ผู้รายงานพิเศษ UN เผย 13 แนวทางคุ้มครองคนไร้บ้านช่วงโควิด-19 ชี้ไม่ควรดำเนินคดีจากเคอร์ฟิว

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 63 Leilani Farha ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิในที่อยู่อาศัย ได้ออกเอกสารแนวทางการปกป้องคุ้มครองคนไร้บ้านในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยชี้ให้เห็นความจำเป็นของรัฐบาลต่างๆ ในการคุ้มครองสิทธิของคนไร้บ้าน หรือผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นประชากรอีกส่วนหนึ่งในเขตเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วทั้งโลก พร้อมกับจัดทำเป็นข้อเสนอแนะ 13 ประการสำหรับดูแลสิทธิของคนกลุ่มนี้ในสถานการณ์โรคระบาด

นอกจากข้อเสนอเรื่องการเร่งจัดหาที่พักฉุกเฉินสำหรับคนไร้บ้าน และทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับไวรัสโควิค-19 แล้ว ทางผู้รายงานพิเศษยังเสนอแนะให้รัฐบาลต่างๆ รับรองว่าคนไร้บ้านจะไม่ถูกดำเนินคดี ถูกปรับหรือถูกลงโทษ จากการบังคับใช้เคอร์ฟิวหรือมาตรการกักกันที่เกิดขึ้นในระหว่างการระบาดของไวรัสโควิค-19

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าข้อเสนอแนะทั้ง 13 ประการมีเนื้อหาน่าสนใจ และจำเป็นต่อการสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มคนไร้บ้านในสังคมไทย จึงแปลเนื้อหาของเอกสารฉบับนี้อย่างไม่เป็นทางการไว้ ณ ที่นี้

ภาพจากเพจเครือข่ายคนไร้บ้าน

———————————————————————————————-
แนวทางการคุ้มครองคนไร้บ้านในสถานการณ์โควิด-19

ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติเรื่องสิทธิในที่อยู่อาศัย

2 เมษายน 2563

ที่อยู่อาศัยกลายเป็นปราการป้องกันคุ้มครองผู้คนจากไวรัสโคโรน่า การมีหรือไม่มีบ้านให้อาศัยจึงเป็นสถานการณ์ของความเป็นความตาย

รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกบังคับใช้มาตรการต่างๆ ทั้งการอยู่บ้าน –“stay home”, การแยกตัว – “self-isolate”, การเว้นระยะห่างทางกายภาพ – “physical distancing” และการล้างมือ – “wash your hands” เพื่อควบคุมการระบาด และลดอัตราการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า

นโยบายเหล่านี้มีการกำหนดขึ้นบนข้อสันนิษฐานว่าทุกคนมีบ้านที่มีสุขอนามัยที่เพียงพอ แต่สำหรับผู้คนกว่า 800 ล้านคนทั่วโลกที่ไร้ที่อยู่อาศัยนั้นกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น [คือ ไม่มีที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขอนามัยพอ] และยังเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจำนวนมาก และมีอัตราการป่วยทางเดินหายใจที่สูง ซึ่งเพิ่มความไวในการติดเชื้อโรคอย่างมาก ซึ่งรวมไปถึงไวรัสโควิด-19

ในการเผชิญกับการระบาดใหญ่ครั้งนี้ การไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอนั้น อาจเป็นโทษประหารสำหรับผู้ที่ไร้บ้าน คนไม่มีที่อยู่อาศัย คนเร่ร่อน และยังผลให้ประชากรในวงกว้างมีความเสี่ยงไปด้วย โควิด-19 ได้เปิดเผยให้เห็นมายาคติของลัทธิปัจเจกบุคคลนิยม เผยให้เห็นถึงวิถีของมีความเป็นอยู่ที่ดีร่วมกัน ว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของเราในการ “อยู่บ้าน” อย่างเดียว แต่รวมถึงความสามารถของผู้อื่นในการทำเช่นเดียวกันได้ด้วย [นั่นคือ การมีบ้านให้อยู่ ให้สามารถ “stay home” ได้เช่นกัน]

กรณีการไร้บ้านไร้ที่อยู่อาศัยของบุคคล ไม่ว่าจะมีสัญชาติหรือสถานะทางกฎหมายเช่นไร รวมถึงในช่วงวิกฤต ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเบื้องต้น การคุ้มครองที่สำคัญจากสิทธิในที่อยู่อาศัย รวมถึงสิทธิด้านสุขภาพและสิทธิในอาหาร เป็นพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการรักษาชีวิตที่ไม่สามารถถูกระงับได้ แม้แต่ในสภาวะฉุกเฉิน

ในบริบทนี้ รัฐจะต้องตอบสนองต่อความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้ไร้บ้าน/ไร้ที่อยู่อาศัย อย่างเร่งด่วน และมีการจัดลำดับความสำคัญเพื่อให้แน่ใจว่ามีการป้องกันไวรัสและการคุ้มครองประชากรในวงกว้างอย่างเท่าเทียมกัน การจัดการเรื่องนี้จะต้องมีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลระดับชาติและระดับภูมิภาคหรือท้องถิ่น เพื่อให้มีทรัพยากรและความสามารถที่จำเป็นและเพื่อให้มั่นใจว่าทุกความพยายามในการต่อสู้กับโรคระบาดนั้นมีประสิทธิภาพ รัฐจะต้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนดังต่อไปนี้เพื่อให้สอดคล้องกับภาระหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชน

  1. จัดหาที่พักให้กับคนไร้บ้านทุกคนที่อาศัยอยู่อย่างลำบากยากแค้นหรือบนท้องถนน เพื่อมุ่งเปลี่ยนให้เป็นที่อยู่อาศัยถาวรได้ และไม่ให้ต้องกลับไปเป็นคนไร้บ้านอีกภายหลังสถานการณ์โรคระบาดยุติลง อาจต้องจัดหาห้องพักโรงแรม หรือห้องเช่า หรือเปลี่ยนวัตถุประสงค์ใหม่ของสถานที่ต่างๆ เช่น ค่ายทหารหรือโรงพยาบาลที่ไม่ได้ใช้ หน่วยงานรัฐควรมีอำนาจในการจัดหาที่พักอาศัยของเอกชนที่ว่างหรือบ้านพักสำรอง
  2. สร้างความมั่นใจว่าผู้หญิง เด็ก และเยาวชนที่อาจจำเป็นต้องออกจากบ้านเนื่องจากความรุนแรง จะไม่กลายเป็นคนไร้บ้าน และจัดหาที่พักทางเลือกที่มีความปลอดภัยเพียงพอ และให้การเข้าถึงน้ำ/สุขาภิบาล, อาหาร, การช่วยเหลือทางสังคม, การรักษาพยาบาล และการตรวจโควิค-19
  3. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าที่พักฉุกเฉินเป็นสถานที่ที่พร้อมสำหรับปฏิบัติ การเว้นระยะห่างทางกายภาพ การแยกตนเอง การกักกันและได้มาตรฐานตามคำแนะนำด้านสุขภาพอื่นๆ ที่ออกโดยองค์การอนามัยโลก เพื่อหยุดการแพร่กระจายของไวรัสโควิค-19 ผู้อยู่อาศัยจะต้องมีความเป็นส่วนตัว มีน้ำดื่มใช้ / สุขาภิบาล อาหาร การสนับสนุนทางสังคมและจิตวิทยา บริการสุขภาพ และการตรวจหาโควิค-19 โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่ไร้บ้านกันทั้งครอบครัว ผู้หญิงและเด็กผู้ที่มีความพิการทางร่างกายหรือจิตสังคม และบุคคลที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ (ผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีและมีโรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพ) อีกทั้งต้องหลีกเลี่ยงการแยกตัวเด็กจากผู้ปกครองหรือสมาชิกในครอบครัวคนอื่น รวมถึงเมื่อต้องแยกตัวสมาชิกครอบครัวในห้องแยกต่างหาก เพื่อควบคุมโรค
  4. ในกรณีที่เป็นไปได้และเหมาะสม รัฐบาลควรซื้อหน่วยที่อยู่อาศัยทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่มีอยู่ เพื่อให้แน่ใจว่าประชากรที่ไร้บ้านจะมีที่อยู่อาศัยในระหว่างและหลังการระบาด และเป็นวิธีการหนึ่งในการเพิ่มสินทรัพย์สาธารณะ
  5. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคนไร้บ้านไร้ที่อยู่อาศัย สามารถเข้าถึงการตรวจและการดูแลสุขภาพที่ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลของโควิด-19 ที่เข้าถึงได้ง่ายและทันสมัย รวมถึงข้อมูลต่อแนวปฏิบัติด้านสุขภาพที่ดีที่สุด นโยบายด้านสุขภาพของรัฐบาล และสถานที่และวิธีการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพต่างๆ
  6. รับประกันการเข้าถึงห้องน้ำสาธารณะ ที่อาบน้ำและสิ่งอำนวยความสะดวกในการล้างมือและผลิตภัณฑ์สำหรับคนไร้บ้านที่อาศัยบนถนนที่ไม่สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกส่วนตัว สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม โดยมีน้ำไหลและสบู่ตลอดเวลา และต้องมีการฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ
  7. จัดให้คนไร้บ้านที่แสดงอาการของไวรัสและผู้ที่ตรวจการติดเชื้อโคโรน่าไวรัสเป็นบวก อยู่ในที่ที่ปลอดภัย ได้รับการรักษาพยาบาลทันที ให้เข้าถึงอาหาร และช่วยเหลือทางการแพทย์และอื่นๆ ที่จำเป็น เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาสามารถจัดการกักกันหรือแยกตนเองได้
  8. รับรองว่าคนไร้บ้านจะไม่ถูกดำเนินคดี ถูกปรับหรือถูกลงโทษ จากการบังคับใช้เคอร์ฟิวหรือมาตรการกักกัน และยุติการบังคับใช้กฎหมายซึ่งจะเพิ่มความเป็นชายขอบของคนไร้บ้าน รวมถึงยึดคืนทรัพย์สินและการกวาดจับคนไร้บ้านร่อนเร่ข้างถนน
  9. ยุติการบังคับขับไล่หรือรื้อถอนที่ปักหลักอาศัยหลับนอนหรือตั้งเต็นท์พักชั่วคราว (instances encampments) ของคนเร่ร่อน/ไร้บ้าน และยอมรับว่าในบางกรณีอาจปลอดภัยกว่าที่พักอื่นๆ เช่น ที่พักพิงชั่วคราว (shelter) โดยให้ทางเลือกในการย้ายไปยังที่พักแบบอื่น ซึ่งมีความเป็นไปได้ในการแยกตนเอง (self-isolation)
  10. ที่พักพิงฉุกเฉิน (emergency shelters) ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขาภิบาลและห้องนอนรวม – แม้เตียงอยู่ห่างกัน 2 เมตร -ยังไม่เพียงพอกับการปฏิบัติตามมาตรการ “อยู่บ้าน” และ “เว้นระยะห่างทางกายภาพ” เพราะลักษณะในการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ร่วมกัน อาจนำไปสู่การแพร่กระจายของไวรัส ก่อนจะปิดที่พักพิงฉุกเฉินควรจะมีสถานที่พักอื่นๆ จัดไว้รองรับคนที่เคยอาศัยอยู่ หากยังเปิดที่พักพิงฉุกเฉิน ต้องพยายามทุกวิถีทางให้มีมาตรการสุขอนามัยปลอดภัยและการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลสำหรับทุกคนที่พักอาศัย รวมถึงส่วนคนที่อาศัยในที่พักพิงฉุกเฉินและตรวจพบโควิด-19 เป็นบวก ต้องมีตัวเลือกการกักกันตัวเอง พร้อมบริการสนับสนุนที่จำเป็น
  11. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าธนาคารอาหาร (Food bank) และบริการสนับสนุนอื่นๆ สำหรับคนไร้บ้านรวมอยู่ในรายการของผู้ให้บริการที่จำเป็นและได้รับอนุญาตให้ดำเนินการต่อ และขยายการบริการอย่างทั่วถึง แม้ในระหว่างการปิดเมือง (lockdown) รัฐบาลจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ให้บริการสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพที่ทันสมัย หน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่มือและอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่จำเป็นอื่นๆ ที่จำเป็นในการให้บริการสนับสนุนต่อไปอย่างปลอดภัย
  12. เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 ในการบริการช่วยเหลือผู้ไร้บ้าน หรือ foodbanks ควรปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสุขอนามัยและการเว้นระยะห่าง (social distancing) ตามองค์การอนามัยโลก (WHO) เท่าที่จะเป็นไปได้ และควรกระจายอำนาจในการจัดส่งบริการต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนในพื้นที่ได้มากขึ้น การปิดบริการที่จำเป็นสำหรับบุคคลที่อยู่ในสถานการณ์ที่มีความเปราะบางหรืออยู่ในสภาพไร้บ้านไร้ที่อยู่อาศัย โดยไม่มีมาตรการรองรับหรือช่วยเหลืออื่น จะเป็นการละเมิดพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่สำคัญ รวมถึงสิทธิในอาหารและสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ การคุ้มครองสารัตถะแห่งสิทธิเหล่านี้ไม่สามารถถูกลิดรอนได้ แม้ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
  13. รัฐบาลจะต้องไม่ดำเนินมาตรการใดๆ ที่อาจส่งผลให้บุคคลต้องกลายเป็นคนไร้บ้านไร้ที่อยู่อาศัย เช่น การขับไล่ การขับไล่อาจทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเพื่อปกป้องผู้อยู่อาศัยภายในบ้านหรือที่อยู่อาศัยนั้น จากอันตรายภายในบ้าน/ครอบครัว และต้องมีการจัดหาที่พักทางเลือกให้ผู้ที่ถูกขับไล่อีกด้วย

 

———————————————————————

แปลอย่างไม่เป็นทางการจากเอกสาร COVID-19 Guidance Note Protection for those living in Homelessness, Leilani Farha Special Rapporteur on the Right to Adequate Housing, 2 April 2020 https://www.ohchr.org/Documents/Issues/Housing/SR_housing_COVID-19_guidance_homeless.pdf

 

X