เมื่อประกาศ/คำสั่ง คสช. (อาจ) ไม่มีวันหมดอายุ

หมายเหตุ  รายงานชิ้นนี้จัดทำโดยนายพิฆเนศ ประวัง อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 11 ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ภายใต้โครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)

 

เมื่อประกาศ/คำสั่ง คสช. (อาจ) ไม่มีวันหมดอายุ

จนถึงวันที่ 1 กันยายน 2560 นับเป็นปีที่ 3 ย่างเข้าปีที่ 4 ภายหลังการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติไปแล้ว 126 ฉบับ, คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 207 ฉบับ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติอีกกว่า 165 ฉบับ  นับรวมแล้วคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกประกาศหรือคำสั่งทั้งหมดมาแล้วกว่า 498 ฉบับ [1] โดยยังคงไม่มีท่าทีว่าจะมีการหยุดหรือลดการออกประกาศหรือคำสั่งจากในระยะเวลาอันใกล้นี้แต่อย่างใด

คำสั่งและประกาศดังกล่าวมีเนื้อหาการใช้อำนาจทั้งในเรื่องการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และเรื่องจิปาถะอื่นๆ อีกมากมาย  ยกตัวอย่างเช่น คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2558 เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ, คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 27/2559 เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อยบั้งไฟพลุตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน, คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 30/2559 เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนและนักศึกษา, คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 60/2559 เรื่องมาตรการป้องกันการนำช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้าน เป็นต้น

กล่าวได้ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จออกคำสั่งที่ครอบคลุมมิติต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยที่คำสั่งอันเสมือน “กฎหมาย” เหล่านั้น ไม่ได้เกิดจากการรับฟังความเห็นหรือคำคัดค้านจากประชาชน และไม่ได้มีที่มาจากสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

หากเราลองพิจารณาตามการออกประกาศ/คำสั่งของคณะรัฐประหารชุดต่างๆ ของไทยที่ผ่านมาในอดีต เป็นไปได้ว่าประกาศและคำสั่งที่เกิดขึ้นจากคสช.กว่า 498 ฉบับนี้ จะไม่มีวันหมดอายุลง  แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะได้พ้นจากอำนาจออกไปแล้ว ประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่  แม้จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่มีการลงประชามติจากประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ไม่มีผลเป็นการลบล้างประกาศหรือคำสั่งคสช.ที่ออกมาแล้วได้  หรือแม้จะมีการได้มีการเลือกตั้ง จัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งก็ตาม ประกาศหรือคำสั่งคสช.เหล่านี้ก็ยังมีผลบังคับอยู่ต่อไป เพียงแต่จะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้หรือไม่เท่านั้น

 

คำสั่ง/ประกาศคณะรัฐประหาร ที่ไม่มีวันหมดอายุ

นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยผ่านการกระทำรัฐประหารมาแล้วทั้งหมด 13 ครั้ง โดยที่มีการออกประกาศ คำสั่ง หรือแถลงการณ์ของคณะผู้ทำการรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจการบริหารจัดการประเทศรวมแล้วจำนวนกว่า 1,101 ฉบับ[2] โดยยังไม่รวมไปถึงประกาศย่อยที่อาศัยอำนาจจากประกาศ คำสั่ง หรือแถลงการณ์ของคณะรัฐประหารอีกด้วย การรัฐประหารภายใต้คสช. ครั้งนี้นับว่าคณะรัฐประหารได้มีการออกคำสั่งและประกาศของคณะรัฐประหารจำนวนมากที่สุด มากกว่ารัฐประหารทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา และมากกว่าการรัฐประหารตนเองของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อปี 2514 ที่มีการออกคำสั่งและประกาศจำนวน 364 ฉบับ ซึ่งเคยเป็นครั้งที่มากที่สุดก่อนหน้านี้

หากถือเสมือนว่าประกาศ คำสั่ง หรือแถลงการณ์เหล่านี้เป็นกฎหมาย ตามแนวทางที่ศาลให้การยอมรับในประเทศไทย ดังเช่นในคำพิพากษาที่ 45/2496 ที่ว่า “…ใน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จการบริหารประเทศชาติในลักษณะเช่นนี้ คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขยกเลิก และออกกฎหมายตามระบบแห่งการปฏิวัติเพื่อบริหารประเทศชาติต่อไปได้มิฉะนั้นประเทศชาติอาจจะตั้งอยู่ด้วยความสงบไม่ได้…”[3] ก็จะทำให้สิ่งที่ถือเสมือนกฎหมายของคณะรัฐประหารยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปเสมอ แม้ว่าประกาศ คำสั่งหรือแถลงการณ์ของคณะรัฐประหารบางส่วนจะถูกแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมีบางส่วนที่ไม่ได้ถูกแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก โดยที่มีความไม่แน่ชัดในสถานะการดำรงอยู่ของประกาศ คำสั่งหรือแถลงการณ์เหล่านั้น อาจเพียง “ตาย” ลงเนื่องจากไม่เข้ากับสภาพสังคม เศรษฐกิจและกระบวนการยุติธรรมในสมัยใหม่ หรืออาจเพียงแต่ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้บังคับเพียงเท่านั้น แต่ในทางนิติศาสตร์ยังคงถือว่ากฎหมายใดที่ไม่ถูกแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกโดยกฎหมายที่มีศักดิ์เท่ากันหรือสูงกว่า ก็ยังคงมีผลบังคับอยู่เสมอไป หรือเรียกได้ว่า “ไม่มีวันหมดอายุ” ซึ่งนั่นหมายรวมไปถึงประกาศ คำสั่ง หรือแถลงการณ์ของคณะรัฐประหาร ที่ถูกสถาปนาให้เสมือนเป็นกฎหมายด้วยเช่นกัน

 

เมื่อประกาศ “คมช.” ถูกใช้ในสมัย “คสช.”

ปรากฏการณ์การดำรงอยู่ในปัจจุบันของคำสั่งของคณะรัฐประหารในอดีต และถูกนำกลับมาใช้ใหม่ ก็เกิดขึ้นมาแล้ว อาทิเช่น การตั้งข้อหาต่อนักกิจกรรม-นักศึกษาที่ทำกิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับประชามติในช่วงก่อนที่จะมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา หนึ่งในข้อกล่าวหา ได้แก่ การฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25/2549 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา ประกาศฉบับนี้ระบุให้การฝ่าฝืนไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งเจ้าพนักงาน มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 พันบาท นักกิจกรรมที่ทำกิจกรรมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559[4] และเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2559[5] ล้วนถูกตั้งข้อหานี้เช่นเดียวกัน หลังจากแสดงออกด้วยการกระทำอารยะขัดขืน โดยไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อบันทึกประวัติเป็นผู้ต้องหา ในระหว่างที่พนักงานสอบสวนทำการแจ้งข้อกล่าวหาหลังจากถูกจับกุม

จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้เห็นการนำประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช.) คณะรัฐประหารเมื่อปี 2549 ที่แม้จะได้พ้นจากอำนาจไปแล้วกว่า 10 ปี แต่ประกาศและคำสั่งต่างๆ จากคณะรัฐประหารชุดนั้นไม่ได้ถูกยกเลิกหรือทำให้ประกาศที่เคยออกมาบังคับใช้เป็นอันสิ้นผลบังคับไป เพียงแต่อาจมิได้ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ในทางปฏิบัติ กลับถูกนำมาใช้ภายใต้อำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในปี 2559 อีกครั้งหนึ่ง และจะยังคงบังคับใช้ได้ต่อไปอีกอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีการยกเลิกให้สิ้นผลบังคับโดยกฎหมายเท่านั้น

 

การยกเลิกประกาศ/คำสั่งคณะรัฐประหาร ที่ถูกทำให้เป็น “กฎหมาย”

คำถามคือ แล้วเมื่อใดที่คำสั่งหรือประกาศของคณะรัฐประหารเหล่านี้จะสิ้นผลลงไป  แต่ก่อนนั้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าในทางนิติศาสตร์การยกเลิกประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารที่ถือเสมือนเป็นกฎหมาย จำเป็นที่จะต้องทราบก่อนว่าคำสั่งและประกาศเหล่านี้ ถือเสมือนว่าเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์ลำดับใด เพื่อที่จะทราบว่าการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ยกเลิก ประกาศหรือคำสั่งคณะรัฐประหาร จะต้องทำตามขั้นอย่างไรในระบบกฎหมายในสภาวะปกติ ด้วยเหตุที่ว่าหากถือเสมือนประกาศหรือคำสั่งคณะรัฐประหารเป็นกฎหมายฉบับหนึ่ง “ประกาศ (ของคณะปฏิวัติ) ฉบับใดเป็นกฎหมายก็ยังคงใช้บังคับได้ ‘เสมอไป’ จนกว่าจะมีกฎหมายที่มีศักดิ์เท่ากันหรือสูงกว่ามาเปลี่ยนแปลงแก้ไข ทั้งนี้แม้ว่าคณะปฏิวัติจะสลายตัวไปแล้วก็ตาม…”[6]

หมายความว่าผลของประกาศหรือคำสั่งคณะรัฐประหารที่ถือเสมือนเป็นกฎหมาย ซึ่งได้ถูกประกาศออกมาใช้แล้วนั้น จะยังคงอยู่ไปอย่างไม่มีอายุขัย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด มีเพียงทางเดียวที่จะทำให้ผลของกฎหมายที่เคยมีผลบังคับใช้แล้วนั้นสิ้นสุดลง คือการออกกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์เทียบเท่าหรือสูงกว่าเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือยกเลิก หากไม่อย่างนั้นแล้ว ไม่เพียงแค่ 10 ปี เท่านั้น ที่สิ่งเสมือนกฎหมายเหล่านี้จะคงอยู่ แต่จะเป็นสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ที่แม้ 100 ปี แล้ว ก็ยังคงมีผลบังคับใช้ได้ อยู่ที่ว่าจะมีผู้หยิบยกขึ้นมาใช้หรือไม่

การพิจารณาลำดับศักดิ์ของประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหาร จะใช้การพิจารณาที่เนื้อหาของประกาศหรือคำสั่งนั้นๆ เนื่องจากแนวทางในภาวะปกติที่จะพิจารณาลำดับศักดิ์ทางกฎหมายนั้น ไม่อาจนำมาใช้ต่อกรณีของประกาศหรือคำสั่งคณะรัฐประหารได้ ทั้งเหตุด้วยการยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร ทำให้คณะรัฐประหารถูกทำให้เป็นเสมือนผู้ใช้อำนาจทั้งทางบริหารและนิติบัญญัติ ประกาศหรือคำสั่งที่ออกมา ไม่อาจแยกแยะได้ว่าเป็นการใช้อำนาจขององค์กรนิติบัญญัติ หรือในฐานะฝ่ายบริหาร[7] จึงมีความเห็นของนักกฎหมายให้พิจารณาจากเนื้อหาในคำสั่งของคณะรัฐประหารนั้นๆ

“ศักดิ์” (Hierarchy) ทางกฎหมายของประกาศคณะปฏิวัติ อาจพิเคราะห์ได้จากเนื้อหาของประกาศนั้นๆ เองว่ามีฐานะและศักดิ์อย่างไร เช่น ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 2 (ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2520) มีศักดิ์เท่ารัฐธรรมนูญเพราะให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519  ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 10 (ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2520) มีศักดิ์เท่าประมวลรัษฏากรเพราะมีข้อความแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฏากร”[8] เช่นนี้เมื่อพิจารณาลำดับศักดิ์ของประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารได้แล้ว การยกเลิกประกาศหรือคำสั่งคณะรัฐประหารที่ถือเสมือนเป็นกฎหมายลำดับใด ก็ต้องใช้กฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ที่เทียบเท่าหรือสูงกว่าเพื่อการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิก

ตัวอย่างการยกเลิกประกาศหรือคำสั่งคณะรัฐประหารในอดีต เช่น การยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ซึ่งให้จำคุกนายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และนายบุญเกิด หิรัญคำ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตราพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2515 พ.ศ. 2517

และยังปรากฏการกระทำในลักษณะเดียวกันนี้อีก ดังเช่น พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 พ.ศ. 2517 เรื่อง ให้คดีอาญาบางประเภทที่เคยใต้อำนาจของศาลทหาร กลับมาอยู่ใต้อำนาจของศาลพลเรือน  พระราชบัญญัติยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 199 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2515 พ.ศ. 2518 เป็นต้น[9] เหล่านี้เป็นตัวอย่างความพยายามในการอาศัยกระบวนการทางกฎหมายในภาวะปกติ เพื่อการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกประกาศหรือคำสั่งคณะรัฐประหารที่ถูกถือเสมือนเป็นกฎหมายในอดีตที่เกิดขึ้น

หากแต่การพยายามยกเลิกดังกล่าว ก็มีลักษณะเป็นรายคำสั่งหรือประกาศจากคณะรัฐประหารชุดต่างๆ หรือเป็นในลักษณะยกเลิกชุดคำสั่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกันจำนวนหนึ่ง ไม่เคยมีครั้งใดที่มีความพยายามจะยกเลิกคำสั่งหรือประกาศที่เกิดจากการรัฐประหารทั้งหมดทุกครั้ง หรือแม้แต่คำสั่งหรือประกาศทั้งหมดจากคณะรัฐประหารครั้งหนึ่งๆ

ดังนั้นแล้วการจะยกเลิกประกาศหรือคำสั่งคสช. หรือหัวหน้าคสช.กว่า 498 ฉบับ ที่ออกมาแล้ว จำเป็นที่จะต้องมีการพิจารณาประกาศหรือคำสั่งแต่ละฉบับ เพื่อออกกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์เทียบเท่าหรือสูงกว่าในการยกเลิก แต่การกระทำเช่นนั้นในทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่เป็นไปด้วยความยากลำบากและใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน เนื่องจากในกระบวนการออกกฎหมายภายใต้ระบอบประชาธิปไตยนั้น มีขั้นตอนการตรวจสอบและพิจารณาหลายขั้นตอน เพื่อถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐและแสดงให้เห็นความโปร่งใสอยู่มากพอสมควรกว่าที่กฎหมายหนึ่งฉบับจะสามารถออกมาและมีผลบังคับใช้ได้  ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าหากพยายามยกเลิกประกาศหรือคำสั่งคสช.ทั้งหมดกว่า 498 ฉบับ ในรูปแบบของการออกกฎหมาย อาจจะต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งรัฐบาลด้วยซ้ำ เพื่อจะสามารถยกเลิกประกาศและคำสั่งของคณะคสช.เหล่านี้

 

ผลกระทบจากการ “ไม่มีวันหมดอายุ” ของคำสั่ง-ประกาศคณะรัฐประหาร

หากประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคสช. ยังคงดำรงอยู่โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือยกเลิก จะทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่อง หรือเรียกได้ว่าเป็นมรดกของการรัฐประหารที่จะอยู่ตกค้างทางประวัติศาสตร์[10]ต่อไป อยู่อย่างน้อย 4 ประการด้วยกัน ได้แก่

ประการแรก สภาพจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะถูกประกาศใช้ และคสช.จะหมดอำนาจลงไปแล้ว แต่อำนาจตามประกาศหรือคำสั่งคสช.ที่ถูกประกาศใช้แล้วยังมีผลบังคับใช้ได้ต่อไป จนกว่าจะถูกแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก อาทิเช่น คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ที่ห้ามการชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากสังคมกลับสู่สภาวะปกติในระบอบประชาธิปไตย การรวมกลุ่มหรือชุมนุมโดยสงบเพื่อเรียกร้องการจัดการหรือแก้ไขปัญหาของประชาชนเป็นสิ่งที่สังคมประชาธิปไตยยอมรับให้เกิดขึ้นได้ แต่กลับถูกจำกัดโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ที่ยังคงห้ามการชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปอยู่ เป็นต้น

ประการที่สอง หลักการในกระบวนการยุติธรรมปกติ ตามประมวลกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาจะยังคงถูกแทรกแซงโดยเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้าไปทำการจับกุม ควบคุมตัว หรือทำการสอบสวนประชาชน ซึ่งอาศัยอำนาจตามประกาศหรือคำสั่งคณะรัฐประหารที่ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ อาทิเช่น คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 13/2559  ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารสามารถควบคุมตัวและสอบสวนบุคคลที่ต้องสงสัยไว้ได้ 7 วัน ทั้งยังกำหนดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารหรือผู้ช่วย ตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดช่องว่างที่ประชาชนจะได้รับกระบวนการยุติธรรมได้

ประการที่สาม การดำเนินคดีความโดยอาศัยประกาศคำสั่งคสช.จะยังคงดำรงอยู่และอาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหารตามคำสั่งคสช. ก็ยังคงดำเนินไปตามกระบวนการพิจารณาคดี  แต่ด้วยความล่าช้าของศาลทหารทำให้บางคดีอาจต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี แม้ว่าคสช.จะหมดอำนาจแล้ว  อีกทั้งนโยบายของคสช.ที่วางไว้และได้ออกคำสั่งคสช.หลายคำสั่งมาเพื่อบังคับตามนโยบาย เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น ทำให้จะยังมีการนำคำสั่งคสช.มาบังคับใช้ต่อไป

ประการสุดท้าย การดำรงอยู่ของประกาศหรือคำสั่งคสช.ที่ถูกรองรับไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นการยืนยันและก่อให้เกิดการลอยนวลพ้นผิด (Impunity) โดยปราศจากการตรวจสอบ แม้ว่าจะผ่านพ้น “สภาวะพิเศษ” จากการกล่าวอ้างของคณะรัฐประหารชุดใดชุดหนึ่งไปแล้ว ซึ่งส่งผลให้ในอนาคต หากผู้ใดมีอำนาจและกำลังสามารถมากพอ ก็อาจอ้างเหตุผลและความจำเป็นขึ้นมาเพื่อก่อการรัฐประหารยึดอำนาจประชาชนไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้กระบวนการทางประชาธิปไตยต้องหยุดชะงักและขาดห้วงไปอย่างนี้เรื่อยไป

 

ข้อเสนอต่อการลบล้างผลกระทบจากประกาศและคำสั่งคสช.

แนวทางเพื่อวางรากฐานประชาธิปไตย และลบล้างผลพวงอันเกิดจากการรัฐประหาร จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพิจารณาร่วมกันเพื่อออกแบบโดยประชาชน[11] โดยมีแนวทางที่ผู้ทรงคุณทางกฎหมายได้เคยเสนอไว้ เมื่อบ้านเมืองเข้าสู่การปกครองในภาวะปกติ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อยู่หลายแนวทางด้วยกัน ดังนี้

แนวทางแรก เสนอโดยรองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากวิทยานิพนธ์เมื่อปี 2539 ว่า “ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญใหม่จัดตั้งขึ้น ควรจะต้องนำคำสั่งคณะปฏิวัติทุกฉบับ มาตรวจสอบว่าคำสั่งคณะปฏิวัตินั้นๆ มีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และถ้าหากผลการตรวจสอบพบว่า คำสั่งคณะปฏิวัติฉบับใดมีเนื้อหาขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องตราพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งคณะปฏิวัตินั้นโดยเร็ว[12] หรือ “หากองค์กรนิติบัญญัติมิได้ตรากฎหมายยกเลิกคำสั่งคณะปฏิวัติ เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งคณะปฏิวัติมิได้มีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนมีความเห็นที่แตกต่างออกไป ก็อาจนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล” [13]

กล่าวคือ การเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฏร วุฒิสภา หรือสภาอื่นใดที่เกิดจากการจัดตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ ทำการพิจารณาประกาศหรือคำสั่งคณะรัฐประหารทั้งหมดว่ามีคำสั่งใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากพบว่าคำสั่งหรือประกาศคณะรัฐประหารฉบับใดขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ และให้มีการเสนอการออกกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์เทียบเท่าหรือสูงกว่าประกาศหรือคำสั่งนั้น ยกเลิกประกาศหรือคำสั่งคณะรัฐประหารอย่างเร็วที่สุดตามกระบวนการ หรือหากมีประชาชนทั่วไปเห็นว่าประกาศหรือคำสั่งใดของคณะรัฐประหารขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญก็สามารถที่จะเสนอเป็นคดีความขึ้นต่อศาลเพื่อวินิจฉัยต่อไปได้

แนวทางที่สอง ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก นักรัฐศาสตร์อาวุโส ได้เคยเสนอไว้ว่า “อย่างดีที่สุด คำสั่งและประกาศของคณะปฏิวัติก็มีศักดิ์หรือฐานะเพียง “เทียบเท่า”  กฎหมายในสถานการณ์นั้นๆ และซึ่งย่อมจะต้องหมดสภาพความเป็นกฎหมายไปทันทีโดยอัตโนมัติ เมื่อประกาศใช้ระบอบรัฐธรรมนูญเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติและตุลาการปกติ“[14] เป็นการเสนอให้ถือเสมือนว่าคำสั่งของคณะรัฐประหารมีอำนาจและผลบังคับใช้อยู่ชั่วขณะหนึ่งระหว่างการรัฐประหาร แต่หากคณะรัฐประหารได้ลงจากอำนาจ และประเทศกลับเข้าสู่กระบวนการตามรัฐธรรมนูญและวิถีทางแห่งประชาธิปไตยแล้ว ก็ให้ถือเสมือนว่าประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารนั้นหมดอำนาจและการบังคับใช้เป็นกฎหมายไปในทันที เพื่อดำเนินการตามกระบวนการทางนิติบัญญัติและตุลาการปกติของสังคมต่อไป โดยในทางปฏิบัติแล้วอาจกระทำได้ด้วยการยกร่างเป็นกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมา ที่ประกอบไปด้วยหลักการ เนื้อหาและกระบวนการปฏิบัติจริง หรืออาจมีพิจารณาเพื่อเพิ่มหลักการตามข้อเสนอเหล่านี้เข้าไปในร่างรัฐธรรมนูญที่จะถูกร่างขึ้น และประกาศใช้ภายหลังการรัฐประหารสิ้นสุดลง

แนวทางสุดท้าย  เสนอโดยคณะนิติราษฎร์ ที่เคยเสนอว่าให้ “ประกาศให้รัฐประหารและการกระทำใดๆ ที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายเสียเปล่า และถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย”[15] แม้ว่าคณะนิติราษฎร์ จะเสนอต่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่หากมองในแง่ข้อเสนอแล้ว ใจความสำคัญคือการลบล้างผลพวงจากรัฐประหารทั้งหมด ให้ถือว่าเสียเปล่าและไม่เคยเกิดขึ้นเลย ทั้งมีการยกตัวอย่างในนานาอารยประเทศขึ้นมาประกอบ เพื่อเป็นการยืนยันหลักการนิติรัฐและประชาธิปไตย[16] เป็นข้อเสนอและหลักการที่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับการลบล้างผลพวงที่เกิดจากการรัฐประหารได้ไม่ว่าจะครั้งใดก็ตาม

ทั้งสามแนวทางนี้ล้วนเป็นข้อเสนอที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อเป็นการวางรากฐานไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นแนวทางเพื่อการลบล้างผลกระทบที่เกิดจากการกระทำรัฐประหาร หรือที่เรียกว่า “สิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์” อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครองประชาธิปไตย และเป็นการป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่อยู่นอกเหนือวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศต่อไปในอนาคต

 

อ้างอิง 

[1] ตัวเลขรวมจากบทวิเคราะห์ 3 ปีรัฐประหารของ คสช. โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนhttps://tlhr2014.com/?p=4307

ประกอบกับจำนวนประกาศ/คำสั่ง คสช. จากเว็บไซต์ http://library2.parliament.go.th/giventake/ncpo.html

[2] ตัวเลขจำนวนคำสั่งและประกาศคณะรัฐประหารชุดต่างๆ อ้างอิงจาก “ข้อมูลกฎหมาย ประเภทประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิวัติ คณะปฏิรูปและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง”, สำนักงานกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (ร.ก.12/2555) ประกอบกับจำนวนประกาศและคำสั่งของคสช. จากเว็บไซต์ http://library2.parliament.go.th/giventake/ncpo.html

[3] อธิปบุตราช, วิทยานิพนธ์เรื่องปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับสถานะและการใช้อำนาจรัฐของคณะรัฐประหารในประเทศไทย, คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552, น.72

[4] “ศาลทหารอนุญาตฝากขัง 13 นักกิจกรรมแจกเอกสารโหวตโน ผู้ต้องหา 7 รายยืนยันไม่ขอประกันตัว” อ้างอิงจาก https://tlhr2014.wordpress.com/2016/06/24/ndm_voteno/

[5] “จับ 3 นักกิจกรรม NDM พร้อมนักข่าว แจ้งผิด พ.ร.บ.ประชามติ หลังค้นรถเจอเอกสาร Vote No” อ้างอิงจาก https://tlhr2014.com/?p=1033

[6] เสน่ห์ จามริก, การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ ,น.251

[7] สมชาย ปรีชาศิลปกุล, วิทยานิพนธ์ เรื่อง ปัญหาทางกฎหมายบางประการเดี่ยวกับการปฏิวัติ ,คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2539 , น.126

[8] วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, น.755

[9] สมชาย ปรีชาศิลปกุล, วิทยานิพนธ์ เรื่อง ปัญหาทางกฎหมายบางประการเดี่ยวกับการปฏิวัติ ,คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2539 , น.121

[10] ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ยังคงรับรองว่าประกาศหรือคำสั่งของคสช.ใดที่ออกมามีผลบังคับแล้วและจะออกมาในอนาคต ก็ให้มีผลโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  โดยที่การแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือ ยกเลิก ต้องกระทำด้วยการตราเป็นพระราชบัญญัติ  : รัฐธรรมนูญมาตรา 279

[11] การใช้ชื่อของคำสั่งคณะปฏิวัติ มักผันแปรไปตามชื่อของคณะผู้ทำการดังกล่าว ดังนั้นไม่ว่าจะใช้ชื่อแตกต่างกันอย่างไร ในบทความนี้ ให้หมายรวมถึงประกาศหรือคำสั่งคณะรัฐประหารที่ตราขึ้น

[12] สมชาย ปรีชาศิลปกุล, วิทยานิพนธ์ เรื่อง ปัญหาทางกฎหมายบางประการเดี่ยวกับการปฏิวัติ ,คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2539 , น.137

[13] สมชาย ปรีชาศิลปกุล, วิทยานิพนธ์ เรื่อง ปัญหาทางกฎหมายบางประการเดี่ยวกับการปฏิวัติ ,คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2539 , น.138

[14] เสน่ห์ จามริก, การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ ,น.254

[15] แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑ ปีนิติราษฎร์ http://www.siamintelligence.com/nitirat-25-sep-event-2/

[16] แม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในสงัคมถึงความเป็นไปได้จริงมากน้อยเพียงใด  ทั้งผู้คนในสังคมยังมีความเห็นขัดแย้งกันในหลายประเด็นของข้อเสนอ

 

 

X