วันที่ 22 มี.ค. 2566 ศาลอาญาตลิ่งชันนัดสืบพยานคดีของ “ชูเกียรติ แสงวงค์” นักกิจกรรมจากจังหวัดสมุทรปราการ ผู้แต่งกายคอสเพลย์เป็น “จัสติน” ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สืบเนื่องจากปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรฝั่งธน บริเวณสถานีรถไฟฟ้า MRT ท่าพระ เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563
สำหรับคดีนี้ ชูเกียรติได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจนครบาลท่าพระ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2563 โดยคดีมีนายอานนท์ กลิ่นแก้ว จากกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหา ก่อนที่ ดุสิต เพิ่มเจริญ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน ได้มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลในวันที่ 28 ธ.ค. 2564
เวลา 10.30 น. ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์ 2 ปาก โดยทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากชูเกียรติมีอาการป่วย และปวดหัวรุนแรง จากการประสบอุบัติเหตุทางจราจร ศีรษะกระแทกพื้น โดยแพทย์ลงความเห็นว่าจำเลยจะต้องพักรักษาตัวตั้งแต่วันที่ 21 – 25 มี.ค. 2566 ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีได้ ซึ่งศาลได้ระบุว่าจะให้สืบพยานลับหลังจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา 172 ทวิ (4)
แต่ทนายจำเลยขอคัดค้าน โดยแถลงต่อศาลว่าคดีนี้มีอัตราโทษสูง ต้องปรึกษากับจำเลยในการต่อสู้คดีนี้ จึงต้องการให้มีการสืบพยานต่อหน้าจำเลย และในคดีนี้ก็มีเอกสารจำนวนมากที่เตรียมใช้ถามค้านพยานโจทก์
อีกทั้ง ทนายจำเลยได้เปิดเผยว่า ศาลได้ขอออกจากห้องพิจารณาเพื่อไปปรึกษากับอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาตลิ่งชัน ก่อนจะกลับเข้ามาที่ห้องพิจารณาพร้อมกับเห็นว่าอาการเจ็บป่วยของจำเลยไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะไม่มาเข้าร่วมการพิจารณาคดีในวันนี้ มีใจความสำคัญระบุว่า
“พิเคราะห์แล้ว คำร้องขอเลื่อนคดีและสำเนาใบรับรองแพทย์ จำเลยประสบอุบัติเหตุ ในวันที่ 13 มี.ค. 2566 โดยแพทย์ได้ลงความเห็นว่าควรพักฟื้นตั้งแต่วันที่ 13 – 21 มี.ค. 2566 และต่อมาจำเลยได้เข้าพบแพทย์อีกในวันที่ 21 มี.ค. 2566 โดยระบุว่าอาการปวดศีรษะยังไม่ทุเลาลง ซึ่งแพทย์ได้ลงความเห็นว่าควรพักรักษาตั้งแต่วันที่ 21 – 25 มี.ค. 2566
“ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่าอาการบาดเจ็บรุนแรง มีเพียงอาการปวดศีรษะ จำเลยได้พักรักษามาเป็นเวลานาน น่าเชื่อว่ารักษาอาการบาดเจ็บแล้ว และการที่แพทย์ระบุว่าอาการป่วยเพียงเวียนศีรษะ จำเลยไม่ได้เจ็บป่วยรุนแรงถึงขนาดมาศาลไม่ได้ จึงถือว่าจำเลยมีพฤติการณ์ประวิงคดี หลีกเลี่ยงไม่มาศาล ให้ออกหมายจับจำเลย และปรับผู้ประกันเต็มสัญญาประกัน”
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 23 มี.ค. 2566 ศาลไม่ได้เลื่อนนัดตามที่ทนายจำเลยขอ จึงให้จำเลยเดินทางมาศาลตามนัดเดิม เนื่องจากเชื่อว่าอาการเจ็บป่วยของจำเลยไม่ได้มีความรุนแรงถึงขนาดมาเข้าร่วมพิจารณาคดีไม่ได้ แต่จำเลยยังยืนยันว่าตนเองไม่สามารถเดินทางมาเข้าร่วมในวันดังกล่าวได้ พร้อมกับยื่นใบรับรองแพทย์มากับทนาย โดยมีเหตุผลระบุว่า ตนเองยังคงมีอาการป่วย หน้ามืด และมีอาการบ้านหมุน แพทย์ได้ฉีดยาให้จำเลยเป็นจำนวน 1 เข็ม ในเช้าวันนี้ก็ยังมีอาการมึนและปวดหัว ตลอดจนอาการง่วงนอนจากฤทธิ์ยา ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้
แต่ในวันนี้ (23 มี.ค. 2566) ศาลยังคงคำสั่งเช่นเดิม โดยระบุว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่ได้ออกหมายจับจำเลยไปแล้ว และระบุว่าไม่แน่ใจว่าจะสามารถจับกุมจำเลยได้เมื่อใด จึงเห็นสมควรให้จำหน่ายคดีออกชั่วคราว จนกว่าจะนำตัวจำเลยมาขึ้นศาลได้ และให้ยกเลิกนัดสืบพยานเดิม และหากจำเลยไม่ปรากฏตัวภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออกหมายจับ จะมีการพิจารณาคดีตามที่เห็นสมควรต่อไป
ในคดีนี้ ชูเกียรติเคยได้รับการประกันตัว ภายหลังจากที่อัยการฟ้อง ด้วยหลักทรัพย์จำนวน 250,000 บาท ซึ่งเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์
ต่อมาเวลา 13.30 น. ชูเกียรติซึ่งยังพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า “สุดท้ายศาลก็ยังออกหมายจับผม ผมขอประกาศตรงนี้เลยว่า ผมไม่มีพฤติกรรมหลบหนีแน่นอนและผมยังนอนรักษาตัวเองอยู่ เมื่อผมหายดีผมจะเดินทางไปมอบตัวพร้อมกับทนายของผมเอง ไม่ต้องมาตามจับผมให้เสียเวลา
“เมื่อผมอาการดีขึ้นผมไหวผมจะเดินทางไปศาลด้วยตัวเองกับทนายและนายประกันของผม ประกาศตรงนี้และย้ำตรงนี้เลยนะครับ ถึงตำรวจทุกคนที่จะมาจับผม ตอนนี้ผมขอพักฟื้นร่างกายตัวเองก่อน เพราะผมมีนัดสืบอีกหลายคดีที่ใกล้สืบพยานจบแล้ว ผมไม่หนีไปไหนแน่นอนผมหายดีผมจะติดต่อขอมอบ ด้วยตัวเอง”
อ่านคำชี้แจงจากจำเลย >>> จัสติน – ชูเกียรติ ชี้แจงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีป่วยจากการประสบอุบัติเหตุทางจราจร