27 ต.ค. 63 สน.ชนะสงครามแจ้งข้อกล่าวหาอานนท์ นำภา เพิ่ม 2 คดี ศาลอาญา รัชดา อนุญาตให้ฝากขังอานนท์ นำภา 7 วัน เหตุปราศรัยชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร แม้อานนท์ชี้การฝากขังมีเจตนาใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิทางการเมืองของผู้ต้องหา ทั้งไม่ให้ประกันตัว
หลังจากศาลจังหวัดเชียงใหม่ให้ประกัน อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย และได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำกลางเชียงใหม่ เมื่อค่ำวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา อานนท์ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 5 เข้าแสดงหมายจับศาลอาญา จากเหตุปราศรัยในการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยตามหมายจับให้ส่งตัวอานนท์ไปสอบสวนที่ สน.ชนะสงคราม ในทันที
อานนท์ถูกนำตัวขึ้นรถตู้ ทะเบียน ฮษ 9923 กรุงเทพมหานคร ไม่มีสัญลักษณ์ชี้ว่าเป็นรถตำรวจ โดยมีทนายนั่งไปด้วย 2 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจรวม 7 นาย เดินทางถึง สภ.ทรงธรรม จ.กำแพงเพชร ก็เปลี่ยนเป็นรถกระบะ ก่อนเดินทางต่อจนกระทั่งถึง สน.ชนะสงคราม กรุงเทพฯ ในเวลา 05.15 น. ของวันที่ 27 ต.ค. 63
ในครั้งแรก เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่า จะนำตัวอานนท์ไปสอบสวนที่ บก.ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี แต่อานนท์ยืนยันให้สอบสวนที่ สน.ชนะสงคราม ตามที่ศาลระบุไว้ในหมายจับ เมื่อตำรวจควบคุมตัวถึง สน.ชนะสงคราม พนักงานสอบสวนยังพยายามให้นำตัวอานนท์ไปที่ บก.ตชด.ภาค 1 แต่อานนท์ยืนยันไม่ไป
ต่อมา ประมาณ 11.00 น. พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ พนักงานสอบสวนเดินทางมาถึง สน.ชนะสงคราม ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาทนายอานนท์รวม 2 คดี ได้แก่
- กรณีปราศรัย #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร แจ้งข้อกล่าวหา 6 ข้อหา ได้แก่
ยุยงปลุกปั่น, กีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, มาตรา 385, ไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, ร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ
2. กรณีปัก #หมุดคณะราษฎร2563 แจ้งข้อกล่าวหา 4 ข้อหา ได้แก่
เป็นผู้แก้ไข เปลี่ยนแปลง ต่อเติม ทำลายโบราณสถานหรือส่วนต่างๆ ของโบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี ตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, ร่วมกันตั้งวางหรือกองวัตถุใดๆ บนถนน และร่วมกันติดตั้งตาก วาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ในที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ
อานนท์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ก่อนพนักงานสอบสวนจะนำตัวไปขออำนาจศาลอาญา รัชดาฯ ฝากขัง ในเวลา 12.40 น.
ประมาณ 14.00 น. ทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง โดยนอกจากคำร้องคัดค้านที่ทนายยื่นแล้ว อานนท์ยังยื่นคำร้องคัดค้านด้วยตนเอง มีเนื้อหาดังนี้
“คดีนี้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาวันนี้ โดยอายัดตัวผู้ต้องหาจากเรือนจำกลางเชียงใหม่ ซึ่งผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 ภายหลังจากถูกจับกุมเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 63 บริเวณทำเนียบรัฐบาล ซึ่งผู้ต้องหาได้ประกาศสลายการชุมนุมประมาณ 04.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่ขังผู้ต้องหา 12 วัน ผู้ต้องหายอมรับว่าขณะเขียนคำร้องคัดค้านฝากขังนี้ ความศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมได้ลดน้อยถอยลงไปมาก ภายหลังจากทราบข่าวการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ต.ค. และมีการจับกุมนักศึกษาและประชาชนจำนวนหลายรายโดยไม่ได้รับการประกันตัว รวมทั้งเหตุการณ์การสลายการชุมนุมโดยใช้ศาลเคมีในวันต่อมาบริเวณสี่แยกปทุมวัน ผู้ต้องหาได้เห็นภาพอันน่าสะเทือนใจที่เห็นน้องๆ นักเรียนออกมาเป็นแนวหน้าในการชุมนุมครั้งนี้โดยร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชนไม่หวั่นไหวต่ออันตราย ผู้ต้องหาจึงเข้าใจว่า คำว่า “มิตรแท้” ในห้วงเวลาวิกฤตเป็นเช่นไร และเห็นถึงความเป็นไปได้ที่การเปลี่ยนแปลงสังคมในช่วงชีวิตผู้ต้องหา . ผู้ต้องหาขอเรียนยืนยันว่า ทุกข้อเรียกร้องของพวกเราล้วนเป็นข้อเรียกร้องที่อยากเห็นบ้านเมือง เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ โดยข้อเรียกร้องข้อที่ 1 คือการให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก ทั้งนี้เพราะไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศและเป็นต้นตอของปัญหาทางการเมือง ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่รัฐประหารเข้ามา ได้ทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมลงอย่างสิ้นเชิง และเมื่อเขาลาออกแล้วต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย นั่นคือข้อเรียกร้องข้อที่ 2 . ข้อเรียกร้องประการสุดท้าย คือการให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อันเป็นข้อเรียกร้องที่สำคัญยิ่ง เพราะนับจากรัฐบาลของประยุทธ์ได้เข้ามาบริหารประเทศ ได้มีการขยายพระราชอำนาจของสถาบันฯ อย่างกว้างขวางและไม่เคยปรากฎมาก่อน เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านประชามติแล้ว การออกพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อันมีผลทำให้องค์พระมหากษัตริย์สามารถจัดการทรัพย์สินซึ่งบางส่วนเป็นของสาธารณะได้ตามพระราชอัธยาศัย มีการตั้งหน่วยราชการในพระองค์ ทำให้องค์พระมหากษัตริย์เข้ามาบริหารราชการด้วยพระองค์เอง และล่าสุดมีการตรากฎหมายโอนกำลังพลทหารจำนวนมากไปเป็นหน่วยงานในพระองค์ ซึ่งทั้งหมดขัดกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในสาระสำคัญทั้งสิ้น และไม่สอดคล้องกับหลักการ “ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง” ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ นอกจากนั้นยังมีข้อเรียกร้องอื่นๆ เช่น ให้พระมหากษัตริย์กลับมาอยู่ในประเทศ เพื่อประหยัดเงินค่าใช้จ่ายของรัฐที่แต่ละปีงบประมาณต้องใช้จ่ายส่วนนี้มหาศาล . ผู้ต้องหาขอเรียนต่อศาลว่า ข้อเรียกร้องทั้งหมดของพวกเราต้องการให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ในร่องในรอย ทัดเทียมนานาอารยประเทศ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ที่ปกครองในระบอบเดียวกัน . การฝากขังผู้ต้องหาครั้งนี้มีเจตนาใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิทางการเมืองของผู้ต้องหา ไม่มีเหตุผลในการขังผู้ต้องหาระหว่างพิจารณาแต่อย่างใด และแม้ศาลสั่งขังผู้ต้องหาไว้ในคุก บรรดาพี่น้องประชาชนก็ยังต้องต่อสู้เพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งสามข้อต่อไป วิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งนี้สามารถหาข้อยุติได้ด้วยการเปิดใจให้อภิปรายถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา ขอศาลได้โปรดยกคำร้องของพนักงานสอบสวนให้ผู้ต้องหาได้ใช้เสรีภาพทางการเมืองตามเจตนารมณ์ด้วย” |
15.30 น. ศาลไต่สวนการขอฝากขังอานนท์แล้วเสร็จ โดยพนักงานสอบสวนแถลงเหตุที่ขอฝากขังผู้ต้องหาในระหว่างการสอบสวนไว้มีกำหนด 12 วัน ว่า ต้องรอผลตรวจลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหา และสอบพยานเพิ่มเติมอีก 6 ปาก ได้แก่ ตำรวจผู้จับกุม, ตำรวจฝ่ายสืบสวน และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้านอานนท์แถลงต่อศาลถึงเหตุผล 5 ข้อที่คัดค้านคำร้องฝากขัง ได้แก่
- แม้ไม่ขังผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนก็สามารถสอบสวนได้
- คดีอื่นที่ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดี ผู้ต้องหาได้ประกันตัวทุกคดี และไม่เคยหลบหนี ให้ความร่วมมือทุกคดี
- คดีนี้เหตุเกิด 19-20 ก.ย. 63 ถ้าพนักงานสอบสวนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขวนขวายก็สามารถสอบพยานเสร็จได้
- คดีที่เชียงใหม่ ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกีบคดีนี้ ศาลอุทธรณ์ ภาค 5 ให้ประกันตัว เพราะผู้ต้องหามีอาชีพทนายความ และหลักประกันเป็นเงินสดหลักประกันน่าเชื่อถือ
- ถ้าศาลนี้รับฝากขัง จะเป็นการละเมิดสิทธิผู้ต้องหาเกินจำเป็น
16.30 น. ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 2 แสนบาท เนื่องจากเกรงว่าจะยื่นไม่ทันในเวลาราชการ
ต่อมา เวลา 16.40 น. ก่อนที่อานนท์และทนายความจะทราบว่า องค์คณะผู้พิพากษาที่ไต่สวนคำร้องขอฝากขังมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังหรือไม่ สันติ บุตรดี ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติด ก็ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวอานนท์ อ้างเหตุว่าหากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวอาจไปก่อให้เกิดความวุ่นวายต่อบ้านเมืองขึ้นอีก
“พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งข้อหาแล้ว เห็นว่าหากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวอาจไปก่อให้เกิดเหตุความวุ่นวายต่อบ้านเมืองขึ้นอีก ตลอดจนพนักงานสอบสวนคัดค้านในชั้นนี้ จึงให้ยกคำร้อง”
16.49 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา 7 วัน องค์คณะผู้พิพากษาประกอบด้วย นายอนุชา ทองวงศ์สกุล, นายอดิศักดิ์ ศรีวิพัฒน์ และ น.ส.ณัฐพร สังข์น้อย ระบุเหตุผลในการอนุญาตฝากขังว่า หากไม่มีการฝากขังไว้ก็จะเป็นอุปสรรคในการสอบสวน ประกอบกับ “ข้อคัดค้านของผู้ต้องหาไม่มีน้ำหนักหักล้าง เมื่อมีพฤติการณ์ถึงเหตุจำเป็นของผู้ร้องตามที่ได้ไต่สวนได้ความแล้ว เห็นสมควรให้เร่งรัดการสอบสวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็วจึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา 7 วัน”
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า บทบัญญัติเรื่องการฝากขังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ได้วางหลักเกณฑ์การควบคุมตัวผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไว้ไม่เกินกว่าความจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดีเพื่อเป็นหลักประกันการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน คดีนี้ผู้ร้องรับตัวผู้ต้องหาจากเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมแล้วนำตัวมาฝากขังต่อศาลภายในเวลา 48 ชั่วโมง เป็นระยะเวลาตามกฎหมาย ผู้ร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลนี้เป็นครั้งแรกอ้างว่าต้องสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติมอีก 6 ปาก รอผลการตรวจสอบทะเบียนประวัติอาชญากรและผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา ซึ่งผู้ร้องและผู้ต้องหาแถลงข้อเท็จจริงตรงกันว่า ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกับคดีนี้หลายคดี หากไม่มีการฝากขังไว้ก็จะเป็นอุปสรรคในการสอบสวน . ผู้ต้องหาคัดค้านว่าผู้ร้องสามารถสอบสวนได้โดยไม่จำเป็นต้องฝากขัง แม้ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีหลายคดีแต่ทุกคดีก็ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แสดงว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และการกระทำของผู้ต้องหาเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 6 เดือนแต่ไม่เกิน 10 ปี พนักงานสอบสวนมีอำนาจตามกฎหมายที่จะยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลได้หลายครั้ง ครั้งหนึ่งไม่เกิน 12 วันรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 48 วัน โดยอ้างว่ามีเหตุจำเป็นต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมซึ่งการฝากขังเป็นกระบวนการก่อนฟ้องที่มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจของศาล แต่หลังจากนั้นผู้ต้องหาก็สามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวว่า ไม่จำเป็นต้องควบคุมตัวไว้ระหว่างการสอบสวนได้ กรณีตามคำร้องมีเหตุผลและความจำเป็นที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาล ข้อคัดค้านของผู้ต้องหาไม่มีน้ำหนักหักล้าง เมื่อมีพฤติการณ์ถึงเหตุจำเป็นของผู้ร้องตามที่ได้ไต่สวนได้ความแล้ว เห็นสมควรให้เร่งรัดการสอบสวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็วจึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา 7 วัน |
เย็นวันนี้ อานนท์จึงถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยทนายความจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันในวันพรุ่งนี้ต่อไป