เมื่อประกาศคณะ รปห. 49 ขัด รธน. บทเรียนจากคดีไม่พิมพ์ลายนิ้วมือของ ‘รังสิมันต์ โรม’

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 62 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่สำคัญหนึ่งเรื่อง เกี่ยวกับความขัดแย้งกันระหว่างประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 สืบเนื่องจากกรณีรังสิมันต์ โรม ปฏิเสธการพิมพ์ลายนิ้วมือต่อเจ้าพนักงาน ระหว่างที่เขาและเพื่อนถูกควบคุมตัวจากการรณรงค์ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่อ้างประกาศ ฉบับที่ 25 (ประกาศเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2549) ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มาใช้เพื่อดำเนินคดีต่อเขา

รายงานชิ้นนี้ทบทวนความเป็นมาของคดีและสรุปประเด็นสำคัญในคำวินิจฉัยฉบับนี้ ซึ่งวางบรรทัดฐานบางประการต่อข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกาศหรือคำสั่งคณะรัฐประหารมาเพื่อดำเนินคดีประชาชน ซึ่งหากนับจำนวนแล้ว ประเทศไทยผ่านการรัฐประหารถึง 13 ครั้ง ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จึงมีคำสั่งหรือประกาศจำนวนมากที่ยังตกค้างอยู่ในสังคมไทย

ความเป็นมาของคดีไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ (แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 20 มี.ค. 62)

กรณีนี้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2561 รังสิมันต์ โรม เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งบริเวณสกายวอร์ค สี่แยกปทุมวัน “MBK39” ต่อมาสน.ปทุมวัน ได้มีการตั้งข้อหาต่อผู้ร่วมกิจกรรมในวันนั้นจำนวน 39 คน มี 9 คน ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาผิด พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาร่วมกันขัดขืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 อีก 30 คนแต่เดิมถูกตั้งข้อกล่าวหาตามความผิด พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ โดย 1 ใน 9 คน คือรังสิมันต์ โรม

ต่อมาวันที่ 10 ก.พ. 2561  พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงศ์ รองผู้กำกับสอบสวนสน.ปทุมวันได้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับนายรังสิมันต์ โรมในข้อหาไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน โดยเจ้าพนักงานอ้างระหว่างการสอบสวนในคดีเกี่ยวกับการชุมนุมที่บริเวณสกายวอร์ค สี่แยกปทุมวัน รังสิมันต์ โรมได้ปฏิเสธที่จะพิมพ์ลายนนิ้วมือต่อเจ้าพนักงาน โดยอ้างว่า

“เมื่อจำเลย (หมายถึงรังสิมันต์ โรม) ถูกจับกุม มีการสอบปากคำและแจ้งข้อกล่าวหาเสร็จสิ้น จำเลยให้การปฏิเสธ จากนั้นจึงนำตัวจำเลยไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรแต่จำเลยปฏิเสธไม่พิมพ์ลายนิ้วมือโดยพยานจำไม่ได้ว่าจำเลยแจ้งเหตุผลว่าอย่างไร เมื่อนำชื่อ สกุลและเลขบัตรประชาชนของจำเลยไปตรวจสอบกองทะเบียนประวัติอาชญากร ไม่พบประวัติอาชญากรรม”

ต่อมาอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องรังสิมันต์ โรม ต่อศาลแขวงปทุมวัน เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.177/2561 ก่อนที่ศาลแขวงปทุมวันจะส่งคำโต้แย้งของรังสิมันต์ โรม จำเลยในคดี เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ข้อโต้แย้งจากรังสิมันต์ โรม

มี 4 ประเด็นจากคำโต้แย้งที่รังสิมันต์ โรม ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อการที่เจ้าหน้าที่อ้างเอาประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา ลงวันที่ 29 ก.ย. 49 ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1. ประกาศฉบับดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 เนื่องจาก คปค. เป็นคณะบุคคลที่ได้อำนาจการปกครองประเทศโดยการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินหรือทำการรัฐประหาร ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2. ประกาศฉบับดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักการทั่วไปของการตรากฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 26 รับรองไว้ เนื่องจากมีเนื้อหาขัดต่อหลักนิติธรรม ซึ่งการจะตรากฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลได้ กฎหมายนั้นต้องไม่สร้างภาระต่อสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ

3. ประกาศฉบับดังกล่าวเป็นมาตรการทางกฎหมายที่ใช้จำกัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลเกินความจำเป็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 วรรคหนึ่ง ซึ่งถือเป็นโทษที่รุนแรงเมื่อเทียบกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 วรรคหนึ่ง อีกทั้งมาตรการที่นำมาใช้ไม่อาจสร้างประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด

4. การที่พนักงานสอบสวนจะบังคับให้บุคคลต้องพิมพ์ลายนิ้วมือของตนให้กับพนักงานสอบสวนเพียงเพราะถูกกล่าวหาในคดีอาญาซึ่งพนักงานอัยการยังไม่ได้มีคำสั่งฟ้องคดี และศาลยังไม่ได้พิพากษาลงโทษ ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้ถูกกล่าวหา และถือว่าเป็นการบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับคดีนี้ไว้พิจารณา เนื่องจากยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้

ประเด็นที่สำคัญในคำวินิจฉัยของศาล รธน.

ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 2/2562 ลงวันที่ 27 ก.พ. 62 ว่าด้วย ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ลงวันที่ 29 กันยายน พุทธศักราช 2549 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้เป็นความผิดและโทษทางอาญา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ ซึ่งสรุปสาระสำคัญเป็น 4 ประเด็น ดังนี้  

ประเด็นที่ 1 การบัญญัติกฎหมายที่ไม่ได้สัดส่วน

ศาลรัฐธรรมนูญเริ่มพิจารณาประเด็นแรก ด้วยการอธิบายบริบทขณะที่ประกาศฉบับดังกล่าวบังคับใช้ ซึ่งบัญญัติให้ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือหรือลายเท้าตามคำสั่งของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม จะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น ว่าเป็นการบัญญัติกฎหมายที่ได้สัดส่วนพอเหมาะพอควร รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้หรือไม่

ในประเด็นนี้ศาลมีความเห็นว่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 มีความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า การอ้างประกาศฉบับดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาเพราะในยามที่บ้านเมืองปกติสุข การใช้ชีวิตของปัจเจกบุคคลย่อมแตกต่างไปจากสถานการณ์ที่ประกาศฉบับนี้บังคับใช้ โดยเฉพาะหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

อีกทั้งการกระทำผิดดังกล่าวมิใช่เป็นการกระทำอันเป็นการร้ายแรงหรือกระทบกระเทือนความสงบสุขของบ้านเมืองถึงขนาดต้องบัญญัติให้เป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาที่มีระวาง โทษจำคุกถึง 6 เดือน ตามหลักภยันตราย (principal of harm) ซึ่งใช้เป็นกรอบในการกำหนดความผิดที่มีโทษทางอาญา

ประเด็นที่ 2 ความผิดลหุโทษที่เหมาะสมอยู่แล้ว

ศาลเห็นว่าการบัญญัติให้เป็นหน้าที่ผู้ต้องหาคดีอาญาต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในร่างกายของบุคคลเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนหาผู้กระทำผิดในคดีอาญา อีกทั้งการพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นสิทธิพื้นฐานเฉพาะตัวของบุคคลไม่ต่างไปจากการลงลายมือชื่อ ซึ่งแม้จะเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้วก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิดย่อมถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์

ศาลยังมีความเห็นว่า เมื่อชั่งน้ำหนักหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมของรัฐตามวัตถุประสงค์ของประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ถือเป็นบทบัญญัติที่เพิ่มภาระและจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล โดยเฉพาะสิทธิและเสรีภาพทางร่างกายเกินสมควรแก่เหตุ ไม่ได้สัดส่วนหรือไม่ความสมดุลระหว่างประโยชน์ส่วนรวมเมื่อเปรียบเทียบกับสิทธิและเสรีภาพประชาชนที่สูญเสียไป

ดังนั้น ศาลเห็นว่า มีมาตรการทางกฎหมายอื่นซึ่งให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อบังคับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์อยู่แล้ว อันได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง ที่เป็นมาตรการลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร โดยมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันเป็นความผิดลหุโทษที่เหมาะสมกับการกระทำฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานดังกล่าว

ประเด็นที่ 3 การพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นสิทธิพื้นฐานเฉพาะตัวของบุคคล

ในประเด็นนี้ศาลเห็นว่า การพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นสิทธิพื้นฐานเฉพาะตัวของบุคคลไม่ต่างไปจากการลงลายมือชื่อ ซึ่งแม้จะเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิดย่อมถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิดังกล่าวจึงย่อมได้รับความคุ้มครองแม้กฎหมายจะบัญญัติให้เป็นหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม

แต่ย่อมไม่อาจถือเป็นความผิดทางอาญาในฐานที่ไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือหรือลายเท้าได้ รัฐชอบที่จะหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อบังคับการให้ผู้ต้องหาที่ไม่ยอมปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนต้องเกิดภาระหรือความรับผิดได้เพียงเท่าที่จำเป็น และพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ในชีวิตและร่างกายของบุคคลอย่างไม่สมเหตุสมผล ไม่พอเหมาะพอควรตามความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วนหรือไม่มีความสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ส่วนรวมที่จะได้รับเมื่อเปรียบเทียบกับสิทธิและเสรีภาพที่ประชาชนจะต้องสูญเสียไปอันเนื่องมาจากกฎหมายนั้น

ตลอดจนมีมาตรการทางกฎหมายอื่นที่ทดแทนได้อยู่แล้ว ขัดต่อหลักนิติธรรมรวมทั้งกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 26 วรรคหนึ่ง และมาตรา 28 วรรคหนึ่ง 

ประเด็นที่ 4 ไม่วินิจฉัยว่าคปค. เป็นคณะบุคคลที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตามศาลรัฐธรรมนูญมิได้หยิบประเด็นโต้แย้งของผู้ต้องหาในประเด็นที่ว่า ประกาศฉบับดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 เนื่องจาก “คปค.” เป็นคณะบุคคลที่ได้อำนาจการปกครองประเทศโดยการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินหรือทำการรัฐประหาร ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มีเพียงการระบุไปถึง ขณะที่ประกาศใช้กฎหมายฉบับนั้น เป็นช่วงเวลาที่คปค. กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินสำเร็จเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 และได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีการเปลี่ยนแปลงองค์กรที่ใช้อำนาจ โดยให้คปค. ทรงเป็นประมุขใช้อำนาจทั้งในส่วนของอำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติ

ดังนั้นเพื่อให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยเป็นปกติสุขจนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามครรลองของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว เป็นกรณีจำเป็นในขณะที่บ้านเมืองอยู่ในช่วงการรัฐประหาร และในยามที่บ้านเมืองปกติสุข การใช้ชีวิตของปัจเจกชนย่อมต่างไปจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งกรณีไม่พิมพ์ลายนิ้วมือของรังสิมันต์ โรม แตกต่างจากช่วงเวลาที่ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ประกาศใช้

กรณีของรังสิมันต์ โรม หนึ่งในนักกิจกรรมที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 พบว่า เขายังถูกดำเนินคดีอีกถึง 6 คดี แม้ว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้ประกาศคปค. ฉบับที่ 25 ไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย 

ก่อนหน้านี้คดีของประเวศ ประภานุกูล คดีประชามติราชบุรี และ คดีประชามติภูเขียว ศาลได้พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 25 และลงโทษปรับ ซึ่งในกรณีดังกล่าวตามมาตรา 2 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ส่วนคดีที่ยังอยู่ระหว่างชั้นสอบสวนหรือระหว่างการพิจารณา อาทิ คดี 14 นักศึกษาของขบวนประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ต้องถือว่าผู้ต้องหาพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดในฐานความผิดดังกล่าว

รวมถึงกรณีพนักงานสอบสวน สภ.ภูเขียว แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหา 2 คน คือจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา “ไผ่ ดาวดิน” และนายวศิน พรหมณี ในข้อหาตาม พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 โดยทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม ทั้งยังไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ เพราะยืนยันว่าตนเองไม่ได้ทำผิดตามข้อกล่าวหา ก่อนทั้งสองคนจะถูกนำตัวไปคุมขังในห้องขังของสถานีตำรวจ (อ่านเพิ่มเติมที่: แจ้งข้อหาพ.ร.บ.ประชามติ 2 นักกิจกรรม NDM อีสาน หลังแจกเอกสารโหวตโนในตลาดสด)

ทั้งนี้ ประกาศ คำสั่งคณะรัฐประหารฉบับอื่น ๆ จะยังมีผลต่อไป หากไม่ถูกแก้ไข ยกเลิก หรือตรวจสอบโดยศาลรัฐธรรมนูญอย่างเช่นในคดีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประกาศ คสช., คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. รวมกันมากกว่า 500 ฉบับ ซึ่งมีมาตรา 279 รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ยังคงรับรองความชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญอยู่ (อ่านเมื่อประกาศ/คำสั่ง คสช. (อาจ) ไม่มีวันหมดอายุ) ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากยังคงถูกดำเนินคดีด้วยประกาศ คำสั่ง และกฎหมายที่ตราขึ้นจากกลไกของคณะรัฐประหาร ที่ยังสถิตอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน

อ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็มที่: http://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/article_20190314113921.pdf

X