ เป็นศัตรู และสามารถใช้ความรุนแรงได้เสมอ เนื่องจากการไร้ซึ่งหลักนิติรัฐ ที่จะคอยเป็นกรอบจำกัดอำนาจรัฐ ให้อยู่ภายใต้กฎหมาย เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ในทางกลับกัน รัฐไทยมีระบบกฎหมายที่ถูกครอบงำจากมโนทัศน์พื้นฐานว่าด้วย นิติรัฐอภิสิทธิ์ หรือ ระบบกฎหมายที่มอบอภิสิทธิ์ปลอดความผิดแก่รัฐ ให้สามารถละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างชอบธรรม โดยเฉพาะกับประชาชนที่รัฐมองว่า มีพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อ “ความมั่นคงของชาติ” ตามความหมายของชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การต่อต้านอำนาจรัฐของรัฐบาลอำนาจนิยม รวมไปถึงการเห็นต่างจากกลุ่มผู้มีอำนาจ

 

(2) รัฐลอยนวล

ลักษณะความสัมพันธ์เชิงอำนาจ อีกลักษณะหนึ่ง ที่บ่งบอกถึง ความเป็นรัฐไทย ได้เป็นอย่างดี คือ การเป็นรัฐที่สามารถใช้ความรุนแรงต่อประชาชนของตนได้ โดยไม่ต้องมีความรับผิดใดๆ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) เคยนำเสนอความคิดดังกล่าว ไว้ในงานศึกษาเรื่อง “In Plain Sight: Impunity and Human Rights in Thailand” โดยชี้ให้เห็นว่า รัฐไทย มีสภาวะการลอยนวลพ้นผิดดำรงอยู่เป็นสถาบันที่มีส่วนในการประกอบสร้างความเป็นรัฐสมัยใหม่ขึ้นมา[12] และคอยยึดโยงส่วนอำนาจที่สำคัญอื่นๆ ให้ดำรงอยู่ได้ในนามของรัฐไทย[13] อีกทั้ง การที่มีสภาวะลอยนวลพ้นผิดเป็นสถาบันที่สถาปนาความเป็นรัฐไทยขึ้น จึงอาจมองว่า รัฐไทยเป็น “รัฐอาชญากร” โดยกำเนิด ได้เช่นกัน

การอุ้มหายที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในประวัติศาสตร์ของรัฐไทย ล้วนเป็นผลพวงมาจากการเพิกเฉยต่อการแสวงหาความยุติธรรมของระบบกฎหมาย ปล่อยให้สภาวะการลอยนวลพ้นผิดลงรากฝังลึก และการลอยนวลพ้นผิด เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า รัฐไทยไม่เคยมอบบทเรียนใดๆ ให้แก่ผู้มีที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผ่านกระบวนการยุติธรรม ลงโทษผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเลยสักครั้ง

โดยสรุป โครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจของรัฐอสูรกายและรัฐลอยนวล ย่อมหมายถึงระบบความสัมพันธ์ที่ประชาชน มีสถานะเป็นเพียงวัตถุแห่งอำนาจของรัฐ ซึ่งผู้มีอำนาจสามารถกระทำความรุนแรงต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน หรือสิทธิอื่นๆ ได้โดยไม่มีความผิด ถือเป็นความผิดเพี้ยนที่ปกติภายในโครงสร้างอำนาจรัฐไทย ซึ่งส่งผลให้การอุ้มหายผู้ลี้ภัยทางการเมืองถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา

 

 

รัฐจิตวิปริต และการปกปิดความเปราะบางด้วยความรุนแรง

ทฤษฎีทางจิตวิทยาและจิตเวช เป็นอีกองค์ความรู้หนึ่ง ที่ถูกนำมาใช้ในทางอาชญาวิทยา เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของอาชญากรรมหรือพฤติกรรม จากสิ่งที่อยู่ภายในร่างกายมนุษย์ แต่แทนที่จะพิจารณาไปที่ความสำคัญของชีววิทยา หรือลักษณะทางกายภาพของมนุษย์ กลุ่มทฤษฎีนี้จะมุ่งนี้ไปที่ “จิตใจ” ของบุคคล โดยมีความเชื่อว่าอาชญากรเป็นบุคคลที่มีความผิดปกติด้านจิตใจหรือความกดดันด้านจิตใจ

นักคิดในกลุ่มทฤษฎีนี้ ได้วางหลักการที่จะช่วยทำความเข้าใจ สาเหตุของอาชญากรรมไว้อย่างน่าสนใจหลายประเด็น เช่น เฮนรี่ เมาสเลย์ (Henry Maudsley) นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ ที่มองว่า[14] อาชญากร คือ บุคคลที่มีจิตใจผิดปกติมาโดยกำเนิด และสามารถถ่ายทอดความผิดปกตินี้ได้ทางพันธุกรรม อาชญากรรมจึงถือเป็นการแสดงออกของอาชญากร เพื่อปลดปล่อยแรงกระตุ้นของโรคร้ายที่ติดต่อมาจากบรรพบุรุษ

ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ผู้ให้กำเนิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ได้อธิบายโครงสร้างบุคลิกภาพที่อยู่ภายใต้จิตใต้สำนึกของมนุษย์ 3 ส่วน ซึ่งประกอบด้วย อิด (Id) อัตตา (Ego) อภิอัตตา (Superego) อิด คือ สัญชาตญาณส่วนลึก หรือสันดานดิบ ที่มีแนวโน้มให้เกิดการกระทำตามความรู้สึกในจิตไร้สำนึก อัตตา คือ องค์ประกอบบุคลิกภาพที่อยู่ในลักษณะของสติสำนึก ซึ่งทำหน้าที่ปรับสัญชาตญาณดิบมาสู่โลกความจริง และอภิอัตตา คือ ส่วนของจิตที่อยู่เหนืออัตตา ที่คอยประเมินผลว่าการกระทำหนึ่งๆ ของตนว่าผิดศีลธรรมหรือไม่ คล้ายกับผู้ปกครองที่คอยจับตาดูพฤติกรรมของเด็ก และควบคุมให้อยู่ในร่องในรอยของกฎระเบียบ รวมถึงศีลธรรมอันดีของสังคม[15]

ดังนั้น พฤติกรรมอาชญากรรม จึงเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งระหว่าง อิด อัตตา และอภิอัตตา ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติหรืออาการป่วยทางจิตใจ (Mental Illness) ความบกพร่องทางอารมณ์ (Emotional Disorder) และ การถูกรบกวนทางจิตใจ (Psychic Disturbances) โดยมีสาเหตุ 2 ประการ คือ หนึ่ง การขาดการควบคุมสัญชาตญาณ หรือพัฒนาการด้านอารมณ์ และ การไม่พัฒนาอภิอัตตา จนทำให้สัญชาตญาณหรือสันดานดิบ แสดงออกมาโดยไร้การควบคุม[16]

นอกจากนี้ การศึกษาจำนวนมากในกลุ่มทฤษฎีทางจิตเวชศาสตร์และจิตวิทยา พบว่ามีสภาวะทางจิตอีกหลายรูปแบบ ที่คอยกระตุ้นให้มนุษย์ตัดสินใจก่ออาชญากรรม เช่น ภาวะวิกลจริต (Insane) ที่จะทำให้บุคคลมีอารมณ์หุนหันพลันแล่น อาจเป็นได้ทั้งความคุ้มคลั่งและความเศร้าโศก[17] โรคจิตตัดโลก (Schizophrenia) ซึ่งหมายถึง กรณีที่บุคคลจะสูญเสียการติดต่อกับโลกความเป็นจริง ตัดขาดจากโลกรอบตัว จนรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อยู่ภายใต้บรรทัดฐาน กฎเกณฑ์ หรือศีลธรรมกับคนทั่วไปอย่างสิ้นเชิง เป็นอาการอย่างหนึ่งที่แสดงความเป็นปรปักษ์ต่อสังคม จนนำไปสู่การกระทำความผิดได้ เป็นต้น[18]

สาเหตุของอาการผิดปกติทางจิตในตัวอาชญากร สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ความบกพร่องในการเจริญเติบโตและการเรียนรู้ หรือ เป็นปัญหาตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ที่สืบเนื่องมาจากความผิดปกติของมารดา รวมถึงการต้องใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ จนส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง เป็นต้น[19]

หากพิจารณารัฐไทย ในแง่ที่เป็น “อาชญากร” คนหนึ่ง รัฐไทยอาจเป็นบุคคลที่เต็มไปด้วย อาการวิปริต และความผิดปกติทางจิตใจอย่างรุนแรง มีความวิปริตทางโครงสร้างทางศีลธรรม ขาดความรู้สึกเกือบทั้งหมดที่จะคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ หรือความปวดร้าวของประชาชน ราวกับว่ามีเพียงสัญชาตญาณ และสันดานดิบที่ไม่มีการควบคุมใดๆ จนแสดงออกมาซึ่งความรุนแรง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามความต้องการของตน โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริง กฎหมาย กฎเกณฑ์ทางศีลธรรม ตลอดจนบรรทัดฐานเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นการรักษาสถานะที่เหนือกว่าของผู้มีอำนาจ การปกป้องระเบียบทางสังคมแบบชนชั้นท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงการบังคับให้ทุกคนต้องมีความคิดไปในทางเดียวกัน ทั้งที่ขัดต่อธรรมชาติของสังคมมนุษย์

สาเหตุของความจิตวิปริตดังกล่าว อาจมีความสัมพันธ์ยึดโยงกับประวัติศาสตร์ที่ระบบกฎหมายไม่เคยจัดการกับรัฐที่กระทำความรุนแรงต่อประชาชน รัฐไทยจึงเป็นรัฐที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ว่า จะจัดการปัญหาความมั่นคง และความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้อย่างไร หมกมุ่นอยู่กับจินตนาการว่า ประชาชนต้องคิดเหมือนกัน จนตัดตัวเองจากโลกความเป็นจริง โดยไม่เคยมองประชาชนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีชีวิตจิตใจ ใช้ความรุนแรงราวกับควบคุมตัวเองไม่ได้

อีกทั้ง รัฐไทยยังเสมือนเป็นกับบุคคลที่กำลังตกอยู่ในสภาวะอ่อนแอ ไม่มั่นคง และอ่อนไหวง่าย จึงจำเป็นต้องใช้ความรุนแรง ปกปิดสภาวะอ่อนแอดังกล่าว และแสร้งว่าตนแข็งแกร่ง มีอำนาจ พร้อมทั้งสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวต่อสังคม โดยที่ความจริงแล้ว สิ่งที่แสดงออกมาให้เห็นเบื้องหน้า กลับมีเบื้องลึกภายในที่กลวง เปราะบาง และพร้อมจะสลายไปได้ทุกเมื่อ เพียงแค่มีความคิดเห็นที่ต่างจากผู้มีอำนาจ

ขณะเดียวกัน เพื่อรักษาภาพลักษณ์ความแข็งแกร่งเอาไว้อย่างถึงที่สุด การใช้ความรุนแรงในบางกรณี ผู้กระทำจึงต้องพยายามไม่ให้หลงเหลือหลักฐาน หรือ ร่องรอยที่อาจทำให้มีการสืบสาวไปถึงตน การอุ้มหายก็ถือเป็นวิธีการที่ตอบสนองจุดประสงค์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เพราะจะทำให้ไม่สามารถบ่งชี้ได้เลยว่าใครเป็นผู้กระทำ ชะตากรรมของเหยื่อเป็นอย่างไร เสียชีวิตหรือไม่ เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานที่หนักแน่นพอ โดยเฉพาะศพของเหยื่อที่มักถูกทำลายและซ่อนเร้น ซึ่งทำให้การสืบสวนสอบสวนหาเบาะแสเป็นไปอย่างยากลำบากยิ่งขึ้น

ท้ายที่สุด ภาวะผิดปกติทางจิตข้างต้น ได้นำพารัฐไทยไปสู่การเป็น “ฆาตกรต่อเนื่อง” ที่สามารถใช้อำนาจสังหารประชาชนได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ ต่อศีลธรรมและกฎหมาย ดังจะเห็นได้ตั้งแต่เหตุการณ์ที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนอย่างเป็นระบบ ในเหตุการณ์ความรุนแรงทางประวัติศาสตร์การเมือง ทั้ง 14 ตุลาฯ 16, 6 ตุลาฯ 19, พฤษภา 35 และเมษา-พฤษภา 53 เรื่อยจนไปถึงการลอบสังหาร หรือ บังคับบุคคลผู้ลี้ภัยทางการเมืองให้สาบสูญ ซึ่งหากว่า นับเฉพาะหลังการรัฐประหารปี 2557 ปรากฏว่ามีผู้ลี้ภัยถูกอุ้มหายไปถึง 9 ราย (พบเป็นศพในเวลาต่อมา 2 ราย)

อย่างไรก็ตาม อาชญากรที่เป็นปัจเจกบุคคลทั่วไปบางคน หากมีภาวะผิดปกติทางจิต ก็อาจถูกส่งตัวเข้าบำบัดรักษาด้วยวิธีการทางการแพทย์ให้หายเป็นปกติ และกลับคืนสู่สังคมได้ ตรงกันข้าม กรณีของรัฐ การรักษาเยียวยาสภาวะผิดปกติดังกล่าว กลับเป็นเหมือนเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่ผู้กุมอำนาจรัฐไม่ยอมรับความเห็นต่าง ปฏิเสธความจริง และวัฒนธรรมทางการเมืองของการลอยนวลพ้นผิดยังดำรงอยู่

 

 

รัฐไทยในสภาพแวดล้อม ที่เอื้อแก่การก่ออาชญากรรม

การพิจารณาวิเคราะห์การก่ออาชญากรรม นอกเหนือจากในเรื่อง “กาย” และ “สภาวะจิตใจ” แล้ว “สภาพแวดล้อม” ยังถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นักอาชญาวิทยาหยิบมาศึกษา โดยเชื่อว่าการเกิดขึ้นของอาชญากรรม สัมพันธ์กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในฐานะที่เป็นตัวกระตุ้น ปลุกเร้า ครอบงำ ให้มนุษย์ต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง[20] กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ สภาพแวดล้อมทางสังคมที่เหมือนกัน จะส่งผลให้พฤติกรรมของสมาชิกในสังคมคล้อยตามกัน เนื่องจากทุกสังคม ล้วนปรากฏสิ่งที่เรียกว่า “พลังสังคม” (Social Force) ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์[21]

การศึกษาอาชญาวิทยากลุ่มนี้ เรียกอีกอย่างว่าเป็น “อาชญาวิทยาแนวสังคมวิทยา”  (Sociology of Criminology) โดยทฤษฎีที่อาจนำมาใช้พิจารณาเหตุการณ์อุ้มหาย ได้แก่ ทฤษฎีความไร้ระเบียบของสังคม (Social Disorganization Theories) ซึ่งหมายถึง กรณีที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่กฎระเบียบ หรือกฎเกณฑ์ของสังคม ส่งอิทธิพลลดถอยลงต่อการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม[22] จนอาจนำไปสู่สภาวะที่ เอมิล เดอร์ไคม์ (Emile Durkheim) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส เรียกว่า สภาวะไร้กฎเกณฑ์[23] เมื่อกฎหมายไร้ความหมาย ตัวเลขอาชญากรรมย่อมสูงขึ้นเป็นเสมือนเงาตามตัว

เช่นเดียวกับเรื่องความกดดันทางสังคม (Strain Theory) ที่กล่าวถึงแรงกดดันที่บีบคั้น ส่งผลกระทบทางลบต่อจิตใจของบุคคล ที่อาจเป็นความล้มเหลว ภาวะที่ต้องเผชิญกับความผิดหวัง ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึก โกรธ สิ้นหวัง หวาดกลัว จนบุคคลนั้นต้องตัดสินใจกระทำความรุนแรง หรือกระทำความผิด คล้ายกับลักษณะต่อต้านสังคม หรือหาทางออกให้กับปัญหา โดยไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์ทางกฎหมายและศีลธรรม[24]

ถึงที่สุด หากความไร้ระเบียบทางสังคม และความกดดันทางสังคม ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ย่อมก่อให้เกิด “วัฒนธรรมรอง” (subculture)[25] ที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับกฎเกณฑ์ทางกฎหมายและศีลธรรม ซึ่งสร้างความแปลกแยก รวมถึงปลูกฝังค่านิยมความรุนแรงให้กับคนบางกลุ่ม จนเชื่อว่าอาชญากรรมหนึ่งๆ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าโดยตัวมันเอง การกระทำความรุนแรงย่อมเป็นไปโดยไม่มีอาการสำนึกผิดใดๆ เพราะเป็นสิ่งที่ถูกรองรับโดยวัฒนธรรม

คำถาม คือ รัฐไทยอยู่ในสภาพแวดล้อมลักษณะใด? ที่ส่งผลบีบบังคับให้รัฐไทยต้องกลายเป็นรัฐที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน แทนที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามกฎหมาย และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ การพิจารณาอาจต้องแบ่งเป็นสองแง่มุม คือ แง่มุมระดับระหว่างประเทศ และแง่มุมภายในประเทศ

 

(1) สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ

จากข้อเท็จจริง จะพบว่า[26] การอุ้มหายผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทย เกิดขึ้นในเฉพาะพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาว และประเทศกัมพูชา ปัญหาสิทธิมนุษยชน ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น หากแต่ยังเป็นปัญหาระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะที่เป็นภูมิภาคที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแพร่หลาย[27] โดยเฉพาะปัญหาสภาพความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ยังคงเปราะบางอย่างยิ่ง และสถานการณ์เลวร้ายลงเนื่องจากขาดการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเป็นทางการ สำหรับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในหลายประเทศ[28]

ทั้งนี้ แม้แต่ละประเทศจะร่วมมือกันกำหนดมาตรฐานหรือตราสารด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อพัฒนาบรรทัดฐานทางสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคหลายฉบับ โดยเฉพาะปฏิญญาสิทธิมนุษยชนของอาเซียน แต่ปัญหา คือ รัฐสมาชิกล้วนยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในอย่างเคร่งครัด จึงไม่สามารถดำเนินมาตรการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะรัฐสมาชิกถือว่าสิทธิมนุษยชนเป็นกิจการภายในของแต่ละรัฐ ทำให้อาเซียนและรัฐสมาชิกอื่นจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวมิได้[29]

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเสมือนว่า รัฐไทยกำลังอยู่ภายใต้บริบทของภูมิภาคซึ่งคุณค่าและหลักการสิทธิมนุษยชนค่อนข้างไร้ความหมาย การอุ้มหายผู้ลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ย่อมเกิดขึ้นได้ ภายใต้ความร่วมมือกัน หรือ การเพิกเฉยต่อปัญหาของรัฐที่เกี่ยวข้องก็ได้

นอกจากนั้น หากถือเอาการปกป้องคุ้มครองชีวิตผู้ลี้ภัยทางการเมืองเป็นวัฒนธรรมหลัก (Core Culture) ด้านสิทธิมนุษยชนในระดับสากล การกระทำความรุนแรงต่อประชาชนโดยรัฐในภูมิภาคอาเซียนย่อมเป็นเสมือนวัฒนธรรมรองอย่างหนึ่ง ที่รองรับให้การอุ้มหาย หรือ การสังหารประชาชนที่ลุกขึ้นต่อต้านผู้มีอำนาจในประเทศแถบนี้ กลายเป็นเรื่องปกติ และยอมรับได้

 

(2) สภาพแวดล้อมภายในประเทศ

ด้านปัจจัยภายในประเทศ กระแสความเปลี่ยนแปลง และการต่อต้านจากประชาชน ผ่านการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐและระเบียบทางสังคมแบบชนชั้น นำพาให้ผู้กุมอำนาจต้องเผชิญหน้ากับแรงความกดดัน ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกสั่นคลอน โกรธ และหวาดกลัว ว่าอาจจะต้องสูญเสียผลประโยชน์ หรือ สถานะความเป็นอภิสิทธิ์ชนในแบบที่เคยเป็นมาตลอดก่อนหน้า อีกทั้ง ความประสงค์ที่จะให้มนุษย์ทุกคนในสังคม มีความคิดไปในทางเดียวกันกับผู้มีอำนาจ และสยบยอมต่อความอยุติธรรม ย่อมเป็นการฝืนต่อธรรมชาติในสังคมมนุษย์ ความรุนแรงและอำนาจนอกกฎหมายจึงกลายเป็นวิธีการที่ผู้มีอำนาจเลือกนำมาใช้ เพื่อบรรลุความประสงค์ดังกล่าว เนื่องจากศักยภาพของกลไกเชิงสถาบันในรัฐตามปกติที่ปราศจากความรุนแรง ไม่สามารถทำได้

ขณะเดียวกัน การไม่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายระหว่างประเทศ และการไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการอุ้มหายบังคับใช้ในประเทศ อาจมีส่วนกระตุ้นให้อาชญากรรมของรัฐ ในลักษณะของการบังคับผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐหายสาบสูญ ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

แม้เมื่อปี 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะลงมติเห็นชอบให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (CED) ทว่า อนุสัญญานี้ยังไม่มีผลบังคับใช้อย่างทางการในประเทศ และถึงแม้ว่าทางการจะได้ริเริ่มการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย แต่การพิจารณากลับหยุดชะงัก และยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ[30] ส่งผลให้ ปัจจุบันการที่ไทยไม่มีกฎหมายที่บัญญัติเป็นการเฉพาะเจาะจงที่คุ้มครองสิทธิของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย เปิดช่องโหว่ทางกฎหมายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการบังคับให้บุคคลสูญหาย โดยมีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย และเมื่อเป็นเช่นนั้น การอุ้มหาย ก็อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา[31]

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เสียหายในคดีการอุ้มหายตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ยังไม่คุ้มครองถึงครอบครัวของผู้สูญหายอีกด้วย เพราะต้องพิสูจน์เป็นที่ประจักษ์แก่ศาลว่า “ผู้ที่สูญหาย (ผู้เสียหาย) ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้” แต่เนื่องจากลักษณะทั่วไปของการอุ้มหาย ที่จะเก็บซ่อนร่อยรอย พยานหลักฐาน และตัวของเหยื่อเอาไว้ เป็นเหตุให้การสืบสวนเพื่อทราบถึงชะตากรรมของเหยื่อ เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ [32] ซึ่งตอกย้ำให้เห็นว่า การพิจารณาคดีกรณีการอุ้มหาย ก่อนการพบว่า “เหยื่อ” มีชะตากรรมอย่างไร ยากที่จะเกิดขึ้น

 

ภาพโดย REUTERS/Chalinee Thirasupa

 

รัฐอาชญากร ถูกหล่อเลี้ยงด้วยสภาวะการลอยนวลพ้นผิด

โดยสรุป จะเห็นว่า ความเป็นรัฐอาชญากรของรัฐไทยนั้นสัมพันธ์กับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ และระบอบการเมืองที่เป็นอยู่อย่างไม่อาจแยกขาดจากกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันที่รัฐไทยปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร หรือการปกครองระบอบอำนาจนิยม ที่ประชาชนไม่สามารถควบคุมตรวจสอบการกระทำความของรัฐได้ ย่อมเป็นหน่อเชื้อความรุนแรง และอาชญากรรมรัฐ ที่รอวันเติบโตแผ่ขยายไปทั่วทุกแห่ง

การฟื้นฟูเยียวยา รักษาอาการวิปริตของรัฐไทย ที่เสพติดความรุนแรงเป็นอาจิน อาจต้องพึ่งพิงสถาบันและระบบกฎหมายที่มุ่งแสวงหาความยุติธรรม มีความยึดโยงกับประชาชน ดำรงอยู่เป็นกรอบจำกัดอำนาจรัฐ ไม่ให้เกิดการอำนาจเกินขอบเขต เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามหลักนิติรัฐ พร้อมลงโทษแก่ผู้มีอำนาจคนใดก็ตามที่ใช้ความรุนแรงประหัตประหารประชาชน ในลักษณะข่มสันดานดิบของรัฐไม่ให้แสดงความป่าเถื่อนออกมา

ตรงกันข้าม หากสถาบันและระบบกฎหมายไทย ตกเป็นเพียงเครื่องมือในการปกป้องคุ้มครองผู้มีอำนาจให้รอดพ้นจากความรับผิด โดยไม่เหลียวแลสวัสดิภาพชีวิตประชาชน ความวิปริตยังคงแสดงอาการออกมาได้ทุกเมื่อ หากรัฐมองว่า มีสิ่งใดมากระทบต่อความมั่นคง และระเบียบทางสังคมที่เอื้อประโยชน์แก่เครือข่ายชนชั้นนำ ซึ่งความวิปริตดังกล่าวอาจแสดงออกมาในรูปแบบของการใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบ การลอบสังหาร การอุ้มหาย ฯลฯ

ดังนั้น เมื่ออาการของรัฐอาชญากร ถูกหล่อเลี้ยงด้วยสภาวะการลอยนวลพ้นผิด หนทางการรักษาก็คือ สถาบันกฎหมายและระบบกฎหมายต้องดำเนินกระบวนการยุติธรรม เพื่อยุติการลอยนวลพ้นผิด และคืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง

แต่ปัญหาสำคัญ คือ ในรัฐที่การลอยนวลพ้นผิด มีสถานะเป็นสถาบันที่ค้ำจุนโครงสร้างอำนาจสำคัญส่วนต่างๆ ไว้ การก่อเกิดกระบวนการยุติธรรมดังกล่าว จะมีความเป็นไปได้เพียงใด

 

 

อ้างอิงท้ายบทความ

[1] ตัวอย่างเช่น ปี 2559 วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ “โกตี๋”  อิทธิพล สุขแป้น หรือ “ดีเจซุนโฮ” นักเคลื่อนไหว นักจัดรายการวิทยุ หายตัวไปขณะลี้ภัยอยู่ประเทศลาว

ปี 2560 วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘โกตี๋’ หรือ ‘สหายหมาน้อย’ นักเคลื่อนไหว นักจัดรายการวิทยุ ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีอาญามาตรา 112 ที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศลาว กลุ่มชายชุดดำ ประมาณ 10 คน คลุมหน้าด้วยหมวกไหมพรม พร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าจับตัวไป และจากนั้นก็ไม่สามารถติดต่อได้

ปี 2561 กลุ่มผู้ลี้ภัยที่ประกอบไปด้วย สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ และไกรเดช ลือเลิศ ถูกอุ้มหายไปพร้อมกันระหว่างลี้ภัยในประเทศลาว ก่อนจะพบศพในกระสอบที่ลอยมาติดริมฝั่งแม่น้ำโขงในจังหวัดนครพนม และพิสูจน์ดีเอ็นเอจนยืนยันได้ว่าเป็น ชัชชาญ บุปผาวัลย์ และไกรเดช ลือเลิศ ส่วน สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ยังไม่ได้รับการยืนยัน

ปี 2562 สยาม ธีรวุฒิ หรือ “สหายข้าวเหนียวมะม่วง” นักเคลื่อนไหวและนักจัดรายการวิทยุใต้ติน พร้อมกับผู้ลี้ภัยอีกสองคน คือชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ “ลุงสนามหลวง” และกฤษณะ ทัพไทย หรือ “สหายยังบลัด” ได้หายตัวไปหลังจากลี้ภัยทางการเมืองอยู่ที่ประเทศลาวและเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีใครทราบชะตากรรมของบุคคลทั้งสาม

[2] อายุตม์ สินธพพันธุ์ และคณะ, เอกสารการสอนชุดวิชาอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา = Criminology and Penology, พิมพ์ครั้งที่ 2. (นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช, 2540), หน้า 5.

[3] สุดสงวน สุธีสร, อาชญาวิทยา, พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,2547), หน้า 1

[4] ไทพีศรีนิวัติ ภักดีกุล, อาชญาวิทยาขั้นสูง, (เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ม.ป.ป.)

[5] ประเสริฐ เมฆมณี, หลักทัณฑวิทยา, (กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์ ,2523)

[6] จุฑารัตน์ กุลตัณกิจจา และกิตติยา อรอินทร์, ประวัติศาสตร์การอุ้มหาย เริ่มจากรัฐประหาร และคงไม่จบด้วยคณะรัฐประหาร, 6 มิถุนายน 2563, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2020/06/88005 (สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2564)

[7] อรัญ สุวรรณบุบผา, หลักอาชญาวิทยา, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช ,2518), หน้า 9.

[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 10.

[9] เรื่องเดียวกัน, หน้า 11.

[10] ธงชัย วินิจจะกูล, กำเนิดสยามจากแผนที่ : ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ, พวงทอง ภวัครพันธุ์, ไอดา อรุณวงศ์ และพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ (แปล), (กรุงเทพฯ: อ่าน, 2556), หน้า (12).

[11] ข่าวประชาไท, ธงชัย วินิจจะกูล: รัฐไทย…รัฐอสูรกายที่มองประชาชนเป็นศัตรู, 29 มีนาคม 2564, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2021/03/92325 (สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2564)

[12] Tyrell Haberkorn. In plain sight: Impunity and Human Rights in Thailand. (Madison: The University of Wisconsin press, 2018).

[13] นิธิ เอียวศรีวงศ์, รัฐลอยนวล, มติชนออนไลน์, 3 กันยายน 2561.

[14] ไทพีศรีนิวัติ ภักดีกุล, อาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา, (เชียงใหม่: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2521) หน้า 68

[15] ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ และคณะ, เอกสารการสอนชุดวิชาอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา = Criminology and Penology, พิมพ์ครั้งที่ 2. (นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช, 2542), หน้า 5

[16] พรชัย ขันตี, ทฤษฎีอาชญาวิทยา: หลักการ งานวิจัย และนโยบายประยุกต์, (กรุงเทพฯ: สุเนตร์ฟิล์ม, 2553)

[17] ไทพีศรีนิวัติ ภักดีกุล, เรื่องเดียวกัน, หน้า 69

[18] เรื่องเดียวกัน, หน้า 70-74

[19] เรื่องเดียวกัน.

[20] สุดสงวน สุธีสร, อาชญาวิทยา, พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,2547), หน้า 73

[21] เรื่องเดียวกัน.

[22] ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ และคณะ, เอกสารการสอนชุดวิชาอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา = Criminology and Penology, พิมพ์ครั้งที่ 2. (นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช, 2542), หน้า 23

[23] เรื่องเดียวกัน.

[24] สุดสงวน สุธีสร, เรื่องเดียวกัน, หน้า 79 – 80.

[25] เรื่องเดียวกัน, หน้า 26 – 28.

[26] อันนา หล่อวัฒนตระกูล และ เทวฤทธิ์ มณีฉาย, น้ำดื่มขวดนี้ไม่มีขาย ผู้สูญหาย(ที่ขัดแย้งกับรัฐ)ก็ยังหาไม่เจอ, 17 สิงหาคม 2562, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2019/08/83908 (สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2564)

[27] ปิ่นบุญญา ลามะนา, ภาพรวมของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในอาเซียน, MFU Connexion, 1(2) หน้า 69 – 70.

[28] สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2561, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, https://www.amnesty.or.th/latest/news/683/ (สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2564)

[29] ปิ่นบุญญา ลามะนา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 78.

[30] การบังคับบุคคลให้สูญหาย, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, https://www.amnesty.or.th/our-work/enforced-disappearance/ (สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2564)

[31] ประเทศไทย: การคุ้มครองประชาชนในเหตุการณ์บังคับให้บุคคลสูญหาย (2), 16 ตุลาคม 2560, Law for ASEAN, https://lawforasean.krisdika.go.th/Content/View?Id=313&Type=1#_ftn18 (สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2564)

[32] เรื่องเดียวกัน.

 

อ่านบทความว่าด้วยการอุ้มหายเพิ่มเติม

‘ความรุนแรง’ ที่ซ้อนเร้นอยู่ในการอุ้มหาย: เมื่อ ‘วันเฉลิม’ ไม่ได้ตกเป็น ‘เหยื่อ’ เพียงลำพัง

จาก ‘ผู้ถูกกระทำ’ สู่ ‘ผู้กระทำการ’: การก้าวผ่านของครอบครัวเหยื่อผู้ถูกบังคับให้สูญหาย

ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติเผย “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” ในอาเซียน เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างรัฐ พร้อมเรียกร้องให้ชี้แจงการหายไป-การจับกุมคุมขังไม่ชอบนักกิจกรรม นักข่าว นักธุรกิจ

 

X