เครือข่ายประชาสังคมคุ้มครองเด็กฯ ยื่นหนังสือร้องพม. หยุดคุกคามเด็ก ทบทวนบทบาทหน้าที่ของตนเอง กรณีสนับสนุนการจับกุมเด็กใกล้พื้นที่รับเสด็จโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

วันที่ 18 เมษายน 2565 เวลา 14.00 น. เครือข่ายภาคประชาสังคมคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งประกอบไปด้วยองค์กรที่ทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนในประเทศไทยจำนวน 8 องค์กร ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือร้องเรียน พร้อมรายชื่อองค์กรสนับสนุนกว่า 100 องค์กร และประชาชนทั่วไปกว่า 800 คน ให้กับกรมกิจการเด็กและเยาวชน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อร้องเรียนในกรณีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ ได้อำนวยการให้มีการจับกุมควบคุมตัวเด็ก อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวนสามคน เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2565 ขณะกำลังนั่งทานอาหารอยู่ที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คาดว่ามีเหตุจากกิจกรรมรอรับเสด็จในเวลาใกล้เคียงกัน 

ภาษาไทย

ภาษาอังกฤษ (English language statement)

หนังสือร้องเรียนดังกล่าว มีใจความว่า การกระทำข้างต้นของเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งปรากฎข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ ใช้คำพูดท่าทาง การแสดงออกและการ กระทำในเชิงสัญลักษณ์เพื่อข่มขู่ คุกคาม ทำให้เด็กหวาดกลัว การเชิญตัวหรือนำตัวไปโดยใช้กำลังบังคับอุ้ม อันไม่ปรากฎหลักฐานของความผิดหรือการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม คือการทำผิดหลักการและเจตนารมณ์ของ ม. 44 แห่งพ.ร.บ. คุ้มครองเด็กฯ 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ ยังมีพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำบังคับข่มขู่ทางร่างกาย และจิตใจต่อเด็ก ทั้งการบังคับฝืนใจเด็กให้ปฏิบัติตามตนโดยไม่รับฟังถึงเหตุผลของเด็ก การกระทำเหล่านี้นอกจากจะทำให้เกิดผลทางตรงต่อสภาพจิตใจของเด็ก ยังอาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อสุขภาพจิตของเด็กในระยะยาว

ในหนังสือร้องเรียน ยังระบุอีกว่า เจ้าหน้าที่ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้กระทำการละเมิดหลักการของอนุสัญญาสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 12 ว่าด้วยสิทธิในการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติโดยได้รับการรับฟัง และข้อที่ 15 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มหรือชุมนุมโดยสงบ และเนื่องจากประเทศไทยได้ลงนามรับรองในการประกันสิทธิดังกล่าว การลงนามจึงมีผลผูกมัดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเคารพ ปฏิบัติตามหรืออำนวยการให้การแสดงออกถึงสิทธิดังกล่าวเป็นไปได้อย่างปลอดภัย 

หนังสือร้องเรียนดังกล่าว มีข้อเรียกร้องให้กรมกิจการเด็กและเยาวชน ในฐานะ “พนักงานเจ้าหน้าที่” ต้องยืนยันอำนาจสูงสุดของตนในการคุ้มครองเด็ก และเรียกร้องให้กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพม. รวมถึงหน่วยงานความมั่นคง และตำรวจที่เกี่ยวข้องต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงจัง ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบโดยทันที เพื่อลดและป้องกันผลกระทบทางด้านจิตใจ

ในการยื่นหนังสือร้องเรียน ได้มีทางตัวแทนกรมกิจการเด็กและเยาวชน และจากกระทรวงพม. โดยนางสาวอังคณา ใจกิจสุวรรณ รองปลัดกระทรวง และนางสาวอุไร เล็กน้อย ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นผู้มารับหนังสือร้องเรียนดังกล่าว พร้อมกล่าวว่าจะรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไปดำเนินการต่อ และจะแจ้งให้ทางเครือข่ายฯ ทราบต่อไป

ทั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ จะนำส่งหนังสือร้องเรียนดังกล่าว ถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ ผู้แทน UNICEF, ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  (OHCHR) ประจำประเทศไทย, คณะกรรมการด้านสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNCRC Committee), คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน

โดยหลังจากนี้เครือข่ายฯ จะติดตามตรวจสอบผลการดำเนินการของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ในกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ผ่านช่องทางที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ รวมทั้งช่องทางของสื่อมวลชนและแนวร่วมเคลื่อนไหวของเด็กๆ ที่เรียกร้องสิทธิ ภายในระยะเวลา 3 เดือนหลังจากยื่นจดหมายฉบับนี้

สำหรับในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เมื่อช่วงเวลาราว 11.45 น. “พิงค์” อายุ 13 ปี และเยาวชนอีก 2 ราย อายุ 16 และ 17 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 20 – 30 นาย และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพม. เข้าควบคุมตัวขณะกำลังนั่งทานอาหารอยู่ที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เบื้องต้น คาดว่ามีเหตุจากกิจกรรมรอรับเสด็จในช่วงบ่าย จัดโดยกลุ่มมังกรปฏิวัติ

>>> ควบคุมตัว 3 เด็ก-เยาวชน ขณะกินแมค อ้างมีพฤติการณ์ก่อกวน #ขบวนเสด็จ อีกด้านสกัด “มังกรปฏิวัติ” รับเสด็จ 1 ในผู้ชุมนุมถูก ตร.ทำร้ายจนฟันบิ่น-แว่นแตก   

จากวีดิโอที่พิงค์บันทึกเหตุการณ์ไว้ พบว่า มีเจ้าหน้าที่ พม. เข้าพูดคุยกับเธอก่อน โดยตกลงกันว่า หากเธอกินอาหารด้วยท่าทีที่สงบก็ไม่เป็นไร เขาจะขอนั่งเฝ้าเฉยๆ แต่ถ้ามีการท่าทีที่ไม่เหมาะสม เจ้าหน้าที่จะต้องเชิญตัวไป แต่ในทันทีที่เจ้าหน้าที่ พม.พูดคุยเสร็จ ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบได้เข้ามาสั่งให้เธอไปกับเจ้าหน้าที่ทั้งที่พิงค์ยังกินข้าวไม่เสร็จ ระบุว่า เธอมีท่าทีก่อกวน และเคยมีประวัติมาก่อนด้วย 

เมื่อพิงค์ไม่ยินยอม และตั้งคำถามว่า เธอก่อกวนอย่างไร ตำรวจในเครื่องแบบซึ่งระบุว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่อารักขาขบวนเสด็จ กลับบอกว่า การพูดลักษณะนี้เป็นการก่อกวน ขอเชิญออกนอกพื้นที่ ไม่อย่างนั้นจะดำเนินคดีตามกฎหมาย จากนั้น ชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) หญิง ได้เข้าควบคุมตัวพิงค์ซึ่งเริ่มร้องไห้ ก่อนอุ้มเธอขึ้นรถตู้ตำรวจ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอกเธอว่า จะพาไปกินโจ๊กที่ศาลาว่าการ กทม. แต่แล้วเจ้าหน้าที่กลับพาพิงค์ไปควบคุมไว้ที่กระทรวง พม. ถนนกรุงเกษม โดยมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกควบคุมตัวจากร้านแมคโดนัลด์มาที่ พม. ตามหลังพิงค์มาอีก 2 คน 

ขณะถูกควบคุมตัวอยู่ที่กระทรวง พม. ตำรวจยังได้ยึดโทรศัพท์มือถือของ 1 ในนักกิจกรรม อ้างว่าอยู่ในพื้นที่ของกระทรวง พม. จึงมีอำนาจ แต่ก็ได้คืนให้ในเวลาต่อมา กระทั่งเวลา 12.44 น. ทั้งสามได้ถูกควบคุมตัวขึ้นรถไปยังสโมสรตำรวจบนถนนวิภาวดี รังสิต โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า ที่หน้ากระทรวง พม. มีกลุ่มผู้ชุมนุมมารวมตัวกันเพื่อให้กำลังใจเยาวชนทั้งสาม จึงจำเป็นต้องย้ายสถานที่เพื่อความปลอดภัย เมื่อมาถึงสโมสรตำรวจ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า จะทำประวัติของเยาวชนทั้งสาม และได้ติดต่อให้ผู้ปกครองเดินทางมารับตัว แต่ภายหลังตำรวจได้เปลี่ยนเป็นลงบันทึกประจำวันแทนการทำประวัติ จากนั้นได้ปล่อยตัวเยาวชนทั้งสามในเวลาประมาณ  18.00 น. โดยไม่มีการดำเนินคดีใด ๆ พร้อมมอบสำเนาบันทึกประจำวันมาให้ด้วย

หลังจากได้รับการปล่อยตัว เยาวชน 2 ราย ได้เดินทางไปยังสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามเพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อไป

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

สถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม ปี 2563-65

คุยเรื่องสิทธิเด็กกับวรางคณา มุทุมล: เลนส์มองปรากฏการณ์เด็กโต้กลับในวันผู้ใหญ่ยังไม่พร้อม

ม็อบทะลุแก๊ส: ภาพสะท้อน New Low สิทธิเด็กและเยาวชนในชั้นจับกุม

X