ศาล รธน. ไม่ให้ตรวจดู-คัดถ่ายเอกสารที่หน่วยงานรัฐยื่นประกอบในคดีล้มล้างการปกครองฯ อ้างเป็นข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ

หลังเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 19/2564 เห็นว่าการกระทำของ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ทางทนายความของผู้ถูกร้องทั้งสามคน ได้ยื่นคำร้องขอตรวจดูสำนวนคดี และขอคัดถ่ายสำเนาเอกสารทั้งหมดในคดีนี้ ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้อนุญาตให้ตรวจดูและคัดถ่ายเอกสารในสำนวนคดีบางส่วน แต่ไม่รวมถึงเอกสารที่ศาลไม่อนุญาตให้คู่กรณีขอตรวจดู ขอสำเนา หรือขอสำเนาที่มีคำรับรองความถูกต้อง

จนวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ทนายความของผู้ถูกร้องได้เข้าตรวจดูสำนวนและรับสำเนาเอกสารคดีที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พบว่าเอกสารที่ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ตรวจดูและคัดถ่ายสำเนานั้น เป็นเอกสารส่วนใหญ่ที่ผู้ถูกร้องเคยมีอยู่แล้ว อาทิ คำร้องหรือคำแถลงของฝ่ายผู้ร้อง ได้แก่ นายณฐพร โตประยูร, คำร้องและคำแก้ข้อกล่าวหาของฝ่ายผู้ถูกร้อง, รายงานกระบวนการพิจารณาของศาลในนัดต่างๆ รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการเผยแพร่เป็นสาธารณะอยู่แล้ว

ส่วนเอกสารที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้ตรวจดูและคัดถ่าย พบว่าเป็นเอกสารที่ศาลมีคำสั่งเรียกไปยังหน่วยงานรัฐต่างๆ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, สภาความมั่นคงแห่งชาติ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง โดยให้เหตุผลว่าเป็นเอกสารชั้นความลับและเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ ทำให้ทนายความของผู้ถูกร้องทั้งสามไม่สามารถตรวจดู หรือแม้แต่จดรายชื่อเอกสารดังกล่าวทั้งหมดได้

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าเอกสารชุดดังกล่าวนั้น เป็นพยานหลักฐานหลักที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องทั้งสามมีการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเอกสารชุดดังกล่าวไม่เคยมีการอนุญาตให้ผู้ถูกร้องตรวจดูหรือคัดถ่ายสำเนา เพื่อนำไปพิจารณาจัดทำคำชี้แจงหรือคำแก้ข้อกล่าวหาตั้งแต่ต้น แต่กลับถูกนำไปใช้เป็นพยานหลักฐานหลักในการจัดทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยผู้ถูกร้องไม่ได้ทราบถึงรายละเอียดเอกสารทั้งหมดแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันก่อนจะมีคำวินิจฉัยดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่อนุญาตให้มีการไต่สวนด้วยวาจาของฝ่ายผู้ถูกร้องทั้งสามเพิ่มเติม โดยระบุว่าพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ และยังกล่าวก่อนการอ่านคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ว่าศาลได้ใช้เวลานานถึงกว่า 1 ปี ในการแสวงหาข้อเท็จจริง เอกสารทุกอย่างที่ได้มาได้ส่งให้ฝ่ายผู้ถูกร้องหมดแล้ว ซึ่งมีการส่งผ่านทนายมาเป็นหนังสือ ถือว่าได้ให้ความเป็นธรรมและความยุติธรรมแก่ผู้ถูกร้อง แต่ฝ่ายผู้ถูกร้องพร้อมกับทนายความได้ตัดสินใจออกจากห้องพิจารณา เนื่องจากเห็นว่ายังไม่ได้รับโอกาสในการแสวงหาและแสดงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และยังไม่ได้นำพยานที่ต้องการมาไต่สวนประกอบในสำนวนได้

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เปิดคำร้อง “ณฐพร โตประยูร” คดีร้องศาล รธน. ‘อานนท์-รุ้ง-ไมค์’ ใช้ ‘สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ’ หรือไม่

เปิดคำแก้ข้อกล่าวหาคดีศาล รธน. การปราศรัย “อานนท์-รุ้ง-ไมค์” ไม่ได้ล้มล้างการปกครองฯ ข้อกล่าวหาผู้ร้องคลุมเคลือเลื่อนลอย ยกความเห็น/ความรู้สึกข้างเดียว

เปิดแถลงการณ์ปิดคดีอานนท์-รุ้ง-ไมค์ ชี้ข้อเสนอ 10 ข้อ เพื่อรักษาระบอบปชต.อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองฯ

.

X