ประมวลการต่อสู้ก่อนพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 นักศึกษา มช. ชุมนุมสามกษัตริย์ ก่อนเดินไปแจ้งความเจ้าหน้าที่เหตุสลายชุมนุมหน้าสภา ปี 2563 

ในวันที่ 25 เม.ย. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาคดีของ 3 นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ ธนาธร วิทยเบญจางค์, วัชรภัทร ธรรมจักร และ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ (รามิล) จากกรณีการชุมนุมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหยุดกระทำความรุนแรงกับประชาชน เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะร่วมกันเดินขบวนไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ เพื่อดำเนินการแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงที่แยกเกียกกาย หน้ารัฐสภาที่กรุงเทพฯ 

คดีนี้มี พ.ต.อ.มนัสชัย อินทร์เถื่อน อดีตรองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวหา โดยมี พ.ต.ท.สมคิด ภูสด เป็นพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่นักศึกษาทั้ง 3 คน เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2564 รวม 5 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6), ใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และเดินขบวนกีดขวางการจราจร

ต่อมาวันที่ 8 มี.ค. 2564 พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนคดีเห็นควรฟ้องและนัดทั้ง 3 นักศึกษาเพื่อส่งสำนวนต่อพนักงานอัยการคดีศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพนักงานอัยการคดีศาลแขวงได้เลื่อนนัดฟังคำสั่งออกไป จนกระทั่งเวลาผ่านไป 2 ปีเศษ เนื่องด้วยอัยการเจ้าของสำนวนคดีมีความเห็นไม่สั่งฟ้องคดี ทำให้สำนวนถูกส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ตามลำดับ แต่ทางผู้ว่าฯ มีความเห็นให้ดำเนินการฟ้องคดีนี้ 

ต่อมาวันที่ 4 ส.ค. 2566 พนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ได้สั่งฟ้องคดีของทั้ง 3 นักศึกษา ต่อศาลแขวงเชียงใหม่ โดยฟ้องเฉพาะข้อหาชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนข้อหาอื่น ๆ ได้ขาดอายุความไปแล้ว

ทั้งสามคนได้ให้การปฏิเสธข้อกลา่วหา และหลังจากการสืบพยานอย่างเข้มข้นไปเมื่อวันที่ 24, 25 ม.ค. และ 1 ก.พ. 2567 ศาลกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 เม.ย. 2567 นี้ 

.

ภาพรวมการสืบพยาน: โจทก์กล่าวหาจำเลย ไม่แจ้งชุมนุม – กิจกรรมแออัด เสี่ยงต่อโรค ด้านจำเลยโต้แย้งไม่ได้เป็นผู้จัด- ช่วงเวลานั้นไม่มีโรคแพร่ระบาด และการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ

สำหรับ วันที่ 17 พ.ย. 2563 เป็นวันที่มีการประชุมของรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ Resolution ที่ประชาชนร่วมกันลงชื่อเสนอร่างเข้าไป นำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือ iLaw ทำให้มีการนัดหมายชุมนุมของประชาชนบริเวณรัฐสภา แต่ได้เกิดเหตุตำรวจฉีดน้ำแรงดันสูงจากรถจีโน่เข้าใส่ผู้ชุมนุม ใช้แก๊สน้ำตา รวมทั้งเหตุการณ์ปะทะกันกับกลุ่มปกป้องสถาบันฯ

ในต่างจังหวัด จึงมีการนัดหมายชุมนุมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยุติการใช้ความรุนแรงกับประชาชน โดยที่จังหวัดเชียงใหม่ แกนนำนักศึกษามีการนัดหมายชุมนุมบริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ก่อนมีการเดินขบวนมาที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อพยายามแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ใช้กำลังกับประชาชนในกรุงเทพฯ ว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยตำรวจได้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ผู้ชุมนุมจึงแยกย้ายกันกลับ และต่อมามีผู้ถูกดำเนินคดีเป็นแกนนำนักศึกษา 3 รายดังกล่าว

ในการสืบพยาน อัยการโจทก์นำพยานบุคคลเข้าสืบพยานจำนวน 6 ปาก ได้แก่ 1. พ.ต.อ. มนัสชัย อินทร์เถื่อน เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ 2. พ.ต.อ.ภูวนาถ ดวงดี ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ 3. พ.ต.อ.สันติ คำใส รองผู้กำกับสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ เป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ 4. ร.ต.อ.นพดล ไชยนันตา พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ผู้รับแจ้งความจากกลุ่มจำเลย 5. สมชาย นันทวัฒนากรณ์ นักวิชาการสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองเชียงใหม่ 6. พ.ต.ท.สมคิด ภูสด พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดีนี้ 

โดยสรุปโจทก์พยายามกล่าวหาว่า จำเลยกับพวกอีกประมาณ 200 คน ได้ร่วมกันทำกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันปราศรัยยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย อยู่ในลักษณะแออัดใกล้ชิด ทำกิจกรรมร่วมกันเป็นเวลานาน ไม่เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และไม่มีมาตรการป้องกันโรค ณ บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และบริเวณ สภ.เมืองเชียงใหม่ 

ส่วนฝ่ายจำเลยนำพยานบุคคลเข้าสืบพยาน 5 ปาก ได้แก่ จำเลยทั้งสามคน, ปารณ บุญช่วย และ กฤษณ์พชร โสมณวัตร สองอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จำเลยทั้งสามโต้แย้งว่า การเข้าร่วมชุมนุมดังกล่าว เนื่องจากทนไม่ได้กับเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 เพื่อดำเนินการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความรุนแรง การชุมนุมเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ตามสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฯ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICCPR) ในพื้นที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ไม่แออัด ช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดในเชียงใหม่ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์เป็นเวลาหลายเดือน ทั้งรัฐก็มีการผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ซึ่งย่อมอยู่ในวิสัยที่ข้อห้ามเรื่้องการชุมนุมนั้นจะผ่อนปรนลงไปด้วย เพราะการชุมนุมสาธารณะนั้นเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องได้รับความเคารพยิ่งกว่ามิติเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ลงวันที่ 3 เมษายน 2563 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลบังคับใช้ อีกทั้งข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดให้การจัดกิจกรรมชุมนุม กระทำภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมจัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดด้วย ดังนั้นการชุมนุมจึงไม่ขัดต่อกฎหมายใด ๆ 

.

ภาพประชาสัมพันธ์การชุมนุมจากเพจ “ประชาคมมอชอ”

.

ผู้กำกับ สภ.เมืองเชียงใหม่ และผู้กล่าวหา รับว่าการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ ในสถานที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเท  เพื่อแจ้งความ ตร. สลายการชุมนุม

พ.ต.อ. ภูวนาถ ดวงดี ผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงใหม่ และ พ.ต.อ.มนัสชัย อินทร์เถื่อน ช่วงเวลาเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับฝ่ายสืบสวนของ สภ.เมืองเชียงใหม่ โดยปัจจุบันเป็นผู้กำกับการ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์

พ.ต.อ. มนัสชัยเบิกความถึงเหตุการณ์ในวันที่ 17 พ.ย. 2563 ก่อนเกิดเหตุได้รับรายงานจากเฟซบุ๊กเพจ “ประชาคมมอชอ”, “พรรควิฬาร์”, “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” โพสต์ข้อความเชิญชวนให้มาชุมนุมที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เวลา 17.00 น. ในวันเดียวกัน พ.ต.อ. ภูวนาถ ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งให้สืบสวนหาข่าวและตรวจสอบบริเวณที่จุดนัดหมาย 

จนถึงเวลานัดหมาย 17.20 น. เริ่มมีมวลชนมาร่วมชุมนุมที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ประมาณ 50 คน โดยธนาธร จำเลยที่ 1 เป็นแกนนำถือไมค์พูดเชิญชวนให้มาร่วมชุมนุม หลังจากนั้นประชาชนเริ่มมาชุมนุมและแกนนำคนอื่น ๆ ก็เริ่มพูดปราศรัย โดยจำเลยที่ 2 และ 3 พูดเกี่ยวกับเหตุชุมนุมของประชาชนที่สี่แยกเกียกกาย กรุงเทพฯ และชี้แจงว่าเป็นการชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ เพื่อแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สลายการชุมนุมในกรุงเทพฯ

ขณะกิจกรรมดำเนินอยู่ มนัสชัยได้พบกับธนาธร และได้แจ้งว่าการชุมนุมครั้งนี้ยังไม่ได้แจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องแจ้งการชุมนุมก่อน 24 ชั่วโมง ซึ่งธนาธรตอบว่าการชุมนุมเป็นการเร่งด่วน จึงแจ้งไม่ทัน หลังจากนั้นธนาธรก็ปราศรัยต่อ จนมีผู้ร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง 200 คน และมีการตั้งขบวนเพื่อเคลื่อนไปที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ 

ต่อมาเวลา 19.05 น. ผู้ชุมนุมเริ่มเคลื่อนขบวนไปตามถนนพระปกเกล้า โดยมีรถเครื่องขยายเสียงนำขบวน มีการปราศรัยและชูป้าย ผู้ชุมนุมสวมใส่เสื้อกันฝน และต่างก็ตะโกนด่ารัฐบาล เคลื่อนขบวนถึงสี่แยกกลางเวียง เลี้ยวขวาไปตามถนนราชดำเนินแล้วเลี้ยวซ้ายไปยัง สภ.เมืองเชียงใหม่

เวลา 19.23 น. พ.ต.ท.ภูวนาถ ได้มาพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม ขอให้อยู่ในความสงบและขอตัวแทน 2 คนขึ้นไปแจ้งความบนสถานีตำรวจ และให้ผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ รออยู่ข้างล่าง โดยจำเลยที่ 2 และ 3 ได้เป็นตัวแทนเข้าไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กรุงเทพฯ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเสร็จสิ้นเวลา 20.00 น. จากนั้นได้มีการรวมตัวถ่ายภาพด้านหน้าอนุสาวรีย์ตำรวจ ก่อนแยกย้ายกันกลับ

พ.ต.อ.ภูวนาถ ได้พิจารณาเห็นว่าการชุมนุมมีลักษณะยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย โดยมีการปราศรัยให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนให้หยุดงานหรือหยุดเรียน และเห็นว่ามีพยานหลักฐานเชื่อว่ามีการกระทำความผิด จึงมอบหมายให้ พ.ต.อ.มนัสชัย เป็นผู้ร้องทุกข์ดำเนินคดีจำนวน 5 ข้อหา

พ.ต.อ.มนัสชัย ตอบทนายความจำเลยที่ 1 ถามค้าน รับว่าที่กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กพรรควิฬาร์นั้น แท้จริงแล้วไม่สามารถทราบได้ว่าใครเป็นผู้ดูแลเพจ และไม่ได้สั่งการให้พนักงานสอบสวนรวบรวมข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งช่วงเวลาเกิดเหตุทราบว่ากลุ่มนักศึกษาทั่วประเทศมีข้อเรียกร้องขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา และขอให้นายกรัฐมนตรีลาออก ซึ่งต่อมามีการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมจำนวนมาก และส่วนของมนัสชัยเองก็มีการแจ้งความต่อผู้ชุมนุมแล้วหลายคดี แต่จำไม่ได้ว่ากี่คดีแล้ว

ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ มาตรา 3 (6) ได้มีการบัญญัติไม่ให้ใช้ในขณะที่มีการประกาศใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินฯ แต่ต่อมานายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มนัสชัยจำได้ว่ามีฉบับที่ 13 ให้กลับมาใช้หลักเกณฑ์และวิธีการในการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 

นอกจากนี้พยานรับว่า พื้นที่บริเวณที่ชุมนุมมีลักษณะเปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ผู้คนสามารถสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก ซึ่งพื้นที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์จะมีการจัดกิจกรรมงานประเพณีต่าง ๆ เป็นปกติ และในช่วงเวลาดังกล่าวมีมาตรการผ่อนปรนเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้ว ในวันเกิดเหตุ กลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างดี ทั้งตำรวจก็อำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุม ไม่มีการกระทบกระทั่งกันหรือใช้กำลังใด ๆ เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย 

พ.ต.อ.มนัสชัย ตอบทนายความจำเลยที่ 2 ถามค้าน รับว่าเพจเฟซบุ๊กต่าง ๆ นั้น ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ก็ได้โพสต์ถึงกิจกรรมในเฟซบุ๊กส่วนตัว ส่วนข้อความในคอมเมนต์ของผู้ชุมนุมอื่น ๆ ได้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชารวบรวมหลักฐาน หากยืนยันตัวบุคคลได้ก็จะดำเนินคดี ซึ่งสามารถติดตามตัวได้บางส่วน แต่หลังจากนั้นไม่ทราบว่ามีการดำเนินคดีเพิ่มเติมหรือไม่

ในวันเกิดเหตุ ผู้ชุมนุมไม่ได้มีการตั้งเวที แต่ใช้เครื่องขยายเสียงและไมค์ตัวเดียวสลับกันพูด มีบุคคลมาปราศรัยอยู่หลายคน น่าจะประมาณ 5 คน และพยานได้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชานับจำนวนผู้ร่วมชุมนุมได้ประมาณ 200 คน

พ.ต.อ.มนัสชัย ตอบทนายความจำเลยที่ 3 ถามค้าน รับว่าตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ให้คำนิยามคำว่า “แออัด” เอาไว้ จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด ซึ่งสถานที่เกิดเหตุเป็นสถานที่โล่ง ไม่แออัด สามารถบรรจุคนได้มากกว่า 1,000 คน ส่วนหน้า สภ.เมืองเชียงใหม่สามารถบรรจุคนได้ประมาณ 300-400 คน ซึ่งผู้ชุมนุมก็สามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้ ไม่ได้มีความแออัด

พยานรับว่า การชุมนุมแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตสามารถกระทำได้ และการชุมนุมคดีนี้ก็เป็นการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและสามารถกระทำได้ โดยทราบว่ามีข้อกำหนดฉบับที่ 13 ลงวันที่ 31 ก.ค. 2563 ให้ประชาชนสามารถชุมนุมตามสิทธิและเสรีภาพได้

ในช่วงเกิดเหตุ พ.ต.อ.มนัสชัย ไม่ทราบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดหรือไม่ แต่คาดว่าลดลงแล้ว และการดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสามเนื่องจากรู้จักกับจำเลยมาก่อน เพราะเป็น “ผู้กระทำความผิด” ในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีอื่น ๆ ด้วย ทราบว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาลในขณะนั้น และเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยที่ผ่านมาไม่มีการดำเนินคดีกับฝ่ายผู้เห็นด้วยกับรัฐบาล

พ.ต.อ.มนัสชัย ตอบอัยการโจทก์ถามติง แม้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จะกำหนดไม่ให้บังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินตามมาตรา 3 (6) แต่ต่อมามีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ฉบับที่ 13 ประกาศวันที่ 31 ก.ค. 2563 ให้ใช้หลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ และให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมจัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคด้วย

ในช่วงเวลาเกิดเหตุทางจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดกิจกรรมลอยกระทง ซึ่งทุกกิจกรรมอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด จะต้องมีการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการจัดงานรวมถึงจำนวนผู้ร่วมกิจกรรม และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ด้วย ส่วนเหตุที่ไม่ดำเนินการกับฝ่ายที่เห็นด้วยกับรัฐบาลเนื่องจากไม่พบการชุมนุมที่เป็นความผิด

พ.ต.อ.ภูวนาถ ตอบทนายความถามค้าน รับว่าเป็นผู้พิจารณาและมีความเห็นว่าจำเลยทั้งสามมีความผิด โดยพิจารณาจาก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่บังคับใช้ในขณะเกิดเหตุ ซึ่งตามรายงานระบุจำนวนผู้ชุมนุมจำนวน 50 คน แต่ไม่ได้ปรากฏในรายงานว่าที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ จำนวนกี่คน ทั้งในรายงานไม่มีการระบุว่านับจำนวนคนอย่างไร พยานรับว่าการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ ตำรวจก็อำนวยความสะดวกให้ผู้เข้ามาแจ้งความตามปกติ  นอกจากนี้ตนได้ติดต่อกับ พ.ต.อ.มนัสชัย เป็นระยะตลอดช่วงชุมนุม และไม่ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุการณ์ความไม่เรียบร้อย 

โดยหลักการแล้วหากมีประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะไม่นำ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาใช้ แต่มีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ฉบับที่ 13 ในการชุมนุมสาธารณะจะต้องใช้หลักเกณฑ์ที่ระบุใน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่ง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 6 ได้บัญญัติให้การชุมนุมต้องเป็นไปด้วยความสงบและปราศจากอาวุธ การใช้สิทธิและเสรีภาพต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

พยานรับว่าโดยปกติในช่วงนั้น หากมีการชุมนุม พ.ต.อ.มนัสชัย จะแจ้งให้ พ.ต.อ.ภูวนาถ ทราบ และจะมีการประกาศแจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบว่าเป็นการชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีความผิดตามกฎหมาย แต่ในการชุมนุมครั้งนี้ไม่มีการประกาศลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด

พ.ต.อ.ภูวนาถ ตอบอัยการโจทก์ถามติง ว่าในการพิจารณาว่าการชุมนุมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-2019 หรือไม่นั้น อาจจะพิจารรณาถึงสถานที่ และการอยู่ใกล้ชิดกัน โดยไม่มีมาตรการป้องกันโรค เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัย ด้วย

.

ภาพการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์สามกษัตรย์ไปยัง สภ.เมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563

.

2 พนักงานสอบสวน ผู้รับแจ้งความเอาผิดตำรวจสลายการชุมนุม แยกเกียกกาย ระบุหลังจำเลยแจ้งความไม่มีการดำเนินการใด ๆ ต่อ

พ.ต.อ.สันติ คำใส รองผู้กำกับสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ และ ร.ต.อ.นพดล ไชยนันตา พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ต่างเบิกความถึงเหตุการณ์วันที่ 17 พ.ย. 2563 เวลา 17.20 น. สันติได้ทราบจากศูนย์วิทยุและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนว่ามีกลุ่มมวลชนชุมนุมที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และต่อมาเคลื่อนขบวนมาถึง สภ.เมืองเชียงใหม่ และมีจำเลยที่ 2 และ 3 เดินเข้ามาบริเวณอาคาร

ทั้งสองเข้ามาแจ้งความเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมที่สี่แยกเกียกกาย ว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้แก๊สน้ำตา ฉีดน้ำแรงดันสูง และใช้กระสุนยางต่อผู้ชุมนุม ส่งผลให้มีผู้คนบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย ร.ต.อ.นพดล พนักงานสอบสวนเวรในขณะเกิดเหตุ ได้ทำการรับแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้

พ.ต.อ.สันติ ตอบทนายความถามค้าน รับว่าเหตุที่ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น เนื่องจากจะต้องมีการสอบปากคำพยานไว้เป็นหลักฐานและนำหลักฐานส่งให้ทางสถานีตำรวจที่รับผิดชอบ แต่เมื่อพูดคุยกับทั้งสองแล้วตกลงกันว่าจะลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ซึ่งวันเกิดเหตุพยานอยู่เฉพาะแต่ในห้องรับแจ้งความเท่านั้น จึงไม่ทราบถึงเหตุการณ์ด้านนอก 

พยานรับว่าพื้นที่บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์เป็นพื้นที่เปิดโล่ง สามารถบรรจุคนได้ถึงหลักพัน และจำเลยทั้งสามมีสิทธิและเสรีภาพที่จะชุมนุมและแสดงความคิดเห็นได้ ทั้งทราบว่าไม่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงใด ๆ 

ร.ต.อ.นพดล ตอบทนายความถามค้าน รับว่าข้อหาที่จำเลยที่ 2 และ 3 มาแจ้งความดังกล่าวนั้นเป็นความผิดอาญาที่ยอมความไม่ได้ และไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายก็สามารถแจ้งความได้ โดยพยานไม่ได้ส่งหลักฐานไปให้สถานีตำรวจทางกรุงเทพดำเนินการใด ๆ ต่อ เนื่องจากเป็นเพียงการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น

.

เจ้าพนักงานควบคุมโรค เห็นว่าการชุมนุมไม่มีมาตรการป้องกันโรค แม้ช่วงดังกล่าวไม่มีผู้ติดเชื้อทั้งก่อน-หลัง หลายเดือน มีการผ่อนปรนมาตรการ และนโยบายชวนคนมาเที่ยวเชียงใหม่

สมชาย นันทวัฒนากรณ์ ขณะเกิดเหตุรับราชการตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุข อำเภอเมืองเชียงใหม่ เป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค เนื่องจากสมชายได้รับหนังสือจาก สภ.เมืองเชียงใหม่ ให้เสนอความเห็นเกี่ยวกับการชุมนุมที่ไม่ได้มีมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 พยานจึงได้รับมอบหมายมาให้ปากคำในคดีนี้

เดือน พ.ย. 2563 ทราบว่ามีการชุมนุมที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และ สภ.เมืองเชียงใหม่ แต่เนื่องจากไม่ได้รับแจ้งจากศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอเมืองเชียงใหม่ จึงไม่ได้จัดคณะทำงานเข้าไปในที่เกิดเหตุ โดยในช่วงเกิดเหตุ หากจะชุมนุมจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคในพื้นที่ หรือศูนย์ ศปก.อ. และจะต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค

หลังจากสมชายได้พิจารณาจากรูปภาพการชุมนุมแล้ว เห็นว่าผู้ชุมนุมไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยครบ 100% และการชุมนุมมีระยะเวลานาน ไม่มีการเว้นระยะห่าง และนั่งใกล้ชิดกัน ไม่มีการจัดให้มีเจลล้างมือและวัดอุณหภูมิในที่ชุมนุมด้วย 

สมชายตอบทนายความจำเลยที่ 1 ถามค้าน รับว่าช่วงเวลาสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-2019 มีช่วงที่สถานการณ์ที่รุนแรง และไม่รุนแรง ซึ่งมาตรการของรัฐจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของการติดเชื้อ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีการประชาสัมพันธ์ยอดของผู้ติดเชื้อในจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ 16 พ.ค. 2563 จนถึง 26 พ.ย. 2563 ไม่พบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่ม แสดงว่าในช่วงเวลาเกิดเหตุสถานการณ์ไม่ร้ายแรง

นอกจากนี้เพจประชาสัมพันธ์ของสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 1 ธ.ค. 2563 ได้เผยแพร่ข่าวว่าจังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้เป็นพื้นที่เสี่ยงและไม่มีการแพร่ระบาดของโรค อีกทั้งช่วงเดือน พ.ค. 2563 ยังมีการผ่อนคลายจุดท่องเที่ยวบ้างแล้ว 

สมชายตอบทนายความจำเลยที่ 2 ถามค้าน รับว่าสถานที่ปิดนั้นที่จะเสี่ยงติดเชื้อโรคมากกว่าสถานที่โล่งแจ้ง และลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ หรือลานจอดรถหน้า สภ.เมืองเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ความเสี่ยงแพร่ระบาดโรคน้อย อีกทั้งช่วงปลายปี 2563 ยังมีการระบาดน้อย

สมชายตอบทนายความจำเลยที่ 3 ถามค้าน ขณะเกิดเหตุมีพนักงานควบคุมโรคของอำเภอเมืองเชียงใหม่ 2 คน คือสมชายกับหัวหน้า ซึ่งตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ จะกำหนดคำนิยามของคำว่า “ความเสี่ยง” ไว้หรือไม่นั้น สมชายไม่ทราบ 

ความเสี่ยงต่อการแพร่โรคจะมีความเสี่ยงมากหรือน้อยนั้น สมชายไม่ได้คาดเดาเอาเอง แต่มาจากการดูมาตรการ ซึ่งการนั่งใกล้ชิดกันโดยไม่สวมหน้ากากอนามัยอาจจะไม่มีความเสี่ยงก็ได้ และผู้ที่อยู่ในพื้นที่ปิด เช่น ในรถยนต์ ก็จะมีความเสี่ยงมากกว่าพื้นที่เปิดโล่ง รับว่าลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์เป็นพื้นที่เปิดโล่งสามารถบรรจุคนได้มากกว่า 1,000 คน

.

ภาพสองตัวแทนนักศึกษาขอเข้าแจ้งความใน สภ.เมืองเชียงใหม่ (ภาพจากเพจประชาคมมอชอ)

.

พนักงานสอบสวน ระบุได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ดำเนินคดีนี้ จึงมีความเห็นควรฟ้องจำเลยทั้งสาม

พ.ต.ท.สมคิด ภูสด พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ในช่วงเวลาเกิดเหตุมี พ.ต.อ.มนัสชัย ได้กล่าวหาจำเลยทั้งสามในคดีนี้ จึงได้ทำการสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้อง และแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งสามจำนวน 6 ข้อหา และสมคิดมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งสามในทุกข้อหา

พ.ต.ท.สมคิดตอบทนายความถามค้าน รับว่าได้รับคำสั่งจาก พ.ต.อ.ภูวนาถ ดวงดี ให้เป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้ ซึ่งการสรุปข้อพิจารณาว่าเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องนั้น คำสั่งสุดท้ายจะเป็นของ พ.ต.อ.ภูวนาถ ซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน และประชาชนทั่วไปมีสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญกำหนด 

ในการชุมนุมมีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 200 คน แต่มีการดำเนินคดีเพียงแต่กับจำเลยทั้งสาม และยังไม่มีดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมอื่นอีก

.

จำเลยทั้งสามเบิกความ – เห็นการสลายการชุมนุม ด้วยความรุนแรงที่แยกเกียกกายผ่านสื่อโซเชียล จึงออกมาร่วมชุมนุมเรียกร้องให้ยุติ และเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ อันเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ

ธนาธร วิทยเบญจางค์ จำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุเป็นนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ สาขาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเคยทำกิจกรรมกับชมรมสิทธิมนุษยชน และเป็นรองนายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ขณะเกิดเหตุวันที่ 17 พ.ย. 2563 ธนาธรทราบจากสื่อโซเชียลมีเดียถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมของประชาชนที่แยกเกียกกาย ขัดต่อหลักสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รวมถึงมีการสลายการชุมนุมที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ เช่น การใช้แก๊สน้ำตา มีการใช้กระสุนยาง เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พยานไม่พอใจอย่างมาก และทราบจากสื่อโซเชียลมีเดียต่อมาว่าจะมีการรวมตัวกันที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จึงได้เดินทางไปที่เกิดเหตุด้วยรถจักรยานยนต์

ขณะไปถึงเวลา 16.40 น. ธนาธรเห็นคนนั่งกระจัดกระจายกันประมาณ 20 คน และมีเครื่องขยายเสียงตั้งอยู่ก่อนแล้ว จึงได้ใช้เครื่องขยายเสียงพูดเกี่ยวกับประเด็นการสลายการชุมนุม โดยเฉพาะเกี่ยวกับหลักสากล กระทั่งมีผู้อื่นแจ้งว่าต้องการพูดบ้าง พยานจึงนำไมค์ยื่นให้ ในระหว่างชุมนุม มีการพูดคุยกันว่าจะเดินไปแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สลายการชุมุนมที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ ใช้เวลาเดินประมาณ 10 นาที เมื่อไปถึงธนาธรก็เดินเล่นบริเวณสถานี โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมอื่นส่งตัวแทนเข้าไปแจ้งความ

เหตุที่ธนาธรเข้าร่วมการชุมนุม เนื่องจากสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน และเห็นว่าการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ เป็นไปโดยมิชอบ จึงทำให้ต้องการมีส่วนร่วมเรียกร้องไม่ให้เป็นบรรทัดฐานที่จะบังคับใช้ในสังคมต่อไป 

ธนาธรตอบอัยการโจทก์ถามค้าน ธนาธรรับว่าเป็นหนึ่งในผู้ดูแลเพจพรรควิฬาร์ แต่ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความเชิญชวนดังกล่าว และที่ไม่ได้แจ้งให้ทาง สภ.เมืองเชียงใหม่ ทราบเนื่องจากตนไม่ได้เป็นแกนนำหรือผู้จัดกิจกรรม เป็นเพียงผู้ร่วมเท่านั้น

วัชรภัทร ธรรมจักร จำเลยที่ 2 เบิกความต่อศาลว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้นักศึกษาในการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย 

ในวันเกิดเหตุ ได้ทราบข่าวการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมที่แยกเกียกกาย กรุงเทพฯ โดยใช้แก๊สน้ำตา การทำร้ายผู้ร่วมชุมนุม จึงได้มีการชักชวนกันไปที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เพื่อยืนยันปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ให้เกิดความรุนแรงไปมากกว่านี้ 

เวลาประมาณ 18.00 น. วัชรภัทรเดินทางไปถึงลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ก็พบเห็นมีผู้กำลังปราศรัยอยู่ก่อนแล้ว โดยปราศรัยประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงานของรัฐบาล การสลายการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในการปราศรัยก็มีผู้ร่วมปราศรัยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันนับสิบคนด้วยความสมัครใจ ซึ่งมีลักษณะใครก็สามารถเข้าไปปราศรัยได้ และพยานก็รู้สึกอัดอั้นอยากจะพูดปราศรัยด้วย จึงขึ้นพูดเรื่องหลักการสลายการชุมนุม รวมถึงเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาหากคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้ความรุนแรงที่กรุงเทพฯ ลดลง

เมื่อไปถึง สภ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อแจ้งความ ได้มี พ.ต.อ.ภูวนาถ เชิญให้วัชรภัทรเข้าไปคุยสอบถามว่ามาทำอะไร จึงแจ้งความประสงค์ไปว่าต้องการแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องในการสลายการชุมนุม จากนั้น พ.ต.อ.ภูวนาถ ได้เจรจาขอให้ส่งตัวแทนไป 2 คน วัชรภัทรจึงสอบถามผู้ร่วมชุมนุมว่าจะส่งใครเป็นตัวแทน ขณะนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมเห็นว่าวัชรภัทรเป็นผู้มีความรู้ด้านกฎหมาย จึงเลือกให้พยานไปเป็นผู้แจ้งความ ในการแจ้งความใช้เวลาเพียงครู่เดียว เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการใช้เวลาน้อยที่สุด เสร็จแล้วจึงมาร่วมกันถ่ายภาพด้านหน้าสถานี

วัชรภัทรเห็นว่าการออกไปร่วมชุมนุมเป็นการยืนยันสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และไม่ควรถูกกระทบจากรัฐโดยไม่ชอบแม้จะอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม และการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขณะนั้นก็เป็นไปเพื่อขัดขวางไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพ และการชุมนุมเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนย่อมกระทำได้

วัชรภัทรตอบพนักงานอัยการโจทก์ถามค้าน รับว่าใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวและโพสต์ข้อความชวนไปชุมนุมที่ลานสามกษัตริย์เอง และเหตุที่ไม่ได้แจ้งให้ตำรวจทราบ เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม และวันดังกล่าวก็ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงกระทบกระทั่งกันระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุม

วิธญา คลังนิล หรือศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ จำเลยที่ 3 เบิกความว่าขณะเกิดเหตุเป็นนักศึกษาสาขาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมีตำแหน่งเป็นประธานฝ่ายวิชาการในสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในวันเกิดเหตุ ศิวัญชลีเห็นเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงที่แยกเกียกกาย ผ่านสื่อโซเชียล จึงเกิดความไม่พอใจ และต้องการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ต่อมาทราบว่าจะมีการชุมนุมที่สามกษัตริย์ จึงเดินทางไปร่วมด้วย เมื่อไปถึง ฟ้าก็ใกล้จะมืดแล้วและยังมีผู้ปราศรัยอยู่ โดยลักษณะการชุมนุมนั้น ใครก็สามารถขึ้นปราศรัยได้ ตนจึงไปร่วมอ่านบทกวีด้วย 

หลังจากเดินทางไปยัง สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้พูดคุยกับตำรวจ ก่อนจะให้ส่งตัวแทนไป 2 คนเพื่อแจ้งความ โดย จำเลยที่ 2 ได้รับเลือกจากกลุ่มผู้ชุมนุมให้เป็นผู้ไปแจ้งความ ศิวัญชลีจึงเสนอตัวขึ้นไปแจ้งความเป็นเพื่อนด้วย โดยตลอดการชุมนุมหรือเดินขบวนก็ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น

ศิวัญชลี ตอบพนักงานอัยการโจทก์ถามค้าน ว่าตนได้อ่านบทกวีขณะที่มีการชุมนุม บริเวณสามกษัตริย์ เกี่ยวกับการใฝ่ฝันถึงวันที่เป็นไปไม่ได้ และการต่อสู้เป็นความท้อใจที่ไปไม่ถึงจุดหมาย อันเป็นบทกวีที่เกี่ยวกับการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ซึ่งศิวัญชลีมีความรู้สึกต่อเหตุการณ์ในวันดังกล่าว และเหตุที่ตนเสนอตัวไปแจ้งความด้วย เนื่องจากเกรงว่าหากให้เพื่อนไปคนเดียวจะไม่ปลอดภัย โดยในการแจ้งความ ตำรวจก็อำนวยความสะดวกอย่างรวดเร็ว

.

ภาพบันทึกประจำวัน ที่พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ บันทึกไว้ (ภาพจากเพจประชาคมมอชอ)

.

อาจารย์กฎหมาย เชี่ยวชาญเสรีภาพการชุมนุม – รัฐไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณี ICCPR การจำกัดสิทธิการชุมนุมได้เพียงเท่าที่จำเป็นและพอสมควรแก่เหตุ ตามหลักนิติรัฐ/นิติธรรม

ปารณ บุญช่วย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับผิดชอบสอนวิชาสันติภาพและสิทธิมนุษยชน, องค์กรระงับข้อพิพาทในระบอบประชาธิปไตย และมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องหลายชิ้น เช่น เป็นผู่ร่วมวิจัยโครงการจัดทำคู่มือสำหรับส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับการจัดการและการดูแลการชุมนุมสาธารณะต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2565, เป็นผู้ร่วมวิจัยเรื่องบทเรียนและสภาพปัญหาเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อปรับปรุง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ของสถาบันพระปกเกล้า เมื่อ พ.ศ. 2563 

ปารณได้ทำความเห็นทางวิชาการยื่นต่อศาลในคดีนี้ โดยสรุปดังนี้

(1.) หลักเสรีภาพการชุมนุมสาธารณะกับรัฐธรรมนูญตามหลัก ICCPR

หลักเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญของระบอบการปกครองเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่เปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง เพราะเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบเป็นเครื่องมือทำให้บุคคลทั้งหลาย สามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายเพื่อนำไปสู่ฉันทามติร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาสังคม และโดยเฉพาะประชาชนที่ไม่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองก็สามารถสร้างอำนาจต่อรองได้ผ่านการชุมนุมเพื่อเสนอ ยับยั้ง ตักเตือน หรือแก้ไขข้อผิดพลาดในการตัดสินใจทางการเมืองของผู้แทนราษฎร

หลักการของเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ สามารถพิจารณาได้จากกติกาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) ข้อที่ 20 ที่ถือเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศและเป็นกรอบสำคัญที่นานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศประชาธิปไตยที่จะต้องยึดถือ และกติการะหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนหลายฉบับก็รับรองหลักการดังกล่าวเช่นกัน ดังเช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Convenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ข้อ 21 ที่เป็นการวางกรอบกติกา ขยายความ และรับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดบสงบอันเป็นสิทธิทางการเมืองไว้เช่นกัน กล่าวโดยสรุปคือ เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบมีลักษณะเป็นการรวมกลุ่มและไม่มีการใช้ความรุนแรง มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงออก และอาจถูกจำกัดเสรีภาพนี้ลงได้

เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบไม่ใช่สิทธิสัมบูรณ์ (Absolute Rights) กล่าวคือ เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบอาจถูกจำกัดสิทธิลง หรือในบางกรณีรัฐอาจเลี่ยงพันธกรณีในหลักการที่รับรองเสรีภาพในการชุมนุมลงได้ในบางประการ ทั้งนี้ต้องทำไปเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยจะต้องมีฐานทางกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และยังอยู่ภายใต้หลักนิติรัฐ

ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก็รับรองหลักเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบไว้ในมาตรา 44 โดยมีเนื้อหาหลักการที่สอดคล้องกับหลักการกติการะหว่างประเทศ กล่าวคือการรับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบในวรรคแรก และการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมในวรรคสอง 

(2) หลักการบังคับใช้กฎหมายพอสมควรแก่เหตุ

การใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐหรือการดำเนินการต่าง ๆ ของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ หลักการหนึ่งที่สำคัญในการถ่วงดุลไม่ให้รัฐใช้อำนาจนเกินเลย คือ แม้จะมีฐานการใช้อำนาจ แต่ต้องมีการควบคุมรัฐให้ใช้อำนาจตามสัดส่วนหรือพอสมควรแก่เหตุ ด้วยการพิจารณาตามลำดับตั้งแต่

1. หลักความชอบธรรม ดูว่าวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของการกระทำทางปกครองนั้นชอบธรรมหรือไม่ รัฐต้องอธิบายเหตุผลของการกระทำนั้นได้ และในกรณีที่รัฐอาศัยอำนาจตามกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งในการกระทำการใดต้องดูว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นเป็นการกระทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ให้อำนาจหรือไม่

2. หลักความเหมาะสม/ สัมฤทธิ์ผล พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างมาตรการ/ การกระทำทางปกครองกับเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดว่าเชื่อมโยงกันหรือไม่ (ถ้าใช้มาตรการนั้นแล้วจะสัมฤทธิ์ผลจริงหรือไม่ อาจมีหลายมาตรการ)

3. หลักความจำเป็น เป็นการพิจารณาว่ามีมาตรการหรือวิธีการอื่นอีกหรือไม่ที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์หรือเป้าหมายที่ต้องการโดยสร้องผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อยที่สุด (ในบรรดามาตรการที่สามารถทำให้สัมฤทธิ์ผลได้ ต้องพิจารณามาตรการที่สร้างผลกระทบน้อยที่สุดก่อน)

4. หลักความพอสมควรแก่เหตุในความหมายอย่างแคบ (ได้สัดส่วนแบบเคร่งครัด) เมื่อมาตรการนั้นมีความชอบธรรม อาจสัมฤทธิ์ผลและมีความจำเป็นในการเลือกใช้มาตรการดังกล่าวแล้ว แต่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์มหาชนกับประโยชน์ของปัจเจกชนคนหนึ่งที่ต้องเสียไปว่ามันรุนแรงเกินกว่าคน ๆ หนึ่งจะต้องแบกรับหรือไม่ / มาตรการที่ฝ่ายปกครองใช้ก่อประโยชน์ให้กับมหาชนยิ่งกว่าการสร้างภาระให้ปัจเจกหรือสังคมหนึ่งเกินกว่าความคาดหมายหรือไม่ คือการระงับสิทธิของบุคคลแล้วจะเป็นประโยชน์ หรือคุ้มค่าต่อสังคมโดยส่วนรวมหรือไม่

จากกรณี 4 ข้อดังกล่าว คือการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตยตามหลักสากล เช่น ICCPR ซึ่งภายใต้หลักการสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการชุมนุม มีการอธิบายถึงการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมไว้เช่นกัน เพื่อให้เกิดดุลยภาพระหว่างเสรีภาพในการชุมนุมและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประโยชน์สาธารณะ โดยมีหลักการที่สอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุ กล่าวคือ ในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมตามหลักสากล มาตรการต้องพิจารณาให้เป็นไปตามเงื่อนไข 3 ข้อ

(1). การจำกัดสิทธินั้นมีกฎหมายให้อำนาจหรือไม่ มีทั้งกระบวนการและเนื้อหาที่ชอบด้วยกฎหมาย

(2). การจำกัดสิทธินั้นต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งภายใต้หลัก ICCPR ข้อ 21 มีเพียง 6 กรณีได้แก่ รักษาความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย การคุ้มครองด้านสาธารณสุขหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น นอกจากนี้จุดประสงค์ทั้ง 6 ข้อนั้นจะต้องไม่ใช่การที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง และรัฐจะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนแน่นอนซึ่งพิสูจน์ถึงเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น

(3). การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย คือ จำกัดสิทธิภายใต้หลักความสัมฤทธิ์ผล/เหมาะสม ความจำเป็น โดยเฉพาะหลักพอสมควรแก่เหตุอย่างแคบ และการเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความจำเป็นต้องไม่ใช่การตีความเพื่อความสะดวกแก่เจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ แต่เป็นไปในลักษณะที่ว่า หากมีการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมจะสนองต่อความต้องการของสังคม (เหตุผลการจัดเสรีภาพในการชุมนุม 6 กรณี) หรือไม่

เงื่อนไขว่า “การจำกัดสิทธินี้จะกระทำมิได้นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย” เป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาว่าการจำกัด การแทรกแซง การเลี่ยงพันธกรณีเป็นไปตามหลักความจำเป็นและได้สัดส่วนหรือไม่ แม้เงื่อนไขนี้ไม่ได้ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่เงื่อนไขดังกล่าวเป็นสาระสำคัญที่ประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องยึดถือ เนื่องจาก

  1. ไทยเป็นภาคีสมาชิกของ ICCPR ย่อมต้องผูกพันธ์โดยตรงต่อบทบัญญัติ
  2. ICCPR เป็นหนึ่งในกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่นานาประเทศยอมรับว่าเป็นกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
  3. นิยมเงื่อนไขของการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ และใน ICCPR ไม่ได้ระบุนิยามไว้ชัดเจน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจึงมีความเห็นทั่วไปหมายเลขที่ 29 และในหลัก The Siracusa Principle ซึ่งมีคำจำกัดความโดยสรุปที่เกี่ยวข้องกับคดีดังนี้

(1.) “ประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ” คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มีความเห็นทั่วไปที่ 29, 37 และ หลักการสิราคูซ่าว่าด้วยการเลี่ยงหรือระงับพันธกรณีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กล่าวโดยสังเขป การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมเนื่องจากประโยชน์ความมั่นคงของชาติ ต้องเป็นการป้องกันที่รัฐมีหลักฐานพอสมควรแล้วว่าจะมีอันตรายจากการคุกคามโดยใช้กำลัง/กองกำลังที่จะนำไปสู่การล่มสลายของการดำรงอยู่ของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน หรืออำนาจอธิปไตยทางการเมืองของประเทศนั้น อันจะถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง

(2.) “ความสงบเรียบร้อย” (Public order) เป็นกรณีที่มีผู้ยุยงให้เกิดความรุนแรง ซึ่งความรุนแรงนั้นต้องปรากฏแก่สังคมและมีความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงกับการแสดงออกที่ถือว่าเป็นการยุยงเช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลในทางอาญา 

อย่างไรก็ดี คำว่า “ความสงบเรียบร้อย” กับ “กฎหมายและความสงบ” (Law and Order) ไม่ได้มีความหมายเดียวกัน กล่าวคือ การละเมิดกฎหมายบางครั้งที่ไม่ใช่การทำลายหลักการต่าง ๆ ซึ่งเป็นรากฐานของสังคมและทำให้สังคมดำเนินต่อไปได้โดยปกติ เป็นแค่การละเมิดกฎหมายไม่ได้ทำลายความสงบเรียบร้อย จึงไม่อาจอ้างเหตุเรื่องความไม่สงบเรียบร้อยได้เพื่อจำกัดเสรีภาพ ต้องมีหลักฐานพอสมควรแล้วว่าการชุมนุมจะนำไปสู่การทำลายโครงสร้างพื้นฐานหรือกฎหมายพื้นฐานของรัฐ เป็นการก่อการร้าย และความสงบที่เป็นเพียงการละเมิดกฎหมายบางอย่างที่ไม่ถึงขั้นกระทบต่อโครงสร้างของประเทศ เช่น การไม่แจ้งการชุมนุม ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อความไม่สงบเรียบร้อย

(3.) “เพื่อการคุ้มครอง ด้านสาธารณสุข” เหตุดังกล่าวสามารถถูกใช้ในกรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อและการชุมนุมรวมกลุ่มกันอาจก่อให้เกิดอันตราย การจำกัดสิทธิด้วยเหตุนี้อาจยกขึ้นมาใช้ได้ในกรณีที่ร้ายแรงอย่างมากเมื่อสถานการณ์ด้านสุขอนามัยในระหว่างการชุมนุมอาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพต่อสาธารณชนหรือต่อตัวผู้ชุมนุมเอง มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรคหรือการบาดเจ็บ หรือเพื่อดูแลผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บเป็นการเฉพาะด้วย แต่ต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 UNHCR ได้มีมติว่าการจำกัดสิทธิในเรื่องนี้ต้องจำเป็นและได้สัดส่วน

อย่างไรก็ตามเมื่ออยู่ในภาวะฉุกเฉิน เช่น การแพร่ระบาดโรคโควิด นอกจากรัฐต้องทำตามสิ่งที่กล่าวเบื้องต้นแล้ว ยังมีเงื่อนไขบางประการที่รัฐจำเป็นต้องทำในการยกเว้นไม่ปฏิบัติตามพันธกรณี ซึ่งก็คือ การเลี่ยงพันธกรณีในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมในภาวะฉุกเฉิน รัฐอาจเลี่ยงพันธกรณีในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพบางประการของประชาชนในยามวิกฤตตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล กล่าวคือ รัฐอาจไม่ดำเนินการตามหลักการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมบางประการหรืออาจใช้อำนาจพิเศษในสภาวะยกเว้นบางประการดำเนินการเพื่อให้ประเทศพ้นจากภาวะฉุกเฉิน

ทั้งนี้ การเลี่ยงพันธกรณีในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพบางประการปรากฏชัดเจนในข้อ 4 ของ ICCPR ซึ่งกำหนดไว้ว่าในกรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉินสาธารณะซึ่งคุกคามต่อความอยู่รอดของชาติและได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินอย่างเป็นทางการแล้ว รัฐภาคีก็จะสามารถใช้มาตรการที่เป็นการเลี่ยงพันธกรณี (Derogation) ภายใต้ ICCPR ได้เพียงเท่าที่จำเป็นตามความฉุกเฉินของสถานการณ์ และมาตรการดังกล่าวจะต้องไม่ขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศข้ออื่น ๆ อีกทั้งจะต้องไม่เป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนาหรือถิ่นกำเนิด

นอกจากการเลี่ยงพันธกรณีตาม ICCPR ข้อที่ 4 หลัก The Siracusa และความเห็นทั่วไปหมายเลข 29 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยสรุปมีหลักการสำคัญในการเลี่ยงพันธกรณีดังนี้ โดยทั่วไปมีหลักการเช่นเดียวกับการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมในภาวะทั่วไป คือยังอยู่ภายใต้หลักความพอสมควรแก่เหตุในการใช้อำนาจมหาชน หรือความจำเป็นในการพิทักษ์สังคมประชาธิปไตย

1. ต้องมีภาวะฉุกเฉินสาธารณะ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของชาติ กล่าวโดยสรุปคือ เป็นภาวะการคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อประชากรโดยรวม และกระทบต่อส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของดินแดนของรัฐนั้น โดยมีการคุกคามประชากรหรือความเป็นอิสระหรือดินแดนของรัฐ (ภาวะขัดกันของอาวุธ/ สงคราม ภาวะโรคระบาด)

2. รัฐได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเป็นทางการและแจ้งต่อสหประชาชาติและรัฐภาคีอื่น (เป็นหลักการเดียวที่แตกต่างไปจากการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมตาม ICCPR ข้อ 21)

3. มีกฎหมายให้อำนาจไว้ และกระบวนการออกกฎหมายนั้นต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

4. มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และมีความชัดเจนว่ามีภาวะฉุกเฉินจริงหรือใกล้จะเกิดจริงไม่ใช่เพียงการคาดคะเน (หากยังใช้การจำกัดสิทธิตาม ICCPR ข้อ 21 และได้ผลเหมือนกันถือว่ายังไม่จำเป็น)

5. เป็นไปโดยชั่วคราว กล่าวคือ การเลี่ยงพันธกรณีนั้นเพื่อให้ผ่านพ้นภาวะฉุกเฉินสาธารณะ ต้องไม่มุ่งนำการเลี่ยงพันธกรณีมาใช้เป็นระยะเวลายาวนานหรือถาวรตลอดไป ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ไม่มีลักษณะเป็นการชั่วคราว แม้ว่าจะประกาศใช้ฉบับที่ 13 แล้ว รัฐยังไม่ออกคำสั่งยกเลิก นอกจากนี้ในคำฟ้องยังมีการอ้างถึงฉบับที่ 1 ด้วย พยานจึงเห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

6. ยังต้องอยู่ภายใต้หลักนิติรัฐ/ นิติธรรม กล่าวคือ มีฐานทางกฎหมายที่ชอบธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ เคารพสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตรวจสอบได้ และมีการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของรัฐที่ไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน

.

(ภาพจากเพจประชาคมมอชอ)

.

อาจารย์กฎหมายอาญาชี้ การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการสร้างสภาวะยกเว้นโดยฝ่ายบริหาร แต่การกำหนดโทษทางอาญาจะต้องมาจากกระบวนการนิติบัญญัติเท่านั้น

กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้สอนกฎหมายอาญา กฎหมายรัฐธรรมนูญ นิติปรัชญา และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ เบิกความต่อศาลโดยสรุปได้ว่า

วันที่ 17 พ.ย. 2563 จำเลยทั้งสามถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในฐานฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร หรือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2563 ซึ่งมีการขยายระยะเวลาออกไปถึง 7 ครั้ง โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 

ในระหว่างนั้นสังคมไทยประสบความยากลำบากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการวัคซีน การกักตุนสินค้า เช่น หน้ากากอนามัย รวมไปถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและประชาชน ดังนั้นเนื้อหาสาระของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จึงมีการกำหนดความรับผิดทางอาญาสำหรับการกระทำหลายประการที่ในสภาวะปกติเป็นสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนทั่วไปพึงมี ที่สำคัญ อาทิ การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค (ข้อ2) เช่น ห้างสรรพสินค้า, การปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร (ข้อ 3) ตลอดจนห้ามการชุมนุม (ข้อ5) อันเป็นประเด็นของคดีที่จำเลยทั้งสามถูกกล่าวหา

อำนาจในการตรา พ.ร.ก. เป็นอำนาจที่อยู่ในสภาวะยกเว้น เพราะอำนาจนี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเกิดเงื่อนไขที่นำมาสู่การใช้อย่างเฉพาะเจาะจง โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 218 วรรค 2 และ 3 ที่แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จะต้องผูกพันและสอดคล้องกับวิธีการใช้และตีความข้อกฎหมายและพิจารณาข้อเท็จจริงตามพระราชกำหนดด้วย

ในการกำหนดความผิดโทษทางอาญา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 ได้กำหนดว่า “บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำตามอันกฎหมายที่ใช้อยู่…” คำว่า “กฎหมาย” สอดคล้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 ซึ่งปรมาจารย์ทางกฎหมาย ทั้ง จิตติ ติงศภัทย์, หยุด แสงอุทัย, คณิต ณ นคร หรือเกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ ล้วนแต่มีความเห็นไปทางเดียวกันว่า กฎหมายที่อาจกำหนดความผิดและโทษทางอาญาได้นั้นจะต้องเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่อาศัยอำนาจนิติบัญญัติของรัฐ ดังข้อความว่า “กฎหมายลายลักษณ์อักษรตามความหมายในทางอาญาต้องเข้าใจความหมายอย่างแคบ ซึ่งได้แก่บทกฎหมายที่ตราขึ้นโดยอำนาจนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติ ส่วนพระราชกำหนดนั้นหาได้ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญไม่” (จิตติ, 2536: 32) “…เราก็เพียงแต่ต้องดูว่ามีกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร คือประมวลกฎหมายอาญา หรือพระราชบัญญัติอื่นซึ่งบัญญัติถึงความผิดและโทษ…” (หยุด, 2556:51) เหตุที่รัฐธรรมนูญกำหนดเช่นนี้ เพราะการกำหนดความผิดและโทษทางอาญากับบุคคลนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง กฎหมายที่กำหนดความผิดและโทษดังกล่าวจึงมีรากฐานความชอบธรรมมาจากผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

การกำหนดความผิดและโทษทางอาญาโดยใช้กลไกของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงไม่มีแบบแผนที่รับรองความชอบธรรมทางวิชาการ และพึงตระหนักว่าอำนาจของพระราชกำหนดนั้นเป็นอำนาจพิเศษและชั่วคราวเท่านั้น เมื่อเงื่อนไขแห่งความฉุกเฉินนั้นคลี่คลายลงไป อำนาจของพระราชกำหนดนั้นก็สมควรที่จะถูกใช้และตีความลงไปในลักษณะที่คลี่คลายลงไปเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระราชกำหนดนั้นกำหนดความผิดและโทษทางอาญา และข้อกล่าวหาของจำเลยทั้งสามเป็นผลสืบเนื่องมากจากการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งโดยปกติวิสัยแล้วเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยฯ มิฉะนั้นย่อมเท่ากับว่าศาลยอมให้อำนาจตุลาการถูกชี้นำโดยฝ่ายบริหารที่เป็นรัฐบาล ซึ่งกระทบต่อความน่าเชื่อถือและความเป็นอิสระของตุลาการในทางวิชาการอย่างยิ่ง

ในทางปฏิบัติสถานการณ์โลกและประเทศไทยเกี่ยวกับสถานการณ์โรคแพร่ระบาดโควิด-19 ช่วงปลาย พ.ศ. 2563 นั้นเริ่มคลี่คลายลงแล้วอย่างเห็นได้ชัด เพราะเริ่มมีการผ่อนปรนข้อห้ามในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ กล่าวคือ เริ่มมีการเปิดให้ใช้สถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค ตามข้อ 2 (3) เช่น ห้างสรรพสินค้า เริ่มมีการเปิดช่องทางการเดินเข้ามาในราชอาณาจักร ตามข้อ 3 เช่น ภูเก็ตแซนบ๊อค สมุยแซนบ๊อค ฯลฯ ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดให้บุคคลสามารถเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ต้องมีการกักตัวแบบเต็มเวลา 

นโยบายของรัฐบาลที่คลี่คลายความเข้มงวดของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ย่อมแสดงให้เห็นว่าแนมโน้มสถานการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวมิได้ “ฉุกเฉิน” อีกต่อไป ซึ่งเป็นเหตุผลอันเข้าใจได้ว่าสำหรับจำเลยทั้งสาม เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินข้อ 2 และ 3 ได้รับการผ่อนปรนแล้ว ย่อมอยู่ในวิสัยที่ข้อห้ามการชุมนุมนั้นผ่อนปรนลงไปด้วย เพราะการชุมนุมสาธารณะนั้นเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องได้รับความเคารพยิ่งกว่ามิติเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นหลักการที่พิทักษ์ความมั่นคง ทั้งจากรัฐและประชาชน และเป็นหลักการอันชี้วัดความเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตยหรือเผด็จการ เพราะภายใต้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธแล้ว ประชาชนจะมีช่องทางในการสื่อสารกับรัฐได้อย่างมีวุฒิภาวะ ฝ่ายผู้ชุมนุมย่อมได้รับการรับประกันว่าจะไม่ถูกทำร้ายและละเมิด ในด้านรัฐก็จะเป็นการรับประกันว่าประชาชนที่มาชุมนุมนั้นมิได้ต้องการก่อความรุนแรง 

ปัญหาสำหรับสังคมไทย คือ สังคมไทยไม่ได้ยืนยันหลักการเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธในฐานะที่เป็นสิทธิ และยิ่งไปกว่านั้นคือสังคมไทยไม่มีช่องทางให้ประชาชนสื่อสารกับรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ผลที่ตามมาคือยิ่งรัฐไทยมีช่องทางให้ประชาชนสื่อสารกับรัฐน้อยแล้ว ประกอบกับเมื่อการชุมนุมสาธารณะได้นำมาสู่การดำเนินคดีอาญา โดยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างมีนัยสำคัญ ต่อไปย่อมเป็นการบีบคั้นประชาชนเกินสมควร ซึ่งมิใช่วิถีของการอยู่ร่วมกันในระบอบประชาธิปไตยฯ 

นอกจากนี้ การปฏิบัติการในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุม โดยหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังเป็นการกระทำเกินกรอบอำนาจของกฎหมาย กล่าวคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 มาตรา 10 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีอาจมอบอำนาจให้เจ้าพนักงานที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ใช้อำนาจในการอำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัย ด้านคมนาคม ด้านการป้องกันอาชญากรรม และด้านการดูแลการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค 

เมื่อพิจารณาประกอบกับบทบัญญัติในข้อ 10 วรรค 2 ที่กำหนดให้ หัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ มีหน้าที่ในการกำหนดมาตรการตั้งด่านตรวจหรือจุดสกัดดูแลการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัดเพื่อจัดระเบียบการเดินทาง การจราจร การเฝ้าระวัง หรือสังเกตอาการผู้เดินทาง และพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจในการพิจารณาหรือกำหนดลักษณะการชุมนุมที่ต้องห้าม 

นอกจากนี้มาตรา 10 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ดังกล่าวยังกำหนดว่าอำนาจของหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ฯ เป็นอำนาจชั่วคราวที่จะต้องมีการประกาศจากนายกรัฐมนตรีอีกส่วนหนึ่งด้วย จึงจะมีผลใช้บังคับตามนัยของคำพิพากษาของศาลจังหวัดพะเยา หมายเลขคดีแดงที่ อ.175/2565

โดยสรุป จำเลยทั้งสามกระทำการอันเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธในสภาวะที่สังคมไทยกำลังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ และการชุมนุมนั้นเป็นหนึ่งในไม่กี่วิธีการเท่านั้นที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้สื่อสารกับรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเสรีภาพการชุมนุมนั้นเองก็ได้รับการบัญญัติให้เป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยฯ 

ดังนั้น ถึงแม้จะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ให้อำนาจในการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวก็ตาม แต่อำนาจของพระราชกำหนดนั้นเป็นเพียงอำนาจพิเศษ เป็นการชั่วคราวที่มีเจตนารมณ์ในการใช้เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าพฤติการณ์ของความฉุกเฉินในสังคมไทยนั้นเริ่มเบาบางลง การใช้อำนาจจากพระราชกำหนดยิ่งต้องตีความอย่างจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชกำหนดที่นำไปสู่การกำหนดโทษทางอาญา ซึ่งนักวิชาการทางกฎหมายอาญาและรัฐธรรมนูญต่างเห็นพ้องไปในทางเดียวกันว่ากฎหมายที่อาจกำหนดความผิดและโทษทางอาญาได้นั้นจะต้องเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ ซึ่งไม่รวมถึงพระราชกำหนดอันเป็นกฎหมายที่เกิดจากอำนาจพิเศษของฝ่ายบริหาร และนอกจากนี้ การดำเนินคดีต่อจำเลยทั้งสามยังมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจเกินส่วนของหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ อีกด้วย

.

X