เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการวิจารณ์ประมุขของรัฐ: ชวนดูมาตรฐานสิทธิมนุษยชนยุโรป

เกื้อ เจริญราษฎร์

 

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่เก่าแก่ที่สุดและมีคุณค่ามากที่สุดอย่างหนึ่ง ทั้งยังเป็นสารัตถะของความเป็นมนุษย์เนื่องจากเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะสื่อสารต่อกันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน[1] เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นยังมีความเชื่อมโยงทางสังคมที่สัมพันธ์กับคุณค่าอื่นที่สำคัญ การขยายพรมแดนของความรู้ย่อมไม่อาจกระทำได้หากปราศจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพัฒนาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ก็ไม่อาจกระทำได้หากถูกลิดรอนเสรีภาพในแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงในระบอบประชาธิปไตย การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะก็ไม่อาจสะท้อนความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริงหากปราศจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หากต้นไม้ไม่อาจเติบโตได้โดยปราศจากน้ำฉันใด ระบอบประชาธิปไตยก็ไม่อาจงอกงามได้โดยปราศจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นฉันนั้น

อย่างไรก็ตาม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นไม่ใช่สิทธิที่ถูกรับรองโดยเด็ดขาด แต่อาจถูกจำกัดได้ในบางกรณี ในระบบกฎหมายบางประเทศมักจะมีกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อคุ้มครองชื่อเสียงของประมุขของรัฐ

บทความนี้ผู้เขียนต้องการนำเสนอเรื่องราวของการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อประมุขของรัฐที่เป็นราชอาณาจักรในกฎหมายสิทธิมนุษยชนของยุโรปโดยสังเขป พร้อมกรณีศึกษาคำวินิจฉัยในคดีที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นตัวอย่างถึงมาตรฐานที่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันในไทยที่มีการตั้งคำถามอย่างแพร่หลายว่า กฎหมายที่คุ้มครองชื่อเสียงของประมุขของรัฐนั้นดำรงอยู่เพื่ออะไร และการวิพากษ์วิจารณ์ประมุขของรัฐนั้นสามารถกระทำได้หรือไม่

 

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่อนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปคุ้มครอง กับหลักการตรวจสอบการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่ถูกรับรองไว้ในมาตรา 10 ของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป[2] ขอบเขตของการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญานี้มีขอบเขตที่กว้างขวาง บุคคลที่ได้รับความคุ้มครองนั้นครอบคลุมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ส่วนรูปแบบในการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการคุ้มครองนั้นครอบคลุมถึงการแสดงความคิดเห็นทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นคำพูด การปราศรัย บทกวี แผ่นพับ จดหมาย สโลแกน โฆษณาทางเว็บไซต์ ข้อความที่ส่งผ่านมือถือ แม้กระทั่งการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือการแสดงความคิดเห็นเชิงสัญลักษณ์[3] เช่น การแขวนเสื้อผ้าที่สกปรกบริเวณสภาของฮังการี เพื่อแสดงออกว่าสภาไม่ต่างอะไรกับที่ซักผ้าที่สกปรกของประเทศ[4] ศาลเคยตัดสินว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นตามมาตรา 10 ของอนุสัญญาฯ การเดินแก้ผ้าเพื่อแสดงออกถึงความเชื่อในเรื่องการเปลือยกายในที่สาธารณะ[5] การเป่าแตรเพื่อประท้วงการล่าสัตว์[6] การเทสีใส่รูปปั้นเพื่อประท้วงเชิงสัญลักษณ์[7] ล้วนแล้วแต่เป็นการแสดงความคิดเห็นตามมาตรา 10 ตามอนุสัญญาฯ นี้ทั้งสิ้น

 

ที่มาของภาพ

 

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรา 10 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปไม่เพียงแต่กำหนดให้รัฐต้องไม่แทรกแซงการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น แต่ยังเรียกร้องให้รัฐต้องมีมาตรการเพื่อให้เกิดการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอีกด้วย นอกจากนี้หากรัฐต้องการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามหลักการในอนุสัญญาดังกล่าวสามประการ[8] นั่นคือ

1.1 หลักความชอบด้วยกฎหมาย การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะต้องกระทำโดยกฎหมายหรือมีกฎหมายรองรับ กล่าวอีกนัยหนึ่งมาตรการที่จะมาจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะต้องมีรากฐานมาจากกฎหมายภายในรัฐ[9] โดยกฎหมายดังกล่าวจะต้องสามารถเข้าถึงได้พอสมควรและสามารถคาดเห็นได้ ต้องได้รับการบัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรหรือบัญญัติไว้ในเอกสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย หรือเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นจากคำพิพากษาของศาล[10] การที่รัฐอ้างว่ากฎหมายนั้นได้รับการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นจารีตประเพณีย่อมไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้จำกัดเสรีภาพของบุคคลได้

นอกจากนี้เนื้อหาของกฎหมายนั้นจะต้องกำหนดขอบเขตของการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครองในการจำกัดเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองสามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างไร้ขอบเขต นอกจากนี้หากกฎหมายนั้นเป็นกฎหมายอาญา จะต้องสอดคล้องกับหลักไม่มีความผิดไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย กล่าวคือกฎหมายนั้นไม่สามารถบังคับใช้ย้อนหลังในทางที่เป็นโทษได้[11]

1.2 หลักวัตถุประสงค์อันชอบธรรม โดยหลักการ การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์อันชอบธรรมตามมาตรา 10 รัฐไม่อาจอ้างวัตถุประสงค์อันเป็นประโยชน์สาธารณะอื่นที่อยู่นอกเหนือไปจากที่มาตรา 10 กำหนดมาจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งประโยชน์สาธารณะดังกล่าว ได้แก่ เพื่อคุ้มครองความมั่นคงของรัฐ บูรณภาพแห่งดินแดน หรือความปลอดภัยสาธารณะ เพื่อป้องกันความไม่สงบหรืออาชญากรรม เพื่อคุ้มครองสุขภาพหรือศีลธรรม เพื่อคุ้มครองชื่อเสียงหรือสิทธิของบุคคลอื่น เพื่อป้องกันการเปิดเผยข้อมูลที่ได้มาโดยความลับ หรือเพื่อธำรงไว้ซึ่งอำนาจหน้าที่และความเป็นกลางของศาล ซึ่งการพิจารณาว่ามาตรการทางกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นมีขึ้นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อันชอบธรรมหรือไม่ เป็นอำนาจของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปในการพิจารณา[12]

1.3 หลักความพอสมควรแก่เหตุ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้นำข้อความคิดว่าด้วยหลักความพอสมควรแก่เหตุ[13] มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยในตัวอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปจะใช้คำว่า “ความจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย (necessary in democratic society) ”[14] ซึ่งศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้วางหลักในการวินิจฉัยว่าจะต้องพิจารณาว่ามี ความจำเป็นทางสังคมอันเร่งด่วน (pressing social need) ซึ่งสอดคล้องกับบริบทในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่[15] ศาลจะพิจารณาความเกี่ยวข้องของปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในลักษณะภาพรวมรวมไปถึงเหตุผลที่รัฐภาคีของอนุสัญญายุโรปใช้ในการจำกัดสิทธิว่ามีน้ำหนักเพียงพอหรือไม่ และมาตรการที่จำกัดสิทธินั้นมีความพอสมควรแก่เหตุกับวัตถุประสงค์ที่รัฐมุ่งหมายหรือไม่ ซึ่งในการพิจารณาดังกล่าวอาจจะต้องดูบริบทของข้อเท็จจริงเป็นคดีไป[16]

สำหรับปัจจัยที่ศาลนำมาใช้ชั่งน้ำหนักว่ามาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นพอสมควรแก่เหตุหรือไม่ ประกอบด้วยปัจจัยที่หลากหลาย เช่น หากกรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะหรือวิพากษ์วิจารณ์บุคคลทางการเมือง ขอบเขตในการแสดงความคิดเห็นย่อมได้รับการคุ้มครองอย่างกว้างขวางขึ้น หรือ หากมาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น มีผลทำให้บุคคลหวาดกลัวและไม่กล้าแสดงความคิดเห็น (chilling effect) ศาลย่อมนำปัจจัยดังกล่าวมาพิจารณา

 

คดีตัวอย่างที่สำคัญ Otegi Mondragon v. Spain กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อประมุขของรัฐที่เป็นราชอาณาจักร[17]

ในคดีนี้ผู้ร้องศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปคือนาย Arnaldo Otegi Mondragon ซึ่งเป็นโฆษกของกลุ่มฝ่ายซ้ายในสภาผู้แทนราษฎร[18] โดยนาย Arnaldo ได้กล่าวหาว่ากษัตริย์สเปนมีส่วนร่วมและอยู่เบื้องหลังการซ้อมทรมาน และนาย Arnaldo ได้ถูกลงโทษทางอาญาฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ต้องโทษจำคุก 1 ปี รวมไปถึงตัดสิทธิเลือกตั้งตลอดระยะเวลาที่ถูกลงโทษ

 

นาย Arnaldo Otegi Mondragon (ที่มาของภาพ

 

เรื่องราวในคดีนี้เกิดขึ้นในปี 2003 เริ่มมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสเปนได้ตรวจค้นและสั่งปิดสำนักงานของหนังสือพิมพ์ Euskaldunon Egunkaria เนื่องจากมีหลักฐานว่าหนังสือพิมพ์นี้มีความสัมพันธ์กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนบาสก์ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมกรรมการบริหารและบรรณาธิการใหญ่ของหนังสือพิมพ์นี้ไปอีก 10 คน และทำการคุมขังโดยลับเป็นเวลา 5 วัน หลังจากที่ผู้ที่ถูกคุมขังได้รับการปล่อยตัวออกมา ผู้ถูกคุมขังได้ร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังทั้งสิบอย่างทารุณ

ในเวลาต่อมา กษัตริย์สเปนได้รับการเชื้อเชิญและต้อนรับจากหัวหน้ารัฐบาลของประชาคมปกครองตนเองบาสก์ ในพิธีเปิดโรงไฟฟ้าใน Biscay และนาย Arnaldo ได้นัดสื่อมวลชนเปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เขาได้แสดงความเห็นต่อผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการที่กษัตริย์สเปนได้ไปเยี่ยมเยือนพิธีเปิดโรงไฟฟ้าว่า “เป็นเรื่องที่น่าสมเพช (It was pathetic.)” เป็น “ความอัปยศทางการเมืองอย่างแท้จริง (genuinely political disgrace)” และ “หนึ่งภาพแทนคำพูดนับพัน (their picture was worth a thousand words)”

อีกทั้ง นาย Arnaldo ได้แสดงความคิดเห็นต่อไปในเรื่องเกี่ยวกับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าไปปิดหนังสือพิมพ์ และจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 10 ราย โดยเขาเห็นว่ากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ที่ได้ทรมานผู้ถูกคุมขังทั้ง 10 คน จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของผู้ที่ทำการทรมานผู้ถูกคุมขังโดยกล่าวว่า “มันเป็นไปได้ยังไงกันที่วันนี้พวกเขาไปถ่ายรูปที่ Bilbao กับกษัตริย์แห่งสเปน เมื่อกษัตริย์สเปนเป็นจอมทัพแห่งกองทัพสเปน กษัตริย์นั้นแหละคือบุคคลผู้รับผิดชอบการทรมานผู้ต้องหา คือกษัตริย์นี่แหละซึ่งปกป้องการทรมานและปกป้องระบอบราชาธิปไตยของกษัตริย์ผ่านการทรมานและการใช้ความรุนแรง”

ต่อมานาย Arnaldo ถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาดูหมิ่นกษัตริย์[19] โดยศาลฎีกาได้พิพากษาจำคุกผู้ร้องเป็นเวลา 1 ปี และระงับสิทธิเลือกตั้งตลอดระยะเวลาที่ต้องโทษ ศาลฎีกาเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นกษัตริย์และสถาบันที่กษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ ซึ่งกระทบต่อศักดิ์ศรีของพระมหากษัตริย์อย่างถึงที่สุด โดยการกล่าวหาว่ากษัตริย์ได้กระทำความผิดอาญาที่ร้ายแรงที่สุดฐานหนึ่งในนิติรัฐ การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในกรณีนี้เกินขอบเขตของการวิพากษ์วิจารณ์  ศาลยังได้สำรวจบริบทของข้อความซึ่งปรากฎข้อเท็จจริงว่าการดำเนินคดีกับการทารุณโหดร้ายผู้ที่ถูกกักขังได้ยุติลงเนื่องจากขาดพยานหลักฐาน อีกทั้งข้อความพิพาทก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นปฏิกิริยาหรือการโต้ตอบในการถกเถียงกับกษัตริย์  เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ของความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิด ศาลจึงพิพากษาลงโทษ

 

กษัตริย์ Juan Carlos I แห่งสเปน ครองราชสมบัติ ค.ศ. 1975-2014 (ที่มาของภาพ)

 

แม้ผู้ร้องได้ดำเนินการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาขัดต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางความคิด แต่ศาลรัฐธรรมนูญสเปนก็มิได้มีคำวินิจฉัยที่เป็นคุณกับนาย Arnaldo แต่อย่างใด ศาลรัฐธรรมนูญสเปนได้วินิจฉัยถึงสถานะของพระมหากษัตริย์จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้สถาบันกษัตริย์มีความแตกต่างไปจากสถาบันทางการเมืองอื่นๆ เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวและถาวรของรัฐ มีความเป็นกลางทางการเมืองและอยู่ในฐานะผู้ระงับความขัดแย้งหรือผู้ไกล่เกลี่ย และศาลรัฐธรรมนูญสเปนก็ได้ตัดสินว่าการกระทำของผู้ร้องเป็นการกระทำที่ใช้สิทธิเกินไปกว่าขอบเขตของการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ท้ายที่สุดคดีดังกล่าวได้ถูกร้องไปที่ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปว่าการลงโทษนาย Arnaldo ขัดกับมาตรา 10 แห่งอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปซึ่งคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือไม่

 

คำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปในคดี Otegi v. Spain โดยสังเขป

ในการวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปนั้น อาศัยหลักการสามประการดังที่กล่าวไปข้างต้น ศาลเริ่มต้นจากการพิจารณาว่า การแทรกแซงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น ได้ถูกกำหนดไว้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลพิจารณาว่าการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวได้กำหนดไว้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วโดยกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญาข้อหาดูหมิ่นกษัตริย์[20] หลังจากนั้นศาลได้พิจารณาตามหลักวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรม โดยกล่าวว่าการแทรกแซงเสรีภาพนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรมเนื่องจากเป็นคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคลอื่น หลังจากนั้นศาลได้พิจารณาว่า การแทรกแซงเสรีภาพดังกล่าวเป็น “ความจำเป็นที่ชอบธรรมตามสังคมประชาธิปไตยหรือไม่”

ศาลได้เริ่มจากการกล่าวถึงหลักการว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่เป็นรากฐานที่สำคัญของสังคมประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเงื่อนไขพื้นฐานในการที่จะทำให้สังคมเจริญก้าวหน้าและการพัฒนาชีวิตของปัจเจกให้สมบูรณ์ ความคิดเห็นอันได้รับการคุ้มครองมาตรา 10 แห่งอนุสัญญาฯ ไม่เพียงแต่รับรองความคิดหรือข้อมูลข่าวสารที่เป็นเรื่องที่ดีเท่านั้น แต่ความคิดเห็นที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 10 แห่งอนุสัญญา ยังรวมไปถึงความคิดเห็นหรือข้อมูลข่าวสารที่มีลักษณะทำให้ขุ่นเคืองใจ ทำให้ตกใจ หรือทำให้ผู้รับสารไม่สบายใจด้วย สังคมประชาธิปไตยย่อมไม่อาจดำรงอยู่ได้หากปราศจากข้อเรียกร้องอันเป็นพหุนิยม ความอดทนอดกลั้น และการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน[21]

ศาลได้พิจารณาต่อไปถึงบทบัญญัติมาตรา 10 โดยกล่าวถึงความจำเป็นในสังคมประชาธิปไตยว่าหมายความรวมถึง “ความจำเป็นทางสังคมอันเร่งด่วน” แม้รัฐภาคีจะมีดุลยพินิจในการประเมินว่าความจำเป็นดังกล่าวดำรงอยู่หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปย่อมทรงไว้ซึ่งอำนาจวินิจฉัยสูงสุด (final ruling)[22] ว่าการจำกัดสิทธินั้นขัดหรือแย้งกับมาตรา 10 แห่งอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปหรือไม่ ศาลจะพิจารณาภาพรวมและความเกี่ยวพันต่างๆ ในคดีอย่างยึดโยงเกี่ยวพันกัน (as a whole) เพื่อพิจารณาว่าเหตุผลของรัฐในการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวเป็นธรรมหรือไม่ การแทรกแซงเสรีภาพโดยรัฐนั้นพอสมควรแก่เหตุในการบรรลุวัตถุประสงค์อันชอบธรรมหรือไม่ (proportionate to legitimate aim pursued) ศาลได้กล่าวต่อไปว่าในกรณีที่เกี่ยวกับคำพูดทางการเมืองหรือการโต้เถียงทางการเมือง (political speech or debate) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ

 

ที่มาของภาพ

 

ในประเด็นเรื่องการคุ้มครองชื่อเสียงของประมุขของรัฐ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้วินิจฉัยต่อไปว่าแม้จะมีความแตกต่างระหว่างระบบราชอาณาจักรกับระบบสาธารณรัฐ แต่หลักกฎหมายที่ศาลวางไว้เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ประมุขของรัฐในสาธารณรัฐ ก็สามารถนำมาใช้กับสถาบันกษัตริย์ด้วย[23] ศาลเห็นว่าการที่กษัตริย์มีสถานะเป็นกลางในการถกเถียงทางการเมือง เป็นผู้ระงับความขัดแย้ง ตลอดจนเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของรัฐ มิได้ป้องกันกษัตริย์จากการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการทำหน้าที่ในฐานะเป็นผู้แทนของรัฐเชิงสัญลักษณ์ในคดีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้โต้แย้งอย่างชอบธรรมต่อโครงสร้างทางรัฐธรรมนูญของรัฐ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเห็นว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมีความสำคัญยิ่งขึ้นเมื่อเป็นการถ่ายทอดความคิดซึ่งอาจจะทำให้เกิดความขุ่นเคือง ตกใจ หรือท้าทายระเบียบแบบแผนที่สถาปนาไว้

นอกจากนี้การที่กษัตริย์ไม่ต้องรับผิดตามรัฐธรรมนูญสเปน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางกฎหมาย ไม่ควรจะถือเป็นเครื่องขัดขวางมิให้เกิดการถกเถียงเรื่องความรับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฐานะที่เป็นผู้นำแห่งรัฐ ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ถ้อยคำหมิ่นประมาทดังกล่าวได้ถูกพูดในบริบทของการเมืองซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนตัวของกษัตริย์หรือเกียรติยศในฐานะปัจเจกชน[24] แต่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของกษัตริย์ในเชิงสถาบันในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์และประมุขของรัฐ

นอกจากนี้ศาลยังเห็นว่ามาตรการในการลงโทษจำคุกผู้ร้องนั้น เป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัวไม่กล้าใช้เสรีภาพ (chilling effect) ท้ายที่สุดศาลวินิจฉัยว่าการลงโทษจำคุกผู้ร้องซึ่งเป็นนักการเมือง ไม่ใช่มาตรการที่สอดคล้องกับ “ความจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย” การแทรกแซงเสรีภาพดังกล่าวไม่ใช่มาตรการที่พอสมควรแก่เหตุกับวัตถุประสงค์อันชอบธรรมที่มุ่งหมาย ดังนั้นเป็นการละเมิดมาตรา 10 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป

 

บทสรุป: การวิพากษ์วิจารณ์ประมุขของรัฐที่เป็นราชอาณาจักรกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนยุโรป

ผู้เขียนเห็นว่าในยุคสมัยใหม่ซึ่งมีข้อความคิดเรื่องประชาธิปไตยเป็นฐานราก การวิพากษ์วิจารณ์ประมุขของรัฐไม่ว่าจะในราชอาณาจักรหรือสาธารณรัฐ โดยหลักควรสามารถกระทำได้อย่างเปิดเผยและไม่ควรมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่คุ้มครองชื่อเสียงประมุขของรัฐมากไปกว่าการคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคลธรรมดา เนื่องจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นไม่ได้มีความสำคัญกับผู้ทรงสิทธิเท่านั้น แต่การแสดงความคิดเห็นยังมีส่วนสำคัญในการค้นพบความจริงของสังคมและนำไปสู่การพัฒนา หากพิจารณาจากเหตุผลในคำพิพากษาคดี Otegi ข้างต้นโดยสังเขป เราอาจกล่าวได้ว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อประมุขของรัฐสมควรถูกคุ้มครองบนพื้นฐานของเหตุผลสามประการ นั่นคือ

ประการแรก เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเงื่อนไขพื้นฐานในการที่จะทำให้สังคมเจริญก้าวหน้าและการพัฒนาชีวิตของปัจเจกให้สมบูรณ์

ประการที่สอง ในกรณีที่เป็นการโต้แย้งทางการเมืองหรือแสดงออกซึ่งความคิดเห็นเรื่องการเมือง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งและมีข้อจำกัดเสรีภาพที่น้อยลง เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ

ประการสุดท้าย แม้ประมุขของรัฐจะมีลักษณะที่เป็นกลางทางการเมืองหรือเป็นสถาบันที่ล่วงละเมิดไม่ได้ก็ตาม แต่ก็สมควรที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ หากถ้อยคำดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนตัวหรือเกียรติยศในฐานะปัจเจกชน แต่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบในเชิงสถาบันหรือในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์และเป็นประมุขของรัฐ

 

 

หากมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ในทางปฏิบัติ การคุ้มครองเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ประมุขของรัฐไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนยุโรปโดยสิ้นเชิง การแสดงความคิดเห็นหลายๆ ครั้ง แม้จะไม่ได้มีถ้อยคำที่รุนแรงเท่ากับที่นาย Arnaldo พูด ก็อาจถูกดำเนินคดีได้ เช่น กรณีวันที่ 3 สิงหาคม ที่นายอานนท์ นำภา ได้กล่าวปราศรัยที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย เราอาจกล่าวได้ว่าถ้อยคำในแต่ละประเด็นที่นายอานนท์สื่อสารนั้น มีความรุนแรงน้อยว่านาย Arnaldo เป็นอย่างมาก โดยนายอานนท์ได้มุ่งประเด็นไปที่การปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กลับถูกดำเนินคดีในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยเจ้าพนักงานตำรวจนั้นมองว่าเนื้อหาในการปราศรัยได้กล่าวพาดพิงและโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ผู้ชุมนุมคล้อยตามและเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์

หากมองจากมาตรฐานของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปแล้ว การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวของนายอานนท์ควรได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในทางการเมืองและเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวถึงเรื่องงบประมาณจากภาษีที่ใช้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือกฎหมายจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ โดยประเด็นที่กล่าวมาจะไม่สามารถแก้ปัญหาในสังคมไทยได้อย่างแท้จริง หากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อประมุขของรัฐไม่ได้รับการคุ้มครองในทางปฏิบัติและมีการดำเนินคดีต่อผู้แสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจะไม่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวได้อย่างอิสระ ตรงไปตรงมา และถกเถียงเพื่อนำไปสู่กรอบกติกาที่สามารถแก้ปัญหาได้ในอนาคต

 


 

[1] Karpen, Ulrich. “Freedom of Expression as a Basic Right: A German View.” The American Journal of Comparative Law, vol. 37, no. 2, 1989, pp. 395–404. JSTOR, www.jstor.org/stable/840173. Accessed 13 Aug. 2020.

[2] 1. ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธินี้ย่อมรวมถึงเสรีภาพในการที่จะมีความคิดเห็น และได้รับและเผยแพร่ข้อมูลและความคิดโดยปราศจากการแทรกแซงจากหน่วยงานทางมหาชน โดยไม่ต้องคำนึงถึงพรมแดน มาตรานี้ไม่ห้ามรัฐในการกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้มีการกระจายเสียงแพร่ภาพ หรือบริษัทโทรทัศน์ หรือภาพยนตร์

2. การใช้เสรีภาพดังกล่าว โดยเหตุที่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่และความรับผิดชอบ อาจตกอยู่ภายใต้รูปแบบ เงื่อนไข ข้อจำกัด หรือบทลงโทษตามที่กำหนดไว้โดยกฎหมาย และจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์ในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน หรือความปลอดภัยสาธารณะ เพื่อป้องกันความไม่สงบหรืออาชญากรรม เพื่อคุ้มครองสุขภาพหรือศีลธรรม เพื่อคุ้มครองชื่อเสียงหรือสิทธิของบุคคลอื่น เพื่อป้องกันการเปิดเผยข้อมูลที่ได้มาโดยความลับ หรือเพื่อธำรงไว้ซึ่งอำนาจหน้าที่และความเป็นกลางของศาล

[3] William A. Schabas, The European Convention on Human Rights a commentary, p 455

[4] Tatár and Fáber v. Hungary (2012) ECtHR

[5] Gough v. the United Kingdom (2014) ECtHR

[6] Hashman and Harrup v. the United Kingdom (1999) ECtHR

[7] Murat Vural v. Turkey (2014) ECtHR

[8] ชนน ศิลปรัศมี, เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับการคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคลอื่นตามแนวคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป, วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต สาขากฎหมายมหาชน 2561, น 28

[9] William A. Schabas, Supra Note 2 , p 469

[10] Ibid

[11] ชนน ศิลปรัศมี, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 7 น 28

[12] Supra note 2, p71

[13] โดยหลักการนี้ประกอบด้วยหลักการย่อยสามประการ คือ 1. หลักความเหมาะสม ซึ่งหลักความเหมาะสมได้เรียกร้องให้มาตรการที่รัฐใช้ มีความสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ หากปราศจากความสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์โดยสิ้นเชิงหรืออยู่ในวิสัยที่ไม่อาจบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ มาตรการดังกล่าวย่อมไม่ชอบด้วยหลักความเหมาะสม 2. หลักความจำเป็น เป็นหลักการที่เรียกร้องว่าหากมาตรการของรัฐมีมาตรการที่บรรลุวัตถุประสงค์ได้หลายมาตรการ รัฐจะต้องใช้มาตรการที่มีผลกระทบหรือจำกัดลิดรอนสิทธิของประชาชนน้อยที่สุด 3. หลักความพอสมควรแก่เหตุในความหมายอย่างแคบ หลักการนี้ได้เรียกร้องให้มาตรการของรัฐที่จำกัดสิทธิเสรีภาพนั้นก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะมากกว่าโทษที่จะเกิดขึ้นจากการบังคับใช้มาตรการนั้นๆ

[14] ชนน ศิลปรัศมี, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 7 น.30

[15] The Sunday Times v. the United Kingdom (1979) ECtHR. Quoted in Janneke Gerards, How to improve the necessity test of the European Court of Human Rights, International Journal of Constitutional Law, Volume 11, Issue 2, April 2013

[16] William A. Schabas, Supra Note 2, p.475

[17] Otegi Mondragon v. Spain (2011) ECtHR

[18] Sozialista Abertzaleak

[19] Article 490 Kingdom of Spain Criminal code

[20] Article 490 Spain Criminal Code

[21] Otegi Mondragon v. Spain (2011) ECtHR para 48

[22] Ibid para 49

[23] Ibid para 56

[24] Ibid para 57

 

 

X