ความเห็นทางกฎหมาย กรณี กกต.ดำเนินคดีต่อประชาชนผู้แชร์การรณรงค์ถอดถอนกกต.ออกจากตำแหน่ง

 

แม้ว่าการเลือกตั้งจะผ่านไปแล้วกว่า 10 วัน แต่ผลการเลือกตั้งและวิธีการคำนวนเพื่อหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อกลับยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมทั้งยังไม่สามารถตอบข้อสงสัยของสาธารณะในประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน รวมถึงไม่มีท่าทีตอบสนองต่อข้อเรียกร้องที่ให้เปิดเผยผลการนับคะแนนในระดับหน่วย  นำไปสู่ตั้งข้อสังเกตถึงความโปร่งใสและความเป็นกลางในการจัดการเลือกตั้งของ กกต. และเกิดการรณรงค์เพื่อรวบรวมรายชื่อของประชาชนเรียกร้องให้ถอดถอน กกต. ออกจากตำแหน่ง ในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่ออนไลน์ ในเว็บไซต์ www.change.org ซึ่งมีผู้คนกล่าวถึงและตื่นตัวร่วมสนับสนุนเป็นจำนวนมาก ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 840,000 คน แม้ผู้ร่วมลงชื่อในเว็บไซต์ดังกล่าวจะทราบว่า ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่พวกเขาก็ยืนยันที่จะดำเนินการเพื่อแสดงออกถึงความไม่ไว้วางใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระอย่าง กกต.

แต่ปรากฏว่านับตั้งแต่วันที่เริ่มมีการรณรงค์ดังกล่าวในวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา กกต. มีการติดตามความเคลื่อนไหวนี้อย่างใกล้ชิด และมอบอำนาจให้นายนวัต บุญศรี เข้าแจ้งความเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 เพื่อดำเนินคดีกับประชาชนที่เผยแพร่และส่งต่อข้อมูลการรณรงค์ ในข้อหา “ร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ต่อมา วันที่ 4 เมษายน 2562 พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ได้ออกหมายเรียกประชาชน 7 ราย ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 11 เมษายน 2562 จากเหตุดังกล่าว แต่แล้วพบว่าเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวผู้ถูกออกหมายเรียกจำนวน 3 ราย เข้ารับทราบข้อกล่าวหา  และแถลงข่าวการจับกุมในคดีนี้

โดยบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุเหตุของการดำเนินคดีว่า การรณรงค์ทางเว็บไซต์ www.change.org ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งในการเชิญชวนให้ประชาชนลงชื่อถอดถอน กกต. กล่าวว่า “ขออำนาจพลังประชาชนร่วมกันลงชื่อสนับสนุนแคมเปญล่ารายชื่อถอดถอน กกต. ที่ส่อแววทุจริตและมีข้อครหามากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย” เป็นการกระทำที่ยังไม่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และถือเป็นการดำเนินการนอกขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้ เป็นเหตุให้ กกต. ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากบุคคลทั่วไปที่ได้รับทราบถึงข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นอย่างยิ่ง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า การร่วมรณรงค์โดยเปิดเผยบนสื่อสังคมออนไลน์ และการส่งต่อข้อมูลการรณรงค์เพื่อถอดถอน กกต. นั้นเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย จึงมีความเห็นต่อการแจ้งความดำเนินคดีประชาชนโดย กกต. ในกรณีดังกล่าวดังต่อไปนี้

  1. การตั้งคำถาม, หาข้อมูลข่าวสารสาธารณะ และร่วมรณรงค์โดยเปิดเผยบนสื่อสังคมออนไลน์ต่อการปฎิบัติหน้าที่ของ กกต. เป็นการใช้สิทธิของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ตรวจสอบ ถ่วงดุล และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงานขององค์กรจัดการเลือกตั้ง ตามขอบเขตแห่งมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และตามข้อบทที่ 25 (ก) (ข) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี
  2. การหาข้อมูลและการส่งต่อข้อมูลโดยสุจริตเพื่อตั้งคำถามและตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ว่าปฏิบัติงานภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหรือไม่ และการร่วมลงชื่อในทางสาธารณะโดยสุจริตต่อประเด็นสาธารณะที่มีต่อ กกต. เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ กกต. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน ล้วนแต่เป็นองค์ประกอบของเสรีภาพในการแสดงออกที่บุคคลควรเข้าถึง, ได้รับ, แลกเปลี่ยน และเผยแพร่ข้อมูลหรือความเห็นผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้อย่างเสรี ที่ได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และตามข้อบทที่ 19 (ข) (ค) ของพันธกรณีใน ICCPR
  3. การร้องทุกข์โดย กกต. เพื่อดำเนินคดีทางอาญากับผู้ใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงานของรัฐและผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางสื่อออนไลน์เพื่อตรวจสอบการปฏิบ้ติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างอิสระ โดยประชาชนเหล่านั้นมิได้เป็นผู้นำเสนอเนื้อหานั้นโดยตรง เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอันไม่เข้าข้อยกเว้นตามที่กติการะหว่างประเทศ ข้อบทที่ 19 (ค) (1) (2) ของพันธกรณีใน ICCPR กล่าวไว้ คือ เพื่อการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่นและการรักษาความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน

การดำเนินคดีของ กตต. จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากฐานทางกฎหมาย และยังแสดงให้เห็นว่า กกต. ใช้กระบวนการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยจงใจขัดขวางการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ (Strategic Litigation Against Public Participations หรือ SLAPPs) ของประชาชน ผ่านการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม (Judicial Harassment) การยัดเยียดข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาในกรณีนี้ยิ่งตอกย้ำบรรยากาศการจำกัดการแสดงออก, ตรวจสอบ, โต้แย้งหรือวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสาธารณะของประชาชนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังการรัฐประหารในปี 2557

  1. ภายหลังการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ถูกกล่าวหา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า ท่าทีเร่งรัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังจากรับคำร้องทุกข์จาก กกต. ซึ่งแสดงออกผ่านการออกหมายเรียกในวันต่อมา การจัดทำแผนผังแสดงข้อมูลและภาพใบหน้าบนบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ถูกกล่าวหาประกอบการแถลงข่าว และการนำตัวบุคคลมาเพื่อสอบข้อเท็จจริงโดยพลการ โดยผู้ถูกกล่าวหาบางคนไม่ได้รับการแจ้งพฤติการณ์ก่อนนำตัวมายังสถานีตำรวจ บางรายไม่ได้รับคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่ถึงเหตุของการกระทำความผิดนั้น ทุกรายไม่สามารถติดต่อหรือขอให้ญาติ บุคคลที่ไว้วางใจ หรือทนายความอยู่ร่วมระหว่างการสอบปากคำได้ อันส่งผลให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่เข้าใจถึงผลของการสอบปากคำในวันดังกล่าวได้ครบถ้วน ตลอดไปถึงการที่ตำรวจพยายามเกลี้ยกล่อมให้ผู้ต้องหาเข้าร่วมการแถลงข่าว โดยระบุว่าจะเป็นผลดีต่อผู้ต้องหาเอง เหล่านี้ขัดต่อสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญา ตามมาตรา 7/1 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และขัดต่อข้อบทที่ 9 ของพันธกรณีใน ICCPR  

 

ด้วยเหตุดังที่กล่าวมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้

  1.      กกต. ยุติการดำเนินคดีไม่ว่าในข้อหาหรือฐานความผิดใดทางอาญาต่อนักการเมือง สื่อมวลชน และประชาชนโดยทั่วไปซึ่งไม่ใช่ผู้ผลิตสื่อและต้องรับผิดชอบต่อการพิสูจน์ความจริงหรือความเท็จของข้อมูลนั้น ในทางตรงข้าม กกต. ควรมีปฏิกิริยาต่อการวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบ ของประชาชนด้วยการแสดงความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่โดยการเปิดเผยข้อมูลผลการนับคะแนนการเลือกตั้งในทุกระดับ และตรวจสอบข้อร้องเรียนอย่างไม่เลือกปฏิบัติ
  2.       รัฐต้องส่งเสริมและประกันสิทธิในการมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงานของรัฐ และเสรีภาพในการแสดงออกทางสื่อออนไลน์และพื้นที่อื่น ๆ ต่อการดำเนินงานของ กกต. อย่างตรงไปตรงมา โดยการให้ประชาชนสามารถแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบการดำเนินงานของ กกต. ได้  
  3.       รัฐต้องประกันสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาให้ถึงพร้อมกับหลักการของกฏหมายอาญาและกฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันตน

 

 

X