ยกฟ้องคดี ‘โรม’ ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ เพราะประกาศคณะรัฐประหารปี 49 ขัดรัฐธรรมนูญ

1 ก.ค. 2562 ศาลแขวงปทุมวันพิพากษายกฟ้อง คดีที่รังสิมันต์ โรม อดีตนักกิจกรรมและ สส.พรรคอนาคตใหม่ ถูกฟ้องฐานไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ ฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 ซึ่งเป็นประกาศของคณะรัฐประหารเมื่อปี 2549 เนื่องจากประกาศดังกล่าวมีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ ใช้บังคับไม่ได้

ประมาณ 10.00 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 2 ศาลแขวงปทุมวัน ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี อ่านคำพิพากษาคดีของรังสิมันต์ โรม ที่ถูกฟ้องฐานฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 ระบุว่า ผู้ฝ่าฝืนไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือ หรือลายเท้า ตามคำสั่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน มีความผิดฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ต้องระวางโทษจำคุไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหารังสิมันต์ฐานชุมนุมทางเมืองและสั่งให้พิมพ์ลายนิ้วมือ แต่ผู้ต้องหาปฏิเสธ เป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 2/2562 ให้ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเฉพาะในส่วนที่กำหนดให้เป็นความผิดและโทษทางอาญา และเมื่อบทบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจึงใช้บังคับไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง

อย่างไรก็ตาม คดียังไม่สิ้นสุดเนื่องจากอัยการอาจอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ภายในหนึ่งเดือน และก่อนหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยดังกล่าว ศาลในคดีของประเวศ ประภานุกูล คดีประชามติราชบุรี และคดีประชามติภูเขียว เคยพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 25 และลงโทษปรับไปแล้ว

อ่านบทวิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที 2/2562 เพิ่มเติมได้ที่ เมื่อประกาศคณะ รปห. 49 ขัด รธน. บทเรียนจากคดีไม่พิมพ์ลายนิ้วมือของ ‘รังสิมันต์ โรม’

X