11 เม.ย.2562 ศาลจังหวัดราชบุรีมีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีแจกสติกเกอร์โหวตโน ที่มีจำเลย 5 คน ได้แก่ ปกรณ์ อารีกุล, อนุชา รุ่งมรกต, อนันต์ โลเกตุ สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่(จำเลยที่ 1,2 และ3) ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท จำเลยที่ 2และภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำเลยที่ 5 ถูกกล่าวหาว่าได้แจกสติกเกอร์ที่มีข้อความรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่สภ.บ้านโป่งเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2559
อัยการได้ฟ้องทั้ง 5 คนในข้อหาสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 61 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 และยังฟ้องจำเลยที่ 1-4 ยังถูกฟ้องข้อหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมือฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 25 (ประกาศ คปค.) เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา
ทั้งนี้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องทั้ง 5 คน ในข้อหาผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียงให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามมาตรา 61 (1) พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ โดยให้เหตุผลไว้ 2 ประเด็น คือ
ประเด็นที่หนึ่ง ตามที่โจทก์อุทธรณ์ในประเด็นข้อเท็จจริงเรื่องการแจกสติกเกอร์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าพยานของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย และทหาร 1 นาย นั้น เพียงแต่พบสติกเกอร์ “7 สิงหา ร่วมกัน Vote No ไม่รับ กับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” และของกลางอื่นๆ โดยไม่มีพยานโจทก์คนใดที่เห็นจำเลยทั้ง 5 แจกเอกสารหรือสติกเกอร์ดังกล่าว หรือเห็นว่ามีการพูดปลุกระดม และที่บริบูรณ์ เกียงวรางกูรได้นำสติกเกอร์ดังกล่าวมาติดที่อกเสื้อของตน แต่ก็ไม่พยานคนใดเห็นว่าบริบูรณ์ได้สติกเกอร์ดังกล่าวจากจำเลยทั้ง 5 คน จึงเป็นเพียงการคาดคะเนของพยานเท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้บริบูรณ์ได้ให้การว่าได้สติกเกอร์ดังกล่าวมาจากธรรมศาสตร์
ประเด็นต่อมา พยานโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้ศาลเห็นได้ว่าข้อความบนสติกเกอร์นั้นผิดหรือไม่ตรงกับข้อเท็จจริงอย่างไร ทั้งการแจกสติกเกอร์เป็นสิทธิของจำเลยทั้ง 5 คน ที่สามารถทำได้ตามมาตรา 7 พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ การชี้ชวนในสติกเกอร์ให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจึงสามารถทำได้หากไม่ขัดต่อกฎหมาย ส่วนเป็นการปลุกระดมหรือไม่นั้น ตามมาตรา 61 วรรคสองนั้นมีความหมายว่ายุยงให้ประชาชนลุกฮือขึ้นฝ่าฝืนกฎหมาย แต่ความดังกล่าวเป็นเพียงการรณรงค์ให้บุคคลออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จึงอยู่ในขอบเขตของกฎหมายที่ทุกคนทำได้และไม่ใช่การยุยงให้ฝ่าฝืนกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์จึงเห็นตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คนในข้อหาตามมาตรา 61 พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ
อีกประเด็นที่อัยการได้อุทธรณ์คือ ประเด็นที่ศาลชั้นต้นลดโทษให้จำเลยที่ 1-4 กึ่งหนึ่งในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ นั้นเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเห็นว่าศาลชั้นต้นพิจารณาแต่เพียงคำรับสารภาพของจำเลยภายหลังการสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว แต่ศาลชั้นต้นก็พิพากษาลดโทษให้โดยเห็นว่าคำรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอย่างเดียวโดยไม่ได้นำคำเบิกความของพยานโจทก์มาพิจารณาด้วย ศาลอุทธรณ์เห็นว่าหากศาลชั้นต้นเห็นว่าคำรับสารภาพของจำเลยไม่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาก็ต้องพิจารณาว่าไม่เป็นประโยชน์ แต่เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาเป็นเหตุให้บรรเทาโทษ ศาลอุทธรณ์จึงยืนตามศาลชั้นต้น
ทั้งนี้ในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ยังมีประเด็นที่ไม่ได้วินิจฉัยคือ กรณีที่ทวีศักดิ์ เกิดโภคา นักข่าวของสำนักข่าวประชาไท จำเลยที่ 2 ได้ต่อสู้ในประเด็นที่ว่าตนเองเพียงแต่ติดตามจำเลยที่ 1,3และ 4 ไปทำข่าวเท่านั้น แต่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิจารณาถึงประเด็นนี้แม้ว่าจะมีการสืบพยานและแสดงหลักฐานในศาลชั้นต้นแล้วก็ตาม โดยในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เพียงแต่กล่าวถึงว่าจำเลยทั้งหมดไม่ได้กระทำความผิดตามพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ เพียงเท่านั้นโดยไม่ได้แยกพิจารณาถึงข้อเท็จจริงของทวีศักดิ์ดังกล่าว
อีกทั้งในประเด็นที่จำเลยที่ 1-4 ให้การรับสารภาพข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามประกาศ นั้น หลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในคดีนี้เพียงวันเดียว ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัยว่าประกาศดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ โดยศาลให้เหตุผลว่าโทษของข้อหานี้มีโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือนปรับ 1000 บาท นั้นไม่ได้สัดส่วนและเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ต้องหา และเนื่องจากการพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นสิทธิของผู้ต้องหาเสมือนการลงลายมือชื่อ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้วก็ตามตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดย่อมถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ (อ่านประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นนี้ได้ที่ เมื่อประกาศคณะ รปห. 49 ขัด รธน. บทเรียนจากคดีไม่พิมพ์ลายนิ้วมือของ ‘รังสิมันต์ โรม’)
ทั้งนี้คดีที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกในช่วงที่มีการรณรงค์ออกเสียงประชามติเมื่อ ปี2559 และมีการใช้ข้อหาตามมาตรา 61 พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ อีก คือ คดี ‘ประชามติบางเสาธง’ ถือเป็นคดีความแรกสุดในชุดคดีการรณรงค์ประชามติเมื่อปี 2559 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2559 นักกิจกรรม นักศึกษาและแรงงาน 13 คน รณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. 2559 บริเวณตลาดการเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจับกุมดำเนินคดี
คดีนี้ยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาคดี ระหว่างพิจารณาเรื่องเขตอำนาจพิพากษาของศาล เนื่องจากศาลทหารได้จำหน่ายคดีออกเพราะข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ได้ยกเลิกไปแล้ว ศาลทหารจึงเห็นว่าคดีนี้จึงควรอยู่ในการพิจารณาของศาลจังหวัดสมุทรปราการ จึงมีการพิจารณาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 เมื่อศาลจังหวัดสมุทรปราการมีความเห็นจึงจะนัดคู่ความมาฟังคำสั่งต่อไป (อ่านรายละเอียดได้ที่ รอความเห็นเขตอำนาจศาลคดีประชามติบางเสาธง เหตุไม่ผิดชุมนุมทางการเมือง)
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ศาลยกฟ้องคดีสติ๊กเกอร์ Vote No เหตุพยานโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าแจกจริง
ศาลราชบุรีพิพากษาคดีสติ๊กเกอร์ Vote No พรุ่งนี้
นักรัฐศาสตร์เบิกความคดีเชื่อว่าจะแจกสติกเกอร์ ชี้รณรงค์โหวตโนทำได้ ไม่เป็นความผิด
นักกิจกรรมยันข้อความสติกเกอร์ “Vote No ไม่รับ อนาคตที่ไม่ได้เลือก” ไม่ได้ก้าวร้าว–รุนแรง
ตำรวจบ้านโป่งขึ้นเบิกความ คดีแจงสติกเกอร์ Vote No นัดหน้าเริ่มสืบจำเลยทั้ง 5 คน
ศาลทหารอนุญาตฝากขัง 13 นักกิจกรรมแจกเอกสารโหวตโน ผู้ต้องหา 7 รายยืนยันไม่ขอประกันตัว