30 เม.ย. 2561 รังสิมันต์ โรม ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ว่าขัดรัฐธรรมนูญ หลังถูกฟ้องฐานฝ่าฝืนประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 จากการไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนในคดี MBK39
09.00 น. ศาลแขวงปทุมวันนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีที่รังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่อง การดําเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา จากการไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนในคดีคนอยากเลือกตั้งบริเวณสกายวอล์กห้างเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ หรือคดี MBK39
ในนัดนี้ รังสิมันต์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแขวงปทุมวันขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยว่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย และขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 3, มาตรา 26, มาตรา 28, และมาตรา 29 หรือไม่
ในคำร้องดังกล่าวระบวุ่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมายและใช้บังคับไม่ได้อีก เนื่องจากประกาศของคณะรัฐประหารที่ออกมาในช่วงสภาวการณ์ไร้กฎหมาย จะมีผลบังคับใช้ต่อไปได้ก็ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญเขียนรับรองไว้ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เขียนรับรองให้ประกาศ คปค. มีผลบังคับใช้ แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ไม่ได้รับรองประกาศ คปค. ให้ชอบด้วยกฎหมายและมีผลบังคับใช้อีกต่อไป
และแม้ ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 จะมีสถานะเป็นกฎหมายก็ยังขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 เนื่องจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นคณะบุคคลที่ได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยการใช้กองกำลังทหารและอาวุธสงครามเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินหรือทำรัฐประหาร ซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ ขัดต่อมาตรา 3 ในรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า “อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ…”
นอกจากนี้ รังสิมันต์ยังระบุในคำร้องอีกว่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 มาตรา 26, มาตรา 28, และมาตรา 29 โดยมาตรา 26 บัญญัติว่า
“การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย
กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง”
มาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
“บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย”
มาตรา 29 วรรคสี่ บัญญัติว่า
“ในคดีอาญาจะบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองมิได้”
การที่พนักงานสอบสวนจะบังคับให้บุคคลต้องพิมพ์ลายนิ้วมือของตนให้กับพนักงานสอบสวนเพียงเพราะถูกกล่าวหาในคดีอาญา ซึ่งพนักงานอัยการก็ยังไม่มีคำสั่งฟ้องคดี และศาลก็ยังไม่ได้พิพากษาลงโทษ ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา และย่อมถือได้ว่าเป็นการบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง เพราะว่าการมอบหลักฐานส่วนตนไม่ว่าจะเป็นคำให้การ พยานวัตถุ หรือพยานเอกสาร อันรวมทั้งลายพิมพ์นิ้วมือของตนให้แก่พนักงานสอบสวนนั้นย่อมถือเป็นการให้การของผู้ถูกกล่าวหา ดังนั้น หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ยินยอมให้การหรือมอบพยานหลักฐานดังกล่าวกับพนักงานสอบสวน ย่อมถือเป็นสิทธิเด็ดขาดของผู้ถูกกล่าวหา การออกกฎหมายบังคับให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องมอบลายพิมพ์นิ้วมือของตนให้กับพนักงานสอบสวนตามประกาศดังกล่าวจึงเป็นการบังคับให้บุคคลต้องให้การอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง
อย่างไรตาม ศาลแขวงปทุมมีคำสั่งให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเฉพาะประเด็นที่ว่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 หรือไม่ แต่ไม่ส่งในประเด็นโต้แย้งที่ว่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมายและไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากศาลแขวงปทุมวันเห็นว่า การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต้องเป็นกรณีที่ศาลหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ได้หมายความรวมถึงสภาพการบังคับใช้กฎหมายด้วย ทั้งนี้ ทนายความแถลงต่อศาลว่าต้องการคัดค้านคำสั่งศาลที่ไม่ส่งประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ศาลแขวงปทุมวันให้เลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อรอฟังผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 31 ก.ค. 2561 เวลา 09.00 น.