วันที่ 18 พ.ย. 2567 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ได้ยื่นฟ้อง “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ในข้อหา ร่วมกันหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา จากกรณีปราศรัยในกิจกรรมล่าชื่อถอดถอน กกต. เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2562 ที่สกายวอล์คสถานีรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
คดีตั้งแต่ปี 2562 สุดท้ายอัยการสั่งฟ้อง หลังจากเลื่อนฟังคำสั่งมาหลายครั้งในปี 62 และอีก 4 ครั้งในปี 67
สำหรับคดีนี้มี พินิจ จันทร์ฉาย หนึ่งในคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในขณะนั้น ได้เข้าแจ้งความในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ที่ สน.พญาไท ให้ดำเนินคดีสิรวิชญ์, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ “แม่น้องเกด” พะเยาว์ อัคฮาด จากกรณีทั้งสามคนได้เข้าร่วมปราศรัยในกิจกรรมล่ารายชื่อถอดถอน กกต. ในชื่อ “#เห็นหัวกูบ้าง” ที่บริเวณสกายวอล์คของสถานีรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2562
ต่อมา วันที่ 30 เม.ย. 2562 ทั้งสามคนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.พญาไท ก่อนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยพนักงานสอบสวนระบุพฤติการณ์คดีในส่วนของ สิรวิชญ์ ผู้ต้องหาที่ 1 ว่า ได้อ่านแถลงการณ์ โดยมีใจความสำคัญสรุปได้ว่า ขอให้ กกต. เปิดเผยผลการลงคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้ง และจะต้องไม่มีการทุจริต หรือเอื้อผลประโยชน์ให้กับพรรคใดพรรคหนึ่งและ คสช. ทั้งยังกล่าวถึงการใช้งบประมาณจัดการเลือกตั้งถึง 5.8 พันล้านบาท แต่กลับมีพฤติกรรมไม่โปร่งใสและมีความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่
พนักงานสอบสวน สน.พญาไท ได้มีความเห็นว่าควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสามตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. 2562 ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 โดยอัยการได้รับสำนวนคดีนี้ไว้ และให้มารายงานตัวในวันที่ 30 ก.ย. 2562 ก่อนมีการเลื่อนฟังคำสั่งเรื่อยมา จนถึงช่วงต้นปี 2563 ก็ไม่ได้นัดหมายให้ไปรายงานตัวและฟังคำสั่งอีก
แต่หลังคดีผ่านไปกว่า 5 ปี ในช่วงต้นปี 2567 เจ้าหน้าที่ของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ได้ติดต่อนัดหมายเฉพาะจ่านิวให้ไปฟังคำสั่งอัยการในคดีนี้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม อัยการยังเลื่อนฟังคำสั่งอีก 4 ครั้ง โดยทุกครั้งได้ระบุเหตุผลว่า พนักงานสอบสวนยังไม่ส่งพยานหลักฐานในคดีนี้ให้แล้วเสร็จ จึงขอให้ผู้ต้องหามาฟังคำสั่งใหม่อีกครั้ง
คำฟ้องระบุ “จ่านิว” ปราศรัย กกต. ไม่เป็นกลาง-ไม่โปร่งใส-บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เป็นความจริง เป็นการใส่ความให้ร้าย กกต.
วันนี้ (18 พ.ย. 2567) เวลา 10.00 น. สิรวิชญ์ได้เดินทางมายังศาลอาญา หลังจากพนักงานอัยการเลื่อนฟังคำสั่งมาหลายครั้ง และมีคำสั่งฟ้องในที่สุด
ในวันนี้ วรรธนัย นาซีก พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ได้ยื่นฟ้องสิรวิชญ์เป็นจำเลยเพียงคนเดียว ซึ่งสิรวิชญ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนถูกนำตัวไปขังที่ห้องขังของศาลอาญา
ต่อมาในเวลา 16.30 น. ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีโดยใช้หลักประกันเป็นเงินสด 20,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 26 พ.ย. 2567
คำฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2562 สิรวิชญ์กับพริษฐ์ ชิวารักษ์ และพวกอีกจำนวนหลายคนซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ใช้ชื่อว่า “กลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เป็นธรรม” ได้ร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาใส่ความคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อบุคคลที่สาม โดยจำเลยกับพวกได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต้านโกงการเลือกตั้ง พร้อมประกาศเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปร่วมลงรายชื่อเพื่อถอดถอนกรรมการการเลือกตั้ง
โดยจำเลยได้อ่านแถลงการณ์ปรากฏข้อความบางส่วนว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งครั้งหนึ่งสูงถึง 5.8 พันล้านบาท แต่กลับมีพฤติกรรมที่แสดงถึงความไม่โปร่งใสและความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่อย่างร้ายแรงหลายประการ ได้แก่
- เอื้อประโยชน์แก่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และพรรคการเมืองที่ คสช. สนับสนุน เช่น การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ตามคำสั่งหัวหน้า คสช., การพิมพ์บัตรเลือกตั้งโดยไม่ระบุตราสัญลักษณ์พรรคการเมืองตามคำแนะนำของหัวหน้า คสช.
- ความเรรวนในการรายงานผลการเลือกตั้ง เช่น ตัวเลขที่เปลี่ยนไปมาจนเกิดกรณีที่ผู้สมัคร สส. คะแนนลดลงนับหมื่นคะแนน, ผลรวมของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งและการลงคะแนนไม่ตรงกับยอดรวมที่ประกาศออกมา
- ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมักง่ายและด้อยประสิทธิภาพ ส่งผลให้เสียงของผู้ใช้สิทธิจำนวนมากไม่ถูกนำมานับเป็นคะแนน เช่น กรณีการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตที่เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งให้บัตรเลือกตั้งผิดเขต หรือกรณีการใช้สิทธินอกราชอาณาจักรของชาวไทยในประเทศนิวซีแลนด์ 1,542 คน ที่ กกต. วินิจฉัยเป็นบัตรที่นำไปนับคะแนนไม่ได้
อัยการระบุว่า ข้อความดังกล่าวมีความหมายว่า กกต. ปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลาง มีการทุจริตในหน้าที่ จัดการเลือกตั้งไม่โปร่งใส และมีความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่อย่างร้ายแรง ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่เป็นการใส่ความให้ร้าย กกต. และเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม โดยประการที่น่าจะทําให้คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับความอับอาย ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เสื่อมเสียชื่อเสียง ทั้งการกล่าวถ้อยคําของจําเลยดังกล่าวไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายที่จะทําให้ไม่เป็นความผิดตามฟ้องแต่อย่างใด
.
สำหรับกิจกรรมในคดีนี้ เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ กกต. โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนเรื่องการใช้สูตรคำนวณสัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมีการรณรงค์ล่ารายชื่อถอดถอน กกต. ในเว็บไซต์ change.org และตั้งจุดลงชื่อในสถานที่ต่าง ๆ โดยมีผู้ร่วมลงชื่อในช่วงดังกล่าวกว่า 8 แสนบัญชี ซึ่งต่อมา กกต. ได้แจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนอย่างน้อย 20 คน ใน 4 คดี ด้วย