อีกหนึ่งด้านของโควิด-19: เสียงของสิทธิลูกจ้างที่ถูกพรากไป

มือหนึ่งจ้วงหยิบข้าวเหนียวจากกระติ๊บ มือหนึ่งเหยาะเครื่องปรุงรสสามัญอย่างน้ำปลา อาหารพึ่งพายามยากเล็กน้อยพอให้มีรสชาติ ก่อนป้อนเข้าปาก นั่นคือรสชาติของความลำบากที่คนงานโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐมสาธิตให้เห็นว่าหากพวกเขายังไม่ได้รับสิทธิจากเงินประกันสังคมที่ส่งไป การกินข้าวกับน้ำปลาคืออนาคตที่พวกเขาต้องเผชิญ

หลังเจอสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี บริษัทนครหลวงถุงเท้าไนล่อนมีคำสั่งหยุดกิจการชั่วคราวเป็นเวลา 2 เดือนติดกัน กระทบลูกจ้างทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติแทบทั้งหมด จนพวกเขาพากันรวมตัวแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการกินข้าวคลุกน้ำปลากลางกระทรวงแรงงานเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา

‘สุรินทร์ พิมพา’ ประธานสหภาพแรงงานสิ่งทอนครหลวงกล่าวถึงความพยายามกีดกัน “ประกันสังคม” ออกจากชีวิตของลูกจ้างหลายรูปแบบ ซึ่งทำให้ชีวิตพวกเขาไม่มีสิ่งใดเป็นหลังพิงในยามยาก “ที่โรงงานมีคนงานรวม 180 คน ส่วนใหญ่เป็นคนไทย มีคนงานต่างด้าวราว 50 กว่าคน นายจ้างทำประกันสังคมให้ได้แค่ 20 คน ส่วนที่เหลืออีก 30 กว่าคน ไม่ได้ทำ นายจ้างอ้างว่าติดปัญหาเรื่องเอกสาร และเสนอว่าจะจ่ายให้เอง 62 เปอร์เซ็นต์ตามจำนวนวันที่สั่งหยุดโดยไม่เกี่ยวกับเงินประกันสังคม แต่การให้ของเขาคือสิบวันให้ครั้งหนึ่ง”

สุรินทร์กล่าวว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แรงงานข้ามชาติหลายรายเข้าไม่ถึงสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (เงินชดเชย) จากเหตุโรคระบาด จากกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนเมื่อโรงงานมีคำสั่งหยุดกิจการชั่วคราว เป็นเพราะนายจ้างไม่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนให้ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติ ทั้งๆ ที่ลูกจ้างมีใบอนุญาตทำงาน (work permit) ส่วนลูกจ้างคนไทยพบปัญหานายจ้างไม่ได้นำส่งเงินประกันสังคมของลูกจ้างอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ตั้งแต่ช่วง 8 – 9 เดือนหลังที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาดอีกด้วย

ถึงแม้ตอนนี้โรงงานจะยังไม่ได้ให้พนักงานออก แต่การกีดกันประกันสังคม การจ่ายเงินเป็นงวด และการจ่ายเงินค่าจ้างล่าช้าเริ่มส่งผลกระทบต่อลูกจ้างแล้ว ผู้บริหารโรงงานบอกว่าเนื่องจากโควิดทำให้กิจการหยุดชะงักจึงจ่ายเงินเดือนเดือนล่าสุดไม่ได้ คนงานทุกคนล้วนกังวลว่าสิ้นเดือนนี้จะยังได้ทำงานต่อหรือไม่

“ตัวป้าเป็นเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานแต่กลับไม่มีเงินเดือนใช้ งวดของเมษาฯ เพิ่งออกวันนี้ ส่วนของพฤษภาฯ จะออกเดือนมิถุนาฯ อยากให้ของเดือนพฤษภาฯ ออกไวๆ เพราะตอนนี้ทุกคนไม่มีรายได้” สุรินทร์กล่าว

อีกปัญหาหนึ่งที่ลูกจ้างผู้ซ้อมกินข้าวเหนียวคลุกน้ำปลาพบคือปัญหาเรื่องเงินเกษียณอายุ ซึ่งสุรินทร์เผยว่า ยังมีลูกจ้างสูงอายุหลายรายไม่ได้รับเงินเกษียณ-เงินสะสม ทั้งที่ลูกจ้างบางรายทำงานมานานกว่า 40 ปี และมีสิทธิได้รับเงินก้อนนี้จากกองทุนประกันสังคม

“พนักงานที่ทำงานเป็นรุ่นที่ 3 – 5 ตั้งแต่เปิดโรงงานมาและกำลังจะเกษียณอายุถูกนายจ้างฉวยโอกาสเรียกไปคุยนอกรอบ บอกจะแบ่งจ่ายเงินเกษียณฯ เป็นรายเดือนแทน เดือนละ 10,000 บาท สิบเดือน พอตกลงแบบนั้นลูกจ้างคิดว่าเงินเกษียณฯ ของตัวเองจะจ่ายเพิ่มทุกเดือนคู่ไปกับเงินเดือน ผลปรากฏว่า บางคนได้แค่ 3 เดือนบางคนได้ 7 เดือน แต่ละคนขาดไม่เหมือนกัน เขาใช้วิธีสัญญาว่า ตอนนี้นายจ้างยังไม่มีเงินจ่ายนะ ทำไปก่อน เดี๋ยวพอมีเงินเดี๋ยวเอาเข้าให้ แล้วคนงานก็ไปยอม”

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

แรงงานกะดึก: ฟันเฟืองที่ยังหมุนในค่ำคืนมีเคอร์ฟิว

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดชีวิตแรงงาน: คุยกับศรีไพร นนทรีย์ ตัวแทนสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ

ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่ได้ค่าเยียวยา 5 พัน: ชีวิตเกษตรกร-แรงงาน ผู้ต้องคดีคนไทยยูเค

“เลือกตั้งปีนี้-การเมือง” สิ่งต้องห้ามในขบวนแรงงาน: รวมการปิดกั้นเสรีภาพในวันกรรมกรสากล

X