สั่งฟ้อง ม.112 ​ “จัสติน” ชูเกียรติ เหตุปราศรัยเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่ MRT ท่าพระ หลังเข้ารับทราบข้อกล่าวมากว่า 1 ปี

24 ม.ค. 2565 ศาลอาญาตลิ่งชันนัดพร้อมสอบคำให้การในคดีที่นายชูเกียรติ แสงวงค์ นักกิจกรรมจากจังหวัดสมุทรปราการ ผู้แต่งกายคอสเพลย์เป็น “จัสติน” ถูกพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 2 ฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สืบเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรฝั่งธน บริเวณสถานีรถไฟฟ้า MRT ท่าพระ เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 

แต่เนื่องจากในนัดนี้ ทนายความที่ชูเกียรติแต่งตั้งต้องกักตัว เนื่องจากสัมผัสใกล้ชิดกับผู้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ศาลจึงให้เลื่อนไปนัดพร้อม พร้อมกับตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 28 ก.พ. 2565 เวลา 13.30 น. แทน

สำหรับคดีนี้ ชูเกียรติได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจนครบาลท่าพระ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2563 โดยคดีมีนายอานนท์ กลิ่นแก้ว อดีตหัวหน้าการ์ด กปปส. เป็นผู้กล่าวหา

ต่อมาผ่านไป 1 ปีเศษ พนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2564 โดย ดุสิต เพิ่มเจริญ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 2 เป็นผู้เรียงฟ้อง 

คำฟ้องโดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 เวลากลางวันและกลางคืนหลังเที่ยง ต่อเนื่องกัน จําเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ด้วยการใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวปราศรัยต่อประชาชนผู้ร่วมชุมนุมของ “กลุ่มคณะราษฎรฝั่งธน” ซึ่งมีผู้ร่วมกิจกรรมรวมกลุ่มชุมนุมกันประมาณ 700 คน และประชาชนโดยทั่วไป ที่บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้า MRT บริเวณสี่แยกท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร และประชาชนโดยทั่วไปที่มีการรับรู้จากการเผยแพร่ออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต อาทิเช่น ช่องทาง YouTube และแอปพลิเคชั่น Facebook เพจ “ไดร์โว่เพชร” ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม 


คำฟ้องได้ระบุเนื้อหาการปราศรัยบางช่วงตอนมาบรรยาย ได้แก่

“เราไม่ได้ต้องการอยากจะยึดอํานาจของท่าน เพียงแค่ลดอํานาจของท่าน เพียงแค่ลดสมบัติในท้องพระคลังของท่านมาแจกจ่ายราษฎร ให้ราษฎรได้ลืมตาอ้าปากครับ ไม่ใช่ท่านจะรับสามสี่ทาง…”

“ท่านพูดมาเลยเสนอมาเลยท่านต้องการเงินเดือนเท่าไร”

“ประชาชนพร้อมจะจ่ายภาษีให้ท่านแน่นอน แต่อย่ามาเอา เปรียบประชาชนแบบนี้นะครับ…”

“ท่านมาเบียดเบียนราษฎรไม่ได้ มันไม่ถูกต้อง, ที่นาที่ทํากินของราษฎรบางที่เป็นขุมทรัพย์สมบัติของพวกเขา ท่านยังตีตกไปเป็นของหลวงของราษฎร จริงๆ มันเป็นของราษฎร ไม่ใช่ของท่านคนเดียว ฯลฯ”

อัยการระบุ คำปราศรัยดังกล่าวสื่อความหมายให้ประชาชนผู้ร่วมกิจกรรมรวมกลุ่มชุมนุมดังกล่าว และประชาชนโดยทั่วไปที่ได้ยินได้ฟังถ้อยคําปราศรัยของจําเลยดังกล่าวเป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ความ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น และ ถูกเกลียดชัง โดยจําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของปวงชนชาวไทยและอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์


ท้ายฟ้อง อัยการระบุเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล แต่ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากคดีอีก 6 คดี ของชูเกียรติ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาในชั้นศาลเช่นกัน 

ภายหลังอัยการสั่งฟ้อง ศาลอาญาตลิ่งชันได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยหลักทรัพย์จำนวน 250,000 บาท ซึ่งเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตั้งแต่หลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 23 ม.ค. 2565 แล้วอย่างน้อย 168 คน ใน 174 คดี โดยชูเกียรติถูกกล่าวหาข้อหานี้ในจำนวน 4 คดีด้วยกัน คดีทั้งหมดถูกสั่งฟ้องไปถึงชั้นศาลแล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อหา ม.112 “ชูเกียรติ” เหตุปราศรัยเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่ MRT ท่าพระ

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563

X