วันนี้ (2 มิถุนายน 2564) ศาลอาญามีคำสั่งให้ประกัน “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ ใน 2 คดี ตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ได้แก่ คดีปราศรัย #ม็อบ6ธันวา ที่วงเวียนใหญ่ ของศาลอาญาธนบุรี และคดีปราศรัยในการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎร์ประสงค์ ของศาลอาญากรุงเทพใต้
หลังวานนี้ ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีการไต่สวนคำร้องขอประกันชูเกียรติ ในคดีมาตรา 112 จากการติดป้ายกระดาษบนรูปกษัตริย์รัชกาลที่10 หน้าศาลฎีกา และต่อมาศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท และมีเงื่อนไขตามที่ศาลกำหนด แต่ยังไม่สามารถปล่อยตัวได้ในทันที เนื่องจากยังมีหมายขังคดี 112 ระหว่างพิจารณาอีก 2 คดี ได้แก่ คดีปราศรัย #ม็อบ6ธันวา ที่วงเวียนใหญ่ ของศาลอาญาธนบุรี และคดีปราศรัยในการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎร์ประสงค์ ของศาลอาญากรุงเทพใต้
คดีปราศรัย #ม็อบ6ธันวา ที่วงเวียนใหญ่ ของศาลอาญาธนบุรี สืบเนื่องจากการขึ้นปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล รวมถึงข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในการชุมนุม #ม็อบ6ธันวา ของคณะราษฎรฝั่งธนบุรี เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 บริเวณใกล้ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ นอกจากชูเกียรติ “ตี้ พะเยา” วรรณวลี ธรรมสัตยา ยังถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกัน
คดีปราศรัยในการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎร์ประสงค์ ของศาลอาญากรุงเทพใต้ สืบเนื่องจาก การที่ชูเกียรติ ขึ้นปราศรัยเรื่อง บทบาทของกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทย ในการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 เป็นการชุมนุมเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่รัฐสภา เกียกกาย จนทำให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บหลายราย ในคดีนี้ยังมี “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 ด้วยเช่นกัน
.
ศาลอาญากรุงเทพใต้-ธนบุรี ให้ประกันตัว พร้อมเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมเสื่อมเสียสถาบันกษัตริย์
เวลา 10.00 น. ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันชูเกียรติต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ และยื่นต่อศาลอาญาธนบุรี ตามลำดับ
คำร้องขอปล่อยชั่วคราวได้ระบุเหตุผลว่า ชูเกียรตินั้นมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หากได้รับการปล่อยตัว จะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน อีกทั้งชูเกียรติยังถือว่าเป็นผู้ถูกกล่าวหา และยังไม่ถูกพิพากษาว่ามีความผิด
อีกทั้งวานนี้ ศาลอาญารัชดาได้มีคำสั่งไต่สวนคำร้องขอประกันในคดีมาตรา 112 และมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมกำหนดเงื่อนไข และแต่งตั้งให้ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ให้เป็นผู้กำกับดูแล หากศาลจะกำหนดเงื่อนไข ขอให้ถือเอาคำให้การของชูเกียรติในคดีนี้เป็นการยืนยันว่า จะยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งศาลนี้เช่นกัน
นอกจากนี้ คำร้องยังยกเหตุผลขอปล่อยชั่วคราวเพื่อลดความเสี่ยงในการกลับมาติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของชูเกียรติ และเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ เนื่องจากก่อนหน้านี้ชูเกียรติ เคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จนต้องเข้าทำการรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์มาแล้ว
ต่อมา เวลา 11.00 น. และ 13.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้และศาลอาญาธนบุรี มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ชูเกียรติ โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสด จํานวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขในลักษณะเดียวกัน ได้แก่ ห้ามกระทำการหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่มีลักษณะเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือกระทำลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องร้อง ไม่เข้าร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และต้องมาศาลตามนัดที่กำหนดโดยเคร่งครัด
ทั้งสองคดี ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้ ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ เป็นผู้กำกับดูแล โดยให้มีหน้าที่สอดส่องดูแลให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด หากพบพฤติกรรมอันควรสงสัยว่าเป็นการผิดเงื่อนไขให้รายงานศาลโดยเร็ว
สำหรับคดีปราศรัยในการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎร์ประสงค์ ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.00 น. ส่วนคดีปราศรัย #ม็อบ6ธันวา ที่วงเวียนใหญ่ ศาลอาญาธนบุรี นัดคุ้มครองสิทธิ ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.00 น.
คำสั่งดังกล่าวมีผลให้ ภายในเย็นนี้ ชูเกียรติจะได้รับปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังถูกขังเป็นระยะเวลารวมทั้งสิ้น 72 วัน มาตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2564
หลังจากการปล่อยตัวของชูเกียรติ ยังคงมีผู้ต้องขังในคดีการเมืองระหว่างต่อสู้คดีอีก 2 รายที่ยังคงไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ได้แก่ แซม สาแมท และศุภากร (สงวนนามสกุล) ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ล่าสุด รายงานของกรมราชทัณฑ์สถานการณ์ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 64 พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดสะสมรวมกว่า 1,802 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 2,964 คน
จนถึงปัจจุบัน ชูเกียรติถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองแล้ว รวมทั้งสิ้น 12 คดี โดยเป็นคดีตามมาตรา 112 ถึง 4 คดี
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง