มองการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกจนเกินขอบเขต ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสถานการณ์โควิด

ณัฐวรรธน์ แก้วจู

นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

.

บทนำ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐต้องออกมาตรการต่างๆ มาเพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ดังกล่าว ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่ถูกตราขึ้นและบังคับใช้ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยกำหนดมาตรการ ข้อปฏิบัติ และข้อห้ามต่างๆ แก่ทั้งส่วนราชการและภาคประชาชน มีจุดมุ่งหมายในการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว

แม้มีการประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาหลายฉบับ แต่เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 มีการประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 27 เผยแพร่ทางราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม ข้อกำหนดฉบับนี้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงความเหมาะสมและถูกต้อง เพราะถูกมองว่ามีเนื้อหาที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพประชาชนโดยเฉพาะ ข้อ 7 (6) ที่ห้ามมิให้จัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของบุคคลมากกว่าห้าคน[1] และข้อ 11 ที่กำหนดให้การนำเสนอข้อมูล “ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” เป็นความผิดอาญา ตามมาตรา 9 (3) แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[2]

เพื่อทำความเข้าใจถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นกับข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548 ฉบับที่ 27 บทความนี้จะทดลองนำเสนอให้เห็นถึงปัญหาที่อาจทั้งหลบซ่อนและเห็นได้อย่างประจักษ์จากข้อกำหนดดังกล่าว

ข้อ 7 มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ให้เปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบและมาตรการป้องกันโรคที่กำหนดที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจากที่ได้เคยกำหนดไว้แล้ว ดังต่อไปนี้

(6) ห้ามการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคน โดยให้เป็นไปตามข้อห้ามและข้อยกเว้นตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

แม้ผู้ตรากฎหมายจะมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการรวมกลุ่มของบุคคล โดยใช้ดุลพินิจคาดการณ์ว่ามาตรการนี้จะสามารถจำกัดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ไม่ให้ขยายวงกว้าง อันจะเป็นผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลงได้ในอนาคต ในความเป็นจริงประชาชนยังต้องดำเนินชีวิตประจำวัน มีหลายอาชีพที่ยังคงต้องออกไปทำงานในสถานที่ไม่สามารถทำงานที่บ้าน (Work form home) ได้ และผู้คนก็ต้องมีการเดินทางคมนาคมอยู่ แม้จะมีการบังคับใช้มาตรการข้อ 7 (6) ก็ไม่ช่วยให้จำนวนของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลงแต่อย่างใด แต่กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม แม้มาตรการจำกัดการรวมกลุ่มดังกล่าวอาจทำให้วัตถุประสงค์บรรลุได้บ้าง แต่หากเทียบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกลิดรอนไปแล้วนั้น ก็ทำให้เกิดคำถามได้ว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยมาตรการข้อ 7 แท้จริงแล้ว รัฐมุ่งหมายเพื่อวัตถุประสงค์ใดกันแน่สิ่งใดกันแน่

.

.

ความมั่นคงของรัฐ > สิทธิเสรีภาพของประชาชน

การห้ามรวมกลุ่มจัดกิจกรรมตามข้อ 7 (6) เป็นการห้ามโดยสิ้นเชิง มีผลให้ผู้ที่ต้องการแสดงออกทางการเมืองไม่สามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) หรือเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) ได้ หรืออาจทำได้ แต่ต้องเป็นไปโดยจำกัดอย่างยิ่ง

มาตรการข้อนี้จึงไม่เป็นไปตามหลักความจำเป็น เพราะอาจมีมาตรการอื่นที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้โดยกระทบกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลน้อยกว่ามาตรการในข้อ 7 (6) ทำให้มองได้ว่ารัฐไม่ได้นำสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาชั่งน้ำหนักกับความมั่นคงของรัฐ เพื่อให้เป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุแต่อย่างใด

เมื่อพิจารณาประกอบกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง การประกาศและบังคับใช้ข้อ 7 (6) ของข้อกำหนดฉบับที่ 27  จึงเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก ในรูปแบบหนึ่งที่ไม่ได้สัดส่วน ผู้เขียนจึงมองว่ารัฐกำลังใช้กฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมีนัยยะสำคัญ

ข้อ 11 แห่งข้อกำหนดฉบับที่ 27 มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร อันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้เกิดการแพร่หลาย ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทั่วราชอาณาจักร เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ข้อ 11 เป็นอีกหนึ่งมาตรการในข้อกำหนดฉบับที่ 27 ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ข้อความ “ไม่เป็นความจริง” ที่เคยปรากฎในข้อกำหนดฉบับก่อนๆ ได้หายไป เมื่อกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา การกระทำเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามต่อมาว่าหากเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ “เป็นความจริง” จะกลายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดข้อนี้หรือไม่ และข้อความว่า “อาจทำให้ประชาชนเกิดความกลัว” ก็เป็นข้อความที่คลุมเครือมาก เพียงใดจึงจะถูกตีความว่าเป็นข้อความที่เข้าข่ายคำว่า “อาจ” นี้ ท้ายที่สุดการนำเสนอข้อความที่อาจทำให้ประชาชนหวาดกลัวก็เป็นความผิดได้เลย แม้จะเป็นข้อความที่ “เป็นความจริง” ใช่หรือไม่[3] หากคำตอบคือใช่ เช่นนี้แล้วพื้นที่ของเสรีภาพในการแสดงออก หรือเสรีภาพในการพูด ของประชาชนจะเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด

ข้อกำหนดดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามตามมาอย่างมาก เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเมื่อแสดงออกหรือพูดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปแล้วจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามข้อ 11  สิ่งเหล่านี้คือความไม่แน่นอนในนิติฐานะ ถือเป็นบทบัญญัติที่ไม่สะท้อนหลักการของนิติรัฐ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่รัฐควรจะจำกัดการใช้อำนาจของตนเพื่อเป็นการประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคล ให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์[4]

ทั้งนี้ การชั่งน้ำหนักระหว่างสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ต้องถูกจำกัด กับประโยชน์ที่จะได้รับคือความมั่นคงของรัฐ โดยอ้างว่าเป็นการจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของวิด-19 อันจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็เป็นไปอย่างไม่ได้สัดส่วน เพราะมาตรการข้อ 11 ทำให้ประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมากเกินไป

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 การบริหารประเทศของรัฐบาลก็ไม่มีประสิทธิภาพนัก เมื่อประชาชนที่ต้องการใช้เสรีภาพเพื่อแสดงออกถึงความต้องการการเปลี่ยนแปลง และพูดถึงปัญหาการบริหารของรัฐบาลก็ไม่สามารถทำได้ หากรัฐมองว่ากระทบต่อความมั่นคง แม้สิ่งเหล่านั้นจะเป็นความจริงก็ตาม ทำให้การแสดงออกหรือแสดงความคิดทางเห็นทางการเมืองต้องเกิดขึ้นด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด จึงถือเป็นมาตรการที่ไม่ได้สัดส่วน

นอกจากไม่ได้สัดส่วนแล้ว มาตรการดังกล่าวยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้บังคับใช้และตีความข้อกำหนดที่คลุมเครือดังกล่าว และด้วยข้อความ “ไม่เป็นความจริง” ที่หายไป ทำให้สามารถตีความได้ว่าข้อความที่เป็นความจริงก็อาจเป็นการกระทำความผิดตามข้อกำหนดฉบับที่ 27 ได้ และแน่นอนว่าการบังคับใช้ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้มีความเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่

การกระทำนี้จะยิ่งเป็นการจำกัดมิให้บุคคลสามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออกได้เท่าที่ควร แทนที่มาตรการนี้จะเป็นไปเพื่อไม่ให้เกิดความหวาดกลัวของประชาชน ผู้เขียนมองว่าจะเป็นการสร้างความหวาดกลัวที่จะใช้เสรีภาพแก่ประชาชน และก่อให้เกิดคำถามว่าแท้จริงแล้วรัฐกำลังจำกัดสิทธิ เพื่อไม่ให้กระทบต่อความมั่นคง “ของใคร”

.

.

รัฐต้องมุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน และจำกัดอำนาจของตนอย่างแท้จริง

แม้ว่าโดยหลักการรัฐจะสามารถใช้อำนาจในการจำกัดเสรีภาพ เพื่อเป็นการประกันสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชนได้ แต่เสรีภาพในการแสดงออก หรือเสรีภาพในการพูด ถือเป็นคุณค่าของสังคมเสรีประชาธิปไตยและเป็นหลักสิทธิมนุษยชนในระดับสากล การจะจำกัดหรือควบคุมการใช้เสรีภาพของบุคคลจำต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับเงื่อนไข และหลักการในการตรากฎหมายจำกัดสิทธิ ตามมาตรา 26[5] ของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ จะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ และต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย ทั้งยังต้องมีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง

แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น รัฐในฐานะผู้ใช้อำนาจได้ตรากฎหมายที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิและกระทบต่อเสรีภาพอย่างประจักษ์มาบังคับใช้แก่ประชาชนหลายฉบับ ซึ่งมีเนื้อหาที่ไม่เป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุ ทำให้เสรีภาพในการแสดงออกกระทำได้ในสังคมไทยอย่างจำกัดจำเขี่ย ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชนเกินไป ประกอบกับในปัจจุบันที่ประชาชนต้องเผชิญกับทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น และการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องทางการเมืองของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง แต่การใช้เสรีภาพของประชาชนต้องเกิดขึ้นอย่างจำกัด การบังคับใช้กฎหมายจำกัดสิทธิต่างๆ ของผู้มีอำนาจ ก็มักเกิดขึ้นแก่ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐมากกว่ากลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล การบังคับใช้ในลักษณะเช่นนี้จึงเป็นไปอย่างมีนัยยะสำคัญ

เมื่อเสรีภาพในการแสดงออก หรือเสรีภาพในการพูด เป็นสิทธิที่บุคคลสามารถแสดงออกหรือสื่อสารความรู้สึกนึกคิดหรือความเห็น ทั้งด้วยการพูด การแสดงท่าทาง หรือการสื่อสารด้วยตัวอักษร ไม่ว่าในรูปแบบใด เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่งในสังคมเสรีประชาธิปไตย ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งของประชาชนที่จะช่วยให้สามารถสื่อสารกับรัฐซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าได้ และเป็นคุณค่าในระดับสากลที่ถูกรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสากล (UDHR) และในข้อบท 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)[6] ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นรัฐภาคี[7]

ทั้งนี้ยังเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศในทุกฉบับ รวมทั้งฉบับปัจจุบันในมาตรา 34 ด้วย เช่นนี้บุคคลจึงควรที่จะสามารถใช้เสรีภาพดังกล่าวได้อย่างเสรีและถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมในสังคมที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ผู้เขียนเชื่อว่าสังคมใดก็ตามที่เสรีภาพในการแสดงออก สามารถกระทำได้อย่างเสรีและถูกจำกัดเท่าที่จำเป็นตามหลักการ ย่อมเป็นสังคมที่มีความเจริญงอกงามของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง

โดยสรุปเนื้อหาของทั้งข้อ 9 และข้อ 11 แห่งข้อกำหนดฉบับที่ 27 กระทบและจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก อย่างประจักษ์ การจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยมาตรการข้างต้นเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 34[8] ที่รับรองเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคลไว้ และเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งเป็นหลักในการตรากฎหมายจำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และด้วยเหตุที่เสรีภาพดังกล่าวเป็นหนึ่งในหลักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

ดังนี้ ข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 จึงละเมิดต่อข้อบท 19 ที่รับรองว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก ในเมื่อไทยเป็นรัฐภาคีของกติกาฉบับดังกล่าวจึงควรที่จะแก้ไขเนื้อหามิให้เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลจนเกินกว่าเหตุ หรือกระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพอย่างไม่ได้สัดส่วน


.

อ้างอิงท้ายเรื่อง

[1] โดยกำหนดเงื่อนไขว่าการจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามข้อห้ามและข้อยกเว้นตามข้อกำหนด ฉบับที่ 25 ซึ่งต้องได้รับการอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค

[2] ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ข้อ 11 “มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้เกิดการแพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทั่วราชอาณาจักร เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548”.

[3] อานนท์ มาเม้า (โพสต์ facebook วันที่ 12 กรกฎาคม 2564).

[4] วัชชกานต์ เศาภายน, ระบบนิติรัฐและการพัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับประเทศไทย (pdf, รัฐสภาสาร ปีที่ 66 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561).

[5] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช มาตรา 26 “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

“กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง”

[6] ข้อบท 19 กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

1. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง

2. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ขอ้มูล

ข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจา เป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ในรูป

ของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก

3. การใช้สิทธิตามที่บัญญัติในวรรค 2 ของข้อนี้ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วยการใช้สิทธิดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดในบางเรื่อง แต่ทั้งนี้ข้อจำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อ

(ก) การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น

(ข) การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน

[7] เสรีภาพการแสดงออก เสรีภาพของทุกคน (เสรีภาพการแสดงออก 101, iLaw Freedom) <https://freedom.ilaw.or.th/freedom-of-expression-101/concept-and-history> สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564.

[8] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 34 วรรคหนึ่ง “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน”

.

X