เช้าวันที่ 3 กันยายน 2563 9.00 น. อานนท์ นำภา นักกิจกรรมและทนายความด้านสิทธิมนุษยชน เดินทางไปศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ในนัดไต่สวนเพิกถอนประกันของตนเอง วันนั้น เขาใส่เสื้อยืดสีขาว มีลายภาพวาดหลากสี ที่เขาบอกภายหลังว่าเป็นรูปที่ลูกสาววาดให้
บรรยากาศบริเวณศาลอาญาในวันนั้นเป็นไปอย่างเคร่งเครียด ประตูทางเข้าศาลมีการนำรั้วเหล็กมากั้น และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในและนอกเครื่องแบบกระจายตัวอยู่นับสิบนาย อีกทั้งมีการกั้นรั้วและขอดูบัตรประชาชน และจดชื่อ จดเลขบัตร และถามถึงตำแหน่ง กิจธุระ ของประชาชนที่จะเข้าไปในอาคารศาลอย่างเข้มงวด ยังไม่นับว่าจากที่ปกติด้านในศาลมีการตรวจกระเป๋า และสแกนตรวจบัตรประชาชนอยู่แล้ว
ท่ามกลางการตรวจสอบอย่างเข้มงวด แม้กระทั่งบริเวณชั้น 7 ศาลอาญา หน้าห้องพิจารณาคดีก็มีเจ้าหน้าที่ศาล รปภ.ศาล นำรั้วเหล็กเหลืองมากั้นตรงโถงทางเดินอีกครั้ง และตรวจสอบคนเข้าออก มีการจดรายชื่อผู้จะเข้าห้องพิจารณาทุกคน รวมทั้งทนายความ ผู้ช่วยทนายความที่ต้องได้รับการยืนยันจากทนายความ ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรระหว่างประเทศ Trial Watch ที่แม้จะส่งหนังสือขออนุญาตเข้าสังเกตการณ์มาก่อนหน้านี้ แต่ก็ตำรวจศาลก็ยังยืนยันให้นั่งรอได้อยู่เพียงด้านนอกเท่านั้น
หลังจากกว่า 1 ชั่วโมงของการตรวจสอบรายชื่อและจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตเข้าห้องพิจารณา เจ้าหน้าที่อ้างถึงการเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ทำให้เข้าห้องพิจารณาคดีได้ไม่เกิน 10 คน และต้องนำโทรศัพท์ เครื่องมือสื่อสาร รวมถึงกระเป๋าสะพายฝากไปกับเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าห้อง
เวลา 10.00 น. อานนท์ นำภา รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจึงได้เข้าไปในห้องพิจารณาคดี 714 และหนึ่งเก้าอี้ยาว นั่งได้เพียง 3 คนเท่านั้น ในขณะที่ในห้องก็มีตำรวจศาล ตำรวจในเครื่องแบบและตำรววจนอกเครื่องแบบอย่างละ 1 นาย เข้ามานั่งในห้องด้วยเช่นกัน
10.05 องค์คณะผู้พิพากษาได้แก่ นายจุมพล รัตธนภาส นายชัยชะรัตน์ ชูแก้ว และนางสาววีร์ธิชา ตั้งรัตนาวลี และโดยนายจุมพล ผู้อ่านและบันทึก อ่านประเด็นที่อานนท์ นำภา ผู้ต้องหายื่นคำร้องคัดค้านการขอถอนประกันใน 6 ประเด็น
พร้อมทั้งชี้แจงว่า พ.ต.ท.หญิงจิตติมา ธงไชย พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว ฉบับวันที่ 13 ส.ค. 63 และได้ยื่นคำร้องเพิ่มเติมในวันนี้ เป็นเอกสารกรณีกิจกรรมชุมนุมวันที่ 9 และ 10 ส.ค. 63 และอ้างบันทึกคำให้การในวันสอบสวน คณะพนักงานสอบสวนของสภ.คลองหลวง เกี่ยวกับพฤติการณ์ในการจับกุมผู้ต้องหา ตามหมายจับที่ 325/2563 ลงวันที่ 14 ส.ค. 63 แนบบันทึกคำให้การ สำเนาบันทึกประจำวัน และคำปราศรัยของภาณุพงศ์
.
“ไม่ได้กล่าวว่าที่สิ่งอานนท์ปราศรัยฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการกล่าวก้าวล่วง”
พ.ต.ท.หญิงจิตติมา ธงไชย พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ อายุ 52 ปี ผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว และยื่นคำร้องเพิ่มเติมในวันนี้ อ้างเหตุที่ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวเนื่องจากอานนท์ นำภา ได้กระทำซ้ำในเงื่อนไขเดิม
ตนได้รับรายงานจากตำรวจภูธรภาค 5 และกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี ว่าอานนท์ได้ร่วมชุมนุมและปราศรัยในหัวข้อ “การขยายอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย” ที่ประตูท่าแพ และลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ตามลำดับ
ส่วนเอกสารประกอบคำร้อง เป็นเอกสารที่ถอดเทปการปราศรัยของอานนท์ นำภา ที่งานชุมนุมทั้งสองแห่ง โดยเอกสารทั้งสองฉบับนี้ พ.ต.ท.หญิงจิตติมาไม่ได้มีส่วนในการถอดเทป ไม่ได้ฟังการปราศรัย และไม่ทราบ ว่าคำถอดเทปปราศัยที่ยื่นนั้นตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่ อีกครั้งยังไม่ได้ส่งไฟล์คลิปเสียงต่อศาล และไม่เคยดูคลิปการปราศรัย พยานยืนยันได้แค่ว่า พยานได้รับรายงานมาจากตำรวจภูธรภาค 5 และสภ.คลองหลวงเท่านั้น “เป็นการทำไปตามหน้าที่ของพนักงานสอบสวน” และไม่สามารถตอบได้ว่าคำกล่าวของอานนท์ผิดไปจากข้อเท็จจริงอย่างไรบ้าง แต่เป็นสิ่งที่ปรกติชนไม่พูดกัน
เมื่อทนายฝ่ายผู้ต้องหา ถามว่าข้อความดังกล่าวฝ่าฝืนอะไรในรัฐธรรมนูญ พ.ต.ท.หญิงจิตติมา ตอบว่าไม่ได้ระบุว่าข้อความดังกล่าวฝ่าฝืน แต่เป็นการกล่าวก้าวล่วง เป็นการกล่าวพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ก็ยอมรับว่า การปราศรัยของอานนท์ครั้งนี้ไม่มีการเรียกร้องให้ใช้กำลังความรุนแรง หรือกระด้างกระเดื่องต่อกฎหมายใดเลย อีกทั้ง อานนท์ก็เหมือนประชาชนทุกคนมีสิทธิ์เสรีภาพ แต่เมื่ออานนท์มาอยู่ในอำนาจฝากขังโดยมีเงื่อนไข คณะพนักงานสอบสวนก็ต้องทำตามหน้าที่
ระหว่างที่ผู้ร้องขึ้นเบิกความนั้น เวลา 10.20 น. มีโทรศัพท์ดังขึ้น เจ้าหน้าที่ศาลเป็นผู้รับ ก่อนยื่นโทรศัพท์ให้หนึ่งในผู้พิพากษาองค์คณะฯ พูดคุย และเมื่อจบคำเบิกความของพยานผู้ร้อง เวลา 11.05 น. ผู้พิพากษา 2 คนได้ออกไปนอกห้อง และกลับเข้ามาอีกครั้ง เมื่ออานนท์ นำภา ผู้คัดค้านคำร้องฯ ขึ้นเบิกความ เวลา 11.07 น.
.
คำต่อคำ อานนท์แถลงต่อศาล
ก่อนที่อานนท์จะเริ่มเบิกความ ศาลได้ชี้แจงต่ออานนท์ว่า จะให้อานนท์อธิบายเป็นประเด็น และแจ้งว่า ศาลจะพิจารณาตามคำเบิกความเป็นหลัก โดยต่อไปนี้ จะแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่อานน์แถลงต่อศาล และถ้อยคำที่ปรากฏลงในบันทึกคำเบิกความ
ถ้อยคำเบิกความของอานนท์ | ถ้อยคำที่ศาลจดบันทึก |
การกล่าวคำปราศรัยในคดีนี้ และการปราศรัยที่ชุมนุมที่เชียงใหม่และธรรมศาสตร์ เป็นการใช้เสรีภาพสุจริตตามรัฐธรรมนูญ และมุ่งหวังให้สังคมอยู่ภายใต้การปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง (อานนท์ขอศาล ให้เพิ่มคำว่า “อย่างแท้จริง” แต่ศาลไม่เพิ่ม) | การกล่าวคำปราศรัยในคดีนี้ และคำปราศรัยตามเอกสารหมาย ร.3 และ ร.4 (เอกสารถอดเทปการปราศรัยที่เชียงใหม่และธรรมศาสตร์ ตามลำดับ) เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพโดยสุจริตตามรัฐธรรมนูญ มุ่งหวังให้สังคมอยู่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข |
ผมมีอาชีพเป็นทนายความไม่ได้ทำคดีธุรกิจเลย คดีที่รับว่าความส่วนใหญ่เป็นคดีสิทธิมนุษยชน การประกอบอาชีพทำให้เห็นการละเมิดสิทธิ์ต่างๆ ทั้งเสรีภาพในการชุมนุม ความผิดมาตรา 112 มาตรา 116 รวมทั้งคนที่ออกมาคัดค้านต่อต้านรัฐประหาร คนที่มีความเห็นทางการเมือง เขาไม่ได้มีช่องทางการแสดงออก จึงเป็นหน้าที่ของนักกฎหมาย รวมทั้งนักศึกษาที่ออกมาพูดแทนชาวบ้าน ถ้าไม่มีการออกมาชุมนุม น่าจะนำไปสู่วิกฤตของบ้านเมือง กล่าวได้ว่า เรื่องนี้ไม่สามารถแยกออกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ เพราะคนที่วิพากษ์วิจารณ์ เป็นคนที่เล่นทวิตเตอร์ เป็นนักเรียนนักศึกษา รวมถึงการมาถึงจุดที่รัฐธรรมนูญมีปัญหาเรื่องสมาชิกวุฒิสภา 250 คน พอมีการเลือกตั้ง ส.ว.ยกมือโหวต เลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นหน้าที่ของ ส.ว. มีปัญหา รวมทั้งการเรียกร้องรัฐสภา ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แล้วยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ โดยการกระทำของผมเป็นการใช้สิทธิ์เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นการชุมนุมของคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ มีนักศึกษามาร่วม | ข้าประกอบอาชีพทนายความ คดีที่รับว่าความส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน รวมทั้งต่อต้านการรัฐประหาร มองเห็นปัญหาการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในฐานะพลเมือง จึงเรียกร้องให้รัฐบาลกระทำการใดๆ เพื่อหยุดคุกคามประชาชน รวมทั้งเรียกร้องรัฐสภาให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แล้วยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ข้าฯ เห็นว่าการกระทำของข้าฯ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ การชุมนุมที่เป็นเหตุให้ถูกจับกุมดำเนินคดีนี้ รายการชุมนุมตาม เอกสารร.3 และ ร.4 ไม่มีความรุนแรง ทั้งในขณะชุมนุม และยุติการชุมนุมด้วยความสงบ ข้อเรียกร้องในการชุมนุม ไม่ได้เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมหรือผู้อื่นใช้กำลังประทุษร้ายหรือก่อความรุนแรง |
ประเด็นหลักที่ปราศรัยที่ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ สืบเนื่องจากการปราศรัยวันที่ 3 สิงหาคม คือพูดเรื่องปัญหาในการขยายพระราชอำนาจ ของสถาบันพระมหากษัตริย์ องค์กรที่เป็นปัญหาคือคณะรัฐประหาร 2557 ที่มีการขยายกฎหมาย ให้พระราชอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอเรียนนอกรอบว่ารัชกาลที่ 10 ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่มีกฎหมาย ขยายพระราชอำนาจฯ โดยผมจะกล่าวถึงทีละฉบับ พอเลือกตั้งเสร็จ ทำให้ผลการเลือกตั้ง ไม่สะท้อนเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง | ข้าฯ เห็นว่า ปัญหาปัจจุบันสืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร ปี 2557 และคณะรัฐประหารออกกฎหมายไม่เป็นไปตามการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับการปกครองดังกล่าว ทำให้การเลือกตั้งไม่สะท้อนประชาธิปไตย จึงรวบรวมสรุปปัญหาดังกล่าวเป็นคำปราศรัย โดยเสนอรัฐสภาและรัฐบาล ให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง |
ยกตัวอย่าง คณะรัฐประหาร แก้มาตรา 16 ทำให้พระมหากษัตริย์ ไม่ต้องประทับในประเทศ ซึ่งปัญหาเหล่านี้สะท้อนผ่านการชุมนุม คณะรัฐประหาร เป็นคนแก้ ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมได้เสนอแนวทางแก้ รวมทั้ง – พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 – พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบกกองทัพไทย กระทวงกลาโหมไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 – พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มันมีกฎหมายที่ขยายพระราชอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์เกินกว่าระบอบประชาธิปไตยที่ทำได้ และการแก้ไขกฎหมายสามารถทำได้ในระบบรัฐสภา ไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ | รวมทั้ง พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560 พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบกกองทัพไทย กระทวงกลาโหมไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 ในส่วนที่ไม่สอดคล้องกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข |
ข้อความที่ถอดเทปมา และข้อความที่พนักงานสอบสวนขีดเส้นใต้ ผมปราศรัยไปตามจริง เดิมกฎหมายทรัพย์สินส่วนพระองค์ให้รัฐดูแล แต่ล่าสุด เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย คืออาจจะจำหน่ายจ่ายแจกอย่างไรก็ได้ ยกตัวอย่างกรณีเรื่องจวนผู้ว่า ที่เป็นของรัฐ จะกลายเป็นของที่ผู้ว่าจะนำไปยกให้ใครก็ได้ ซึ่งกฎหมายแบบนี้ ขัดกับระบอบประชาธิปไตยโดยตรง เกี่ยวกับหลังปฏิวัติ 2475 หลัง 2475 รัฐบาลจอมพลป. เคยฟ้องพระมหากษัตริย์ เกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระองค์ ผมไปปราศรัยเป็นเรื่องจริง และมีคำพิพากษามาแสดงต่อศาล | ข้อความตามที่ผู้ร้องขีดเส้นใต้ตาม ร.3 และ ร.4 นั้น ข้าฯ เป็นผู้กล่าวปราศรัยตามความเป็นจริง ไม่ได้กล่าวความเท็จ เช่น ข้อเท็จจริงเคยปรากฏตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขแดงที่ 278/2482 ผู้คัดค้านอ้างส่งศาลหมายค.1 |
ในระบอบประชาธิปไตย ส.ส.เป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ ส.ส.มีหน้าที่ในการประชุม และถวายคำแนะนำ ที่อื่นเขาก็ทำกัน อ้างถึงกรณีอย่างของประเทศอังกฤษหรือญี่ปุ่น จริงๆ หลัง 2475 ก็มีการอภิปรายเรื่องนี้หลายครั้ง เป็นหน้าที่ของรัฐสภา และประชาชนที่จะพูดเรื่องนี้ได้อย่างตรงไปตรงมา | ซึ่งข้าฯ เห็นว่าสามารถพูดได้อย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งรัฐสภาสามารถแก้ไขกฎหมายได้ |
ที่พระมหากษัตริย์ไปอาศัยต่างประเทศยังสิ้นเปลืองภาษีประชาชน ผมคิดว่าเราพูดกันตรงๆ พูดด้วยความเคารพ มันดีกว่ากล่าวอ้อมๆ | ข้าฯ กล่าวคำปราศรัยด้วยความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ |
นอกจากพูดเรื่องนี้ ผมยังพูดเรื่องเอาส.ว. 250 คน ออกไปจากการเมืองไทยในปีนี้ด้วย อีกประเด็นที่ท่าแพคือ ผมอยากให้สถาบันพระมหากษัตริย์ อยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง ผมขอพูดเพิ่ม มีข้อเรียกร้องที่ 11 ถ้ามีการรัฐประหาร ศาลต้องไม่รับรอง (ศาลแทรกว่า อย่าเพิ่งพูดเรื่องนี้ ขอให้อยู่ในประเด็น) เมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้น สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมือง ไม่เซ็นรับรองรัฐประหาร เวลาไปปราศรัยทางการเมือง กับเวทีวิชาการจะแตกต่างกัน ในการปราศรัยทางการเมือง จะมีการใช้ถ้อยคำปลุกเร้า ผมพูดด้วยความสุภาพ คนเห็นด้วยก็ปรบมือ เป็นการชุมนุมที่สงบมาก วันที่ 9 สิงหาคมวางแผนว่าจะไปเชียงใหม่ เป็นกำหนดการที่ผมประกาศว่าจะไปก่อนที่จะถูกหมายจับ ที่ผมคาดว่าไม่สุจริต การออกหมายจับ ย่อมหมายถึงเป็นการจำกัดไม่ให้ผมไปร่วมการชุมนุม | เหตุที่กล่าวปราศรัยกิจกรรมชุมนุมวันที่ 9 สิงหาคม และ 10 สิงหาคม ที่มหาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ข้าฯ มีนัดหมายไว้ก่อน ถูกออกหมายจับคดีนี้ ข้าฯ เชื่อว่าการออกหมายจับคดีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีวัตถุประสงค์เพื่อปิดกั้นไม่ให้ข้าฯ ร่วมกล่าวปราศรัยในวันที่ 9 และ 10 สิงหาคม 2563 |
การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 10 สิงหาคม เป็นกิจกรรมที่จัดโดยนักศึกษาธรรมศาสตร์ กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม เป็นเวทีเปิด ให้ใครเข้าร่วมก็ได้ และได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัย ไม่ได้อยู่ในพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ผมไปในฐานะเป็นผู้ร่วมปราศรัยไม่ใช่ผู้จัด หัวข้อที่ได้รับการพูด คือการขยายพระราชอำนาจในแง่กฎหมาย เราพูดกันหลายประเด็น ถ้อยคำที่ประสานคล้ายคลึงกับวันที่ 3 และ 9 สิงหาคม ก็คือเป็นเนื้อเดียวกัน ก็คือเรียกร้องไห้นิติบัญญัติแก้ไขกฎหมายขยายพระราชอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ การกล่าวที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมกล่าวเป็นคนสุดท้าย น้องๆ เขาแบ่งหัวข้อมาให้ น้องๆ กล้าหาญมากในการปราศรัยเรื่องนี้ จนโดนหมายจับทั้งหมด 6 คน มี 4 คน เป็นเด็กมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสรุปคือเราเรียกร้องไปยังรัฐภา ให้แก้ไขกฎหมาย เรียกร้องไปยังสังคม จูนสถาบันพระมหากษัตริย์ กับประชาชนเข้าหากัน ถ้าให้รัฐสภาขยายพระราชอำนาจฯ ไปเรื่อยๆ สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จะออกห่างประชาชนเรื่อยๆ หลังจากวันที่ 10 ผมไปพูดในเวทีวันที่ 16 สิงหาคม เสนอว่าเป็นความฝันร่วมกันของคนทั้งสังคม อยากให้สถาบันอยู่กับเราจริงๆ อยากให้ท่านมาร่วมฝันด้วย | กิจกรรมกล่าวปราศรัยที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นกิจกรรมภายในพื้นที่และได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ข้าฯ ไม่ใช่แกนนำผู้จัดกิจกรรมชุมนุมจากเอกสารหมาย ร.3 และ ร.4 เป็นเพียงผู้ร่วมปราศรัย คำปราศรัยในคดีนี้และคำปราศรัยตามเอกสารหมาย ร.3 และ ร.4 เป็นไปตามความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ข้าฯ ไม่ได้กระทำการใดที่มีพฤติการณ์หลบหนี ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน |
นอกจากใช้สิทธิ์ภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีกติการะหว่างประเทศ (ICCPR) รับรองเสรีภาพอีกด้วย ข้อเสนอของผมมีประชาชนหลายส่วนมาก ที่สนับสนุน มีอาจารย์มหาวิทยาลัยลงชื่อสนับสนุน มีประชาชนแสดงความคิดเห็นสนับสนุน รวมทั้งมีแถลงการณ์ของคณะอาจารย์ ทุกคดีของผมเป็นคดีเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ก่อนคดีนี้เคยถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวกับคดีชุมนุมทางการเมือง | การใช้สิทธิเสรีภาพของข้าในการปราศรัยในเวทีชุมนุมเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ผู้คัดค้านอ้างส่งศาลหมาย ค.2 มีประชาชนและนักวิชาการแสดงความคิดเห็นสนับสนุนข้าฯ รวมทั้งมีแถลงการณ์ของคณะอาจารย์ตามเอกสารที่ผู้คัดค้านอ้างส่ง ศาลหมาย ค.3 ก่อนคดีนี้ข้าฯ ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน การจับกุมคดีนี้เป็นเรื่องการใช้สิทธิ์ทางการเมือง รวมทั้งข้อขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวข้าฯ นั้น เป็นการที่ข้าฯ ใช้สิทธิ์ทางการเมือง |
เดือนสิงหาคม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดเรื่องการห้ามชุมนุมที่อาจเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ขณะถูกจับในคดีนี้ วันที่ 18 กรกฎาคม ยังมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินเรื่องนี้อยู่ แต่วันที่ 1 สิงหาคม ได้มีการยกเลิกข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตามมาตรา 9 ดังนั้นเงื่อนไขการห้ามชุมนุมฯ จึงถูกแก้ไขโดยข้อกำหนดใหม่ | ข้าฯ ทราบว่าตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 มีการยกเลิกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ข้าฯ และประชาชนจึงมีสิทธิชุมนุม โดยไม่ฝ่าฝืนต่อพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 |
ตอนที่พนักงานสอบสวนเอาผมไปฝากขังศาลจังหวัดธัญบุรี พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องคัดค้านว่าผิดเงื่อนไขศาลนี้ ศาลธัญบุรีได้พิเคราะห์แล้วว่าไม่ผิดเงื่อนไข | คดีที่ข้าฯ ถูกจับตามหมายจับตามหมายจับที่ จ.325/2563 ของศาลจังหวัดธัญบุรี ตามเอกสาร ร.5 ข้าฯ ถูกฝากขังครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ตามคำร้องฝากขังคดีหมายเลขดำที่ ฝ413/2563 ของศาลจังหวัดธัญบุรี พนักงานสอบสวนผู้ร้องขอการคัดค้านประกันตัวอ้างว่าข้าฯ เคยถูกจับกุมเนื่องจากกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้ และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีเงื่อนไขแต่ยังฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ได้รับการปล่อยตัว รายละเอียดปรากฏตามคำร้องขอฝากขัง ผู้คัดค้านอ้างส่ง ศาลหมาย ค.4 ศาลธัญบุรีไต่สวนคำร้องแล้ว อนุญาตให้ข้าฯ ได้รับประกันตัวชั่วคราวโดยไม่กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ |
.
ก่อนจบการเบิกความ อานนท์ยังขอแถลงต่อศาล แม้ว่าศาลจะไม่จดก็ตามว่า “เรามาถึงจุดที่เราเห็นปัญหา ผมก็ยินดีสละทุกอย่าง ทั้งเสรีภาพส่วนตน อย่างวันนี้ก็มีเพื่อนมาด้วยเพราะกันคนมาทำร้าย เรามาถึงจุดที่ต้องพูดเรื่องนี้กันอย่างตรงๆ ด้วยความมุ่งหวังที่ดีต่อบ้านเมือง ไม่ได้มีเจตนาร้าย ทั้งผมและน้องนักศึกษา”
อานนท์เบิกความเสร็จสิ้นเวลา 12.00 น. ใช้เวลาเบิกความเกือบ 1 ชั่วโมง ก่อนศาลจะนัดฟังคำสั่งในบ่ายสามวันเดียวกัน และนำไปสู่คำสั่งถอนประกันฯ ในเวลาต่อมา
.
อ่านคำสั่งศาลถอนประกันอานนท์ใน เปิดคำสั่งศาลถอนประกัน ‘อานนท์’ – เพิ่มเงื่อนไข ‘ไมค์’ แต่ทั้งคู่ปฏิเสธไม่ประกันอีก
และอ่านการไต่สวนถอนประกันในกรณีของภาณุพงศ์ใน สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดี ไต่สวนถอนประกัน-ไมค์ ภาณุพงศ์ ก่อนตัดสินใจสละอิสรภาพ
ขอบคุณรูปจาก Banrasdr Photo
.