“ถ้าความยุติธรรมมีจริง ลูกแม่คงได้ออกมาแล้ว”: เสียงของยายและแม่ในวันที่ “ณัฐนนท์” ผู้ต้องขังคดีทุบรถควบคุมไมค์-เพนกวิน ยังถูกพรากอิสรภาพ 

วันนี้ (24 เม.ย. 64) นับเป็นเวลาสองเดือนพอดี ที่จำเลยทั้งห้าในคดีที่เรียกว่า คดี “ทุบรถควบคุมตัวไมค์-เพนกวิน” ต้องถูกคุมขังระหว่างพิจารณคดี แม้ทนายจะยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วถึง 3 ครั้ง และมีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งอีก 1 ครั้ง แต่กลับยังคงไม่ได้รับการประกันตัวออกมาเพื่อสู้คดีอย่างเต็มที่เลยสักครั้ง 

แม้ว่าวันจันทร์ที่ผ่านมา (19 เม.ย. 64) จะสร้างความหวังเล็กๆ ให้กับญาติจำเลยทั้งห้า ที่อาจจะพอได้พบเจอ เห็นหน้าค่าตา สัมผัส และพูดคุยต่อหน้า โดยไม่ต้องผ่านวิดีโอบ้าง แต่ก็ต้องผิดหวัง ซ้ำยังต้องรอคอยนับหนึ่งใหม่ไปนานนับเดือน หลังศาลอาญาเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานใหม่ไปวันที่ 7 มิ.ย. 64 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ตั้งแต่ทั้งห้าคนถูกคุมขังมา  ญาติของพวกเขายังไม่ได้พบเจอกันมาจนถึงปัจจุบัน

ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือ “แฟรงค์” หนึ่งในจำเลยในคดีนี้ เขาเป็นเพียงเด็กหนุ่มวัย 20 ปี จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เป็นพี่คนโตของน้องๆ 4 คน เป็นลูกของแม่ และเป็นเพียงหลานของยาย 

เขาเพิ่งเริ่มทำงานหาเลี้ยงตัวเอง และครอบครัวได้เพียงสองปี โดยเข้าเป็นพนักงานบรรจุภัณฑ์สินค้าของบริษัทโทรศัพท์มือถือแห่งหนึ่ง ก่อนสถานะจะถูกพ่วงท้ายด้วยคำว่า “จำเลย” หลังวันที่ 24 ก.พ. 64 อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีทุบรถควบคุม ไมค์-เพนกวิน 

ย้อนกลับไปยังค่ำคืนวันที่ 30 ต.ค. 63 วันนั้นเขาเพียงขับรถจักรยานยนต์ผ่านเส้นทางหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังจากเดินทางไปกินข้าวกับเพื่อน ก่อนเขาจะจอดแวะที่ปั๊มน้ำมัน และพบเห็นเหตุการณ์รถควบคุมผู้ต้องขังวิ่งผ่าน โดยมีรถจักรยานยนต์ขับตามหลายคัน 

เขาตัดสินใจเดินทางกลับบ้านต่อ แต่ทางที่กลับทำให้ขับรถเข้าไปในบริเวณเหตุการณ์บนท้องถนนในคืนนั้น และเนื่องจากรถของตำรวจพยายามขับฝ่าวงล้อมของรถจักรยานยนต์ที่ติดตาม ทำให้มีจังหวะที่ขับมาชนรถจักรยานยนต์ที่เขาขับ บริเวณก่อนถึงแยกพงษ์เพชร จากนั้นรถตำรวจได้ขับลากรถจักรยานยนต์ของเขาไปตามพื้นถนนจนรถได้รับความเสียหาย และแฟรงค์ได้รับบาดเจ็บ เขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผู้ถูกควบคุมตัวอยู่ในรถของเจ้าหน้าที่นั้น คือสองแกนนำ “เพนกวิน” กับ “ไมค์” 

“รถ [ผู้ต้องขัง] เขาชนหมด ใครขวางหน้าชนหมด [ตอนนั้น] ผมแค่กำลังขับรถจะกลับบ้านเฉยๆ เขาชนแล้วก็ลากผม ผมล้มลง มือกระแทกถูกลากไปกับพื้น เขาลากรถผมไป 200 เมตร แล้วมีพี่พลเมืองดีช่วยดึงผมออกมา” แฟรงค์ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ณ วันเกิดเหตุ

>> คลิปณัฐนนท์สัมภาษณ์ผ่านสื่อในวันเกิดเหตุ จากรายการ ทุบโต๊ะข่าว ทางช่อง AmarinTV

ภาพบาดแผลถลอกบริเวณมือขวาของณัฐนนท์ จากรายการ “ทุบโต๊ะข่าว”

 

แม้หลังเกิดเหตุ เขาได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีที่ สน.ทุ่งสองห้อง แต่เรื่องกลับไม่มีความคืบหน้า และกลับกลายเป็นณัฐนนท์ที่ถูกดำเนินคดีถึง 7 ข้อหา รวมทั้งข้อหา “ร่วมกันทำร้ายเจ้าหน้าที่” และยังต้องตกอยู่ในสถานะ “ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี” หลังศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยยังไม่มีคำพิพากษาว่ามีความผิดแต่อย่างใด และแม้จะมีหลายข้อหา แต่โทษจำคุกสูงสุดของคดีนี้ยังไม่เกิน 7 ปีครึ่ง

>>> เปิดคำฟ้องคดีทุบรถควบคุม “ไมค์-เพนกวิน” โทษหนักสุดจำคุก 7 ปีครึ่ง แต่ศาลไม่ให้ประกัน ขณะ 1 ในจำเลยยืนยันไม่ได้ร่วมชุมนุม

 

เมื่อแม่ถูกพรากลูก และยายถูกพรากหลาน

“ทางครอบครัวรับรู้มาตลอดว่าเขาไปม็อบ แต่ไม่รู้ว่าไปถึงจุดนี้ได้ยังไง” แม่ของแฟรงค์กล่าว

แฟรงค์ไปร่วมชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกในการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 บริเวณสนามหลวง ที่ถูกแปรเป็นสนามราษฎร และเขายังไปร่วมการชุมนุมใหญ่อีกบางครั้ง เช่น การชุมนุมในช่วงเดือนตุลา เรื่องการไปร่วมชุมนุมเหล่านี้ครอบครัวพอรับรู้

หากแต่ก่อนวันที่เขาถูกพรากอิสรภาพไปนั้น เขาไม่เคยบอกทางบ้านเกี่ยวกับคดีที่เขาถูกกล่าวหาเลย ยายและแม่มารู้เรื่องว่าเขาถูกดำเนินคดี หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปลายเดือนตุลาคม 2563 นั้น ก็เมื่อหลังศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวและถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แล้ว โดยทราบจากเพื่อนของเขาอีกที

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยายและแม่เพิ่งได้มีโอกาสพูดคุยกับแฟรงค์ ผ่านการเยี่ยมผู้ต้องขัง แบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แต่ด้วยเวลาที่จำกัด ยายและแม่ทำได้เพียงถามสารทุกข์สุขดิบกับเขาเท่านั้น 

“เป็นไงบ้าง อยู่ในนั้นลำบากไหม” คือสิ่งที่ยายถาม 

ยายบอกว่า ไม่อยากถามว่าสบายดีไหม เพราะยายรู้อยู่แล้วว่าข้างในนั้น ใครจะอยู่สบาย และแม้หลานจะตอบกลับมาว่าสบายดี ไม่ต้องเป็นห่วง ก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นห่วงของยายลดลง ทั้งการที่เห็นภาพเขาแค่ครึ่งตัว มีหน้ากากอนามัยปิดครึ่งหน้าไว้ ทำให้ยายไม่รู้ว่าร่างกายหรือหน้าตาเขาซูบผอมลงไปกว่าก่อนถูกคุมขังหรือเปล่า

เช่นเดียวกันกับแม่ของแฟรงค์ “แม่ก็ห่วงมันทุกอย่างแหละ” แม่บอกว่า ถ้าแฟรงค์อยู่ข้างนอกยังรับรู้ว่าเขาเป็นอย่างไรบ้าง แต่พออยู่ข้างในก็ไม่รับรู้ความเคลื่อนไหวเลย อีกทั้งยังทำได้แค่ห่วง เพราะครอบครัวไม่มีใครรู้จักคนใหญ่คนโตที่จะเชื่อกันว่าอาจจะช่วยในเรื่องแบบนี้ได้ และไม่มีใครรู้เลยว่าเมื่อไหร่เขาจะได้ออกมา 

“เหมือนติดไปวันๆ โดยที่เราไม่รู้อะไรเลย” แม่บอกถึงความรู้สึกของการรอคอยที่ยังไม่รู้จุดสิ้นสุด

ทั้งนี้ การไม่ได้ประกันตัวของแฟรงค์ส่งผลกระทบต่อครอบครัวของเขาอย่างมาก เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เขาเคยช่วยเหลือ กลับกลายเป็นยายคนเดียวที่ต้องรับภาระหาเลี้ยงทั้งครอบครัว โดยยายหารายได้จากการรับจ้างนวดแผนไทย หากด้วยสถานการณ์โควิดในระลอกล่าสุด ก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ส่วนนี้ของยายอย่างมาก 

ส่วนรถจักรยานยนต์ที่เขาเคยมี เขาก็ทำได้เพียงฝากบอกกับครอบครัวอย่างจำใจว่าปล่อยให้เจ้าหน้าที่ยึดไป อีกทั้งเมื่อไม่นานนี้ ยายยังต้องทำเรื่องการผ่อนผันการเกณฑ์ทหารกับทางกองทัพบกให้ โดยต้องส่งเอกสารต่างๆ ผ่านทางเรือนจำอีกด้วย 

ก่อนจบบทสนทนา เราถามยายและแม่ของแฟรงค์ว่า “ยังเชื่อในระบบยุติธรรมของบ้านเราอยู่ไหม” 

ยายเพียงตอบด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า “รู้สึกท้อและหมดหวัง ไม่รู้ว่าหลานจะได้ออกมาไหม ก็ได้แต่หวังว่าทนายจะช่วยหลานเราให้ออกมาได้” ในขณะที่แม่ตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงฉุนเฉียวว่า “ถ้ามันมี [ความยุติธรรม] ลูกแม่คงได้ออกมาแล้ว” 

อนึ่ง แม้ศาลจะรับฟ้องคดีแล้ว แต่จำเลยทั้งหมดยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา ยังไม่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด หากหลังการต่อสู้คดี ศาลพิพากษายกฟ้องคดี เท่ากับจำเลยจะถูกคุมขังโดยไม่มีความผิด และแม้จะมีกลไกตามกฎหมายที่จะชดใช้ค่าเสียหาย แต่โอกาสอื่นๆ ในชีวิตของแต่ละคนที่มิใช่ตัวเงินอันต้องสูญเสียไปนั้น กระบวนการใดๆ ก็อาจไม่สามารถชดเชยเยียวยาได้

 

อ่านเรื่องราวอื่นที่เกี่ยวข้อง

“พ่อไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยซ้ำ​”: คำบอกเล่าลูกชายผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีทุบรถควบคุม ไมค์-เพนกวิน

 

X