ยกฟ้อง “ไพศาล” เหตุร่วมม็อบ #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย ปี 63 ศาลชี้ใช้สิทธิตาม รธน. ปราศจากความรุนแรง ไม่ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง

16 มี.ค. 2565 – ศาลแขวงดุสิตนัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ ไพศาล จันปาน คนขับรถแท็กซี่และผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง สืบเนื่องจากการเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือ ม็อบ #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เพื่อเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งที่ทำเนียบรัฐบาล โดยไพศาลถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ คดีความที่เกี่ยวเนื่องจากการชุมนุมครั้ง นี้ยังมีผู้ถูกกล่าวหาคนอื่นอีก 14 ราย เช่น ชลธิชา แจ้งเร็ว, กรกช แสงเย็นพันธ์, สุวรรณา ตาลเหล็ก, ปิยรัฐ จงเทพ, ชาติชาย แกดำ, และ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ซึ่งพนักงานอัยการได้ทยอยสั่งฟ้องจำเลยและแยกสำนวนคดีเป็นรายบุคคล ไม่ได้พิจารณาร่วมเป็นคดีเดียวกัน จนถึงขณะนี้มีคดีของ มายด์ และ อานันท์ ลุ่มจันทร์ ที่ศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปก่อนหน้านี้

>>> เปิดคำพิพากษายกฟ้อง ‘มายด์-ภัสราวลี’ ชี้ชุมนุมโดยสงบตาม รธน.-ไม่มีพฤติกรรมมั่วสุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง ใน #ม็อบ21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย

>>> ศาลยกฟ้องคดี “อานันท์ ลุ่มจันทร์” ร่วมชุมนุม 21 ตุลา 63 ชี้เป็นการใช้สิทธิตาม รธน. ไม่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง

.

ที่ห้อง 501 ศาลอ่านคำพิพากษาในคดี โดยสรุป เท้าความฟ้องของโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยอ้างเหตุว่ามีการปลุกระดมให้มีการชุมนุมอันไม่ชอบด้วยกฎหมายพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) มีการชุมนุมกระทบขัดขวางขบวนเสด็จพระราชดำเนิน ทั้งยังกระทบความมั่นคงของรัฐ ไม่ใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบ ส่งผลต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 รวมทั้งประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมข้อ 1 อ้างเหตุประกาศว่ามีเหตุควรเชื่อว่ามีการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคง เป็นการชุมนุมที่ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบตามนิยามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญไทย ฉบับปี พ.ศ. 2560

ศาลวินิจฉัยว่า ถึงแม้ในวันเวลาเกิดเหตุคดีนี้อยู่ระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง แต่เมื่อพิจารณาบทนิยามคำว่า “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบ หรือการสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วน เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง 

การที่นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดฉบับที่ 1 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งเป็นข้อกำหนดให้รัฐบาลนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะให้ยุติลงได้โดยเร็ว 

จากพยานหลักฐานที่นำสืบ จำเลยได้ปรากฏตัวที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แล้วเดินร่วมไปกับผู้ชุมนุมเพื่อเคลื่อนชบวนไปทำเนียบรัฐบาล โดยมีการยกแผงเหล็กออกจากถนนบริเวณแยกพญาไท เพื่อให้ผู้ชุมนุมเดินผ่านไปได้อย่างสะดวกเท่านั้น จำเลยไม่ได้กระทำความรุนแรงอื่นใด และไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธ หรือมีพฤติการณ์อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ไม่เห็นว่ามีการทำลายทรัพย์สิน กรณีที่มีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งฝ่ากลุ่มเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนบริเวณแยกนางเลิ้ง โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเกี่ยวข้องด้วยอย่างไร การกระทำของจำเลยจึงเป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่ใช่การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง

สำหรับความผิดฐานมั่วสุมยุยงให้เกิดความไม่สงบ เห็นว่าการที่ศาลจะมีคำพิพากษาได้ต้องดูข้อเท็จจริง การชุมนุมที่จะเป็นความผิด จำต้องเป็นการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ ก่อให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นตามนัยมาตรา 4  เมื่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 44 บัญญัติรับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธไว้

โจทก์ได้บรรยายฟ้องมาว่า จำเลยและผู้ชุมนุมมีการมั่วสุม ก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยขึ้นในสังคม แต่ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาดังกล่าวอย่างไร ทั้ง “การมั่วสุม” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสภา ให้ความหมายการมั่วสุมว่าเป็นการกระทำที่ไม่ดี เช่น ร่วมกันเสพยาเสพติดหรือเล่นการพนัน การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุม 

การที่จำเลยร่วมกับบุคคลอื่นราว 10,000 คน ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แล้วร่วมกันเดินขบวนไปตามถนนสาธารณะ เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ให้แก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ เดินขบวนไปเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อตัวแทนรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นการใช้สิทธิที่เป็นไปตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ จึงไม่เป็นความผิดตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมข้อ 1

การที่จำเลยเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยมีข้อเรียกร้องดังกล่าวมา เป็นการชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มิใช่การชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง การเข้าร่วมการชุมนุมของจำเลยตามฟ้องจึงไม่ขัดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง

พิพากษายกฟ้อง

.

ดูข้อมูลคดีที่ศาลยกฟ้องและอัยการสั่งไม่ฟ้องเพิ่มเติม

สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

X