แรงงานกะดึก: ฟันเฟืองที่ยังหมุนในค่ำคืนมีเคอร์ฟิว

ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลพยายามแก้ไขสถานการณ์โดยออกมาตรการเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดและควบคุมจำนวนผู้ป่วยให้น้อยลง แต่หลายมาตรการได้ส่งผลกระทบถึงการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน รวมทั้งข้อกำหนดฉบับที่ 2 หรือ ‘มาตรการเคอร์ฟิว’ ห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 22.00 – 04.00 น. เว้นแต่กลุ่มบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไว้ และกำหนดโทษไว้สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลังบังคับใช้ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีประชาชนส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่นคนไร้บ้าน แรงงานรับจ้างรายวันได้รับผลกระทบโดยตรงจากการตีความบังคับใช้มาตรการดังกล่าวรวมอยู่ด้วย เช่น กรณีของ 2 คนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ถูกจับกุมและดำเนินคดี  ข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ออกจาก ‘บ้าน’ หลัง 22.00 น. และศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษ หรือกรณีตำรวจจับกุมคนงาน 15 คน ข้อหาฝ่าฝืนมาตรการเคอร์ฟิว หลังกลับจากงานเทคอนกรีตซึ่งต้องทำต่อเนื่องให้แล้วเสร็จ แม้บริษัทต้นสังกัดได้ออกเอกสารรับรองในการเดินทางช่วงเคอร์ฟิวให้คนงานแล้วก็ตาม รวมทั้งกรณีการจับกุมดำเนินคดีชาวประมงและคนขับรถฉุกเฉินในจังหวัดสงขลาที่กำลังเดินทางไปประกอบอาชีพ ทั้งที่ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้กำหนดให้กลุ่มอาชีพทั้งสองอยู่ในข้อยกเว้นแล้ว ในแนวทางการปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 3)  ข้อ 6

สำหรับแรงงานที่ต้องทำงานกะดึก เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในช่วงเคอร์ฟิว ว่าหลังพวกเขาเดินทางจากโรงงานกลับบ้านจะโดนจับหรือไม่ เพราะแม้จะมีเอกสารรับรองการทำงานจากบริษัท ถูกต้องตามที่รัฐกำหนด  แต่พวกเขาอาจผ่านหรือไม่ผ่านด่านกักโรควันนั้นก็ได้

 

“ต้องไปทำงานทุกวัน ฝ่าทั้งโรค ฝ่าทั้งด่าน โรคยังป้องกันได้ แต่ด่านไม่มีอะไรชัดเจน”

สมหมาย เบี้ยทอง เป็นช่างวัตถุดิบ ของโรงงานสัญชาติญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ใน ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ราววันที่ 8 เมษายน 2563 เขาเข้าทำงานกะดึก เวลา 14.00-22.00 น. ทำให้เขาต้องเดินทางจากย่านคลองสอง กลับที่พักอาศัยย่านคลองแปดหลัง 22.00 น. ทุกวัน โดยบริษัทได้ออกใบรับรองฯ ให้เขา ตามแบบฟอร์มการขออนุญาตออกนอกสถานที่ช่วงเคอร์ฟิว ซึ่งจะออกให้ใหม่ทุกๆ 7 วัน

“บ้านผมอยู่คลองแปดระหว่างธัญบุรีเชื่อมกับคลองหลวง ส่วนที่ทำงานอยู่คลองสอง วันนั้นผมขับผ่านด่านกักโรคที่คลองหกมาได้ปกติ แต่พอผมขับมาถึงคลองแปด เจอตำรวจสายตรวจ 3 นายเรียก ตอนนั้นเกือบห้าทุ่มแล้ว เขาถามว่า ออกมาได้ไง รัฐประกาศภาวะฉุกเฉินอยู่นะ

“ผมบอกว่าผมเพิ่งเลิกงาน เขาก็ไม่ฟัง บอกว่า ‘ไปโรงพักเลยๆ’ ผมเอาเอกสารรับรองฯ ของบริษัทให้ดู แต่เขาบอกว่าใช้ไม่ได้ เอกสารรับรองฯ ต้องมีตราครุฑที่ทางราชการออกให้” สมหมายเล่าเหตุการณ์ก่อนตำรวจปล่อยตัวเขาไป โดยบอกว่า จะอนุโลมให้ครั้งนี้ครั้งเดียว

“ตำรวจสายตรวจบอกว่าผมต้องถือเอกสารที่ทางราชการออกให้ มีตราครุฑ ถึงจะใช้ได้ แต่ตำรวจที่ด่านฯ คลองหกบอกว่า เอกสารที่ทางบริษัทออกให้ใช้ได้แล้ว ผมสับสนมากเลยครับ สรุปว่ามันใช้ได้หรือใช้ไม่ได้”

คนงานหลายคนถูกตักเตือนจากตำรวจเช่นเดียวกับสมหมายว่าจะอนุโลมให้ครั้งเดียว หรือโดน ‘ใบเหลือง’ ซึ่งทำให้แรงงานกังวลว่าหากพวกเขาโดนเรียกเป็นครั้งที่สองจะต้องโดนจับปรับดำเนินคดีแน่นอน

“กลัวเจอตำรวจครั้งที่สองแล้วเขาไม่อนุโลมให้ เขาจับปรับมันไม่คุ้มนะครับ เราไปทำงานตามปกติ ไม่ได้ไปเที่ยว ซึ่งยังไงเราก็ต้องไป หลบไม่ได้ ”

พวกเขาต้องลุ้นทุกวันว่าจะโดนเรียกหรือไม่ เอกสารรับรองฯ ที่บริษัทออกให้จะใช้ได้หรือไม่ ผ่านด่านนี้แล้วอีกด่านจะอนุญาตหรือไม่ หรือเจ้าหน้าที่จะพิจารณาอย่างไร ทุกอย่างดูเหมือนขึ้นอยู่กับการใช้ดุลยพินิจที่ไม่สม่ำเสมอ

“แม้คนส่วนใหญ่จะหยุดอยู่บ้านแต่ฟันเฟืองของประเทศยังต้องเดินต่อ พนักงานที่ยังทำงานทุกวันอย่างพวกผมเหมือนหน่วยกล้าตาย เราฝ่าทั้งโรค ทั้งด่านฯ เหมือนไปรบเลย แต่เรื่องโรคเรามีวิธีป้องกัน เรื่องด่านฯ หรือตำรวจสายตรวจกลับน่าหนักใจกว่า เพราะไม่มีความชัดเจนว่าเราต้องมีใบอนุญาตแบบไหนจึงจะไม่โดนจับ” สมหมายเล่าถึงความกังวลใจ

หลังถูกเรียกตักเตือนมาแล้วครั้งหนึ่ง สมหมายจึงขอให้บริษัทประสานฯ ขอหนังสือรับรองฉบับใหม่ซึ่งมีลายเซ็นนายอำเภอและตราครุฑ แต่ยังพบปัญหาดุลยพินิจที่ไม่ชัดเจนของเจ้าหน้าที่เช่นเคย

“ผมถือเอกสารฉบับใหม่ที่มีตราครุฑไปด่านกักโรคด่านใหญ่ ตรงสภอ.คลองหก ธัญบุรี ตำรวจบอกว่าเอกสารฉบับนี้ใช้ได้จนหมดช่วงประกาศภาวะฉุกเฉินเลย ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเอกสารทุก 7 วันด้วย  แต่รุ่นน้องผมอีกคนถือเอกสารฉบับเดียวกันไปด่านฯ ที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ตำรวจกลับไม่ให้ผ่าน บอกว่าเขาอนุโลมให้ผ่านแค่ครั้งเดียว พวกผมเลยสับสนว่า ทำไมแต่ละด่านบอกไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ เป็นหนังสือฉบับเดียวกัน สรุปแล้วมาตรฐานอยู่ที่ไหน”

 

เมื่อเจ้าหน้าที่ประกาศคำสั่งเกินกว่ากฎหมายกำหนด

แม้ในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแต่การทำงานในโรงงานของพนักงานกะดึก ที่เข้าทำงานช่วง 14.00-22.00 น. ยังดำเนินไปปกติ โดยลูกจ้างต้องถือเอกสารรับรองการทำงานตามข้อกำหนดใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ยกเว้นให้ผู้เข้าเวรยามกะดึกทำงานได้

ทว่าจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นยังมีแรงงานถูกจับแม้มีเอกสารรับรองฯ เช่นกรณีลูกจ้างของบริษัทลงทุนแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นที่เลิกงานกะดึกราว 22.00 น. แล้วขี่มอเตอร์ไซต์กลับบ้านพร้อมกันหลายสิบคัน ได้ถูกตำรวจเรียกคุยและตักเตือน แม้พวกเขาจะมีเอกสารรับรองฯ ก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้สั่งห้ามพนักงานใช้รถส่วนตัวในช่วงเคอร์ฟิว แจ้งให้บริษัทต้องจัดรถรับส่งพนักงานทั้งหมดเพื่อง่ายต่อการควบคุมโรค และกำชับว่าหากพบแรงงานใช้รถส่วนตัวอีกต่อไปจะจับดำเนินคดี โดยให้เหตุผลว่า ถึงเอกสารถูกต้อง แต่ ‘เงื่อนไข’ การมาทำงานไม่ถูกต้อง

“ตำรวจแจ้งว่า ขับรถมอเตอร์ไซต์กลับออกพร้อมกันเป็นร้อยคันแบบนี้ เป็นจำนวนมาก ไม่สามารถควบคุมได้

“เนื่องจากทางบริษัทแจ้งว่า เลิกงาน (22.00 น.) ต้องกลับทันที ถ้าเลยเวลาอาจโดนจับ พนักงานจึงพากันรีบกลับ พอกลับพร้อมกันเยอะๆ ก็มีปัญหาขึ้นมาอีก” หนึ่งในตัวแทนแรงงานกล่าว

 

คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีข้อสังเกตว่าในข้อกำหนดฉบับที่ 2 หรือ ‘มาตรการเคอร์ฟิว’ฯ ไม่ได้ห้ามใช้รถส่วนตัวในการเดินทาง แต่แจ้งเพียงว่าหากมีเอกสารรับรองฯ จะเดินทางในช่วงเคอร์ฟิวได้ แม้จะเดินทางด้วยรถส่วนตัวก็ตาม โดยไม่ได้ระบุว่าต้องให้นั่งรถของบริษัท หรือบริษัทต้องจัดหารถให้ การออกคำสั่งลักษณะเช่นนี้จึงเป็นการออกคำสั่งเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นภาระของประชาชนเกินสมควร และมีลักษณะที่เจ้าหน้าที่หาวิธีการควบคุมเหตุเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่เอง

“ทั้งนี้ พอเป็นเรื่องการออกข้อกำหนดเพื่อจำกัดสิทธิ จะตีความกว้างขวางตามใจเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นขึ้นกับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ไม่ได้ขึ้นกับข้อกฎหมาย เท่ากับเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่แน่นอน ทั้งๆ ที่กฎหมายจะต้องกำหนดแน่นอน ประชาชนจะได้ปฏิบัติตามได้” คุ้มเกล้ากล่าว

มาตรการเคอร์ฟิวเริ่มมาตั้งแต่ 3 เม.ย. 63 จนถึงปัจจุบัน โดยรัฐบาลไม่ได้ให้เหตุผลแน่ชัดว่าเหตุใดมาตรการห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงหกชั่วโมงของเวลากลางคืนดังกล่าวจะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส และในทางปฏิบัติยังปรากฎการตีความที่ไม่ชัดเจนของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งสุดท้ายความไม่ชัดเจนนี้ตกเป็นภาระของประชาชนที่ไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร โดยเฉพาะเป็นภาระของแรงงานกะดึก หนึ่งในฟันเฟืองที่ขยับเขยื้อนประเทศเงียบๆ ขณะที่คนส่วนใหญ่อยู่บ้านในตอนนี้.

 

 

 

 

X