ศาลราชบุรีพิพากษาคดีสติ๊กเกอร์ Vote No พรุ่งนี้

พรุ่งนี้ (29 ม.ค.61) เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดราชบุรี นัดอ่านคำพิพากษาในคดีสติ๊กเกอร์โหวตโนที่มี 4 นักกิจกรรม กับอีก 1 นักข่าว ถูกอัยการฟ้องเป็นจำเลยในข้อหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 25 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา

คดีนี้อัยการฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน คือ ปกรณ์ อารีกุล, อนุชา รุ่งมรกต, อนันต์ โลเกตุ สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่, ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ และทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท ต่อศาลจังหวัดราชบุรี ว่าได้ร่วมกันดำเนินการแจกสติ๊กเกอร์สีน้ำเงิน มีข้อความระบุว่า “7 สิงหา ร่วมกัน VOTE NO ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” ซึ่งมีความหมายให้ร่วมกันออกเสียงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำขึ้น ซึ่งกำหนดให้มีการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ด้วยการแจกจ่ายสติ๊กเกอร์ ถือเป็นการเผยแพร่ข้อความที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง เป็นการปลุกระดมโดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง อันเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ในการกระทำการก่อความวุ่นวาย

ทั้งนี้ในคดีนี้มีประเด็นที่ต้องจับตาว่าศาลจะมีการพิจารณาในประเด็นเหล่านี้อย่างไร ได้แก่

  1. ประเด็นข้อต่อสู้หลักในคดีนี้คือ จำเลยทั้ง 5 คน ยืนยันว่าไม่ได้มีการแจกจ่ายสติ๊กเกอร์ตามที่ถูกกล่าวหา โดยนักกิจกรรมทั้ง 4 คน เพียงแค่ไปที่ สภ.บ้านโป่ง เพื่อให้กำลังใจชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. จากการเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ราชบุรี เท่านั้น สติ๊กเกอร์กับของกลางอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกนำมาฟ้องในคดีติดอยู่บนรถตั้งแต่กิจกรรมรณรงค์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในกรุงเทพฯ ก่อนเกิดเหตุคดีนี้เพียงหนึ่งวัน อีกทั้ง 1 ใน 5 ยังเป็นเพียงแค่นักข่าวที่ติดตามไปทำข่าวคดีดังกล่าวเท่านั้น และเขายืนยันว่าการติดตามแหล่งข่าวไปด้วยกันก็เป็นเรื่องที่นักข่าวทำกันอย่างเป็นปกติอยู่แล้ว (อ่านได้ที่นี่)
  2. อีกประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่ามีการแจกจ่ายสติ๊กเกอร์ดังกล่าวจริงหรือไม่คือ ข้อความ “7 สิงหา ร่วมกัน VOTE NO ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” ที่อยู่บนสติ๊กเกอร์ของกลางในคดี เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 61 พ.ร.บ.ประชามติฯ หรือไม่ เนื่องจากทางฝ่ายจำเลยเห็นว่าข้อความดังกล่าวไม่ได้ก้าวร้าว รุนแรงหรือมีการยุยงปลุกระดมแต่อย่างใด อีกทั้งพวกเขายังเห็นว่าข้อความบนสติ๊กเกอร์ยังอาจจะเกิดขึ้นจริงอีกด้วย จากระบบการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกระบุเอาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญนั้นถือได้ว่าเป็น “อนาคตที่ไม่ได้เลือก” ในประเด็นนี้ทางฝ่ายจำเลยได้นำทั้งนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์(อ่านที่นี่) และกฎหมาย(อ่านที่นี่) มายืนยันต่อศาล

อีกทั้งนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมและดำเนินการออกเสียงประชามติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 ได้ให้ความเห็นต่อสื่อมวลชนไว้ว่า การแจกสติ๊กเกอร์อย่างเดียวไม่น่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 ได้ และยังให้สัมภาษณ์ต่ออีกว่า หากเป็นสติ๊กเกอร์โหวตโนเป็นเอกสารที่เผยแพร่ได้ ถ้าเป็นเรื่องแจกสติ๊กเกอร์อย่างเดียวแล้วถูกดำเนินคดี ตนยินดีไปให้การว่าไม่ผิด

คดีนี้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 10 ก.ค.2559 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจค้นรถกระบะของนายปกรณ์ อารีกุล ขณะมาให้กำลังใจผู้ต้องหารับทราบข้อกล่าวหากรณีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่ สภ.บ้านโป่ง ก่อนพบเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ, สติ๊กเกอร์ Vote No, แผ่นพับประชาสัมพันธ์ของ กกต. และกล่องรับเงินบริจาคอยู่ท้ายรถ โดยยังไม่ได้มีการแจกจ่าย จึงมีการควบคุมตัวผู้ต้องหา 4 ราย ได้แก่ นายปกรณ์ อารีกุล, นายอนันต์ โลเกตุ และนายอนุชา รุ่งมรกต สามนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM), นายทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ประชาไท ก่อนมีการแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 นอกจากนั้นยังมีการแจ้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศคมช.ฉบับที่ 25/2549 ต่อทั้ง 4 คน เหตุไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งเจ้าพนักงาน (อ่านที่นี่)

จากนั้น 20.20 น. เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 10 คันรถ เข้าล้อมบ้านและควบคุมตัว นายภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ โดยไม่มีหมายจับหรือหมายค้น แล้วนำตัวมาที่ สภ.บ้านโป่ง เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ เช่นกัน เหตุเนื่องจากมีภาพนายภานุวัฒน์ขนเอกสารรณรงค์ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ก่อนพนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 คนมาขออำนาจศาลจังหวัดราชบุรีฝากขัง (อ่านที่นี่)

X