เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 63 Agnes Callamard ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม ได้ออกเอกสารว่าด้วยแนวทางปฏิบัติในการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ในช่วงภาวะฉุกเฉินจากการระบาดของโควิด-19
ผู้รายงานพิเศษของ UN ได้ชี้ว่าภาวะฉุกเฉินเป็นสถานการณ์ที่เป็นข้อยกเว้น ควรจะมีระยะเวลาจำกัดอย่างเคร่งครัด และในภาวะนี้ สิทธิในชีวิตเป็นสิทธิที่ไม่อาจงดเว้นได้ การใช้กำลังใดๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศที่สอดคล้องตามพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศ
เอกสารยังระบุถึงสถานการณ์จากทั่วโลก ที่พบว่าการประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อรับมือโควิด-19 ได้เพิ่มความเสี่ยงให้ประชากรกลุ่มเปราะบางและเข้าไม่ถึงโอกาส อาทิ คนยากจน คนเร่ร่อนจรจัด ผู้หญิงและเด็กที่ประสบกับความรุนแรงในครอบครัว ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ผู้อยู่อาศัยในสลัม และกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ ดังนั้นการกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อบรรเทาผลกระทบของสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงจำเป็นต่อประชากรกลุ่มเสี่ยงนี้
ในเอกสารของผู้รายงานพิเศษ UN ยังมีการใช้แฮซแท็ก #NoCurfewOnHumanRights หรือ #สิทธิมนุษยชนจะต้องไม่ถูกเคอร์ฟิว กล่าวคือแม้แต่ในภาวะการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการประกาศเคอร์ฟิว สิทธิมนุษยชนหรือสิทธิดั้งเดิมของความเป็นมนุษย์ก็ยังคงอยู่ ไม่ได้ถูกงดเว้นหรือสูญหายไปด้วยในภาวะเช่นนี้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าเนื้อหาของเอกสารมีความสำคัญ จึงได้แปลโดยสรุปและเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้
ภาพการปล่อยแถวเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อดูแลช่วงเคอร์ฟิวในจังหวัดระนอง (ภาพจากเว็บไซต์กรมประชาสัมพันธ์)
————————————————————-
เอกสารของผู้รายงานพิเศษ UN ว่าด้วยการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม
เอกสารเผยแพร่ ฉบับที่ 1
POLICE AND MILITARY USE OF FORCE IN A STATE OF EMERGENCY
การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในภาวะฉุกเฉิน
#NoCurfewOnHumanRights
แนวทางปฏิบัติว่าด้วยการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ในช่วงภาวะฉุกเฉินจากการระบาดของโควิด-19 • ภาวะฉุกเฉิน (State of Emergency) เป็นสถานการณ์ที่เป็นข้อยกเว้น ควรจะมีระยะเวลาจำกัดอย่างเคร่งครัด • สิทธิในชีวิตเป็นสิทธิที่ไม่อาจงดเว้นได้ (non-derogable) (อธิบายเพิ่มเติม: หลักการห้ามรัฐงดเว้นสิทธิที่มิอาจงดเว้นได้ แม้ในภาวะหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ Principle of Non-Derogability เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์จากการถูกละเมิด โดยเฉพาะสิทธิในชีวิต ร่างกาย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิทธิดั้งเดิมของความเป็นคน ติดตัวมาเพราะเป็นมนุษย์ ไม่อาจพรากได้ เว้นแต่ต้องทำลายความเป็นมนุษย์ไปเสีย) • มาตรการบังคับใช้กฎหมาย ควรปฏิบัติตามหลักการความชอบด้วยกฎหมาย ความจำเป็น ความได้สัดส่วน ความระมัดระวัง และการไม่เลือกปฏิบัติ นี่คือหลักการพื้นฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ผูกพันทุกรัฐ • กลุ่มประชากรที่เปราะบางหรือเข้าไม่ถึงโอกาส เช่น คนยากจน แรงงานอพยพ คนไร้บ้าน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบ อย่างมากจากการระบาดของไวรัส ไม่ควรต้องตกเป็นเหยื่อจากมาตรการฉุกเฉินอีก เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องใช้มาตรการ ที่เหมาะสมและเพิ่มความระมัดระวังอย่างสูง และดำเนินการประเมินตามบริบทว่าการใช้กำลังจัดการนั้น มีความจำเป็นและได้สัดส่วนหรือไม่ • เจ้าหน้าที่ตำรวจควรยึดหลักการในภารกิจด้วยการพูดคุยทำความเข้าใจ ให้ข้อควรคำปฏิบัติ ให้การปรึกษาหารือและสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน |
สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คือสิทธิในชีวิตเป็นสิทธิที่ไม่อาจงดเว้นได้ (non-derogable) กล่าวคือห้ามรัฐงดเว้นสิทธิในชีวิตโดยพลการไม่ว่าสถานการณ์ใดหรือแม้ในภาวะฉุกเฉิน การใช้กำลังและอาวุธของเจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศที่สอดคล้องตามพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศ
ในภาวะฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่รัฐที่บังคับใช้กฎหมายอาจมีอำนาจมากขึ้นกว่าปกติ รวมถึงการประกาศเคอร์ฟิว แต่ไม่รวมถึงอำนาจที่จะ ‘ฆ่าคนโดยพลการ’ หากเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้กำลังจริงๆ จะต้องยึดหลักความจำเป็น ความได้สัดส่วน และความระมัดระวัง
ในขณะที่สถานการณ์การระบาดไวรัสโคโรน่า ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับทุกคน แต่บรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องไม่ใช่เรื่องใหม่ ดังนั้น รัฐยังต้องปฏิบัติต่อสิทธิในชีวิตด้วยหลักการความชอบด้วยกฎหมาย ความจำเป็น ความได้สัดส่วน และความระมัดระวัง
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามหลักการของการไม่เลือกปฏิบัติ ต้องเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนของทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมืองหรือความคิดเห็นอื่นๆ สถานะทางสังคม สถานะการเงิน ถิ่นกำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ
แต่กลับปรากฎว่า….
รายงานสถานการณ์จากหลายประเทศทั่วโลกพบว่า ภาวะฉุกเฉินนี้กำลังเพิ่มความเสี่ยงให้ประชากรบางกลุ่ม และบางคนอาจถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังรุนแรง รวมถึงคนจนที่ยังต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงชีพอย่างเลี่ยงไม่ได้ คนเร่ร่อนจรจัด ผู้หญิงและเด็ก ผู้หญิงและเด็กที่ประสบกับความรุนแรงในครอบครัว ผู้อพยพและผู้ลี้ภัย ผู้คนที่อยู่อาศัยในสลัม และทุกคนที่มีชีวิต “ปากกัดตีนถีบ” ต้องหาเช้ากินค่ำเพื่อเอาชีวิตรอดไปแต่ละวัน แม้ในสถานการณ์ภัยโรคระบาดที่แพร่หนักขึ้นเรื่อยๆ จึงกลายเป็นว่าคนเหล่านี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะละเมิดหรือฝ่าฝืนมาตรการต่างๆ ภายใต้ภาวะฉุกเฉิน โดยเฉพาะมาตรการที่จำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหว คุณไม่สามารถอยู่บ้านถ้าคุณไม่มีบ้าน คุณไม่สามารถหยุดนิ่งอยู่แบบ lockdown ได้ถ้าไม่มีอะไรมาเลี้ยงปากท้องครอบครัวของคุณ คุณจะปฏิบัติมาตรการ “เว้นระยะห่างทางสังคม social distancing” ได้อย่างไร ถ้าต้องอยู่ในชุมชนสลัมแออัด
การวางแผนและกำหนดมาตรการเพื่อจัดการภาวะฉุกเฉิน ต้องแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตและศักดิ์ศรีของกลุ่มประชากรที่เปราะบาง หรือเข้าไม่ถึงโอกาสไปพร้อมกันด้วย
รัฐบาลจะต้องกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อบรรเทาผลกระทบของสถานการณ์ฉุกเฉินต่อประชากรกลุ่มเสี่ยง และดำเนินการเพื่อไม่ให้ต้องได้รับผลกระทบที่เกินสมควร รวมถึงสิทธิในชีวิต
เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ต้องปฏิบัติมาตรการบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ขณะเดียวกันเมื่อต้องบังคับใช้มาตรการฉุกเฉินต่างๆ หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติด้วยความเข้าใจต่อสภาพปัญหาของประชากรกลุ่มเสี่ยง ดังนั้น มาตรการที่ใช้จึงต้องมีความเหมาะสมและระมัดระวังอย่างสูง และมีการประเมินตามบริบทว่าการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่นั้นจำเป็นและได้สัดส่วนหรือไม่
ตามกฎหมายระหว่างประเทศ มาตรการที่จำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหว รวมถึงเคอร์ฟิว สามารถทำได้ในบางสถานการณ์ และอาจจำเป็นในบริบทของการระบาดของโควิด-19 แต่การฝ่าฝืนเคอร์ฟิว หรือมาตรการที่จำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหว ไม่สมควรเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุ และไม่ว่าจะพฤติการณ์ใด ต้องไม่นำไปสู่การใช้กำลังที่ทำให้ถึงแก่ชีวิต กฎนี้บังคับใช้ตลอดเวลาโดยไม่มีข้อยกเว้น ยิ่งในบริบทนี้ กฎข้อนี้สำคัญมากในความเป็นจริงที่มีคนจำนวนมากมายที่ไม่มีบ้านให้กักตัวเอง คนอีกมากที่ไม่มีหนทางหาเลี้ยงครอบครัวให้รอดได้ ภายใต้มาตรการแยกตัวจากสังคม
เจ้าหน้ารัฐ หัวหน้า ระบบงาน และรัฐบาลต้องเข้าใจความเป็นจริงเหล่านี้ สำหรับคนหลายล้านคน นโยบายมาตรการอย่างเคอร์ฟิวนั้นอาจเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อศักดิ์ศรีและความเป็นอยู่ได้มากกว่าภัยจากไวรัสเอง เจ้าหน้าที่ตำรวจมีวิธีและมาตรการอื่นที่ควรใช้กว่าการใช้กำลัง หลักการการพูดคุยทำความเข้าใจ ให้ข้อควรคำปฏิบัติ ให้การปรึกษาหารือและสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนควรเป็นหลักดำเนินงานสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่กฎหมายระหว่างประเทศเรียกร้องเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในห้วงเวลาของการแพร่โรคระบาดเช่นนี้
—————————————-
แปลสรุปจากเอกสารเผยแพร่ฉบับที่ 1 ของผู้รายงานพิเศษ UN ว่าด้วยการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม: แนวทางปฏิบัติว่าด้วยการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในช่วงภาวะฉุกเฉินจากการระบาด COVID19
HUMAN RIGHTS DISPATCH – NUMBER 1: Police and Military Use of Force in a State of Emergency, Guidance on the use of force by law-enforcement personnel in time of COVID-19 emergency, Special Rapporteur on Extrajudicial, Summary or Arbitrary Killings https://www.ohchr.org/Documents/Issues/Executions/HumanRightsDispatch1.pdf