การจำกัดอำนาจ-จัดการทรัพย์สินสถาบันกษัตริย์ใน รธน.: บทเรียนการปฏิรูปจากญี่ปุ่นถึงไทย

เกื้อ เจริญราษฎร์

ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีประมุขของรัฐเป็นพระมหากษัตริย์ หรืออาจรู้จักในชื่อ “ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy)” หากพิจารณาถึงประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองญี่ปุ่น เราอาจกล่าวได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของญี่ปุ่นนั้นถูกจำกัดอำนาจลงอย่างยิ่งหลังจากช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะเหตุที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม

ผู้เขียนเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นน่าสนใจในแง่การจำกัดบทบาทและพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลกที่เป็นประชาธิปไตย  กษัตริย์ของประเทศญี่ปุ่นมีพระราชอำนาจและสถานะที่ด้อยกว่ากษัตริย์ประเทศอื่นๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น พระจักรพรรดิญี่ปุ่นไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้นำจอมทัพ จนเราอาจจะกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญญี่ปุ่น เป็นรัฐธรรมนูญสำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์มีบทบาทและพระราชอำนาจน้อยที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นยังมีความชัดเจนในการกำหนดบทบาทหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดพระราชอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการปกครองเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนหรือการกำหนดห้ามราชสำนัก (Imperial House) รับทรัพย์สินใดๆ โดยปราศจากความเห็นชอบของรัฐสภา

ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นกับสถาบันกษัตริย์โดยสังเขป

สถาบันพระมหากษัตริย์ญี่ปุ่นนั้นมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยตำแหน่งของกษัตริย์ญี่ปุ่นนั้นมีชื่อเรียกว่า “จักรพรรดิ (Tennō)  โดยความหมายของภาษาญี่ปุ่นนั้นหากแปลตรงตัวอาจแปลได้ว่า องค์อธิปัตย์จากสรวงสวรรค์ (Heavenly Sovereign) หรือ จักรพรรดิแห่งทวยเทพ (Emperor of God) ตามศาสนาชินโตในประเทศญี่ปุ่นนั้นถือกันว่าพระจักรพรรดิเป็นผู้สืบเชื้อสายโดยตรงจากเทวีสุริยา (the direct descendant of the sun goddess Amaterasu)[1]

เราอาจกล่าวได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของญี่ปุ่นในอดีตมีความยึดโยงกับความเชื่อทางศาสนาและสมมติเทพอย่างลึกซึ้ง สถาบันพระจักรพรรดิญี่ปุ่นเป็นสถาบันทางการเมืองสำคัญที่คงอยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้ในบางช่วงจะมีกลุ่มขุนนางหรือรัฐบาลทหารโชกุนเข้ามายึดครองและผูกขาดอำนาจการปกครอง แต่ก็ไม่ได้ล้มล้างสถาบันนี้แต่ประการใด แม้ในสมัยที่โชกุนเรืองอำนาจพระจักรพรรดิแทบไม่มีบทบาททางการเมืองการปกครอง แต่พอก้าวย่างเข้าสู่ยุคญี่ปุ่นสมัยใหม่ (Modern Japan) สถาบันพระจักรพรรดิได้ถูกฟื้นฟูอำนาจทางการเมืองขึ้นมาใหม่โดยมีรัฐธรรมนูญเมจิ( Meiji Constitution 1890-1947 ) เป็นเครื่องมือสำคัญในการรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองการปกครองมาที่สถาบันพระจักรพรรดิ[2]

กลุ่มผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเมจิส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาเล่าเรียนจากตะวันตก และได้นำแนวคิดเรื่องสถาบันทางการเมืองตามแบบสมัยใหม่มาใช้ เราอาจกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญเมจิเป็นรัฐธรรมนูญที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการพลิกโฉมการเมืองการปกครองญี่ปุ่นให้เป็นสมัยใหม่โดยสถาปนาระบบการเมืองแบบรัฐสภาเป็นครั้งแรก มีการเลือกตั้งระดับชาติ การเลือกตั้งท้องถิ่น และมีพรรคการเมือง[3]

แต่อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่ได้สถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศญี่ปุ่นแต่อย่างใด ในทางกลับกันรัฐธรรมนูญกลับกำหนดให้อำนาจอธิปไตยอยู่ที่องค์พระจักรพรรดิ หัวหน้าฝ่ายบริหารซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของบรรดาองคมนตรีอันเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ และสภาขุนนางอันมีที่มาจากพระจักรพรรดิกลับมีอำนาจที่ค่อนข้างจะเท่าเทียมกับสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน[4]

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับเมจินั้นยึดติดอยู่กับอุดมการณ์แบบราชาธิปไตย และมีข้อจำกัดเรื่องสิทธิเสรีภาพอยู่มากมาย ท้ายที่สุดหลังจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม สหรัฐอเมริกาได้มองว่ากฎหมายสูงสุดฉบับนี้คืออุปสรรคสำคัญที่ขวางกั้นมิให้ญี่ปุ่นได้พัฒนาเติบโตเป็นชาติประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับเมจิจึงถูกล้มเลิกไปและสหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้[5]

แม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาจะมีบทบาทอย่างมากในการจัดทำและบีบบังคับให้ญี่ปุ่นต้องรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จนกระทั่งถูกเรียกว่า “รัฐธรรมนูญที่ถูกยัดเยียด (Oshitsuke kempo)” แต่อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวกลับกลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่สูง และใช้มาโดยปราศจากการแก้ไขยาวนานที่สุดในโลกฉบับหนึ่งจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน[6]

การปฏิรูปพระราชอำนาจของจักรพรรดิโดยรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นฉบับหลังสงคราม (Post-war constitution, 1947-present)

รัฐธรรมนูญฉบับหลังสงครามโลกนั้นถูกร่างขึ้นโดยมีความมุ่งหมายในการจำกัดอำนาจจักรพรรดิ เป็นผลมากจากแนวคิดพื้นฐานที่เห็นว่าสถาบันประมุขของรัฐมีส่วนร่วมและต้องรับผิดชอบในผลของสงคราม ดังนั้นจึงเป็นการสมควรที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนในเรื่องโครงสร้างพระราชสถานะและอำนาจของจักรพรรดิในรูปแบบใหม่ หากพิจารณาเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญเมจิซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับก่อนสงครามนั้น พระราชอำนาจของจักรพรรดิได้ถูกจำกัดลงเป็นอย่างมาก และแทนที่ด้วยหลักการสำคัญๆ ที่เป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยแทน

หากพิจารณาบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญโดยสังเขป เราอาจแบ่งประเด็นการปฏิรูปสถาบันพระจักรพรรดิได้ออกเป็นสองประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้[7]

  1. การปฏิรูปพระราชอำนาจและสถานะของจักรพรรดิ ตามคติ “กษัตริย์ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง”

ในอดีตก่อนแพ้สงคราม พระจักรพรรดิญี่ปุ่นตามรัฐธรรมนูญเมจินั้นมีพระราชสถานะและพระราชอำนาจทางการเมืองที่สูงมากจนเป็นปัญหาและไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับหลังสงครามนี้จึงกำหนดปรับเปลี่ยนพระราชสถานะและพระราชอำนาจเสียใหม่ โดยกำหนดโครงสร้างให้สถาบันพระจักรพรรดิญี่ปุ่นอยู่พ้นจากการเมือง จักรพรรดิจะทรงเป็นประมุขของรัฐในนามของ “ผู้ปกเกล้า แต่มิได้ปกครอง” (reigns but does not govern) รวมไปถึงพระราชสถานะของพระจักรพรรดิบางประการได้ถูกยกเลิก เช่น สถานะทรงเป็นผู้นำจอมทัพ และสถานะศักดิ์สิทธิ์ไม่อาจล่วงละเมิดได้ (sacred and inviolable) โดยพระราชสถานะใหม่ขององค์จักรพรรดิญี่ปุ่นได้ถูกกำหนดไว้ในมาตราแรกของรัฐธรรมนูญฉบับหลังสงคราม[8]

โดยทั่วไปมาตราแรกของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรในโลกนั้นล้วนแล้วแต่เป็นมาตราที่แสดงให้เห็นถึงหลักการที่สำคัญที่สุดของระบบที่สถาปนาขึ้น มาตราแรกของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นฉบับหลังสงครามโลกได้แสดงให้เห็นถึงหลักการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจากหลักการในรัฐธรรมนูญเมจิ แต่เดิมรัฐธรรมนูญเมจิซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเก่าได้กำหนดหลักการว่า จักรวรรดิญี่ปุ่นจะปกเกล้าและปกครองโดยการสืบสายของพระจักรพรรดิอันเป็นนิจนิรันดร์[9] แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นมาตราแรกได้กำหนดว่า

“พระจักรพรรดิทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งประเทศญี่ปุ่นและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนชาวญี่ปุ่น ฐานะดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเห็นพ้องของประชาชนชาวญี่ปุ่นซึ่งดำรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย”[10]

การเปลี่ยนแปลงของบทบัญญัติมาตราแรกดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงหลักการทางประชาธิปไตยที่สำคัญ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการยืนยันพระราชสถานะใหม่ของพระจักรพรรดิญี่ปุ่นว่าจะเป็นเพียงสัญลักษณ์แห่งประเทศญี่ปุ่น[11] โดยเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั้นคือประชาชนชาวญี่ปุ่น[12] นอกจากนั้นพระราชสถานะดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง

ในส่วนของพระราชอำนาจนั้น การปฏิรูปสถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นได้บัญญัติหลักการทั่วไปที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 4 โดยบัญญัติว่า พระจักรพรรดิจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวกับกิจการของรัฐเฉพาะที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และไม่ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจเกี่ยวกับการปกครองประเทศ[13]

บทบัญญัติดังกล่าวได้วางหลักการสำคัญซึ่งเป็นรากฐานของคติ “พระมหากษัตริย์ปกเกล้า แต่ไม่ปกครองไว้” ความหมายของบทบัญญัติดังกล่าวนั้น คือการกำหนดให้พระจักรพรรดิไม่มีอำนาจในการปกครองประเทศ (kokusei ni kansuru kennō) กล่าวคือไม่มีอำนาจทางการเมืองในการตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ ในทางการเมืองหรือทางรัฐธรรมนูญ และมีแต่อำนาจเพียงแบบพิธีในการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับรัฐ (kokuji ni kansuru kōi) และจะต้องได้รับคำแนะนำและความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีทุกครั้งตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ[14] ซึ่งบัญญัติหลักการทั่วไปในการใช้อำนาจของพระจักรพรรดิไว้อย่างชัดเจนว่า

พระราชกรณียกิจทั้งปวงของพระจักรพรรดิที่เกี่ยวกับกิจการของรัฐจะต้องได้รับคำแนะนำและความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบต่อการนั้น[15]

บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดชอบและเงื่อนไขการใช้อำนาจของสถาบันพระจักรพรรดิและตัวผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน การใช้อำนาจหรือการปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวกับกิจการของรัฐที่กระทำโดยปราศจากคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการทำให้แนวคิดเรื่องพระมหากษัตริย์จะรับผิดมิได้ (The King can do no wrong) เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงเพราะพระมหากษัตริย์ (หรือพระจักรพรรดิ) ไม่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามรัฐธรรมนูญด้วยพระองค์เอง แต่ปฏิบัติตามคำแนะนำและความเห็นชอบที่คณะรัฐมนตรีถวายเท่านั้น ดังนั้นโดยหลัก ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของพระจักรพรรดิคือคณะรัฐมนตรี

ในส่วนของมาตรา 6[16] นั้น แม้รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นจะระบุให้พระจักรพรรดิทรงมีอำนาจในการแต่งตั้งผู้ทรงอำนาจรัฐบางตำแหน่ง เช่น ประธานศาลสูงสุด นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี แต่การแต่งตั้งดังกล่าวจักรพรรดิก็ไม่มีดุลพินิจในการใช้อำนาจเองแต่อย่างใด หากแต่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาอย่างเคร่งครัด และอำนาจหน้าที่ของพระจักรพรรดิญี่ปุ่นโดยทั่วไปได้ระบุไว้ในมาตรา 7 ซึ่งบัญญัติไว้เป็นข้อๆ อย่างละเอียด[17]

  1. การปฏิรูปพระราชอำนาจในทางทรัพย์สินโดยการกำหนดให้ชัดเจนเรื่องทรัพย์สินของจักรพรรดิ

เรื่องที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งที่สถาบันพระจักรพรรดิของญี่ปุ่นได้ถูกปฏิรูป คือการบัญญัติเรื่องการทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับพระจักรพรรดิให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ ในสมัยรัฐธรรมนูญเมจินั้น พระจักรพรรดิมีทรัพย์สมบัติมหาศาลไม่ว่าจะเป็นที่ดินหรือแหล่งสนับสนุนทางการเงินต่างๆ หลังจากพ่ายแพ้สงคราม ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้คือการควบคุมอำนาจทางการเงิน (Financial power regulation)[18] ของสถาบันพระจักรพรรดิ โดยหลัก รัฐธรรมนูญฉบับหลังสงครามนั้นได้บัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ไว้ 2 มาตรา นั่นคือมาตราที่ 8 และมาตราที่ 88

มาตราที่ 88 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นเป็นมาตราที่ว่าด้วยการกำหนดเจ้าของทรัพย์สินของราชสำนัก (Imperial Household) โดยมาตรานี้ได้บัญญัติอย่างชัดเจนว่า ทรัพย์สินทั้งปวงของราชสำนักเป็นของรัฐ ค่าใช้จ่ายทั้งปวงของราชสำนักต้องประมาณการไว้ในงบประมาณ และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา[19]

ผลของบทบัญญัติมาตรานี้อาจกล่าวได้ว่า กรรมสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของโดยนิตินัยของบรรดาทรัพย์สินทั้งหลายที่มีการถวายให้แก่พระราชสำนักย่อมตกเป็นของรัฐ พระจักรพรรดิไม่ใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งกรณีดังกล่าวก่อให้เกิดความชัดเจนว่าใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง และในส่วนการกำหนดให้ค่าใช้จ่ายของราชสำนักต้องให้สภาตรวจสอบก็เป็นหลักการสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาทั่วโลก

นอกจากนี้ในเรื่องการจำหน่ายจ่ายโอนหรือการได้มาซึ่งทรัพย์สิน มาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น[20] บัญญัติว่า การโอนทรัพย์สินให้แก่ราชสำนัก หรือการที่ราชสำนักรับโอนทรัพย์สินหรือมอบทรัพย์สินให้โดยเสน่หา ต้องเป็นไปตามความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งก่อให้เกิดการตรวจสอบทรัพย์สินที่เข้ามาสู่ราชสำนัก หรือจำหน่ายจ่ายโอนออกไปจากราชสำนักโดยองค์กรที่มีความยึดโยงกับประชาชนมากที่สุดนั่นก็คือรัฐสภา

พระจักรพรรดิญี่ปุ่นและการปรับตัวให้เข้ากับระบอบประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่

หลังจากพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง สถาบันพระจักรพรรดิของประเทศญี่ปุ่นได้ปรับตัวให้เข้ากับระบอบประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ พระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะได้ทรงประกาศถึงพระราชสถานะของพระองค์ที่เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา มิใช่เทพดังแนวคิดที่ระบุในช่วงรัฐธรรมนูญเมจิ และได้ทรงเก็บพระองค์ไม่ทรงยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จนกระทั่งสิ้นพระชนม์

แม้พระจักรพรรดิองค์ก่อนๆ มักจะมีลักษณะที่อนุรักษ์นิยมและยึดถือจารีตประเพณีอย่างมาก แต่พระจักรพรรดิองค์ต่อมาคือพระจักรพรรดิอากิฮิโตะได้ทรงเปลี่ยนแปลงบทบาทใหม่ โดยได้ชำระภาษีมรดกเหมือนราษฎรทั่วไปภายหลังจากที่ทรงได้รับมรดกในช่วงการขึ้นครองราชย์ และได้มีพระราชดำรัสว่าพระองค์จะทรงเทิดทูนไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น เพื่อแสดงออกอย่างชัดเจนถึงเป้าประสงค์ในการเป็นพระจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญ ท่านยังทรงวางพระองค์ในกิริยาที่อ่อนน้อมและสุภาพ เช่น การก้มศีรษะตอบต่อผู้ที่ทำความเคารพต่อพระองค์ ซึ่งไม่ปรากฎให้เห็นในจักรพรรดิองค์ใดของญี่ปุ่นที่ผ่านมา ท่านยังส่งพระโอรสไปศึกษายังต่างประเทศและอภิเษกสมรสกับสามัญชน ซึ่งในอดีตตามประเพณีราชสำนักจะไม่สามารถปฏิบัติเช่นนั้นได้ และในการประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ พระองค์จะทรงปฏิบัติตามคำแนะนำและมติของคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด[21]

ในยุคปัจจุบันเคยมีการสำรวจถึงแนวคิดที่ประชาชนญี่ปุ่นทั่วไปมีต่อพระจักรพรรดิ โดยประชากรมากกว่าร้อยละ 80 ได้ให้การสนับสนุนระบอบจักรพรรดิ ในขณะที่ประชากรจำนวนประมาณร้อยละ 10 เท่านั้นที่คิดว่าต้องยกเลิกระบอบจักรพรรดิ เราอาจกล่าวได้ว่าการครองตนอย่างเรียบง่ายและการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดได้ส่งผลให้ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นได้รับการสนับสนุนอย่างมากในโลกสมัยใหม่[22]

บทส่งท้าย: รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมีความน่าสนใจในการนำมาใช้เพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย

แม้ผู้เขียนจะไม่เชื่อมั่นว่าการบัญญัติกฎหมายให้ครอบคลุมทุกอย่างจะสามารถแก้ปัญหาได้ที่ต้นเหตุ แต่ในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นหากพิจารณาถึงประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมานั้น สถาบันพระมหากษัตริย์มีอิทธิพลทางสังคมการเมือง และมีพระราชอำนาจในความเป็นจริงสูงมากจนกำลังเป็นปัญหาต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย

เราอาจกล่าวได้ว่าการบัญญัติกฎหมายสูงสุดเพื่อเป็นกรอบในการจำกัดอำนาจ และกำหนดหลักการพื้นฐานที่สำคัญๆ แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยตามแนวของญี่ปุ่นอาจจะเป็นทางเลือกที่น่าศึกษาและนำมาปรับใช้ การบัญญัติกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นก่อให้เกิดการสถาปนากรอบบางประการในระบบ ที่จะสามารถทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้อย่างมั่นคงและมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนสม่ำเสมอ

หากยกตัวอย่างง่ายๆ ให้ท่านผู้อ่านพิจารณา ถ้ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีบทบัญญัติที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในเรื่องการจัดการทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามแนวของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น โดยกำหนดในลักษณะว่า “ทรัพย์สินทั้งปวงของราชสำนักเป็นของรัฐ” และ “การโอนทรัพย์สินให้แก่ราชสำนัก หรือการที่ราชสำนักรับโอนทรัพย์สินหรือมอบทรัพย์สินให้โดยเสน่หา ต้องเป็นไปตามความเห็นชอบของรัฐสภา” การโอนหุ้นจากสำนักงานทรัพย์สิน(ส่วน)พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐไปเป็นชื่อของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจจะไม่เกิดขึ้น และไม่กลายเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมากมายอันนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันก็เป็นได้

[1] Kanʼichi Asakawa. The early institutional life of Japan: a study in the reform of 645 A.D., Tokyo Shueisha, 1903.

[2] อมรรัตน์ กุลสุจริต, ประมุขของรัฐในระบบรัฐสภา :ศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์กฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ, วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2541 หน้า  272-273

[3] เพิ่งอ้าง

[4] เพิ่งอ้าง น. 274

[5] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, ต้นกำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับหลังสงครามในประเทศญี่ป่นบทวิพากษ์วาทกรรม “รัฐธรรมนูญที่ถูกยัดเยียด”,วารสารญี่ปุ่นศึกษาปีที่ 32 ฉบับที่ 1 (2015), หน้า 3

[6] เพิ่งอ้าง

[7] ผู้ที่สนใจรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นฉบับภาษาอังกฤษสามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์ “Constitute Project” ส่วนคำแปลภาษาไทยนั้นอ้างอิงจากสุดา วิศรุตพิชญ์,ผู้แปล. สิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์,ผู้ตรวจและขัดเกลาภาษา. รัฐธรรมนูญแห่งประเทศญี่ปุ่น. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2541.

[8] Shigenori Matsui, The Constitution of Japan A contextual analysis , Hart Publishing, p 58

[9] Meiji Constitution, Article 1 The Empire of Japan shall be reigned over and governed by a line of Emperors unbroken for ages eternal. Retrieved from https://www.ndl.go.jp

[10] Constitution of Japan, Article 1 The Emperor shall be the symbol of the State and of the unity of the People, deriving his position from the will of the people with whom resides sovereign power.

[11] Shigenori Matsui, Supra Note 8, p 58

[12] Ibid

[13] Constitution of Japan, Article 4 The Emperor shall perform only such acts in matters of state as are provided for in this Constitution and he shall not have powers related to government.

The Emperor may delegate the performance of his acts in matters of state as may be provided by law

[14] Chaihark Hahm and Sung Ho Kim, Making We the People: Democratic Constitutional Founding in

Postwar Japan and South Korea, Comparative Constitutional Law and Policy, Cambridge University Press , p133

[15] Constitution of Japan, Article 3 The advice and approval of the Cabinet shall be required for all acts of the Emperor in matters of state, and the Cabinet shall be responsible therefor.

[16] Constitution of Japan, Article 6 The Emperor shall appoint the Prime Minister as designated by the Diet. The Emperor shall appoint the Chief Judge of the Supreme Court as designated by the Cabinet.

[17]  Constitution of Japan, Article 7 The Emperor, with the advice and approval of the Cabinet, shall perform the following acts in matters of state on behalf of the people:

  • Promulgation of amendments of the constitution, laws, cabinet orders and treaties.
  • Convocation of the Diet.
  • Dissolution of the House of Representatives.
  • Proclamation of general election of members of the Diet.
  • Attestation of the appointment and dismissal of Ministers of State and other officials as provided for by law, and of full powers and credentials of Ambassadors and Ministers.
  • Attestation of general and special amnesty, commutation of punishment, reprieve, and restoration of rights.
  • Awarding of honors.
  • Attestation of instruments of ratification and other diplomatic documents as provided for by law.
  • Receiving foreign ambassadors and ministers.
  • Performance of ceremonial functions.

[18] Shigenori Matsui, Supra note 8, p 61

[19] Constitution of Japan, Article 88 All property of the Imperial Household shall belong to the State. All expenses of the Imperial Household shall be appropriated by the Diet in the budget.

[20] Constitution of Japan, Article 8 No property can be given to, or received by, the Imperial House, nor can any gifts be made therefrom, without the authorization of the Diet

[21] อ้างแล้ว, เชิงอรรถที่ 2, น.303-305

[22] Shigenori Matsui, Supra note 8, p 59

 

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการวิจารณ์ประมุขของรัฐ: ชวนดูมาตรฐานสิทธิมนุษยชนยุโรป

ข้อความคิดทางกม. ในระบอบปชต. : “ประชาชนเป็นรากฐานของกม. มหาชนไทย” มิใช่สถาบันกษัตริย์

X