‘พี่..รถผมโดนยึด!’
 : Q&A ตอบทุกคำถาม รถโดนยึดในที่ชุมนุม
ต้องทำอย่างไร?

ตลอดเดือน ส.ค.- ก.ย. 2564 บริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดงมีชุมนุมของกลุ่มที่มีชื่อเรียกภายหลังว่า ‘ทะลุแก๊ส’ ซึ่งพบว่าผู้เข้าร่วมประกอบด้วยเด็กและเยาวชนจำนวนมาก การชุมนุมต่อเนื่องตลอดทุกวันตามมาด้วยการปะทะและถูกสลายการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน จนภาพการบาดเจ็บของเยาวชนและประชาชน จากแก๊สน้ำตา กระสุนยาง หรือการถูกตี กลายเป็นภาพที่ชินตา 

นอกจากจะมีการบาดเจ็บจำนวนมากแล้ว เฉพาะการชุมนุมในพื้นที่ดังกล่าวยังนำไปสู่การจับกุมประชาชนและเยาวชน รวมมากกว่า 300 คน เกิดการยึดโทรศัพท์มือถือ รวมถึงรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นพาหนะที่ประชาชนหรือผู้ชุมนุมใช้ในการเดินทาง

ตลอดเดือนที่ผ่านมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดรถจักรยานยนต์ไปไม่น้อยกว่า 180 ราย โดยสามารถแบ่งได้ออกเป็นหลายกลุ่ม คือ กลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมพร้อมยึดรถ และกลุ่มประชาชนซึ่งทำมาหากินและได้ผ่านมายังบริเวณที่ชุมนุม แต่ถูกเจ้าหน้าที่ยึดรถไปด้วย 

ต่อไปนี้เป็นคำถามสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการยึดรถจักรยานยนต์ เพื่อตอบข้อสงสัยให้แก่ประชาชนที่โดนยึดรถและอาจจะโดนตรวจยึดต่อไป

.

.

1. สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อรถถูกยึด

1.1 สำรวจตนเอง คุณเป็นผู้ได้รับผลกระทบประเภทใด? 

  • โดนยึดรถจากการชุมนุมและคนขับโดนจับกุม 
  • โดนยึดรถจากการชุมนุม แต่ไม่โดนจับกุม
  • โดนยึดรถ เหตุจากการขับผ่านมาบริเวณที่ชุมนุม และโดนลูกหลง หรือประสบเหตุให้ถูกยึดรถ

1.2 ติดต่อเพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

เพื่อแจ้งรายละเอียด ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการอำนวยความสะดวกในการติดตามให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากมีผู้ติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก

  • แจ้งว่ารถถูกยึดวันที่เท่าไหร่
  • แจ้งชื่อ-นามสกุลคนขับและเจ้าของรถ (กรณีรถเป็นชื่อผู้อื่น) และเบอร์ติดต่อ
  • แจ้งรายละเอียด รุ่น ทะเบียน ของรถที่ถูกยึด
  • แจ้งรายละเอียดว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบประเภทใด รวมถึงแจ้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับวันเกิดเหตุ

.

.

2. รถผมอยู่ไหน

เท่าที่ทราบข้อมูล รถจักรยานยนต์ที่ถูกยึดจะถูกนำไปไว้ใน 2 จุด คือที่ สน.ดินแดง และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ภายในสโมสรตำรวจ

.

.

3. เอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อดำเนินเรื่องของคืนรถ

ผู้ประสงค์จะขอคืนรถจักรยานยนต์ ต้องเตรียมเอกสาร 2 ชุด ประกอบด้วยเอกสารชุดที่จะนำไปยื่นต่อตำรวจ และชุดที่เก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับตัวเอง โดยชุดที่เก็บไว้ ต้องมีการรับรองสำเนาจากตำรวจผู้รับเรื่องด้วย 

กรณีเป็นเจ้าของรถ
1. แบบฟอร์มหนังสือขอคืนรถ
2. สำเนาหนังสือเล่มทะเบียนรถจักรยานยนต์/รถยนต์ เซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง
3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน เซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง

กรณีไม่ได้เป็นเจ้าของรถตามเล่มทะเบียนรถ
1. แบบฟอร์มหนังสือขอคืนรถ
2 .สำเนาหนังสือเล่มทะเบียนรถจักรยานยนต์/รถยนต์ เซ็นรับรองสำเนาถูกต้องโดยเจ้าของรถ
3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของรถจักรยานยนต์/รถยนต์ เซ็นรับรองสำเนาถูกต้องโดยเจ้าของรถ
4. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้ครอบครอง เซ็นรับรองสำเนาถูกต้องโดยผู้ครอบครอง
5. หนังสือมอบอำนาจกระทำการแทน* (ติดอากรแสตมป์ 30 บาท ) โดยอากรแสตมป์สามารถซื้อได้ที่ไปรษณีย์หรือร้านเครื่องเขียน 

กรณีเป็นเจ้าของรถและเป็นผู้ต้องหา
1. แบบฟอร์มหนังสือขอประกันรถ
2. สำเนาหนังสือเล่มทะเบียนรถจักรยานยนต์/รถยนต์ เซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง
3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน เซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง

กรณีไม่ได้เป็นเจ้าของรถและเป็นผู้ต้องหา
1. แบบฟอร์มหนังสือขอประกันรถ
2. สำเนาหนังสือเล่มทะเบียนรถจักรยานยนต์/รถยนต์ เซ็นรับรองสำเนาถูกต้องโดยเจ้าของรถ
3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของรถจักรยานยนต์/รถยนต์ เซ็นรับรองสำเนาถูกต้องโดยเจ้าของ
4. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้ครอบครอง เซ็นรับรองสำเนาถูกต้องโดยผู้ครอบครอง
5. หนังสือมอบอำนาจกระทำการแทน* (ติดอากรแสตมป์ 30 บาท ) โดยอากรแสตมป์สามารถซื้อได้ที่ไปรษณีย์หรือร้านเครื่องเขียน  

เมื่อเตรียมเอกสารเรียบร้อย สามารถยื่นเอกสารได้ด้วยตนเอง หรือในกรณีที่ไม่มั่นใจอยากขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการยื่นเอกสาร สามารถติดต่อเข้ามาทางเพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

.

.

4. มีของสำคัญอยู่ใต้เบาะรถ ต้องทำอย่างไร

โดยปกติประชาชนมักเก็บสิ่งของบางอย่างไว้ใต้เบาะรถจักรยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นเล่มทะเบียนหรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือ และพบว่าบางครั้งอาจเป็นของสำคัญ เช่น ยารักษาโรคหรือกระเป๋าเงิน 

เบื้องต้นหากประชาชนที่ถูกยึดรถจักรยานยนต์ประสงค์จะได้ของใต้เบาะรถคืน จะต้องเดินทางไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.ดินแดง ไว้เป็นหลักฐานว่าในวันนั้นๆ ได้เดินทางมายื่นหนังสือขอคืนรถจักรยานยนต์ โดยระบุว่าต้องการของใต้เบาะรถคืน เบื้องต้นตำรวจจะสอบปากคำเกี่ยวกับรถ แล้วจึงจะให้ลงบันทึกประจำวันไว้ จากนั้นสามารถนำสำเนาบันทึกประจำวันไปแสดงกับตำรวจผู้รับผิดชอบบริเวณ บช.ปส. เพื่อขอคืนของใต้เบาะรถต่อไป

.

.

5. รถติดไฟแนนซ์ต้องทำยังไง

กรณีนี้หากมีสำเนาสัญญาซื้อขายและสำเนาเล่มทะเบียนรถ สามารถนำมาประกอบกับเอกสารของคืนรถ เพื่อยื่นนำไปยื่นที่สถานีตำรวจที่รับผิดชอบได้

.

.

6. ตำรวจเรียกไปสอบปากคำคืออะไร

เมื่อเราดำเนินการยื่นเอกสารขอคืนรถ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีส่วนรับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ อาจจะสอบปากคำเบื้องต้น เกี่ยวกับรายละเอียดในวันที่เกิดเหตุ อาทิ  ขื่อสกุล, รายละเอียดของรถ, เหตุที่เดินทางมาพบพนักงานสอบสวน, เหตุที่ไปอยู่ในบริเวณดังกล่าวจนรถถูกยึด, ได้เข้าร่วมการชุมนุมหรือไม่, คำถามเกี่ยวกับเอกสารประกอบการขอคืนรถ หรือเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของ 

อย่างไรก็ตาม ตำรวจอาจให้เซ็นเอกสารซึ่งระบุว่าการสอบปากคำต่างๆ จะถูกเก็บไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งหมายรวมถึง หลักฐานในการดำเนินคดี หากตำรวจพบภาพถ่ายหรือหลักฐานอื่นๆ ภายหลัง ซึ่งบ่งชี้หรือยืนยันว่าได้ไปร่วมการชุมนุม

ทั้งนี้ตามขั้นตอนทางกฎหมาย หากตำรวจประสงค์จะแจ้งความดำเนินคดี ควรมีการส่งเอกสาร “หมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหา” ไปยังที่อยู่ตามภูมิลำเนาในบัตรประชาชน โดยประชาชนมีสิทธิ์ปฎิเสธการโทรศัพท์ให้ไปพูดคุยที่ สน. หรือไปรับทราบข้อกล่าวหาโดยไม่มีหมายเรียกได้ หรือหากประสงค์จะเดินทางไปพบตำรวจเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ สามารถโทรศัพท์สอบถามหรือส่งข้อความแจ้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อสอบถามเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องหาและขั้นตอนกระบวนการรับทราบข้อกล่าวหา 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังพบว่า ประชาชนบางคนเคยให้การกับตำรวจไว้แล้ว แต่อาจมีการติดต่อจากตำรวจอีกครั้ง เพื่อให้เดินทางมาให้การเพิ่มเติมในฐานะพยานหรือติดต่อให้มารับรถคืน แต่เมื่อประชาชนไปถึงสถานีตำรวจ อาจถูกสอบถามเพื่อให้ยืนยันตนเองผ่านภาพที่ตำรวจถ่ายได้ในที่เกิดเหตุ การดำเนินการลักษณะนี้เป็นกระบวนการหนึ่งของการสอบปากคำเพื่อให้ยืนยันตัวตน และนำไปสู่การดำเนินคดีในภายหลัง


.

.

7. ยื่นหนังสือแล้วยังไงต่อ

คำถามสำคัญที่หลายคนอยากทราบ คือเรื่องระยะเวลาที่ตำรวจสามารถยึดสิ่งของไว้ได้ 

หากอ้างถึงบันทึกข้อความของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 0011.25/4157 ลงวันที่ 5 พ.ย. 2553 เรื่องแนวทางปฎิบัติในการขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้ไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์ในระหว่างการดำเนินคดี ในแนวปฎิบัติข้อ 4 ได้ระบุถึงการพิจารณาคำร้องขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้ไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์ โดยผู้มีอำนาจอนุญาตต้องมีคำสั่งโดยเร็ว ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำร้อง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถมีคำสั่งได้ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้แจ้งผู้ยื่นคำร้องทราบโดยไม่ชักช้า

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ายังมีประชาชนจำนวนมากซึ่งถูกยึดรถตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. 2564 และยังไม่ได้รับการคืนรถจักรยานยนต์แต่อย่างใด 

.

.

8. ได้รับหนังสือนัดไปให้การที่ สน. / หมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหา ต้องทำอย่างไร 

เมื่อได้รับหนังสือนัดหมายให้ไปให้การที่สถานีตำรวจที่เกิดเหตุ หรือ หมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งมักถูกส่งไปยังภูมิลำเนาในบัตรประชาชน สามารถส่งภาพหนังสือนัดหมายหรือหมายเรียกมายังศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อรับคำปรึกษาทางกฎหมาย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

ทั้งนี้คดีที่มักจะถูกแจ้งข้อกล่าวหามักจะเป็น คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ทั้งนี้ศูนย์ทนายฯ ไม่ได้ช่วยเหลือเกี่ยวกับเงินซึ่งใช้ในการประกันตัว แต่สามารถช่วยประสานงานกับกองทุนที่ให้ความช่วยเหลือได้ อย่างไรก็ดี ความช่วยเหลือไม่ได้ครอบคลุมไปถึงค่าประกันรถในกรณีที่ต้องมีการประกัน 

.

.

9. รถเสียหายจากการถูกยึดสามารถฟ้องกลับได้หรือไม่ 

ข้อสงสัยที่ประชาชนจำนวนหนึ่งมักถามเข้ามา คือ รถหลายคันถูกกวาดต้อนหรืออาจประสบอุบัติเหตุ ทำให้รถได้รับความเสียหายขณะที่ถูกตรวจยึดไป ประชาชนจะสามารถดำเนินการฟ้องร้องเกี่ยวกับความเสียหายลักษณะนี้ได้หรือไม่ 

ปัจจุบันกลุ่มนักกฎหมายที่ให้ความช่วยเหลือด้านการฟ้องกลับเจ้าหน้าที่รัฐ ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้แก่ ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โดยผู้ที่มีความประสงค์จะฟ้องกลับสามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน”  https://www.facebook.com/HRLawyersAlliance

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

เสียงประชาชนผู้เดือดร้อน หลังถูกตำรวจยึดรถจาก #ม็อบ10สิงหา และความยากลำบากในการขอคืน

.

X