ในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีการใช้ “กฎหมาย” และ “กระบวนการยุติธรรม” มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในกดปราบการเคลื่อนไหวทางการเมืองและละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอย่างกว้างขวาง กล่าวกันว่าคดีความที่นักกิจกรรม นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป ได้รับและถูกกล่าวหาจากการออกมาเคลื่อนไหวโดยสงบสันติ ล้วนแล้วเป็น “รางวัลของคนกล้า”
ไม่ใช่เรื่องของการกระทำความผิด ไม่ใช่เรื่องการละเมิด “กฎหมาย” ของผู้ปกครอง ไม่ใช่เรื่องของการสร้างความวุ่นวายให้บ้านเมือง แต่กิจกรรมและการเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคสมัยนี้กลับเป็นการส่งเสียงคัดค้านการยึดอำนาจของกองทัพอันไม่ชอบธรรม เป็นการร้องตะโกนของประชาชนที่ถูกปิดกั้นและละเมิดสิทธิเสรีภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่า คดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมา แม้ถ้าเลือกได้ ไม่มีใครอยากได้รับ ไม่มีใครอยากเสียเวลาด้วย แต่เมื่อสู้แล้วโดนแล้ว มันก็กลับเป็น “รางวัล” ของผู้กล้าหาญ ที่ยืนหยัดทัดทานอำนาจอันไม่ชอบธรรมในสังคม
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” นับเป็นนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากที่สุด โดยเมื่อสิ้นปี 2561 ที่ผ่านมา จำนวนคดีของสิรวิชญ์ยังเป็นรอง อานนท์ นำภา ทนายความนักกิจกรรมอีกรายหนึ่ง แต่เมื่อถึงกลางปี 2562 การเคลื่อนไหวของสิรวิชญ์ยังทำให้เขาถูกกล่าวหาเพิ่มเติมอีก 3 คดี ทำให้จนถึงปัจจุบัน เขาถูกดำเนินคดีทางการเมืองจำนวนทั้งสิ้นแล้ว 13 คดี
หากนับว่าแต่ละคดีเป็นรางวัลของความกล้าหาญ สิรวิชญ์ก็ขึ้นแท่นได้รับเหรียญของผู้ยืนหยัดรับคดีมาคล้องคอด้วยจำนวนมากที่สุดในยุคสมัยนี้
สิรวิชญ์ ในวัย 26 ปี จบการศึกษาสาขาการเมืองการปกครอง จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร ทั้งในนามนักศึกษาคนหนึ่ง ในนามสมาชิกกลุ่มสภาหน้าโดม กลุ่มพลเมืองโต้กลับ กลุ่มประชาธิปไตยศึกษา กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และกลุ่ม Start Up People ล่าสุดเขากำลังได้ทุนจากรัฐบาลอินเดีย ไปศึกษาต่อด้านรัฐศาสตร์และการเมือง
จุดยืนของเขาชัดเจนตลอดมา คือการคัดค้านการรัฐประหาร เรียกร้องการคืนอำนาจ กำหนดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม และการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ในนามการเคลื่อนไหวเหล่านั้น เขาเผชิญกับการควบคุมตัว การข่มขู่คุกคาม และการปิดกั้นกิจกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มานับครั้งไม่ถ้วน รวมทั้งการถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง และกระทั่งยกระดับถึงขั้นการถูกทำร้ายร่างกายอาการสาหัส ถึง 2 ครั้งในเดือนเดียวกัน โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐเองก็ไม่สามารถติดตามจับกุมกลุ่มผู้กระทำการมาลงโทษได้
ต่อไปนี้ เป็นบันทึกโดยสรุปของคดีทั้งหมดที่สิรวิชญ์ถูกกล่าวหา ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ก่อนการถูกลอบทำร้ายครั้งล่าสุด
คดีที่ 1 และ 2 คดีเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก – คดีฝ่าฝืน MOU
คดีแรกที่สิรวิชญ์ถูกกล่าวหาขณะยังเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ เกิดขึ้นจากการที่เขาร่วมกับพี่ๆ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ได้แก่ อานนท์ นำภา, พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ, และวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ จัดกิจกรรม เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 58 เพื่อรำลึกถึงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 57 ที่กลายเป็นโมฆะไป โดยสิรวิชญ์ทำหน้าที่เป็นพิธีกรในกิจกรรมวันนั้น ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไป ทั้งสี่คนถูกแจ้งข้อหาเรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ขัดประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557
ขณะเดียวกันสิรวิชญ์ยังเป็นคนเดียวที่ถูกแจ้งข้อหาจากกรณีนี้ในอีกคดีหนึ่ง ได้แก่ ข้อหาเรื่องการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยตัวบุคคลที่ถูกกักตัว ตามประกาศคสช.ฉบับที่ 40/2557 เนื่องจากเจ้าหน้าที่อ้างว่าสิรวิชญ์ผิดเงื่อนไขที่เคยเซ็น MOU ไว้กับคสช. เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2557 ซึ่งสิรวิชญ์ได้ทำกิจกรรมกินแซนวิซต่อต้านการรัฐประหาร ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนในวันดังกล่าว และได้เคยถูกควบคุมตัว พร้อมบังคับให้เซ็น MOU ว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีกมาก่อนแล้ว
ในส่วนคดีจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ต่อมามีการสั่งฟ้องคดีต่อศาลทหาร และคดีดำเนินไปจนครบ 4 ปี มีภาระให้จำเลยทั้งสี่ไปศาลหลายครั้ง เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 62 ศาลทหารจึงสั่งจำหน่ายคดี เนื่องจากช่วงปลายปี 2561 คสช.มีคำสั่งยกเลิกความผิดเรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปไปแล้ว
เช่นเดียวกับคดีฝ่าฝืนเงื่อนไข MOU ของสิรวิชญ์ ที่คสช.เองก็มีคำสั่งให้ยกเลิกความผิดเรื่องการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัว เช่นเดียวกับข้อหาชุมนุมทางการเมือง ทำให้ศาลทหารมีคำสั่งยุติการดำเนินคดีนี้ไปแล้วเช่นกัน เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 62
คดีที่ 3 คดีนั่งรถไฟไปส่องโกงราชภักดิ์
คดีที่สามนี้เป็นที่รู้จักกันดี ในช่วงกระแสข่าวเรื่องการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ กลุ่มของสิรวิชญ์และเพื่อน ได้จัดกิจกรรม “นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 58 โดยมีกำหนดนั่งรถไฟจากสถานีธนบุรี ไปยังสถานีหัวหิน เพื่อตรวจสอบการทุจริตในอุทยานราชภักดิ์ แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจสกัดกั้น โดยการสั่งหยุดรถไฟที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง มีการตัดตู้โดยสาร ควบคุมตัวและกักตัวผู้เข้าร่วมกิจกรรม จนถึงกล่าวหาดำเนินคดีผู้ร่วมกิจกรรมรวม 9 ราย ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน
คดีนี้ก็เช่นเดียวกับสองคดีแรก ที่สิรวิชญ์กับจำเลยคนอื่นๆ ถูกกล่าวหาสั่งฟ้องต่อศาลทหาร และคดีค้างคาอยู่กว่า 3 ปี 2 เดือน ก่อนเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 62 ศาลทหารจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีนี้ เนื่องจาก คสช. มีการออกคำสั่งยกเลิกความผิดเรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองที่เป็นข้อกล่าวหาในคดีนี้ไปแล้ว
คดีที่ 4 คดีพ.ร.บ.ความสะอาดฯ กิจกรรมโพสต์สิทธิ
คดีถัดมา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2559 กลุ่มพลเมืองโต้กลับนัดทำกิจกรรม “โพสต์-สิทธิ” ให้ประชาชนร่วมกันเขียนข้อความบนโพสต์-อิท (Post-it) เพื่อรณรงค์การใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและเรียกร้องให้ คสช. ยุติการดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพ บริเวณทางเดินเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี
ระหว่างกิจกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการจับกุมประชาชนผู้ร่วมกิจกรรมจำนวน 4 คน รวมทั้งสิรวิชญ์ และต่อมาเขาถูกแจ้งข้อหาตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 โดยตำรวจอ้างว่าเขาทิ้งสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย (เศษกระดาษ) ลงบนที่สาธารณะ จากการโยนโพสต์-อิท (Post-it) ให้ผู้อื่นนำไปเขียนข้อความ
คดีนี้แม้เป็นความผิดมีโทษปรับไม่เกินสองพันบาท แต่สิรวิชญ์ก็ยืนยันต่อสู้คดีในชั้นศาล โดยยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาทิ้งเศษกระดาษลงบนที่สาธารณะ เพราะเป็นการทำกิจกรรมเพื่อแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการจับกุมตัวคนที่มีความคิดเห็นต่างกับรัฐบาล แต่เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2560 ศาลแขวงพระนครใต้ได้พิพากษาว่าเขามีความผิดตามข้อกล่าวหาเรื่องการทิ้งมูลฝอยลงบนที่สาธารณะ จึงลงโทษปรับ 1,000 บาท ต่อมาศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืนลงโทษปรับในอัตราเดียวกันนี้ เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2560
คดีที่ 5 คดีละเมิดอำนาจศาลจังหวัดขอนแก่น
คดีนี้สิรวิชญ์ไปถูกกล่าวหาไกลถึงจังหวัดขอนแก่น เมื่อเพื่อนนักศึกษากลุ่มดาวดินทำกิจกรรมอ่านแถลงการณ์ บทกวี ร้องเพลง และวางดอกไม้ บริเวณฟุตบาทด้านนอกศาลจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้กำลังใจและเรียกร้องสิทธิประกันตัวของ “ไผ่ ดาวดิน” ซึ่งได้ถูกสั่งฟ้องในคดีมาตรา 112 กรณีแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2560 โดยสิรวิชญ์ซึ่งไปให้กำลังใจไผ่ที่ศาลเช่นกัน ก็ไปยืนอยู่ในบริเวณกิจกรรมดังกล่าวด้วย
ต่อมาสิรวิชญ์และกลุ่มนักศึกษา รวม 7 คน กลับถูกศาลตั้งเรื่องไต่สวนดำเนินคดีฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คดีนี้ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่าจำเลยทั้งหมดมีความผิด ในส่วนของสิรวิชญ์ แม้จะต่อสู้ว่าเขาไม่ได้ร่วมอ่านแถลงการณ์และร้องเพลงกับคนอื่นๆ เพียงแต่นำดอกไม้ไปวางบนทางเท้าและใส่หน้ากากใบหน้ารูป “ไผ่ ดาวดิน” ไว้เท่านั้น ทั้งสองศาลก็ยังพิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 500 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และให้คุมประพฤติไว้เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยศาลอ้างว่าเมื่อเทียบกับนักศึกษาคนอื่นๆ แล้ว สิรวิชญ์เป็นผู้ใหญ่ จบการศึกษาชั้นปริญญาตรีแล้ว ย่อมมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลเป็นอย่างดี
ปัจจุบัน คดีนี้ยังไม่เสร็จสิ้น เมื่อทางฝ่ายจำเลยทั้ง 7 ได้ยื่นฎีกาคดีไปแล้วเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 62 ที่ผ่านมา และยังต้องรอคำพิพากษาของศาลฎีกาอยู่ต่อไป
คดีที่ 6-10 คดีแกนนำชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง
ชุดคดีถัดมา เป็นสถานการณ์ช่วงปี 2561 ที่สิรวิชญ์ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแกนนำของการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เรียกร้องให้คสช. มีการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน และยุติการสืบทอดอำนาจ ซึ่งการเคลื่อนไหวมีการจัดชุมนุมหลายครั้งตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤษภาคม 2561 ในช่วงครบรอบ 4 ปีการครองอำนาจของคสช. ทำให้ในช่วงดังกล่าวทั้งแกนนำและผู้เข้าร่วมการชุมนุมถูกดำเนินคดีรวมกัน 130 คน จำนวนทั้งสิ้น 10 คดี
สำหรับสิรวิชญ์ ในฐานะหนึ่งในแกนนำ ก็ถูกกล่าวหาดำเนินคดีถึง 5 คดีด้วยกัน ตั้งแต่คดีชุมนุมที่สกายวอร์กปทุมวัน (MBK 39), คดีชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและถนนราชดำเนิน (RDN50), คดีชุมนุมที่ริมชายหาดพัทยา (PATTAYA12), คดีชุมนุมหน้ากองบัญชาการกองทัพบก (ARMY57) และคดีชุมนุมที่เคลื่อนขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ไปหน้าองค์กรสหประชาชาติ (UN62)
ทั้ง 5 คดีของสิรวิชญ์ยังล้วนไม่สิ้นสุด และยังค้างคาอยู่ในชั้นต่างๆ ของกระบวนการยุติธรรม โดยแทบทั้งหมดถูกสั่งฟ้องต่อศาลยุติธรรมแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการนัดหมายสืบพยาน โดยมีคดีการชุมนุมที่พัทยา ที่อัยการสั่งไม่ฟ้องข้อหาความผิดเรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แต่ฟ้องข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ในข้อหาเดียว คดีนี้เพิ่งมีการสืบพยานเสร็จสิ้นไปเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา และศาลแขวงพัทยากำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 31 ก.ค. 62 นี้
คดีที่ 11 คดีไม่แจ้งชุมนุมคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้ง ที่ท่าน้ำนนท์
คดีที่ 11 ของสิรวิชญ์เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 62 ที่ผ่านมา ในช่วงสถานการณ์ที่ประชาชนออกมาคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป จากที่คสช. เคยกำหนดว่าจะให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 62 สิรวิชญ์ได้เดินทางไปร่วมกับเครือข่ายคนรุ่นใหม่ จ.นนทบุรี ทำกิจกรรมยื่นหนังสือถึง กกต. จังหวัดนนทบุรี เพื่อคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้งออกไป เมื่อวันที่ 11 ม.ค.62
คดีนี้ ผู้จัดมีการแจ้งการชุมนุมไว้ล่วงหน้าแล้ว ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองนนทบุรีกลับมีหนังสือไม่อนุญาตให้ชุมนุม และพยายามขัดขวางการชุมนุม ทั้งต่อมายังมีการออกหมายเรียกผู้จัดกิจกรรม รวมจำนวนทั้งหมด 4 คน รวมทั้งสิรวิชญ์ ไปแจ้งข้อกล่าวหาเรื่อง “ร่วมกันชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต”
คดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการสอบสวน
คดีที่ 12 คดีหมิ่นประมาท กกต.
คดีที่ 12 ของสิรวิชญ์เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา และนักศึกษาประชาชนจำนวนมากตั้งคำถามถึงการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่มีปัญหาหลายประการ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อถอดถอน กกต. ในหลายมหาวิทยาลัยและหลายสถานที่
สิรวิชญ์ พร้อมกับนักกิจกรรมคนอื่นๆ ยังได้จัดกิจกรรมล่าชื่อถอดถอน กกต. ในชื่อ #เห็นหัวกูบ้าง เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 62 ที่สกายวอล์กสถานีรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่ต่อมาจากกิจกรรมดังกล่าว สิรวิชญ์ พร้อมกับพะเยาว์ อัคฮาด, พริษฐ์ ชีวารักษ์ ได้ถูกนายพินิจ จันทร์ฉาย หนึ่งในคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งความในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการปราศรัยในกิจกรรมดังกล่าว ทำให้เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 62 ทั้งสามคนได้เดินเท้าไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สน.พญาไท
คดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนเช่นเดียวกัน
คดีที่ 13 คดีไม่แจ้งการชุมนุมปิดสวิตซ์ ส.ว. ที่จังหวัดเชียงราย
คดีล่าสุดของสิรวิชญ์เกิดขึ้นเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมานี้เอง โดยเขาและธนวัฒน์ วงค์ไชย หรือ “บอล” นักศึกษานักกิจกรรมอีกรายหนึ่ง เดินทางไปทำกิจกรรม “ปิดสวิตซ์ ส.ว. ไม่โหวตนายกฯ” ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 62 โดยมีการตั้งโต๊ะเขียนจดหมายถึงสมาชิกวุฒิสภาที่ คสช. แต่งตั้งมา เรียกร้องให้เคารพเสียงของประชาชน ไม่โหวตพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ
หลังจากกิจกรรม สิรวิชญ์และธนวัฒน์ พร้อมกับผู้เข้าร่วมในจังหวัดเชียงรายอีก 5 ราย กลับถูกตำรวจออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ทำให้เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา ภายหลังสิรวิชญ์ถูกลอบทำร้ายครั้งแรกเมื่อช่วงต้นเดือนมิ.ย. ผู้ถูกออกหมายเรียกทั้งหมดได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สภ.เมืองเชียงราย และคดียังอยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อมา
นอกจากตัวสิรวิชญ์เองแล้ว ควรกล่าวด้วยว่ามารดาของเขา ได้แก่ น.ส.พัฒน์นรี ชาญกิจ ยังถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับตาเช่นเดียวกัน หลังการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของลูกชาย เธอตกเป็นเป้าหมายถูกดำเนินคดีทางการเมืองถึง 3 คดีด้วยกัน ได้แก่ คดีแรกที่ทั้งครอบครัวของสิรวิชญ์รู้สึกว่าเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงที่สุด คือคดีข้อหาตามมาตรา 112 โดยพัฒน์นรีถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาว่าได้มีการรับข้อความจากแชทส่วนตัวทางเฟซบุ๊ค ที่คู่สนทนาใช้ถ้อยคำที่อาจจะเข้าข่ายมาตรา 112 และเธอไม่ได้แลกเปลี่ยนอะไร นอกจากพิมพ์คำว่า “จ้า” ตอบกลับไป เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2559
คดีนี้นับเป็นคดีที่มีข้อกังขาถึงการได้มาซึ่งข้อมูลของเจ้าหน้าที่ และยังสร้างข้อถกเถียงต่อสังคมว่าเป็นคดีที่กลั่นแกล้งกันทางการเมืองหรือไม่ เพราะจำเลยเป็นมารดาของนักเคลื่อนไหวอย่างสิรวิชญ์ คดีนี้เดิมผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีด้วย แต่เมื่อสำนวนไปถึงอัยการทหาร อัยการกลับมีความเห็นสั่งฟ้องคดีต่อศาลทหารกรุงเทพ และจนถึงปัจจุบัน คดีก็ยังไม่สิ้นสุด เมื่อยังอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ในศาลทหาร และเป็นอีกคดีหนึ่งที่สร้างภาระให้กับครอบครัวของสิรวิชญ์
หลังถูกดำเนินคดีดังกล่าว พัฒน์นรียังเลือกจะต่อสู้ โดยได้เริ่มเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองตามวาระโอกาส ทำให้เป็นที่มาของการถูกกล่าวหาในการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งอีก 2 คดี คือ คดี MBK39 และ คดี RDN50 ในฐานะผู้เข้าร่วมชุมนุม
เช่นเดียวกับการต่อสู้บนท้องถนน ในห้องพิจารณาคดีได้กลายเป็นอีกพื้นที่การต่อสู้หนึ่งของสิรวิชญ์และครอบครัวของเขา ทุกๆ คดีที่ถูกกล่าวหา สิรวิชญ์เลือกที่จะต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเขา พิสูจน์ว่าการแสดงออกทางการเมืองอย่างสงบสันติเป็นเรื่องปกติ พิสูจน์ว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องในสังคม และพิสูจน์ว่าการดำเนินคดีต่างๆ ต่อเขานั้นไม่เป็นธรรมอย่างไร