“วันเวลาที่สูญเสียไป ไม่อาจซื้อคืน ไม่มีอะไรแทนได้…
ผมขอเพียงน้ำสะอาด อากาศดี และโอกาสกลับไปมีชีวิตที่มีศักดิ์ศรี”
— พรชัย วิมลศุภวงศ์
เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2568 ทนายความเดินทางไปเยี่ยม พรชัย วิมลศุภวงศ์ ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ คดีของเขาสิ้นสุดลงหลังถูกศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนจำคุก 12 ปี จากการถูกฟ้องว่าโพสต์เฟซบุ๊ก 4 ข้อความ และถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2567 จนปัจจุบันเป็นระยะเวลาเกิน 1 ปี ที่เขาถูกพรากอิสรภาพไปแล้ว และอาจยังต้องอยู่ในเรือนจำไปอีกกว่าหนึ่งทศวรรษ
.
เรื่องเล่าจากจานข้าว ถึงปัญหาน้ำขาดแคลนและขาดความสะอาด
การพบปะครั้งนี้มีบรรยากาศเหมือนเช่นเคย พรชัยทักทายด้วยรอยยิ้ม แม้ผิวจะคล้ำลงอย่างเห็นได้ชัด ก่อนหน้านี้พรชัยมักพูดถึงปัญหาอาหารในเรือนจำที่ขาดทั้งคุณภาพและปริมาณให้ผู้ต้องขังอย่างพอเพียง แต่เขาบอกว่าปัญหาเรื่องอาหาร ยังเทียบไม่ได้เลยกับเรื่อง “ขาดแคลนน้ำในวันที่อากาศร้อนอบอ้าวที่สุด”
ประเด็นเร่งด่วนที่สุดของเรือนจำตอนนี้ คือปัญหา “น้ำ” — ไม่มีน้ำให้ใช้อาบ ไม่มีน้ำสะอาดให้ดื่ม น้ำประปามีจำกัด เปิดเพียงไม่กี่ครั้งในแต่ละวัน และจำกัดการเปิดน้ำ แถมไหลเบาจนแทบไม่มีใครใช้งานได้ทันเวลา พรชัยสะท้อนสภาพในเรือนจำว่า “คนต้องแย่งกันกินน้ำ แย่งกันใช้น้ำ คนไม่มีเงินซื้อน้ำขวด ก็ต้องอดน้ำ”
ภาพนักโทษจำนวนมากที่อยู่กันอย่างแออัด ต้องแย่งกันใช้น้ำในเวลาเพียง 30 นาที ในสภาพที่อากาศที่ร้อนจัดของเดือนเมษายน ท่ามกลางฝุ่นควัน PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ที่พุ่งสูง เป็นภาพที่ไม่มีใครควรต้องพบเจอ
พรชัยบอกว่าด้วยการขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานหลายด้าน ไม่แปลกใจที่จะมีโรคติดต่อระบาดในเรือนจำ อาทิ หิด วัณโรค ผื่นคัน ท้องร่วง เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำซากเพราะความสกปรกและขาดสุขอนามัย น้ำไม่พอ อากาศไม่ถ่ายเท ห้องน้ำใช้การไม่ได้ เนื่องจากไม่มีน้ำล้าง ทำให้ผู้ต้องขังต้องขับถ่ายของเสียทิ้งไว้ ซึ่งก็ยิ่งทำให้ปัญหาสุขอนามัยแย่ลงไปอีก
“ผมอยากขอให้เรือนจำเชียงใหม่และเทศบาลแม่แตง ช่วยแก้ปัญหาน้ำให้เราหน่อย น้ำคือปัจจัยพื้นฐานของชีวิต อย่าให้คนต้องอดน้ำ เพราะอยู่ในเรือนจำ”
ตั้งแต่ช่วงเดือนที่ผ่านมา พรชัยยังบอกเล่าทางเรือนจำเชียงใหม่ มีการย้ายนักโทษไปยังเรือนจำจังหวัดต่าง ๆ เช่น ลำปาง แม่ฮ่องสอน และพะเยา โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังคดีสิ้นสุดแล้ว พรชัยเห็นว่าในเรือนจำที่มีความแออัดสูงอย่างเชียงใหม่ ทำให้การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ล่าช้า ความเป็นอยู่ก็ไม่ดี ถ้าหากได้ย้ายไปเรือนจำที่แออัดน้อยกว่า เขาคิดว่าอาจมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้
พรชัยหวังว่าถ้าหากตนเองจะได้ย้ายไปเรือนจำ คงอยากจะได้ย้ายไปเรือนจำแม่สะเรียงที่มีความแออัดน้อยกว่าแม่ฮ่องสอน
.
หนึ่งปีแห่งการสูญเสีย: เสียงสะท้อนจากหัวใจพรชัย
ในโอกาสผ่านวันเวลาไป 1 ปี ที่พรชัยต้องถูกจองจำ เขาเปรยว่า “เป็นเวลาที่ไม่อาจหวนกลับ ไม่อาจซื้อคืน ไม่มีสิ่งใดทดแทนได้” เขายังความหวังที่จะได้รับการอภัยโทษ หรือการนิรโทษกรรมสำหรับนักโทษการเมืองเสมอ
พรชัยตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำด้านในเรือนจำที่หนักหนากว่าด้านนอก คนที่ไม่มีเงินแทบไม่มีทางใช้ชีวิตในเรือนจำได้อย่างมีศักดิ์ศรี ฤดูร้อนคือฤดูที่เลวร้ายที่สุด อากาศร้อนจัด น้ำไม่เพียงพอ อาหารบางวันทำให้ผู้ต้องขังท้องเสีย ความเครียดจากความร้อนทำให้นักโทษทะเลาะกันบ่อยครั้ง
พรชัยย้อนเล่าเรื่องราวชีวิตจากชนเผ่าปกากะญอบนภูเขา เขาเติบโตมาในความยากลำบาก เข้ากรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2546 เพื่อแสวงหาโอกาส ด้วยความฝันอยากเป็นผู้แทนราษฎร เขาเริ่มสนใจการเมือง และเข้าใจว่าความยากจนไม่ได้เป็นเพราะคนจน แต่เป็นเพราะนโยบายและโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม
ปี 2565-2566 เขาได้รับเชิญเป็นผู้สมัครบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ปัจจุบันเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นจุดที่พรชัยคิดว่าตนเองมาได้ไกลและประสบความสำเร็จที่สุดในชีวิตของเขา
“การที่ต้องมาสูญเสียอิสรภาพอยู่ที่นี่ ผมรู้สึกเสียดายเป้าหมายในชีวิตของผมที่พอจะประสบความสำเร็จมา”
.
ข้อความถึงนายกรัฐมนตรี: ความหวังและความกล้าหาญที่รอการตอบสนอง
พรชัยเล่าถึงการพบกับนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ครั้งแรกขณะเธอตั้งครรภ์ 7-8 เดือน ที่สำนักงานเขตดินแดง ในวันสมัครผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ เมื่อปี 2566
“ผมเห็นสายตาของผู้หญิงคนนี้มีความแข็งแกร่งและมีวความเป็นผู้นำ เธอมีความตั้งใจอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมแบบเดียวกับที่ผมเห็นในวันนั้น”
พรชัยคุยกับแพรทองธารระหว่างที่รอคิวเป็นเวลาสั้น ๆ ประมาณเพียง 3 นาที “เธอบอกว่าเรื่อง ม.112 ต้องคุยในพื้นที่ปลอดภัยคือรัฐสภา เธอมีความตั้งใจจริง ผมเห็นความพยายามของเธอในการกอบกู้ศักดิ์ศรีของครอบครัว”
ในวันนั้นที่พรชัยได้พบกับแพทองธาร เขาเห็นว่าเธอเป็นคนเข้มแข็งและมีความจริงใจจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยเธอมักจะกล่าวเสมอว่า “ใจเย็น ๆ ขอให้อดทน เรากำลังไปสู่ระบอบประชาธิปไตย”
วันนี้พรชัยขอฝากข้อความถึงนายกรัฐมนตรีว่า “ผมเห็นความตั้งใจและความกล้าหาญ เธอมักพูดเสมอว่า ‘คนไทยทุกคนต้องอยู่ร่วมกันอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี’ และเธอยังพูดถึงมาตรา 112 ว่าจำเป็นจะต้องแก้ไข เพื่อไม่ให้มีการเอาเปรียบกันทางการเมือง”
“วันนั้นผมเลือกท่านเป็นรัฐบาลแล้ว วันนี้รัฐบาลควรจะต้องทำตามคำปราศรัยที่ท่านเคยพูดไว้”
พรชัยปิดท้ายว่า หากนายกรัฐมนตรีสามารถทำตามคำพูดได้จริง ประเทศไทยจะเดินหน้าไปอย่างมีศักดิ์ศรี และเขาจะภูมิใจที่เคยยกมือไหว้เธอในวันนั้น
นอกจากนี้ พรชัยสอบถามถึงการอภัยโทษรายบุคคลที่กำลังดำเนินการอยู่ รวมถึงความคืบหน้าของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ที่ยังเป็นความหวังของเขาต่อไป
.
สามารถร่วมเขียนจดหมายถึงพรชัย “ฝากถึง พรชัย วิมลศุภวงศ์ แดน 5 เรือนจำกลางเชียงใหม่ 122 หมู่ 6 ตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 50150” หรือเขียนจดหมายออนไลน์ผ่านโครงการ Free Ratsadon โดยแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล |
.
ย้อนอ่านเรื่องราวชีวิตของพรชัย การต่อสู้ของ “พรชัย”: จากคนบนดอย คนจร พ่อค้า ผู้ชุมนุม และผู้ถูกดำเนินคดี ม.112
.