วันนี้ (24 กันยายน 2564) ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก นักกิจกรรมกลุ่มราษฎรวัย 24 ปี ในคดีมาตรา 112 สืบเนื่องจากการโพสต์จดหมายถึงกษัตริย์ในกิจกรรม “ราษฎรสาส์น” เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ในคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร
สำหรับภาณุพงศ์ นับว่าเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่ทนายความยื่นประกันตัวภาณุพงศ์ในคดีนี้ หลังวานนี้ (23 กันยายน 2564) อัยการมีคำสั่งฟ้อง และศาลไม่ให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี โดยระบุว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรง คดีมีอัตราโทษสูง หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะไปกระทำผิดตามที่ถูกฟ้องอีก หรือหลบหนีได้ จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง” ด้วยเหตุนี้ ภาณุพงศ์จึงถูกขังในระหว่างการพิจารณาคดีที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจนถึงปัจจุบัน (24 กันยายน 2564)
ก่อนหน้านี้ ภาณุพงศ์ถูกขังอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวรังสิตถึง 38 วัน สืบเนื่องจากคดีชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้าที่หน้า บก.ตชด.ภาค 1 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา ในระหว่างที่เขาอยู่ในเรือนจำ ภาณุพงศ์ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นับเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่เขาติดเชื้อไวรัสดังกล่าวจากการถูกขังอยู่ในเรือนจำ
แม้ว่าในวันที่ 15 กันยายน 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่หลังออกมาจากเรือนจำได้เพียง 8 วัน คำสั่งของศาลเมื่อวานได้พรากอิสรภาพไปจากภาณุพงศ์อีกครั้ง
สำหรับการยื่นประกันตัวภาณุพงศ์ครั้งนี้ ทนายความได้วางเงินสดจำนวน 100,000 บาท เป็นหลักประกัน สนับสนุนโดยกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมยื่นคำร้องโดยสรุป ดังนี้
- ภาณุพงศ์เป็นจำเลยในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งมีความผิดฐานเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ และเป็นผู้ต้องหาในคดีชุมนุม #ม็อบ2สิงหา เรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้า หน้าบก.ตชด. ภาค 1 ต่อมาศาลทั้ง 2 ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยระบุว่าไม่มีเหตุที่จะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 นอกจากนี้ ศาลยังได้กำหนดเงื่อนไขการประกันตัวให้จำเลย ซึ่งภาณุพงศ์ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยไม่ได้หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุร้ายภยันตรายประการอื่นแต่อย่างใด
- ภาณุพงศ์เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกมาโดยตลอด ไม่เคยแสดงพฤติการณ์หลบหนี อีกทั้งคดีนี้โจทก์ก็ไม่ได้คัดค้านประกันตัวแต่อย่างใด นอกจากนี้ จำเลยเป็นเพียงบุคคลธรรมดา เป็นนักศึกษา ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน
- หากศาลเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จำเลยยินดีจะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อดิศร จันทรสุข อดีตรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นผู้รับรองและดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของศาล
- จำเลยเป็นเพียงบุคคลที่ถูกโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่ากระทำความผิดเท่านั้น ยังไม่มีการพิจารณาพิพากษาของศาลจนถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิด ในคดีข้อหาทางการเมืองคดีอื่น เช่น คดีของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) แม้ศาลชั้นต้นจะได้พิพากษาแล้วว่าจำเลยได้กระทำความผิดลงโทษจำคุกจำเลย ศาลอุทธรณ์ก็ได้โปรดอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
- จำเลยยังคงเป็นผู้ถูกกล่าวหา ยังไม่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด จึงต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) และรัฐธรรมนูญของไทย
- สำหรับประเด็นคำว่า “ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น” หมายความว่าอย่างไร แนวคิดในการป้องกันเหตุอันตรายที่จะเกิดขึ้นนั้นมาจากกฎหมาย Bail Reform Act of 1984 ของประเทศสหรัฐ ซึ่งกำหนดให้มีการคุมขังระหว่างพิจารณาเพื่อป้องกันอันตรายต่อชุมชน (danger to the community) อย่างไรก็ตาม กฎหมาย Bail Reform Act ไม่ได้ให้ความหมายของคำว่า “Danger to the Community” แต่ได้กำหนดปัจจัย (Factors) หลายประการที่ศาลจะต้องพิจารณาว่าจะให้ประกันหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังทางกายภาพต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นทั้งสิ้น ไม่ใช่ความผิดทางการเมือง หรือความมั่นคงของรัฐที่รัฐเป็นผู้เสียหาย นอกจากนี้ รัฐต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดแจ้งและน่าเชื่อถือมาแสดงว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นจะไปก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่นหรือสังคม ไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะไปคาดหมายเช่นนั้นเอง และไม่ใช่หน้าที่ของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จะพิสูจน์ตนเอง
- เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการคดีในสถานการณ์แพร่ระบาด ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา โดยกำหนดให้ขยายโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และเพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มความแออัดในเรือนจำ ผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือจำเลยที่เคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน หรือจำเลยซึ่งมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี แม้ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา หรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม ในเวลา 12.00 น. ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวชั่วคราว โดยระบุว่า “ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยระบุเหตุผลไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้องและแจ้งคำสั่งให้ทราบ” ทั้งนี้ คำสั่งมีนายเทวัญ รอดเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นผู้ลงนาม
ศาลไม่ให้ประกันตัว ‘เพนกวิน’ อ้างเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง
ในวันเดียวกันเอง ทนายความและ “สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์” มารดาของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรมกลุ่มราษฎรวัย 23 ปี ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ต่อศาลอาญา รัชดาฯ ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร หลังศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกันของพริษฐ์ในคดีนี้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยสุรีย์รัตน์ได้วางเงินสดจำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักทรัพย์ประกันตัว
นับตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม พริษฐ์ถูกขังอยู่ในเรือนจำอำเภอธัญบุรี เนื่องจากศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวในคดีชุมนุม #ม็อบ2สิงหา เรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้า หน้าบก.ตชด. ภาค 1 เช่นกัน อีกทั้งในระหว่างที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำ พริษฐ์ยังติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย
แม้ว่าในวันที่ 15 กันยายน 2564 ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวพริษฐ์พร้อมกับภาณุพงศ์และผู้ต้องหาคนอื่น ๆ ชั่วคราว แต่เขายังคงถูกคุมขังต่อไปตามหมายขังของศาลอาญาในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร
เนื้อหาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสำหรับพริษฐ์โดยสรุป มีดังนี้
- จำเลยเป็นผู้ต้องหาในคดีชุมนุม #ม็อบ2สิงหา เรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้า หน้าบก.ตชด. ภาค 1 ของศาลจังหวัดธัญบุรี โดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือหลบหนี กับให้ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM)
- สืบเนื่องจากการเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยศาลให้เหตุผลว่า “จำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น” แนวคิดในการป้องกันเหตุอันตรายที่จะเกิดขึ้นนั้นมาจากกฎหมาย Bail Reform Act of 1984 ของประเทศสหรัฐ ซึ่งกำหนดให้มีการคุมขังระหว่างพิจารณาเพื่อป้องกันอันตรายต่อชุมชน (danger to the community) อย่างไรก็ตาม กฎหมาย Bail Reform Act ไม่ได้ให้ความหมายของคำว่า “Danger to the Community” แต่ได้กำหนดปัจจัย (Factors) หลายประการที่ศาลจะต้องพิจารณาว่าจะให้ประกันหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังทางกายภาพต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นทั้งสิ้น ไม่ใช่ความผิดทางการเมือง หรือความมั่นคงของรัฐที่รัฐเป็นผู้เสียหาย นอกจากนี้ รัฐต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดแจ้งและน่าเชื่อถือมาแสดงว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นจะไปก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่นหรือสังคม ไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะไปคาดหมายเช่นนั้นเอง และไม่ใช่หน้าที่ของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จะพิสูจน์ตนเอง
- จำเลยเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีกำหนดที่จะต้องสอบไล่ให้ได้สำเร็จการศึกษาในรายวิชาต่าง ๆ การคุมขังจำเลยไว้ย่อมส่งผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษาของจำเลย
- จำเลยยังคงเป็นผู้ถูกกล่าวหา ยังไม่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด จึงต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) และรัฐธรรมนูญของไทย
- เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการคดีในสถานการณ์แพร่ระบาด ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา โดยกำหนดให้ขยายโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และเพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มความแออัดในเรือนจำ ผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือจำเลยที่เคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน หรือจำเลยซึ่งมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี แม้ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา หรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
- จำเลยได้ติดเชื้อโรคโคโรนาไวรัส 2019 จากการคุมขังในเรือนจำมาแล้ว หากจำเลยไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว จะต้องถูกคุมขังในเรือนจำดังกล่าวต่อไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของจำเลยเนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโคโรนาไวรัส 2019 ซ้ำ จากการถูกคุมขังในสถานที่แออัดซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว
ต่อมา ในเวลาประมาณ 12.00 น. ศาลยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของพริษฐ์ โดยระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์แล้วศาลเคยอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 1 มาก่อน แต่หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง จนเป็นเหตุให้จำเลยที่1 ถูกดำเนินคดีอาญาอีก อันเป็นการก่อให้เกิดสภาวะไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง กรณีเช่นนี้ถือเป็นการก่อเหตุอันตรายประการอื่นตามความในป.วิอาญา ม. 108/1 (3) กรณียังไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1” โดยคำสั่งนี้มีนายเทวัญ รอดเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นผู้ลงนามเช่นกัน
คำสั่งไม่ให้ประกันครั้งนี้ทำให้ทั้งภาณุพงศ์และพริษฐ์ต้องถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ไมค์ถูกขังอีก! หลังอัยการยื่นฟ้องคดี 112 กรณีโพสต์ ‘ราษฎรสาส์น’ ถึงกษัตริย์ และศาลไม่ให้ประกัน
บันทึกเยี่ยม “เพนกวิน” ความคิดถึงกำลังเดินทาง และแสงสว่างรำไร