เมื่อธงรุ้งโบกไสว ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน: บันทึกการต่อสู้ของผู้ไม่สยบยอม

ในวันที่การเมืองกลายเป็นเรื่องของทุกคนอย่างแท้จริง กลุ่มชาวเพศหลากหลาย #LGBTIQA+ ได้เข้ามามีบทบาทนำในการชุมนุมของกลุ่ม #คณะราษฎร63 อย่างน่าสนใจ พวกเขาไม่ใช่สีสันของม็อบ แต่คือผู้ปราศรัยที่กล้าวิพากย์ระบบโครงสร้างที่ไม่เคยเป็นธรรม ผู้ร่วมชุมนุมที่ลุกขึ้นมาต่อรองกับรัฐเพื่ออนาคตที่ดีกว่า แกนนำที่พามวลชนเรือนหมื่นเผชิญหน้ากับสายธารของยุคสมัย หรือแม้กระทั่งการ์ดมวลชนที่พร้อมเอาร่างกายเป็นแนวปะทะความรุนแรง กระทั่งวันนี้ที่การชุมนุมเคี่ยวงวดจนใกล้จุดเดือด พวกเขายังคงมุ่งมั่น และพร้อมเคียงข้างไปบนถนนของการต่อสู้ เมื่อความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่สิ่งที่สามารถรอได้อีกต่อไป

ศูนย์ทนายฯ ชวนสนทนากับเหล่าผู้ไม่ยอมจำนน เจตจำนงของพวกเขาที่ขอท้ารบทั้งต่อเผด็จการและระบอบปิตาธิปไตย ราคาที่ต้องแลก เพราะต้นทุนของการจองจำที่สูงกว่าคนทั่วไป และความหวังสูงสุดที่จะได้เห็นธงรุ้งโบกไสวเหนือสมรภูมิทางการเมืองเพื่อยืนยันสิ่งพื้นฐานที่สุด นั่นก็คือ เราทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน

นิวส์” – จตุพร แซ่อึง

การ์ดมวลชนผู้ถูกดำเนินคดี 112 จากการแต่งชุดไทยเข้าร่วม #ม็อบ29ตุลา

“หนูนิยามตัวเองเป็นผู้หญิง แต่เป็นผู้หญิงที่ชอบผู้หญิง หนูเปิดตัวครั้งแรกตอน ป. 4 ที่เริ่มรู้ว่าตัวเองไม่ได้ชอบผู้ชาย พ่อแม่ทราบดี แล้วก็รับได้ เพราะว่าพี่สาวเราก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน”

“ปกติเราชอบแทนตัวเองว่าหนู เพราะม่ได้มองว่าตัวเองเป็นทอมจ๋า ก็เป็นทอมนั่นแหละ แต่ยังรู้สึกว่าตัวเองยังมีส่วนที่เป็นผู้หญิงด้วยมากกว่า”

“แน่นอนว่าด้วยความแตกต่างเรื่องเพศ ทำให้เราต้องเจอกับปัญหาเรื่องความสัมพันธ์อยู่บ้าง แต่นั่นมันเป็นปัญหาของคนอื่น ไม่ใช่ปัญหาของตัวเราเอง ปัญหาของคนอื่นคือการสงสัยว่าเราเป็นเพศอะไร? ยังไง? เราก็มักจะตอบว่า เออ ก็เป็นอย่างที่เห็นนี่แหละ จนทุกวันนี้คำถามประมาณนี้ก็ยังไม่หายไปไหน เห้ย! น้องเป็นผู้ชายหรือเปล่า เข้าห้องน้ำผิดหรือเปล่า หรือบางทีก็คนจะมองเราด้วยสายตาสงสัย ถ้าถามว่ารู้สึกอะไรไหม เราตอบได้ว่าเราไม่รู้สึกอะไร เพราะการที่เป็นแบบนี้ มันก็ไม่ได้ผิดแปลก เราไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นความผิดปกติ ถ้าใครจะสงสัยอะไรก็ให้เป็นปัญหาของเขาไป”

“ตอนนี้คดีที่หนูโดนคือคดี มาตรา 112 จากการร่วมชุมนุมม็อบแฟชั่นโชว์เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 มีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มไปจากข้อหาหลักคือ พ.ร.บ. ชุมนุมฯ พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ แล้วก็ พ.ร.บ. เครื่องขยายเสียงฯ ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาที่ได้อ่าน คือเขาระบุไว้ว่าเราใส่ชุดไทยสีชมพู ถือกระเป๋าสีทอง เดินบนพรมแดง และมีผู้ร่วมชุมนุมที่ตัวหนูเองก็ไม่ได้รู้จัก ไม่ได้เตรียมกันมาก่อน ตะโกนว่าทรงพระเจริญพระราชินี แล้วก็ก้มกราบเท้า”

“ก่อนเข้าร่วมม็อบวันนั้นไม่ได้เตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ เห็นจากโปสเตอร์งานก็รู้ว่าเป็นงานแฟชั่นโชว์ราษฎร ก็เลยเลือกหยิบชุดไทยมาใส่ดู ไม่ได้คิดอะไร ในเมื่อเป็นงานแฟชั่น เราก็ควรจะต้องแต่งตัวยังไงก็ได้ คิดว่าคนก็น่าจะแต่งตัวกันเยอะ อยากร่วมสนุกด้วย เพราะในชีวิตประจำวันเราไม่เคยมีโอกาสได้แต่งตัวแต่งหน้าอะไรแบบนั้น ไปลองดูซักหน่อย และด้วยความที่เราก็เป็นผู้หญิงผมสั้น อาจจะเหมือนหรืออะไรก็แล้วแต่ก็ตามคนที่ตีความ”

“หนูโชคดีที่มีแฟนที่คอยอยู่ข้างๆ พอโดนคดี เขาก็คอยเป็นกำลังใจให้ คือเขาอยู่เคียงข้างเราตั้งแต่ครั้งแรกที่เราก้าวขาออกมาสู้ตรงนี้ ตั้งแต่ตอนที่เราเป็นแกนนำเริ่มจัดชุมนุมในจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นแกนนำจัดม็อบกลุ่มแรก (กลุ่ม #บุรีรัมย์ปลดแอก) ก่อนมาร่วมม็อบแฟชั่นโชว์ที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นยังไม่โดนคดี เพราะเราขออนุญาตจัดการชุมนุมก่อน”

“ทุกวันนี้ถึงจะกลายเป็นผู้ต้องหา แต่ก็ยังเคลื่อนไหวอยู่ ยังทำหน้าที่เดิมคือเป็นการ์ดของกลุ่ม We Volunteer เพราะตัวเราไม่ได้ถนัดในการพูด การปราศรัย เราก็จะเน้นทำหน้าที่ดูแลพี่น้อง”

“ตอนที่เราเริ่มออกมาเคลื่อนไหวอย่างจริงๆ จังๆ พ่อแม่ครอบครัวเราเขาก็ไม่เข้าใจนะ เพราะที่บ้านเราไม่ได้เดือดร้อน อดยาก คือพอมีพอใช้ ใช้ชีวิตกันแบบกลางๆ ไม่มีหนี้สิน เขาเลยไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องออกมา แต่พอเรามาโดนคดี เขาเลยเริ่มเข้าใจแล้วว่านี่มันเป็นการกลั่นแกล้งนะ หลังๆ ก็เปลี่ยนมาสนับสนุน ในเมื่อตัดสินใจมาสู้ตรงนี้แล้ว ก็ต้องทำให้มันเต็มที่ไปเลย ตอนนี้เราทำเรื่องดร็อปเรียนมหาวิทยาลัยที่บ้านเกิดไว้ เพื่อที่จะได้มาเคลื่อนไหวที่กรุงเทพฯ เต็มตัว กะจะอยู่ต่อสู้ไปเรื่อย ๆ ไม่มีกำหนด อยากจะทุ่มเทจิตใจให้กับการเคลื่อนไหว”

“จากวันที่โดนคดี จนวันที่ตัดสินใจออกมาสู้ร่วมกับมวลชนเต็มตัว เราไม่เคยเจอเรื่องการเลือกปฏิบัติจากคนในฝั่งประชาธิปไตย ทุกคนค่อนข้างให้เกียรติ เขามองเรื่องการต่อสู้ของเรามากกว่าที่จะมองหรือยึดติดในเพศหรือสิ่งที่เราเป็น แต่ถ้าในส่วนของฝ่ายมลชนตรงข้าม ยอมรับว่าโดนโจมตีหนักเหมือนกัน ตอนที่เราไปให้สัมภาษณ์กับ Voice TV จะมีคนจากฝั่งตรงข้ามที่มาด่าเราด้วยคำพูดอย่าง อีผิดเพศ อีวิปริตบ้าง มีประโยคหนึ่งที่จำได้ชัดคือ ‘ขนาดเพศของมึงยังสับสนเลย แล้วจะออกมาต่อสู้อะไรได้’ พอเจอแบบนี้ เรารับมือด้วยการเลือกที่จะไม่สนใจมากกว่า เพราะเราก็รู้ตัวว่าเราทำอะไรอยู่ เรารู้ตัวว่าเราเป็นเพศนี้ แต่เราก็ยังสามารถเคลื่อนไหวได้ ไม่ได้ไปทำอะไรที่เลวร้าย”

“พูดกันตรง ๆ เราไม่เคยคิดว่าอยากจะกลายมาเป็นนักเคลื่อนไหว เพราะไม่ใช่คนที่สนใจเรื่องการเมือง ไม่ได้มีคำถามอะไรในหัว เราเองก็เคยเป็นพวกนิยมเจ้า (Royalist) เป็นคนรักเจ้ามาก ๆ ถึงขนาดยอมสักสัญลักษณ์ ร. 9 ไว้ที่หน้าอก เราไม่เคยคิดเลยว่า ตัวเองจะต้องออกมาทำถึงขนาดนี้ จุดเปลี่ยนมันเริ่มจากการที่ได้อ่านอะไรหลายๆ อย่าง จากที่เคยรับข่าวสารมาแค่ฝั่งเดียวว่า คนเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง เราเคยรู้แค่นี้โดยตลอด แต่ตอนหลังเราเริ่มมาสนใจว่าความจริงคืออะไรกันแน่ จนเราได้คุยกับคนที่เป็นเสื้อแดงเก่า เขาให้หัวข้อการเมืองเรามาหลายๆ เรื่อง ก็เลยไปตามหาอ่าน จนได้รู้แล้วว่า เออ มันเป็นอย่างนี้จริงๆ นะ ตอนที่ตาสว่างเราอ่านอะไรไปเยอะมาก”

“สำหรับคดีความที่ตัวเองโดน ดูไม่ออกเหมือนกันว่าวันข้างหน้าจะเป็นยังไง แต่ก็เตรียมใจไว้ ถ้าวันหนึ่งจะต้องกลายเป็นจำเลย หรือต้องหมดอิสรภาพ ก็คิดว่าสามารถยอมรับได้”

“พอนึกย้อนกลับไปก็แปลกดี ก่อนจะมาถึงจุดนี้ของชีวิต หนูต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย เคยเป็นผู้ช่วยเชฟในโรงแรม ทำให้เราเป็นคนชอบทำอาหารอยู่แล้ว คิดว่าถ้าการเมืองมันดีก็น่าจะไปเป็นเชฟ หรือทำอาชีพที่เกี่ยวกับอาหาร จากเชฟตอนนี้เลยต้องกลายมาเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อก่อนจับมีด จับตะหลิว ทุกวันนี้จับคีมตัดลวด จับกรวย มันเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย”

“ความหวังของตัวหนูอยากให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หนูอยากได้คุณภาพชีวิตที่ดี เพราะว่าในหลายจังหวัดที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ พอได้มาสัมผัสจริงๆ จะรู้ถึงปัญหาของมัน เราอยากให้รัฐสวัสดิการเป็นสิ่งที่คนสามารถเข้าถึงได้ อยากจะมีวันที่ได้ประชาธิปไตยที่มันเต็มใบซักที ไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆ แบบนี้ วันที่เราจะมีคณะรัฐมนตรีที่บริหารประเทศแบบที่เห็นหัวประชาชน ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่พวกพ้องตัวเองอย่างเดียว”

แอมป์ – ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา

อดีตบัณฑิตรั้วศิลปากรผู้ผันตัวสู่นักปราศรัยทางการเมือง – ชนวนนำไปสู่คดี 112 ถึง 4 คดี

“ผมนิยามตัวเองว่าเป็นคนที่สามารถรักใคร เพศไหนก็ได้ (Pansexual) ชอบในแง่ตัวของคนคนนั้น มากกว่าจะมองที่เรื่องของเพศอย่างเดียว ในชีวิตเคยชอบผู้หญิง แต่ไม่ถึงขั้นคบ เป็นแค่ความรู้สึกชอบ แต่ส่วนใหญ่ที่คบด้วยจะเป็นผู้ชาย”

“ตั้งแต่เด็ก ครอบครัวย้ายที่อยู่ค่อนข้างบ่อย จะมีช่วงที่อยู่กรุงเทพฯ อยู่นนทบุรีบ้าง แต่ถ้าโตจริงๆ ผมโตที่สระบุรี ตั้งแต่ช่วงมอต้นถึงมอปลาย ย้อนไปสมัยเรียนไม่ได้เปิดกับเพื่อนขนาดนั้นว่าตัวตนทางเพศของเราเป็นยังไง โอเค อาจจะมีเพื่อนที่รู้ แต่เราไม่ได้รู้สึกว่าจำเป็นต้องมานั่งอธิบายกับทุกคนสำหรับสิ่งที่เราเป็น คิดว่าถ้าใครเข้ามาสนิทมากๆ เขาก็น่าจะรู้เอง”

“พ่อแม่ ญาติ ก็เริ่มรู้ว่าเราเป็นอะไรช่วงนั้น ตอนแรกเขาก็แปลกใจ เพราะผมไม่ได้แสดงออกในเชิงที่เหมือนผู้หญิง ยังมีความเป็นผู้ชาย แต่พอเขารู้ก็ไม่ได้กีดกัน เขาก็พยายามที่จะปรับตัว แล้วก็ยอมรับในสิ่งที่เราเป็นมากกว่า”

“ถ้าเทียบกับคนอื่น ผมโชคดีที่ไม่ได้โดนตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวตนมาก แต่ถ้าถามว่าเคยโดนไหม ยอมรับว่ามี ส่วนตัวพยายามจะมองอย่างเข้าใจ เพราะยังมีคนอีกมากที่มีอคติกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ส่วนหนึ่งก็รู้สึกว่า ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปมากแล้วนะ แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่เขารู้สึกไม่เห็นด้วยกับเพศที่แตกต่างไปจากความเป็นชายความเป็นหญิงอยู่ดี”

“สำหรับคดีความที่ผมโดนตั้งแต่ออกมาเคลื่อนไหวเมื่อปีที่แล้ว ต้องบอกก่อนว่าเยอะมาก จำได้ไม่หมด (หัวเราะ) แต่ที่หนักๆ เลยคือคดีมาตรา 112 ทั้งหมดตอนนี้ 4 คดี ทั้งหมดเกิดจากการปราศรัยในที่ชุมนุม ซึ่งก็ยังไม่นิ่งว่าจะมีคดีเพิ่มมาอีกไหม”

“จุดที่ทำให้เข้ามาเคลื่อนไหวในเรื่องของสถาบันฯ พร้อมกับกลุ่ม #คณะราษฎร63 เพราะผมเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยที่ยังเด็กๆ ต้องยอมรับว่า ผมและคนอีกจำนวนมากเติบโตขึ้นมาในยุคที่ไม่ปกติ เราเห็นการรัฐประหารตั้งแต่สมัยประถม อยู่มาวันหนึ่งก็ต้องมาหยุดเรียนเพราะว่ามีรถถังขับเข้ามาในกรุงเทพฯ บวกกับที่บ้านเราเองก็ติดตามม็อบอยู่เรื่อย ๆ แต่เป็นม็อบของอีกฝั่ง (หัวเราะ) โชคดีพ่อแม่ผมไม่ได้สุดโต่ง เขายังมีเหตุผลและค่อนข้างเป็นกลาง แต่กับทางญาติเราเขาจะค่อนข้างชัดเจนเลยว่าไม่เห็นด้วย เคยกดดันเรา เตือนว่าให้เบาลง แต่หลังๆ ก็เริ่มปล่อย เริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมเราถึงต้องออกมาสู้”

“แรงบันดาลใจอีกส่วนในการต่อสู้ถูกหล่อหลอมจากการอ่านหนังสือ การดูภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวชีวิตของคนที่ลุกขึ้นมาทำบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม พอดูแล้วก็รู้สึกว่า ทำไมคนพวกนี้เขาถึงกล้าทำสิ่งที่มันดูยิ่งใหญ่จังเลย ทำอะไรที่ดูมีพลัง ทั้งที่เป็นแค่คนตัวเล็กๆ”

“มีหนังสารคดีเรื่องหนึ่งที่ปลื้มมากคือ Bohemian Rhapsody (โบฮีเมียน แรปโซดี) สารคดีที่เล่าเรื่องราวของ Freddie Mercury (เฟรดดี้ เมอร์คูรี) นักร้องนำวงร็อกในตำนานอย่างวง Queen (ควีน) ในวันที่เขาก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิต แล้วเขารู้สึกว่า ถึงเวลาที่จะต้องใช้ชีวิตอย่างที่มีคุณค่า ชีวิตที่ทำเพื่อคนอื่น สุดท้าย เขาไปขึ้นคอนเสิร์ตงาน Live Aid เพื่อระดมทุนหาเงินเข้ากองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ HIV ทำให้คอนเสิร์ตในครั้งนั้นกลายเป็นคอนเสิร์ตที่สามารถระดมเงินเพื่อช่วยผู้ป่วยได้จำนวนมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ หลังจากดูจบ มันกลายเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้ผมรู้สึกอยากมีชีวิตที่อุทิศตัวเพื่อคนอื่นบ้าง”

“กลับไปในส่วนของคดีที่โดนกล่าวหา ผมยังมีความหวังนะ ยังมองโลกในแง่ดี แต่ขณะเดียวกันก็เตรียมใจด้วยประมาณ 70 – 80 เปอร์เซ็นต์ ผมเข้าใจมาตลอดว่าคดี 112 ถ้าอัยการสั่งฟ้อง ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกขังระหว่างพิจารณา แต่กังวลแค่เรื่องหนึ่งคือการที่คนที่มีความหลากหลายทางเพศแล้วต้องเข้าไปอยู่ในคุก ด้านในจะมีพื้นที่สำหรับคนแบบพวกเราหรือเปล่า? หรือพื้นที่ที่จะทำให้เรารู้สึกว่าเราสามารถเป็นตัวเองในนั้นได้ ยังติดอยู่ที่เรื่องนี้”

“ทุกวันนี้ ใจสงบแล้ว หลายคนมักมองว่า พอถึงจุดที่ระเบิดเวลาใกล้จะระเบิด ทุกอย่างมันจะแย่ จะเครียด แต่ผมกลับคิดว่า การต้องนับวันรอฟังคำสั่งอัยการ มันไม่ใช่ระเบิดเวลา แต่มันเหมือนนับวันรอเดดไลน์ไปสู่จุดสิ้นสุด เพื่อที่จะเกิดสิ่งใหม่ เส้นทางการต่อสู้ในอีกรูปแบบ การเข้าคุกอาจทำให้ผมไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวได้อย่างทุกวันนี้ แต่แม้จะอยู่ข้างใน ก็ยังต้องสู้ต่อในฐานะผู้บริสุทธิ์ ในฐานะคนที่ถูกยัดข้อหาแล้วถูกคุมขัง ผมมองว่ายังสามารถต่อสู้ในแนวทางนั้นได้”

“ทุกวันนี้อยากจะมีชีวิตแบบไหน อยากจะทำอะไร ผมก็ทำเลย เพราะตอนนี้มันยังเป็นช่วงที่เรายังสามารถทำอะไรได้ ก็เลยพยายามจะทำทุกอย่างให้มากที่สุด ช่วยอะไรใครตรงไหนได้ ผมก็พยายามจะเข้าไปช่วย”

“กับคำถามที่ว่า การต่อสู้ครั้งนี้เหมือนเอาอนาคตของตัวเองไปแลกไหม? จริงๆ สำหรับผมแล้ว ก่อนหน้านี้เคยคิดบ้างว่า ทำไมเราไม่ไปทำอย่างอื่นวะ เพิ่งจะอายุ 26 เพิ่งเริ่มต้นชีวิตวัยทำงาน แต่สุดท้ายแล้ว พอมานั่งสำรวจตัวเอง คิดกับตัวเอง ก็รู้สึกว่า ถ้าเราไม่ทำอะไรบางอย่าง ณ ตอนนี้ ตอนที่เราอายุมากกว่านี้ เราอาจจะไปเจออุปสรรคบางอย่างก็เป็นได้ อาจไปสะดุดตอ สะดุดกำแพง ที่มันอยู่ในสังคม เลยรู้สึกว่า ทำไมเราไม่เสียสละสิ่งที่เรามีตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อที่จะทำให้ตอหรือกำแพงอะไรทั้งหลายที่มองไม่เห็นนี่มันสลายหายไป แล้วถึงเวลานั้นเราค่อยใช้ชีวิตเพื่อทำสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ”

“อนาคตที่วาดฝันไว้ ไม่มีใครรู้หรอกว่าวันหนึ่งผมจะสามารถไปถึงจุดนั้นได้ไหม แต่ ณ จุดนี้ ผมเห็นอยู่ตรงหน้าว่าผมสามารถทำอะไรได้ ก็เลยเลือกที่จะหยิบในสิ่งที่สามารถทำได้ก่อน ก่อนจะไปมองอนาคตว่าข้างหน้าชีวิตจะเป็นยังไง”

“สิ่งที่ผมแลกไป ที่จริงอาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรเลย เพราะผมแค่ลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่พอจะทำได้ และพร้อมที่จะทำมัน กลับกันกับคนอื่น เขาอาจจะไม่ได้มีโอกาสมากเท่านี้ ในวันนี้ที่ยังไม่มีภาระอะไร ผมเลยอยากจะใช้โอกาสให้มันมากที่สุดเพื่อที่จะช่วยให้คนอื่นๆ ในสังคมได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ได้มีอิสระ ได้มีความคิดเป็นของตัวเองสักที”

“ในปลายทางการต่อสู้ของพวกเรา ที่สุดเลยคือการที่เราต้องมีร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนโดนประชาชนจริงๆ รวมทั้งเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ด้วย ทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะจะปฏิรูปสถาบันฯ ได้ เราจำเป็นต้องทำผ่านทางรัฐธรรมนูญ ไม่ได้หมายถึงการไปทำลายหรือล้มล้างสถาบันฯ แต่เราหมายถึงการปฏิรูปให้สถาบันฯ กลับไปอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง”

คริษฐ์ (สงวนนามสกุล)

จากเด็ก ม. 6 ที่กำลังยืนบนทางแยกของชีวิต สู่ผู้ต้องหาคดี ม. 112 จากการปราศรัยทางการเมือง

“ผมนิยามตัวเองว่าเป็นเควียร์ (Queer – คนที่ไม่ต้องการถูกนิยามว่าเป็นเพศใดแน่ชัด) มันเป็นอัตลักษณ์ทางเพศอย่างหนึ่งคล้ายกันกับ LGBTIQ+ แต่ในส่วนของรสนิยมทางเพศ ผมรู้สึกว่าตัวเองชอบได้ทุกเพศ ในบางเฉดของตัวตนก็รู้สึกว่าตัวเรามีความเป็นแพนเซ็คช่วล (Pansexual – คนที่ชอบได้ทุกเพศ) ด้วย”

“รู้ตัวว่าตัวว่าตัวเองเป็นอะไรมาตั้งแต่สมัยประถม ตอนนั้น เรารู้สึกว่าเราไม่เหมือนคนอื่นตรงที่เราไม่ได้มีความรู้สึกแค่กับเพศหญิง หรือเพศใดเพศหนึ่ง ตัวผมเองเคยชอบคนที่เป็นทอม เลสเบี้ยน หรือแม้แต่คนที่เป็นคนข้ามเพศเองก็ตาม ผมเคยชอบแล้วก็เคยคุยด้วย”

“ผมโชคดี เพราะว่าที่บ้านเขารู้มาตลอดว่าเราเป็นอะไร เขาคิดว่ายังไงก็ไม่น่าเป็นผู้ชายร้อยเปอร์เซ็นต์ จากที่เขาสังเกต ตั้งแต่เรายังเด็กๆ มีบางมุมที่เราก็ดูเหมือนเด็กผู้หญิง มีความอ่อนหวาน นุ่มนิ่ม แต่ในบางมุมเราก็แมนมากๆ เขาเลยน่าจะพอเข้าใจได้ตั้งแต่ตอนนั้น”

“ครอบครัวพูดตลอดมา เราจะเป็นเพศอะไรก็ได้ ขอแค่ให้ตัวเรามีความสุขแล้วกัน เขาไม่เคยว่าอะไร ตอนที่คัมเอาท์ (come out – การบอกคนรอบข้างเกี่ยวกับอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศของตัวเอง) เมื่อสองปีที่แล้ว เราบอกทุกคนในบ้านว่า เราเป็นเควียร์นะ ทุกคนก็พูดว่า ดีแล้ว หม่าม๊ากับป้าเราเองเขาก็บอกว่าเขารู้มาตั้งนานแล้ว แต่ก็ดีที่มาบอกกันตรงๆ”

“ก่อนหน้าที่จะโดนคดี ผมเคยไปร่วมม็อบกับเพื่อนบ้างในช่วงปีที่แล้ว แต่ไม่ได้เปิดหน้าปราศรัย แต่โดยส่วนตัวเราสนใจเรื่องการเมืองมานาน มีการโพสต์เฟซบุ๊คถึงเรื่องนี้บ้าง แล้วก็เคยคุยกับเพื่อนที่โรงเรียนว่า เออ อยากจะจัดม็อบนะ”

“ผมเริ่มตั้งคำถามกับสังคมตั้งแต่สมัยก่อนที่จะมีม็อบ กปปส. จนตอนที่เกิดม็อบใจกลางเมือง จำได้ว่าตอนนั้นอายุประมาณ 12 อยู่ประมาณ ป. 6 ด้วยความที่ที่บ้านเราเป็นเสื้อแดง เขาก็จะพูดเรื่องม็อบ กปปส. ให้ฟังบ้าง สิ่งที่เราสงสัยคือ ทำไมเขาถึงต้องออกมาประท้วงกัน? ทำไมถึงเรียกร้องให้มีการยุบสภา? หรือว่าเปลี่ยนรัฐบาลในตอนนั้น ทั้ง ๆ ที่ก็เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นั่นคือคำถามที่เรามีในในใจ”

“ผมสนิทกับก๋ง เขาเป็นคนเสื้อแดงที่เคยไปชุมนุม ถามเขาว่าทำไมผู้ชุมนุมกลุ่มนั้นถึงอยากให้มีรัฐประหารเกิดขึ้น เขาก็อธิบายว่า การรัฐประหารคือการยึดอำนาจของประชาชนไป และมันไม่เป็นธรรม ก๋งเล่าเรื่องการเมืองให้ฟังตั้งแต่เด็กๆ เขาเพิ่งเสียไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก็เลยแทบไม่ได้คุยเรื่องการเมืองอีกเลยกับที่บ้าน”

“เกี่ยวกับคดีที่โดนกล่าวหาคือคดีมาตรา 112 เหตุคือผมไปปราศรัยในการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมของปีที่แล้ว วันนั้น หัวข้อปราศรัยของผมเกี่ยวกับเรื่องระเบียบต่างๆ ในระบบการศึกษาไทย เรื่องแรกคือเรื่องข้อกำหนดเรื่องการแต่งตัว วิพากย์เรื่องชุดยูนิฟอร์มนักเรียนเทียบกับชุดไปรเวท แล้วก็พูดเรื่องแบบเรียนในวิชาประวัติศาสตร์ไทย ตอนนั้นเราได้พูดถึงเรื่องของสถาบันกษัตริย์ด้วย ซึ่งก็อาจจะมีการใช้คำพูดบางส่วนที่รุนแรง แต่ก็เพราะต้องการให้คนฟ้งตั้งใจฟังสิ่งที่เราพูด แล้วก็รู้สึกมีส่วนร่วมกับเนื้อหา”

“พูดตรงๆ ว่า วันที่ขึ้นปราศรัยไม่ได้เตรียมเนื้อหาอะไรมาก แค่รู้สึกว่ามันถึงเวลาแล้ว ถ้าเรายังทนอยู่ในระบบการศึกษาที่ไม่ก้าวไปข้างหน้า ยังสอนให้เด็กจำโดยที่ไม่มีความคิดเชิงวิพากย์ (Critical Thinking) มันไม่ได้แล้ว เด็กควรจะต้องกล้าตั้งคำถาม ไม่ใช่แค่เชื่อในสิ่งที่ถูกสอนมา จากการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์มาบ้าง เริ่มกล้าที่จะพูด แล้ววันนั้นมันมีโอกาศดีพอดี ผมก็เลยขึ้นปราศรัย เพราะได้โอกาศจากเพื่อนในกลุ่มนักกิจกรรม ปรึกษากับเพื่อนกับพี่แล้ว ก็ตัดสินใจออกไปพูด เนื้อหาเราก็เตรียมเองมาจากบ้าน ทุกอย่างมันกะทันหันมาก ยังไม่ทันได้บอกครอบครัวด้วยซ้ำ”

“หลังจากปราศรัยเสร็จ ตอนแรกกลัวว่าจะโดนอะไรหรือเปล่า จะมีคนไม่ชอบ หรือมีเสียงตอบรับที่ไม่ดีจากคนรอบข้างไหม แต่ก็ดีที่วันนั้นไม่มีใครว่าอะไร ด้านหนึ่งคิดว่าตัวเองน่าจะเสี่ยงที่จะโดนคดี โดนหมายเรียก แต่ก็ไม่คิดว่าจะเร็วขนาดนี้”

“ตอนที่รู้ว่าโดน 112 ผมไม่ได้รู้จากหมาย เพราะตำรวจ สน. พหลฯ เป็นคนโทรมาบอกเองเลย พอไปรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงได้เห็นหมายเรียกของเรา จำได้ว่าตอนนั้นแปลกใจมาก เพราะตำรวจไปเอาเบอร์ผมมาจากไหนไม่รู้ ถามว่านี่ใช่คริษฐ์ไหม รู้ไหมว่าตัวเองโดนตั้งข้อหามาตรา 112 ผมที่ยังงงๆ ก็ตอบไปว่า เหรอครับ ก็ตกใจเหมือนกัน เพราะไม่ได้เห็นหมายมาก่อน ตำรวจยังบอกอีกว่า วันที่ไปรับทราบข้อกล่าวหา ห้ามพานักข่าวหรือพาเพื่อนไปนะ ให้ไปคนเดียว จากนั้นผมก็เลยติดต่อกับศูนย์ทนายฯ เรื่องคดีความ”

“วันที่ไป สน. ตอนแรกก็ไม่ได้รู้สึกอะไรเท่าไหร่ แต่พอเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาเสร็จแล้วออกมา เพื่อนทักว่าเราหน้าซีดไปเลย ยังดีที่วันนั้นมีเพื่อนจากที่โรงเรียนและเพื่อนนักกิจกรรมที่เดินทางไปให้กำลังใจเราด้วย”

“หลังจากรู้ว่าตัวเองโดนคดี ผมเลยโทรหาหม่าม๊า โทรหาย่า บอกว่าน้องโดน 112 นะ เขาก็ถามเราว่าไปทำยังไงถึงโดน ครอบตรัวตกใจกันมาก กลัว กังวลว่าเราจะสามารถเรียนต่อมหาลัยได้ไหม ครอบครัวเราไม่ได้มีความรู้ด้านกฎหมายมากมาย บ้านเราเป็นคนค้าขาย ย่าเองก็อยู่บ้านเป็นแม่บ้านมาโดยตลอด พอเขารู้ว่าเราโดน 112 สิ่งที่พวกเขาคิดคือจะต้องโดนประหาร 7 ชั่วโคตรแน่นอน เราก็เลยต้องบอกเขาว่ากฎหมายตัวนี้มันไม่ได้ถึงขั้นนั้น ก็เลยเปิดประมวลกฎหมายอาญาให้เขาดู”

“ตอนที่เกิดคดีความ ผมเพิ่งจะอายุ 18 ได้ไม่นาน ทำให้ต้องขึ้นศาลอาญาฯ ทั้ง ๆ ที่ยังเรียนอยู่มัธยม 6 เรื่องที่เกิดขึ้นมันส่งผลจนเราเกิดภาวะเจ็บป่วยทางอารมณ์และจิตใจ (Mental Breakdown) ค่อนข้างช็อค แล้วฉันควรจะเอายังไงต่อดี? อนาคตของฉันจะเป็นยังไงต่อ? เพราะผมเองก็ไม่รู้ว่ากฎหมายตัวนี้มันจะทำอะไรเราได้เพิ่มไปกว่านี้ไหม ยิ่งโทรไปบอกที่บ้าน กลายเป็นพวกเขาที่ต้องแบกรับความกลัวไปด้วย เราเลยยิ่งกดดันตัวเอง ก็ได้แต่บอกทางบ้านไปว่า โอเค ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราขอรับทุกอย่างไว้เอง ถ้ามันไม่ไหวจริงๆ จะโทรไปบอก”

“ผมตกอยู่ในสภาวะนั้นไปพักใหญ่ ก่อนจะเริ่มดีขึ้นราวอาทิตย์สองอาทิตย์ต่อมา สิ่งที่ช่วยให้ดีขึ้นคือแฟนกับพี่ที่สนิทกัน เขามาอยู่เป็นเพื่อนที่บ้านทุกวัน แล้วเรายังได้กำลังใจจากคนรอบข้างด้วย เพื่อนที่เห็นเรื่องคดีของเราในทวิตเตอร์ก็ช่วยกันกระจายข่าวผ่านทางอินสตาแกรมอีกทาง”

“มัธยม 6 เป็นช่วงที่ต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาลัย ตัวผมอยากเรียนต่อด้านรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แล้วทีนี้พอโดนหมายเรียก ผมก็เริ่มกังวลกับอนาคตของตัวเอง จะยังสอบราชการได้ไหม? จะไปอยู่สถานทูตได้ไหม? อย่างแรกเลย การจะไปทำงานในกระทรวงได้ เราต้องเป็นคนที่ไม่มีความผิดในทางคดีความมาก่อน ก็ค่อนข้างกังวล แต่ตอนนี้ก็ไม่เก็บมาคิดเท่าไหร่แล้ว”

“ณ ตอนนั้น ผมแทบจะไม่มีเวลาอ่านหนังสือ เพราะว่า วัน ๆ เราคิดอยู่แต่กับเรื่องเดิม ๆ คิดอย่างเดียวว่า จะทำยังไงให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น เหมือนพยายามจะเยียวยาตัวเองก่อน แต่มันก็ไม่ได้ผล ก็เลยต้องรอรับกำลังใจจากคนอื่นแทน”

“ทุกวันนี้ สภาวะความเจ็บป่วยทางใจก็ยังคงอยู่ เหมือนกลายเป็นบาดแผลทางใจเรื้อรัง (Trauma) ที่เจ็บปวดที่สุดคือคำพูดของคอรบครัว เขาพูดว่า คุณมันกล้านะ แต่กล้าในสิ่งที่ผิด ในสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะมาภูมิใจ คนควรรู้ว่านี่คือความผิดของคุณ แล้วคุณต้องยอมรับมันให้ได้ อันนี้คือญาติเราเป็นคนพูด หลังจากนั้นก็มีช่วงที่โดนตัดเงินจากที่บ้าน ก็ยิ่งเครียด ยิ่งตอกย้ำว่าแบบทุกคนมองว่าเราทำผิดนะ ยิ่งรู้สึกแย่กับตัวเอง”

“ส่วนพ่อแม่ ช่วงแรก ๆ เราก็โดนว่าเหมือนกัน ต้องพยายามคุยว่า กฎหมายตัวนี้ที่จริงมันไม่แฟร์กับทุกๆ คนเลย ไม่ว่าใครก็ตาม พยายามอธิบายให้เขาฟังไป อย่ามองว่าเราเป็นผู้กระทำความผิด ให้มองว่าเราเป็นเหยื่อของกฎหมายที่มันไม่แฟร์ตั้งแต่ต้น อยากให้เขามองเราในมุมนั้น หลังจากคุย เขาเลยพยายามเข้าใจ แล้วก็ยอมรับว่า ในเวลานี้มันควรจะต้องให้กำลังใจกันมากกว่าที่จะมาซ้ำเติม ตอนนี้ทั้งคู่ก็มีท่าทีดีขึ้น”

“ตอนนี้กลับมาคุยกับอา กับหม่าม๊าได้แล้ว แต่กับป้ากับอาบางคน เราก็ยังคุยไม่ได้ คือบ้านผมเป็นครอบครัวใหญ่ แล้วทุกคนก็พูดทำนองว่า รู้ไหม ทำแบบนี้มันเสียนามสกุล ทุกคนในบ้านได้รับผลกระทบหมดเลยนะ จนมันกลายเป็นรอยแผลในความสัมพันธ์ด้วย”

“มีช่วงหนึ่งที่เราต้องไปพบจิตแพทย์ หมอบอกว่า เรามีสิทธิกลับมาเป็นโรคซึมเศร้า ก็ได้ยามาทาน หมอพยายามบอกให้เราเข้าไปคุยกับเขาบ่อยๆ แต่ทุกวันนี้ไม่ได้หาหมอแล้ว เพราะเรื่องโควิดด้วย เรื่องสอบเขามหาลัยด้วย ก็เลยยิ่งไม่มีเวลาไป”

“ถามว่าอะไรคือความฝันของเรา? นอกจากเรื่องเรียนต่อมหาลัยแล้ว ตอบยากเหมือนกัน ยิ่งในประเทศนี้ที่ไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กมีความฝัน (หัวเราะ) ตั้งแต่เด็ก ผมอยากจะไปอยู่ที่อื่นที่ไม่ใช่ประเทศไทย เหมือนทุกคนในบ้านปลูกฝังเรามา อยากให้เราไปอยู่ต่างประเทศ เพราะเขาเชื่อว่าน่าจะมีอนาคตที่ดีกว่านี้ อยากไปทำร้านอาหารสไตล์ของตัวเอง เป็นสไตล์ที่ผมชอบ เพราะผมไม่ชอบกินผัก (หัวเราะ) อีกความฝันเล็ก ๆ คือเราอยากทำงานสวนสัตว์ มันอาจจะเป็นความฝันที่ดูไม่มีสาระ แต่ด้วยความที่ผมอยู่กับสัตว์ตั้งแต่เด็ก ๆ  มันก็เลยทำให้ผมรู้สึกผูกพันธ์กับอาชีพนี้ คิดว่า ถ้ามีโอกาศ เราก็อยากที่จะไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เราชอบ”

“การโดนดำเนินคดีทำให้ทุกอย่างมันยาก จะไปเรียนต่อก็ยาก เพราะออกจากประเทศไม่ได้ เพราะติดคดีความ ถ้าออกไปแล้ว ผมจะโดนหมายจับไหม มันไม่มีอะไรมารับประกันได้เลยว่า ผมออกไปได้แล้วจะกลับมาอย่างปลอดภัยไหม”

“ในฐานะที่ตัวเองก็เป็นหนึ่งในเยาวชนที่โดนคดี 112 ผมมองว่า ตอนนี้ กฎหมายมาตรานี้ มันถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่าที่จะเป็นกฎหมายจริงๆ มันเอาไว้ทำให้คู่แข่งทางการเมือง หรือคนที่เห็นต่างทางการเมืองถูกขจัดออกไป แล้วก็สร้างความกลัวให้เกิดขึ้นในสังคมมากขึ้น แทนที่เราจะสนับสนุนให้คนกล้าออกมาวิพากย์ กลับไปกดตรงจุดนั้นไว้ แล้วทำให้สังคมเดินต่อไปด้วยความกลัว”

“ความกลัว ความหมดหวังทั้งหมดมันถูกสะท้อนออกมาผ่านกลุ่มย้ายประเทศในเฟซบุ๊ค คนรุ่นใหม่น่าจะรู้สึกคล้ายๆ กันคือ เขาสิ้นหวังแล้วกับประเทศนี้ คิดว่ามันไม่มีทางตอบโจทย์การจะมีอนาคตที่ดีได้ คนทุกคนย่อมอยากจะอยู่ในที่ที่มันคู่ควรกับเขาจริงๆ ก็เลยเข้าใจความรู้สึกของคนที่อยู่ในกลุ่ม และคนที่ต้องการอยากจะออกไปต่างประเทศ”

“การที่ผมออกมาเคลื่อนไหว แม้มันจะมีราคาที่ต้องแลก แต่ก็เพราะผมต้องการทำอะไรบางอย่างเพื่ออนาคตของตัวเอง คนที่เขาออกมาเคลื่อนไหวคนอื่นๆ ก็เหมือนกัน อย่างที่ได้บอกไป ทุกๆ คนย่อมอยากจะมีอนาคตที่ดี อนาคตที่เหมาะสมอย่างที่เราอยากจะให้มันเป็น แต่ในเมื่อตอนนี้ ประเทศมันไม่สามารถตอบโจทย์ตรงนั้นได้ การออกมาพูด การออกมาเรียกร้องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องจำเป็น”

“สิ่งที่คนรุ่นใหม่ออกมาพูดในวันนี้ มันสะท้อนแล้วว่าพวกเขาต้องการเรียกร้องสิ่งที่เขาควรมีตั้งแต่แรกนั่นก็คือสิทธิของทุกๆ คน ในแง่หนึ่ง มันยังสะท้อนอีกด้วยว่า จริงๆ แล้วเด็กไม่ได้มีอะไรที่ด้อยไปกว่าผู้ใหญ่ เขาคิดเป็น นี่ก็เป็นอีกโอกาศหนึ่งที่ช่วยทำให้เด็กได้พิสูจน์ตัวเองมากขึ้นในการแสดงความเห็นด้านการเมือง”

“สำหรับผม ผมคิดว่า การต่อสู้ของพวกเราอาจจะยังมีอยู่ไปเรื่อย ๆ จนกว่าชนะ ซึ่งผมเองก็ตอบไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ แต่ก็หวังอยากให้เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ อันที่จริงแล้ว ถ้าเรามีสหภาพแรงงานเข้ามาร่วมในขบวน เราอาจจะสามารถต่อรองกับภาครัฐได้ง่ายกว่านี้ สามารถสร้างผลกระทบด้านบวกกับสังคมได้มากกว่า คิดว่าถ้าเป็นแบบนั้น ข้อเรียกร้องของพวกเราอาจจะมีน้ำหนักมากขึ้น เพราะอย่างตอนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มันก็มีการออกมาเสริมกำลังของสหภาพแรงงาน เลยทำให้การเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นได้”

ฟ้า – พรหมศร วีระธรรมจารี

นักกิจกรรมผู้เคยถูกคุมขังในชั้นสอบสวน คดี ม. 112 กับราคาที่ต้องแลกเพื่อการต่อสู้

“คนทั่วไป ถ้ามองเราจากภายนอก อาจจะบอกว่าเราเป็นเกย์ เป็นตุ๊ด แต่สำหรับตัวเราเอง เรามองว่าตัวเองเป็นคนไม่มีเพศ (non-binary) ไม่ใช่แค่ชาย หญิง หรือเกย์ เพราะเรารู้สึกว่าตัวเองมีความหลากหลายเกินกว่านั้น”

“สมัยมอปลายเป็นช่วงที่ครอบครัวเริ่มเข้าใจว่าเราเป็นเพศอะไร เท้าความก่อนว่า ตอนแรกเรายังชอบผู้หญิงปกติ แต่เริ่มมาชัดเจนว่าชอบผู้ชายก็สมัยช่วงมอปลาย เราไม่เคยพูดตรงๆ แต่พ่อแม่เขารู้เอง แม่เคยถามเราว่า ตกลงเราชอบผู้ชายใช่ไหม ณ เวลานั้น เรายังไม่สามารถตอบแม่ได้ว่าเราชอบผู้ชายหรือผู้หญิง แต่เรามีความสุขกับการอยู่กับใครสักคนที่รู้สึกดีด้วย ไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศ แม่เราก็ไม่ได้ว่าอะไรหลังจากนั้น ฟ้าโชคดีด้วยตรงที่ครอบครัวเราเป็นครอบครัวคนจีนที่หัวสมัยใหม่”

“(การเป็น LGBTIQ+ กับเรื่องการเลือกปฏิบัติ?) เราเป็นคนค่อนข้างสตรองมากในการใช้ชีวิต ทำให้ไม่ค่อยเจอปัญหาอะไรเลย แต่ด้วยความที่ครอบครัวเราเป็นครอบครัวคนจีน มันก็จะมีการเหน็บแนมกันบ้างจากทางญาติ ทำไมลูกลื้อไม่เป็นชายร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำไมต้องมีจริตเป็นผู้หญิง ทำไมต้องเป็นแบบนั้น เป็นแบบนี้ มักจะโดนจากในฝั่งญาติของเรา มากกว่าที่จะโดนจากคนภายนอก เราจัดการความรู้สึกตัวเอง ง่ายที่สุดเลยคือไม่สนใจ เพราะเราไม่สามารถไปห้ามความคิดใครในโลกได้ เรามีหน้าที่จัดการเรื่องทั้งหมดให้มันเบ็ดเสร็จที่ตัวเราเท่านั้น”

“ส่วนเรื่องการเคลื่อนไหว ฟ้าสนใจเรื่องการเมืองมานาน เคยไปร่วมชุมนุมตั้งแต่กับกลุ่มเสื้อแดง สมัยปี 53 ซึ่งนานมากแล้ว แต่ที่ออกมาเคลื่อนไหวชัดเจน น่าจะประมาณช่วงปีที่ผ่านมา ประมาณกลางปี พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของ #คณะราษฎร2563”

“ชีวิตก่อนหน้าม็อบเสื้อแดง เอาจริงๆ เราอยู่ในสังคมที่ทุกอย่างเป็นปกติ ครอบครัวเองก็มีฐานะในระดับหนึ่ง แต่เราแค่ไม่ชอบความเหลื่อมล้ำที่ฝังในสังคม เรามองเห็นปัญหาผ่านทางมุมมองของพ่อกับแม่ มุมมองของบรรดาญาติของเรา พวกเขา รวมทั้งตัวเราเองอยู่ในฐานะที่มีอภิสิทธิ์ด้านชนชั้น ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทำไมญาติเรา ครอบครัวเราทำบางอย่างได้ แต่ทำไมคนอื่นในสังคมเขากลับทำไม่ได้? เราเห็นว่าปัญหานี้มันมีอยู่มาตลอด จนทำให้หมักหมมและมันสะสมกับตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งทำให้เรารู้สึกว่า เราต้องออกมาทำอะไรสักอย่างเพื่อให้สังคมนี้มันดีขึ้น”

“ตัวเราเองสามารถอยู่เฉยๆ ได้โดยที่ไม่ได้เดือดร้อน แต่เราเลือกที่จะออกมาสร้างความเปลี่ยนแปลง คิดว่าครั้งหนึ่งอยากจะสร้างประวัติศาสตร์ให้กับตัวเองและสังคม ดีกว่าจะอยู่เฉย แล้วปล่อยให้ทุกอย่างพังพินาศไป เลือกที่จะมีความสุขอยู่คนเดียว ในขณะที่ทุกคนรอบข้างล้วนเดือดร้อน เรารู้สึกว่า ถ้าเราเลือกนิ่งเฉย คือเรากำลังเป็นคนเห็นแก่ตัว ยิ่งในสภาวะสังคมแบบตอนนี้”

“จนวันนี้ที่มีม็อบคณะราษฯ และเราได้เข้ามาเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัว ฟ้ารู้สึกว่า ทุกคนในตอนนี้เห็นหมดแล้วว่าปัญหาทั้งหมดในประเทศ มันมีต้นตอมาจากไหน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ฉะนั้น ในเมื่อเราเห็นปัญหาแล้ว ทำไมเราถึงไม่แก้ปัญหา?”

“สำหรับคดีความที่โดนตอนนี้ หลักๆ จะมีคดีมาตรา 112 ราว 4 คดี แต่ในส่วนของคดีที่ทำให้ถูกฝากขัง มาจากกรณี save นิว มธ. เป็นการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 วันนั้นพวกเราไปกันที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เพื่อกดดันศาลให้รีบปล่อยตัวเพื่อนของเรา แล้วหลังจากนั้นก็ได้มีการปราศรัยและร้องเพลงแปลงเล็กๆ น้อยๆ”

“ช่วงที่ถูกฝากขังในคุก จริงๆ ก่อนหน้า เราทำใจไว้แล้วระดับหนึ่ง แต่พอถึงเวลาต้องเข้าไป มันเลวร้ายมาก การถูกพรากอิสรภาพมันเหมือนเป็นบทลงโทษ ทั้งๆ ที่เรายังไม่ได้อยู่ในสถานะนักโทษด้วยซ้ำ เพราะศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษา มันคือเรื่องเลวร้ายที่สุดแล้วในชีวิตกับการที่ต้องได้รับโทษอย่างฉกาจฉกรรจ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นอยู่ อาหารการกิน การนอน อาบน้ำ หรืออะไรก็ตาม มันทำให้เกิดปัญหาตามมา สิ่งที่เราได้จากเรือนจำคือโรคผิวหนัง เชื้อราที่ผิวหนัง ซึ่งปัจจุบันเราก็ยังต้องรักษาอยู่”

“ระหว่างอยู่ในคุก กิจวัตรประจำวันของเราคือ ตื่นเช้ามา เราต้องลงไปพร้อมผู้ช่วยเหลือเพื่อไปอาบน้ำ ศัพท์ข้างในเขาเรียกว่า #เปิดห้อง ฟ้าจะลงมาตอนประมาณ 6.40 – 6.45 ก็จะอาบน้ำ แล้วจากนั้นก็ใช้ชีวิตเหมือนผู้ถูกคุมขังคนอื่นๆ แต่ระหว่างช่วงที่พวกเขาทำงานกัน ฟ้าจะไปอยู่ส่วนอื่น ไปเดินเล่นบ้าง ไปอ่านหนังสือบ้าง พอถึงเวลาก็กลับมาอาบน้ำ แล้วก็ขึ้นหอนอน ทุกอย่างจะวนซ้ำๆ กันไปทุกวัน ไม่ได้มีอะไรพิเศษเลยข้างใน”

“สิ่งที่เราเลือกใช้เพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมระหว่างคุมขังก็คือการอดอาหารพร้อมกันกับเพนกวินและรุ้ง จริงๆ เราอดอาหารไปสองรอบ ทั้งสองรอบรวม 28 วัน คิดว่าถ้าได้รับการปล่อยตัวช้ากว่านั้น เราก็น่าจะต้องอดนานกว่านั้น เหตุผลที่เลือกใช้การต่อสู้วิธีนี้ เหตุผลที่หนึ่งเลยคือเรารักเพนกวินมาก เป็นเหมือนพี่น้องกัน น้องอดแล้ว แล้วตัวเราล่ะ? เราก็ต้องสู้ แล้วตอนนั้นรุ้งเองก็สู้ด้วย แล้วทำไมเราจะไม่สู้ คือแน่นอนว่า มันไม่สามารถตอบได้ว่า การอดอาหารของเรามันจะเป็นเรื่องน่าสนใจของรัฐไหม? มันจะทำให้เขาเห็นใจเราบ้างไหม? แต่ฟ้าคิดว่า นี่คือสิ่งที่เราต้องต่อสู้และเราต้องกระทำ เราไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยเพื่อยอมรับอำนาจอยุติธรรมที่มีต่อเราได้”

“แม้ว่าเราจะเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ข้างในเขาก็ปฏิบัติกับเราเหมือนที่เราเป็นนักโทษชายคนหนึ่ง ไม่ได้มีความแตกต่างอะไรมาก แต่อาจจะมีรายละเอียดบางอย่างที่ต่างออกไป ในฐานะที่เราเป็นนักโทษการเมืองด้วย เป็น LGBTIQ+ ด้วย เขาจะไม่ตรวจอะไรเรามากมาย แต่ในส่วนอื่นคือปกติ พูดง่ายๆ เลยว่า กรมราชทัณฑ์ปฏิบัติต่อนักโทษที่มีความหลากหลายทางเพศเสมือนหนึ่งว่าเป็นนักโทษชาย ไม่ว่านักโทษคนนั้นจะแปลงเพศหรือทำหน้าอกมาก็ตาม หรือแม้จะเหมือนผู้หญิงแค่ไหนก็ตาม เขาก็ยังปฏิบัติเสมือนเป็นนักโทษชาย และไม่ได้มีการป้องกันอะไรให้กับคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ”

“สิ่งที่เยียวยาเราตอนอยู่ในคุกเลยคือหนังสือของมหาตมะ คานธี อัตชีวประวัติของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และรัฐธรรมนูญฉบับของอาจารย์ปรีดี รวมไปถึงหนังสืออื่นๆ เราเยียวยาตัวเองด้วยหนังสือ เพราะไม่สามารถคุยกับใครได้ คนเดียวที่เราคุยด้วยได้คือทนายตอนที่เขามาเยี่ยม ไม่ได้เจอครอบครัว เพราะมาตรการห้ามเยี่ยม เนื่องจากการระบาดของโควิด ชีวิตในนั้นมันเป็นชีวิตที่จำเจและน่าเบื่อมาก”

“ถึงเราจะไม่ค่อยได้คุยกับพ่อกับแม่มากมายก่อนเข้าคุก แต่อย่างน้อย เราคิดว่า การที่เราได้อยู่บ้านแล้วเจอเขาทุกวันเป็นเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกมีความสุข แต่อยู่มาวันหนึ่ง เราไม่สามารถเจอครอบครัวได้ มันเป็นเรื่องที่ทรมานมากนะ ไม่มีทางรู้เลยว่า ข้างนอกเขาเป็นอย่างไรบ้าง รับรู้แค่ว่า เวลาที่มองนาฬิกา เขาน่าจะกำลังทำกิจกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้เป็นความเจ็บปวดซึ่งมันทรมานใจถึงที่สุด”

“ตอนยังอยู่ข้างใน เราได้ข่าวว่า มีผู้ต้องขังในเรือนจำติดโควิด สำหรับเรา เราว่าไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะผู้ต้องขังทุกคนต้องนอนติดกันหมด มันปกติมากด้วยซ้ำที่มีจะมีใครสักคนเป็นโควิด แล้วส่งต่อเชื้อให้คนที่อยู่ใกล้ๆ ลามกันต่อไป ไม่ได้เหนือความคาดหมายหรือเป็นเรื่องที่ประหลาด ก็น่าตั้งคำถามว่า มาตรการห้ามเยี่ยมญาติมันใช้ป้องกันการระบาดของโควิดได้จริงหรือไม่”

“จนวันที่ได้รับอิสรภาพ เราถึงได้รู้ว่า มวลชนข้างนอกเองเขาก็ยังคงเคลื่อนไหวและยอมอดอาหารเป็นเพื่อนเรา พอทราบแล้วรู้สึกตื้นตันมาก เพราะตอนอยู่ข้างใน เราไม่รู้เลยว่าข้างนอกมีคนพูดถึงเราบ้างไหม? หรือจริงๆ แล้วเราเป็นอย่างไรบ้างในสายตาของมวลชน หรือมีคนสนใจ หรือมีการเคลื่อนไหวอะไรเพื่อเราไหม? เราไม่สามารถตอบได้จริงๆ ข้างในมันมีแต่ความอ้างว้าง เปล่าเปลี่ยว เหงา แต่พอออกมาแล้วรู้สึกว่า ไม่เสียแรง ไม่เสียดาย และไม่เสียใจเลย ที่เราต้องสูญเสียอิสรภาพไป ต่อให้อดอาหารนานกว่านี้ เราก็เชื่อว่าเราทำได้ เพราะอย่างน้อยเราก็รู้ว่าเราไม่ได้สู้อยู่คนเดียว มันมีคนที่ยังสู้อยู่เคียงข้างเรา”

“(ทราบมาว่าคุณแม่ของฟ้าเส้นเลือดในสมองแตกระหว่างที่ฟ้าถูกฝากขัง?) ใช่ เราเองก็เพิ่งจะทราบเรื่องอาการป่วยของแม่ก็ตอนวันที่ติดกำไล EM ตอนนั้นเราช็อก พูดตรงๆ ว่ารับไม่ได้ ทรมานมากกับเรื่องที่เกิดขึ้น คิดว่า ทำไมอิสรภาพของเรากลับต้องแลกด้วยชีวิตของแม่? แม้ว่าตอนนี้แม่จะเริ่มแข็งแรงแล้ว แต่ความเจ็บปวดใจก็ยังคงอยู่”

“การสูญเสียอิสรภาพในครั้งนี้มันสอนเรา กลับทำให้เราอยากสู้มากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะฟ้ารู้สึกว่า การที่เขาเอาเราไปขังก็เพราะต้องการให้เส้นของการต่อสู้มันลดลง แต่แน่นอนว่าไม่สามารถทำได้ เพราะจริงๆ ข้อเรียกร้องทั้งหมด หรือสิ่งต่างๆ ที่ทำให้ฟ้าถูกกักขัง มันเป็นข้อเรียกร้องของมวลชน นั่นคือสิ่งที่เป็นความฝันของพวกเขา ไม่ใช่แค่ความฝันของฟ้าคนเดียว ถ้าฟ้าเป็นคนเรียกร้องแล้วมวลชนไม่ตาม มันก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่อันนี้ เพราะฟ้าเป็นคนเรียกร้อง ออกมาต่อสู้ แล้วมวลชนก็เลือกที่จะตาม นั่นก็คือมติของพวกเขา ต่อให้ไม่มีพวกแกนนำ แต่มวลชนก็ยังยึดมั่นในแนวทางเดิม ไม่ได้ต่างกันเลย ไม่ว่าเราจะอยู่ข้างนอกหรือข้างในที่คุมขัง”

“(กังวลไหมถ้าวันหนึ่งเราอาจต้องเข้าไปข้างในอีกรอบ?) ไม่กังวล เพราะเรามีครอบครัวเป็นที่ยึดเหนี่ยว แล้วก็บรรดาผู้ชุมนุมทั้งหลายที่อยู่ข้างนอก ฟ้าต้องพูดจริงๆ ว่า ผู้ชุมนุมทั้งหลายที่คอยสนับสนุนการชุมนุม พวกเขาเปรียบเสมือนมารดาและบิดาของการชุมนุม คอยหล่อเลี้ยงการชุมนุมให้เกิดขึ้นอย่างเข้มแข็ง เราปฏิเสธไม่ได้ได้เลยว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมที่บริสุทธิ์ มันเกิดขึ้นจากมวลชน เกิดจากเงินก้อนต่างๆ ที่มวลชนเอามาบริจาคร่วมกัน พวกเขาก็เหมือนพ่อแม่ที่หล่อเลี้ยงลูก ม็อบหรือการชุมนุมก็เหมือนลูก ตราบใดที่มวลชนยังสู้ ฟ้าก็จะสู้ จะไม่มีวันถอยเด็ดขาด จะไม่ยอมแพ้ เพราะถ้าเรามากลัวเอาตอนนี้ ก็เท่ากับว่าเราทรยศต่อแรงเชียร์แรงใจ แรงสนับสนุนจากมวลชน”

“การเคลื่อนไหวในตอนนี้ เป้าหมายมันไปไกลมากแล้ว ถึงแม้จะยังไม่มีข้อเรียกร้องไหนที่บรรลุผล แต่อย่าลืมว่าตอนนี้พวกเรามาไกลเกินกว่าจะถอยกลับ ประชาชนในประเทศนี้ ไม่ว่าคุณจะสนใจการเมืองหรือไม่ ทุกคนได้เห็นแล้วว่า ปัญหามันน่ากลัวจริงๆ แล้วในเวลานี้ คนจำนวนมากกล้าลุกขึ้นมาพูดถึงปัญหาที่ว่าอย่างตรงไปตรงมา ทุกคนกล้าชนกับปัญหา อย่างในเรื่องของวัคซีนโตวิด คนตั้งคำถามกับรัฐเรื่องการจัดการและคุณภาพของวัคซีน ไม่มีข้อมูลหรือปัญหาถูกปิดซ่อนได้อีกต่อไป มากไปกว่านั้น น่าอัศจรรย์มาก คนหันมาสนใจการประชุมรัฐสภามากขึ้น แม้ว่าปัญหาเรื่องปากท้องจะยังเป็นประเด็นหลักในการต่อสู้อยู่ก็ตาม แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาอื่นๆ มันก็ถูกเล่นล้อไปพร้อมกับปัญหาเรื่องปากท้อง”

“หากลองมองประวัติศาสตร์ในอดีตเทียบกับการต่อสู้ในปัจจุบัน การต่อสู้ครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่สวยงามที่สุด ฟ้าคิดว่า ต่อให้รุ่นนี้เราจะไม่ชนะ แต่ในการต่อสู้ของคนรุ่นต่อไป การต่อสู้จะยิ่งสวยงามขึ้นไปอีก มันจะเป็นเสมือนต้นไม้ที่คอยเจริญเติบโตและยิ่งหยั่งรากลึกลงไปเรื่อยๆ กลายเป็นต้นโพธิ์ที่พร้อมจะให้คุณประโยชน์กับสรรพสัตว์นานาชนิด”

ปูน – ธนพัฒน์ กาเพ็ง

ถ้อยสะท้อนความหวังจากเยาวชน ม. 5 ผู้ถูกตั้งข้อหาหลักมาตรา 112 จากคดีเผารูปหน้าเรือนจำ

“(นิยามตัวเองว่าเป็นเพศอะไร?) ผมไม่อยากนิยามเพศของตัวเอง เพราะว่า ปัจจุบัน ความหลากหลายทางเพศมันมีเฉดสีที่มากขึ้น อีกทั้งส่วนตัวก็รู้สึกว่าเราก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ในฐานะนักเคลื่อนไหว อยากให้โฟกัสที่อุดมการณ์มากกว่าเพศสภาพ บอกได้แค่ว่า ในเรื่องของความสัมพันธ์ ทุกวันนี้ผมคบแล้วก็มีแฟนเป็นผู้ชาย”

“ผมไม่เคยเปิดตัวกับที่บ้านเลยว่าตัวเองเป็นเพศอะไร แต่เหมือนครอบครัวเขารู้ ดูจากพฤติกรรมของเรา เพราะตั้งแต่เด็กๆ ไม่ว่าจะงานโรงเรียนหรืออะไรก็ตาม เรามักจะขอออกไปเต้น เป็นเด็กกล้าแสดงออก แล้วก็ช่างพูด เป็นคนพูดเก่ง (หัวเราะ) ยายกับน้าเราก็มักจะชอบชมเรา เพราะเราเป็นคนแต่งหน้าได้ แล้วแต่งหน้าสวย เคยพูดเล่นๆ ว่าจะพาไปประกวดนางงาม พูดเป็นเชิงหยอกๆ เรา”

“ครอบครัวเราสนิทกันมาก ยายกับน้าบอกกับเราเสมอ ไม่ว่าเราจะเป็นอะไร ขอแค่เราเป็นเด็กดี ไม่เป็นภาระหรือสร้างปัญหาให้คนอื่น ทุกวันนี้ การที่เรามีแฟนเป็นผู้ชายก็ไม่ได้ปิดบังกับทางครอบครัว เขาขออย่างเดียวแค่ให้เรารู้จักป้องกันตัวเอง”

“ผมเริ่มรู้สึกว่าการเมืองมันเป็นเรื่องใกล้ตัวก็เมื่อตอนอยู่ประถมปลาย สมัยเรียนที่โรงเรียนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก่อนที่จะย้ายกลับมาเรียนต่อมอต้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ครูมักจะชอบเปิดช่อง Blue Sky ให้นักเรียนดู แต่จะปิดเสียง เพราะต้องการให้เรียนไปด้วยแล้วก็ดูไปด้วย ครูส่วนใหญ่ก็เลือกข้างทางการเมืองชัดเจน ห้อยนกหวีด ประกาศตัวว่ารักชาติ พยายามส่งต่ออุดมการณ์ให้กับนักเรียน ที่บ้านเราตอนนั้นเขาก็เลือกที่จะสนับสนุนกลุ่ม กปปส. ห้อยนกหวีด ใส่แหวนรูปประเทศไทย เราก็เริ่มสงสัยว่า ทั้งหมดนี้คืออะไร เลยถามยายเราเพราะเขาค่อนข้างเป็นกลาง เขาก็เล่าว่ามันมีการต่อสู้ของเสื้อเหลืองเสื้อแดง เสื้อแดงก็เป็นแบบนี้ เสื้อเหลืองก็เป็นแบบนี้ แต่เรามารู้จากคนรู้จักที่กรุงเทพฯ เขามาเล่าให้เราฟังว่า จริงๆ แล้วเสื้อแดงโดนยิงตาย โดนทำร้าย ทำให้เราเริ่มรู้สึกแค้นตรงที่ว่า ทำไมไม่มีข่าวเสื้อแดงออกเลย แล้วทำไมโรงเรียนถึงยัดเยียดแต่อุดมการณ์คนเสื้อเหลืองให้เราดู”

“(เริ่มเข้าร่วมในการชุมนุมตอนไหน?) ผมเริ่มเดินทางเข้ากรุงเทพฯ จากกาญจนบุรีถี่ ๆ เลยก็ช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม #คณะราษฎร2563 เมื่อปีที่แล้ว เดินทางมาทุกเย็นเพื่อร่วมม็อบ เลิกเรียนคาบ 8 แล้วก็นั่งรถมาเลย พอชุมนุมเสร็จแล้ว ก็จะนอนบ้านญาติ เสร็จแล้วก็นั่งรถกลับตอนเช้าไปเรียนต่อ ช่วงไหนที่มีม็อบบ่อย ก็จะเป็นวัฏจักรแบบนี้ไปทุกวันๆ”

“ตอนแรกที่เราเข้าร่วมก็เหมือนผู้ชุมนุมคนอื่นคือไปชูป้าย ชูสามนิ้ว อะไรแบบนี้ จนเริ่มมีม็อบใหญ่ ๆ ตามต่างจังหวัด รวมถึงที่กาญฯ ด้วย เราก็เลยขอขึ้นปราศรัยครั้งแรก แล้วพอหลังจากนั้น ก็มีพวกพี่ๆ นักกิจกรรมเขาเห็นแวว แล้วก็เลยให้เราขึ้นพูดตามเวทีที่กรุงเทพฯ”

“จำได้ว่า หัวข้อที่เราหยิบมาปราศรัยบนเวทีที่กาญฯ คือเรื่องของการสืบทอดอำนาจของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา การเรียกเก็บเงินภาษีประชาชนในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง แล้วก็พูดเรื่องงบประมาณของกระทรวงกลาโหม อีกเรื่องคือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของกลุ่มคณะราษฯ”

“สิ่งที่ทำให้เราอยากร่วมในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็เพราะเราสังเกตเห็นความเหลื่อมล้ำ แล้วก็ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนซึ่งเป็นภาพสะท้อนของสังคมทั้งหมด ในสังคมโรงเรียน ครูมีอำนาจเหนือนักเรียนและคอยกดขี่ หรือกระทั่งเรื่องงบประมาณ ก็ไม่ได้มีการจัดสรรปันส่วนมาเพื่อพัฒนาเนื้อหาในการเรียน แต่กลับเอาเงินไปลงกับกิจกรรมไร้สาระต่างๆ อย่างกีฬาสี หรือรับน้อง”

“(เห็นเล่าว่าที่บ้านเรา เขาเป็นเสื้อเหลือง การที่เรามาม็อบบ่อยๆ แบบนี้กระทบกับความสัมพันธ์ไหม?) ช่วงแรกก็มี เขาก็ถามเราว่า จะไปทำไม? ไปแล้วได้อะไร? ไม่กลัวตายเหรอ? ให้มันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ไป เรายังเด็กอยู่ เรียนให้จบก่อนดีไหม? อะไรอย่างนี้ แต่พอเขาบอก เราก็ได้แต่ตอบรับ แต่ก็ไม่ทำตามนะ (หัวเราะ) จนเรารู้สึกว่า เขาคงน่าจะเบื่อแล้ว รำคาญ ก็เลยไม่พูดเรื่องนี้อีก สุดท้าย ช่วงที่เราโดนคดี เขาน่าจะคิดได้ว่า ในเมื่อห้ามไม่ได้ งั้นน่าจะให้กำลังใจดีกว่า”

“ที่ดีใจมาก ๆ เลยคือทุกครั้งที่ศาลไต่สวนพี่ๆ นักกิจกรรม ยายเราจะเป็นคนโทรมา บอกให้เราอาบน้ำแต่งตัว แล้วไปรับพี่ๆ กลับบ้าน เขาจะโทรมาตลอด ทุกครั้งที่มีชุมนุม แล้วเขารู้ว่าเราไป ก็จะคอยให้กำลังใจ บอกให้เราสู้ ให้ดูแลตัวเองด้วย ทุกวันนี้ กลายเป็นว่าทั้งบ้านก็หันมาสนับสนุนเราแทน”

“(อยากให้เล่าเรื่องคดีความของเราให้ฟังหน่อย?) เท่าที่จำได้ ตอนนี้มีคดีอยู่ 3 คดี เป็นคดีข้อหามาตรา 112 จากกรณีเผารูปที่หน้าเรือนจำและเป็นคดีจากการชุมนุม 2 คดี ข้อหาหลักๆ จะเป็น พ.ร.บ. ชุมนุมฯ และข้อหาย่อยอีกราว 6 ข้อหา ในส่วนของคดีข้อหาหลักมาตรา 112 ผมถูกกล่าวหาหลังจากที่อายุ 18 ปี ได้แค่ 9 วัน ทางทนายก็เลยทำเรื่องขอศาล ให้โอนคดีเราไปศาลเยาวชน ตอนนี้อยู่ระหว่างทำเรื่อง แต่อัยการได้มีคำสั่งฟ้องไปแล้ว และศาลเพิ่งให้ประกันตัว วางหลักประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท”

“ความน่ากลัวอย่างหนึ่งในการถูกดำเนินคดีก็คือ ตอนนี้ เรากำลังอยู่ในรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ เราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า คดีจะไปต่อในทิศทางใด เราไม่รู้ว่ากระบวนการยุติธรรมที่เคยยุติธรรมในอดีต ตอนนี้มันยังยุติธรรมอยู่ไหม กลายเป็นตลกร้ายไปแล้วที่คนที่โดนคดีมาตรา 112 จะต้องโดนฝากขัง ไม่ได้รับการประกันตัว เป็นสิ่งที่เราคาดเดาไม่ได้ เป็นเรื่องของอนาคตหมดเลย”

“ทุกวันนี้ เราพยายามทำใจ หากต้องสูญเสียอิสรภาพ วันที่ต้องเข้าห้องเวรชี้จากคดีเผารูป เราต้องอยู่ในห้องตั้งแต่สิบโมงถึงห้าโมงเย็นเลยทั้ง ๆ ที่มีเราอยู่ในห้องเวรชี้แค่คนเดียว ศาลแจ้งว่า คดีนี้เดี๋ยวศาลจะนัดมาวันที่ 28 มิถุนาอีกรอบหนึ่ง โอเค มีแค่นี้ แล้วหลังจากนั้นเราก็ต้องนั่งอยู่ในห้องเฉย ๆ เพราะเขาไม่ให้ทำอะไรเลย เลยรู้สึกว่า ในเมื่อกระบวนการยุติธรรมมันล่าช้าขนาดนี้ จะให้เราศรัทธาและนับถือมันได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่กระบวนการมันไม่ได้มีมากมาย”

“ระหว่างที่อยู่ในห้อง เราก็นั่งคุยกับตัวเอง คิดว่าอิสรภาพน่าจะเป็นสิ่งที่เราต้องยอมจ่าย เป็นราคาที่ต้องจ่ายไป เพื่อให้เราได้สิ่งที่ต้องการมา ก็ได้แต่คิดกับตัวเองว่า ไม่เป็นไรหรอก พี่ตี้ วรรณวลี เองก็เคยต้องเข้าห้องขัง พี่เพนกวินก็เคยต้องเข้าไป มีอีกหลายคนที่เคยเข้าคุก พยายามถือว่าเป็นประสบการณ์ชีวิต ก็มีมุมที่เศร้า ที่ต้องปลอบใจตัวเอง”

“ก่อนหน้าที่จะไปฟังคำสั่งอัยการ เราบอกยายเราแค่ว่า วันนี่เราไปศาลนะ บอกเขาว่าน่าจะไม่มีอะไร แต่ถ้าเย็นแล้วยังไม่โทรหา ก็แปลว่าเราน่าจะถูกฝากขัง เดี๋ยวให้พวกแม่ๆ ที่ม็อบโทรไปบอกแล้วกัน เพราะเขาคอยไปให้กำลังใจตลอด ยายเขาก็นั่งไม่ติด เย็นแล้ว แต่เราก็ไม่ได้โทรบอกยายว่าได้ประกัน เพราะวันนั้นเราตื่นเช้า เหนื่อย ก็เลยไม่ได้โทรไป สุดท้ายกลายเป็นเขาโทรมา เขาบอกว่า เขากินข้าวไม่ลงเลย เพราะเป็นห่วง”

“(การโดนคดีทางการเมืองนี่ส่งผลกระทบกับเรื่องการเรียนของเราไหม?) กระทบมากๆ เพราะตอนนี้เราถึงกับต้องดรอปเรียนมอ 5 ไป ตั้งแต่มีเรื่องคดี 112 เข้ามา จำได้ว่าช่วงวันที่ 28 กุมภา เราจะกลับไปสอบ แต่ก็กลับไปไม่ได้ เพราะว่าวันนั้นเราโดนจับในคดีชุมนุมที่หน้าราบฯ 1 ทำให้ไม่ได้ไปสอบ ครูก็เลยให้เรามาตามสอบทีหลัง แต่พอหลังจากได้ประกันวันนั้น ก็มีเรื่องคดีเผารูปที่หน้าเรือนจำเข้ามา เราก็เลยไม่ได้กลับไปสอบ ทีนี้ ครูที่โรงเรียนก็เลยบอกให้เราจัดการเรื่องคดีความให้เรียบร้อยก่อน ค่อยกลับไปเรียน”

“ระหว่างที่ดรอปเรียน เราก็ไม่ได้ทิ้งการศึกษา ตอนนี้ปูนกำลังเรียนหลักสูตร พรี ดีกรี ของ ม. รามฯ ไปพลาง ๆ ในอนาคต เราอยากจะเรียนต่อคณะนิติศาสตร์ เพราะว่าอยากเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ตัวปูนก็รู้จักกับพี่ทนายที่ดูแลคดีของเรา ได้มีโอกาสช่วยพี่ทนายเขาทำเอกสารพวกใบแต่งทนาย เรารู้สึกว่ามันก็สนุกดี แล้วยิ่งการจำกฎหมายได้ ท่องกฎหมายได้ เรารู้สึกว่า มันดูมีความรู้ พอจะประคับประคองเราในการต่อสู้”

“สำหรับเรื่องคดีความ โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 ผมมองว่า ถ้าเรายังมีรัฐบาลชุดนี้ ผมเองก็อาจจะต้องเข้าคุก ถูกฝากขัง หรือไม่ก็ต้องได้รับคำพิพากษาตามโทษ แต่ถ้าวันหนึ่งเราได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจริงๆ ตัวกฎหมายมาตรานี้ก็อาจจะถูกนำเข้าที่ประชุมสภา แล้วหากผลปรากฏว่า ที่ประชุมไม่เห็นประโยชน์ของตัวกฎหมายนี้ เห็นความล้าหลังของกฎหมาย คนที่ถูกขังก็อาจจะได้รับอภัยโทษ”

“กฎหมายมาตรานี้มันเป็นกฎหมายที่ลดทอนสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแสดงออกหรือเรื่องของการตีความ การเผาสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือปฏิทิน ก็ไปตีความเป็นการอาฆาตมาดร้าย หรือแม้แต่การแชร์โพสต์ที่เป็นข้อเท็จจริงในอดีตเอง ครั้งหนึ่งก็เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นการอาฆาตมาดร้าย”

“(คิดว่าปลายทางของการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะไปจบลงที่จุดไหน?) สำหรับตัวผมเอง เป้าหมายที่อยากจะก้าวไปให้ถึงก็คือ การที่เราบรรลุในข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ สิ่งที่ผมอยากจะเห็นคือ การที่ชนชั้นต่างๆ ในสังคมถูกลดช่องว่างลง อัตราของความเหลื่อมล้ำลดน้อยลง และการที่ประเทศไทยควรจะต้องมีรัฐสวัสดิการให้คนเข้าถึง”

แรปเตอร์ – สิรภพ อัตโตหิ

นักศึกษารั้วจามจุรี แกนนำ #ม็อบตุ้งติ้งฯ – ม็อบชาวเพศหลากหลายที่กล้าลุกขึ้นมาท้าทายเผด็จการ

“เรานิยามตัวเองว่าเป็นเควียร์ (Queer – คนที่ไม่ต้องการถูกจำกัดว่าเป็นแค่ชายหรือหญิง) เรารู้ตัวก่อนว่าชอบคนเพศเดียวกันตั้งแต่ประมาณ ป. 6 แต่เพิ่งจะมาระบุอัตลักษณ์ของตัวเองว่าเป็นเควียร์ชัดเจนได้เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา จุดเริ่มต้นเลยคือชุดความรู้เรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) ที่ได้ศึกษา ซึ่งเพิ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายในไทยได้ไม่นาน ก็ได้เริ่มเรียนรู้ตอนนั้น”

“ก่อนหน้านี้ ในลักษณะของการนิยามตัวเอง เราเรียกตัวเองว่าเป็นเกย์ ทั้งๆ ที่ข้างในก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ชาย ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิง ด้วยความที่ยังไม่เข้าใจ ยังไม่มีชุดความรู้ เลยจัดตัวเองอยู่ในกลุ่มของผู้ชายที่ชอบผู้ชายในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่พอได้เรียนรู้เรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ ก็เข้าใจมากขึ้นว่ามันมีตัวตนทางเพศในแบบที่หลากหลาย สามารถอธิบายความเป็นตัวเราได้มากกว่าคำว่าเกย์”

“ไม่เคยเล่าให้ที่บ้านฟังว่าเราเป็นอะไร แต่คิดว่าเขาน่าจะรู้ แค่ไม่พูดถึงเฉยๆ เพราะเขาน่าจะเห็นเราทางสื่อช่องทางต่างๆ ไม่ได้หมายความว่าพยายามปิดบังเขา แค่มันมีแนวคิดของสังคมบางอย่างที่ทำให้เราไม่พูดเรื่องเพศในครอบครัวกันแบบตรง ๆ”

“ท่าทีครอบครัวไม่ได้ตำหนิ อาจจะมีต่อต้านอยู่บ้าง แต่ไม่ได้เป็นในรูปแบบที่หลายๆ คนอาจจะเจอ อย่างเช่น การด่าว่า ไล่ออกจากบ้าน ไม่ได้เจอแบบนั้น แต่อาจมีบางเรื่องที่เขาขอ อย่างขอไม่ให้แต่งหญิงได้ไหม ประมาณนี้ เป็นการต่อต้านที่ไม่ได้ชัดเจน แต่ในอีกมุมหนึ่ง เขาก็ค่อนข้างให้พื้นที่กับเราได้เป็นตัวเอง ไม่ได้บังคับ เพียงแต่ขอได้ไหม แต่เรายังสามารถปฏิเสธไม่ขอทำตามได้ อะไรอย่างนี้”

“(การที่ตัวตนเราเป็นแบบนี้ เคยเจอเรื่องการเลือกปฏิบัติบ้างไหม?) – ไม่ได้เจอตรง ๆ ต้องพูดอย่างหนึ่งว่า ตัวเราเองถือว่ามีลักษณะที่เป็นไปตามภาพจำของกะเทยทั่วไป พอเป็นแบบนี้ สังคมเลยไม่ได้ต่อต้านมาก ไม่ได้เจอการเลือกปฏิบัติในลักษณะของการดูถูกเหยียดหยาม อาจมีบ้างในลักษณะอื่น ไม่ใช่เรื่องที่หนักหนา เพราะในสังคมอักษรฯ จุฬาฯ ที่เรียนอยู่ค่อนข้างเปิดกว้าง คนที่มีความหลากหลายทางเพศก็ถือว่ามีจำนวนหนึ่ง แล้วไม่ได้มีใครปิดบังอัตลักษณ์ของตัวเอง ทุกคนเปิดกว้างค่อนข้างมาก”

“(เริ่มมาเคลื่อนไหวในขบวนตั้งแต่เมื่อไหร่?) – เริ่มจากขึ้นปราศรัยในการชุมนุม #จุฬารวมพล ช่วงกุมภาฯ เมื่อปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีโควิด เป็นช่วงหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ #พรรคอนาคตใหม่ ก่อนหน้านั้นเราไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองเลย ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกและได้ขึ้นปราศรัย”

“วัยเด็ก การเมืองไม่ได้เป็นเรื่องที่เราสนใจ เพิ่งจะเริ่มมาเข้าใจเอาตอนที่เรียนมอปลาย ช่วงที่เพิ่งย้ายเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เป็นระหว่างรอยต่อหลังจากมีม็อบ กปปส. แล้วก็การรัฐประหาร ตอนนั้น ถามว่ารัฐประหารคืออะไร เรายังไม่รู้จักด้วยซ้ำ เป็นวัยสายลมแสงแดด (หัวเราะ) แต่เริ่มมาสนใจเพราะคนพูดเรื่องการเมืองมากขึ้น โดยส่วนตัว เป็นคนสนใจประเด็นทางสังคม วัฒนธรรมอยู่แล้ว พอมันมีพื้นที่ได้พูดคุย เลยเริ่มจะสนใจเรื่องการเมืองด้วย แต่ที่มาอินจริง ๆ ก็ตอนช่วงมหาลัย”

“วันที่ขึ้นปราศรัย ที่จริงงานมันค่อนข้างฉุกละหุกนิดหนึ่ง แต่คุยกับเพื่อนไว้ก่อนว่าเราอยากพูดประเด็นประมาณไหน แล้วเตรียมไปพูดเลย จำได้ว่าปราศรัยเรื่องการที่คนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องเรื่องที่พรรคอนาคตใหม่โดนยุบ มันไม่ใช่ว่าที่ออกมาพูด เพราะต้องการปกป้องพรรคที่เราชอบ แต่เป็นการที่เรามองเห็นปัญหาในเรื่องของหลักการ นี่คือการกลั่นแกล้งของรัฐที่เป็นเผด็จการ การที่คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ เพราะเขาต้องการปกป้องความยุติธรรมแล้วก็เสียงของประชาชน”

“(ตอนที่จัดม็อบตุ้งติ้งฯ ได้เตรียมตัวนานไหม อะไรเป็นแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการจัดม็อบครั้งนั้น?) – คือช่วงนั้นมันมีกระแสของการชุมนุมที่หลากหลายด้วย แล้วหลายม็อบเองมีไอเดียที่น่าสนใจ เราเลยเห็นว่า จริงๆ แล้วในขบวนการประชาธิปไตย ณ ตอนนั้น เราพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน แต่คนที่ออกมาพูดเรื่องเพศมันยังไม่ค่อยชัดเจน ซึ่งในสังคมมันได้เริ่มมีการเรียนรู้เรื่องเพศแล้ว เลยคิดว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะต้องพูดในฐานะที่มันเป็นเรื่องของสิทธิอย่างหนึ่งเหมือนกัน แล้วก็ขับเคลื่อนไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตย นั่นเลยเป็นไอเดียตั้งต้นให้ทำม็อบตุ้งติ้งฯ ขึ้นมา”

“(นอกจากเรื่องเพศ เรายังสนใจเคลื่อนไหวในประเด็นไหนอีกไหม?) – ประเด็นเรื่องรัฐฆราวาส (Secular State) ความชอบส่วนตัวของเราคือเรื่องศาสนา จิตวิญญาณ เราเห็นว่ารัฐไทยเอาเรื่องของศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธ ไปผูกโยงกับรัฐอย่างมีนัยยะสำคัญ รัฐใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการสถาปนาอำนาจให้ตัวเอง มันกลายเป็นว่า ศาสนาพุทธมีอำนาจเหนือไปจากศาสนาอื่นๆ อย่างวันหยุดของศาสนาพุทธถูกทำให้เป็นวันหยุดราชการ วันพระห้ามขายเหล้าเบียร์ ในแง่นี้ ศาสนามันเลยไปวุ่นวายกับรัฐด้วย รัฐเองพยายามออกกฎหมายขึ้นมาเพื่อควบคุมองค์กรทางศาสนาอีกต่อ หลักสูตรการเรียนการสอนก็โฟกัสไปที่เรื่องของศาสนาพุทธ แล้วต้องเป็นพุทธแบบทางการด้วย เป็นพุทธแบบที่รัฐไทยโอเคเท่านั้น”

“ถ้าพูดในมิติของคนที่สนใจเรื่องศาสนา การผูกขาดความเชื่อ มันทำให้การเติบโตของความหลากหลายทางความเชื่อมันต่ำมาก ไม่มีพื้นที่ให้คนที่มีความเชื่อในรูปแบบอื่น หรือกระทั่งพื้นที่ของคนที่ไม่เชื่อในศาสนาเองก็ตาม ถ้ามองในเชิงการเมือง รัฐได้ใช้ศาสนามาเป็นเครื่องมือในการล้างสมอง ใช้เพื่อสร้างอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ เราเลยมองว่า วิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้คือต้องทำให้รัฐไทยเป็นรัฐฆราวาสจริงๆ”

“(ตั้งแต่วันที่จัดม็อบตุ้งติ้งฯ ครั้งแรก จนวันนี้ คิดว่าเราเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?) – สถานการณ์มันค่อนข้างบีบให้ต้องโตขึ้น กลายเป็นว่า จากที่รับผิดชอบแค่ชีวิตตัวเอง เราก็ได้เรียนรู้ที่จะผูกโยงตัวเองกับสังคม คิดแค่เรื่องตัวเองไม่ได้ ต้องมานั่งคิดว่า เออ จะเคลื่อนไหวยังไงดี? จะไปยังไงกันต่อ? การเคลื่อนไหวครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้สังคมในมุมที่กว้าง สัมผัสชีวิตของคนจำนวนมากที่เขาถูกกดขี่ในมิติที่อาจไม่เคยเห็นมาก่อน ผ่านการพูดคุยเรื่องอุดมการณ์ ความเชื่อ”

“หนึ่งปีที่แล้ว ตั้งแต่ม็อบตุ้งติ้งฯ จนถึงปีนี้ ทุกอย่างมันมาไกลมาก เราเหมือนเป็นคนละคนไปเลย มองอะไรเริ่มเป็นการเมืองทุกอย่าง มองอะไรเป็นเรื่องของการต่อสู้ไปหมด ทุกวันนี้ เวลาเห็นอะไรที่เป็นปัญหา ก็เริ่มมานั่งคิดแล้วว่า จะแก้ไขยังไงดีวะ? (หัวเราะ) จะใช้วิธีการยังไงดี?”

“(เล่าเรื่องคดีความให้ฟังหน่อย? การโดนคดีมันส่งผลกับเราอย่างไรบ้าง?) – ตอนนี้เราโดนคดี พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ติดตัว เข้าใจว่าราว 3 คดี เป็นคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมทั้งหมด”

“ผลกระทบอย่างหนึ่ง เราคิดว่าหลักๆ คือเสียเวลา เสียอารมณ์ เหมือนเป็นสิ่งกวนใจ แทนที่จะได้ทำอย่างอื่น กลับต้องมาเสียเวลาเดินทางไปตามนัดของเจ้าหน้าที่ แล้วพอเริ่มโดนหลายคดีก็เริ่มจะวุ่นวาย นอกจากหมายที่โดน เรายังต้องมากังวลเรื่องการเคลื่อนไหว เริ่มคิดแล้วว่า ทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วจะโดนหมายไหม? ทำให้ปวดหัว ต้องนั่งคิดเยอะขึ้น”

“ที่บ้านรับรู้เรื่องคดีความ เราไม่ได้ปิดบัง ช่วงแรกเขาคงไม่อยากจะให้โดนคดี แต่พอโดนไปแล้วมันห้ามกันไม่ได้แล้ว (หัวเราะ) เขายังเป็นกำลังใจให้ เป็นห่วง แต่ขณะเดียวกันก็ให้พื้นที่เราได้ดูแลตัวเอง”

“(ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนมาถึงปีนี้ หลายคนที่เป็น LGBTIQ+ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวมากขึ้น คิดว่าอะไรคือปัจจัย?) – เราคิดว่า หนึ่ง สังคมมันเปิดกว้างเรื่องเพศกว่าในอดีต ทำให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศกล้าที่จะแสดงตัวออกมาในการเคลื่อนไหว ก่อนหน้านี้ไม่ใช่ว่าไม่มีคนที่เป็น LGBTIQ+ ออกมาเคลื่อนไหวเลย คิดว่ามี แต่การแสดงตัวยังน้อย อาจจะเพราะการยอมรับในสังคมยังไม่สูงเท่าในตอนนี้ แต่พอพื้นที่มันเปิดกว้างมากขึ้น คนกลุ่มนี้ก็เลยมีโอกาสที่จะได้แสดงตัวในการต่อสู้มากขึ้น”

“สอง เรารู้สึกว่า ที่จริงแล้วคนกลุ่มนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เข้าใจเรื่องการถูกกดขี่ดีที่สุด เป็นกลุ่มคนชายขอบ จึงสามารถมีความรู้สึกร่วมได้ง่ายกับภาพของชีวิตที่ถูกกดขี่ ผลักไส พวกเขาเลยสามารถออกมาเคลื่อนไหวได้อย่างมีพลัง พอการเคลื่อนไหวรอบนี้มันไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวที่มีองค์กรผูกขาดทางอำนาจ มันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากหลายๆ กลุ่ม ทุกคนเลยสามารถนำเสนอการเคลื่อนไหวในแบบของตัวเอง ไม่ได้ถูกจำกัดว่าใครทำอะไรได้ ใครทำอะไรไม่ได้ ทุกวันนี้ ใครอยากทำอะไรก็แค่ลุกขึ้นมาทำ”

“(การที่คนรุ่นใหม่หันมาสนใจประเด็นเรื่องการเมืองมากขึ้น เรามองเห็นปรากฏการณ์นี้อย่างไรบ้าง?) – คิดว่ามันเป็นเรื่องของความรู้สึกโกรธ โดยเฉพาะในภาวะสังคมแบบนี้ อย่างแรกเลยนะ”

“สองคือ คนรุ่นนี้เขามีความรู้สึกด้วยว่ายังอยากจะเห็นอะไรในสังคมมันดีขึ้น เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่พาเรามาสู่จุดนี้ของการเคลื่อนไหวคือเรื่องของโควิดกับเศรษฐกิจ มันทำให้กลุ่มที่เป็นนักศึกษาเริ่มมองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง แบบจบไปจะทำงานอะไร แล้วพอมันอัดอั้นจนถึงจุดแตกหัก มันเลยลุกฮือ มันคือความโกรธผสมกับความรู้สึกไม่แน่นอนในอนาคต ยิ่งถ้าเราไม่ออกมาสู้ในตอนนี้ ทุกอย่างคงจะยิ่งแย่ไปอีก”

“(สุดท้ายในปลายทางการเคลื่อนไหว คิดว่าอะไรคือเป้าหมายที่ควรไปให้ถึง?)” – พอพูดเรื่องปลายทางมันพูดยากมาก เพราะแต่ละคนมีปลายทางที่ไม่เหมือนกัน อย่างของเรา เราอยากเห็นสังคมที่คนเท่ากัน ไม่ควรจะต้องถูกแบ่งแยกด้วยอะไรเลย ไม่ว่าชาติ ศาสนา หรือเพศ ทุกคนล้วนมีสิทธิเสรีภาพ แล้วก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีบนพื้นฐานของความเท่าเทียม สิ่งเหล่านี้เราอยากจะเห็นมันเกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มของคนที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย ต้องมีสิทธิเท่าเทียมเท่าชายและหญิง ไม่แบ่งแยกว่าใครเป็นอะไร”

 

 

อ่านเรื่องราวทีเกี่ยวข้อง:

“ฉันจะเป็นนายกกะเทยคนแรกของไทย” เสียงจาก “ปาหนัน” นักกิจกรรมเพศหลากหลาย ในวันที่ต้องกลายเป็นผู้ต้องหาคดี 116

รัฐต้องฟังเสียงของเยาวชน: บทสนทนากับ ‘ธนกร’ เยาวชนรายแรกที่ถูกตั้งข้อหา ม. 116

การเมือง ความรัก และโลกเบื้องหลังก่อน“เยาวชนปลดแอก”ของ ฟอร์ด-เจมส์

X