อุทธรณ์คดี We walk ยืนยันตำรวจขัดขวาง ข่มขู่ คนร่วม “We Walk…เดินมิตรภาพ” เป็นการละเมิดสิทธิการชุมนุม

People Go Network อุทธรณ์คดีเรียกร้องค่าเสียหายต่อตำรวจจากเหตุปิดกั้นกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” ยืนยันถูกตำรวจปิดกั้นการชุมนุม และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้กำหนดเนื้อหาการชุมนุมแต่ตำรวจได้ใช้ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 มาตีความว่า เป็นการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิการชุมนุมของประชาชน ทั้งนี้ ยังต้องรอศาลปกครองสูงสุดแจ้งวันฟังคำพิพากษา

ตัวแทน People Go Network ได้ให้ทนายความยื่นอุทธรณ์ในคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายตำรวจกรณีปิดกั้นกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” ถึงศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลปกครองมีคำพิพากษายกฟ้องโดยระบุว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในระหว่างกิจกรรมเป็นเพียงการดูแลจราจรและรักษาความปลอดภัยเท่านั้น จึงเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย ทางเครือข่ายฯ จึงได้อุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเป็นการละเมิดสิทธิในการชุมนุม

คดีนี้มี นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นายณัฐวุฒิ อุปปะ และนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้ฟ้องคดี we walk เดินมิตรภาพ ของเครือข่าย People Go Network เดินทางมาฟังการพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, พ.ต.อ.ฤทธินันท์ ปุ้ยพันธวงศ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง, พล.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี และพล.ต.ต.สมหมาย ประสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1,3 และ4 เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1- 7

เปิดคำพิพากษาศาลปกครองยกฟ้องคดีปิดกั้นกิจกรรม We Walk ชี้เป็นการดูแลจราจร-ความปลอดภัย

ประเด็นหลักในอุทธรณ์ระบุถึงกรณีที่ตำรวจใช้กำลังเจ้าหน้าที่กว่า 200 คน ปิดกั้นทางออกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ในขณะที่ขบวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมกำลังจะออกเดินไปตามกำหนดการที่ได้มีการแจ้งรายละเอียดเป็นหนังสือถึงตำรวจตามที่ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 กำหนดเอาไว้ นอกจากนั้นยังมีการเรียกตรวจค้นรถ ติดตามถ่ายภาพ และถ่ายบัตรประชาชนของผู้เข้าร่วมชุมนุม กดดันเจ้าของสถานที่ไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าใช้เป็นที่พักในเวลากลางคืน อีกทั้งยังมีการควบคุมตัวบุคคลผู้เข้าร่วมชุมนุม ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการข่มขู่คุกคาม

ทางผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่นั้นไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ตามปกติในการอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไป เพราะเห็นว่าการปิดกั้นประตูทางเข้าแทนการจัดการจราจรเพื่อให้ทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่สัญจรไปมาสามารถใช้พื้นที่ร่วมกันได้ทั้งสองฝ่าย ทำให้เป็นการขัดขวางจนไม่สามารถใช้เสรีภาพการชุมนุมได้และยังทำให้การสัญจรเข้าออกพื้นที่มหาวิทยาลัยไม่สามารถกระทำได้ ทำให้เห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจมีจุดประสงค์เพื่อปิดกั้นการชุมนุม ไม่ใช่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร ซึ่งไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่เป็นการปฏิบัติทางปกครองที่อยู่บนฐานคิดของความสงบเรียบร้อยโดยอ้างอำนาจคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ข้อ 12

ประมวลสถานการณ์กิจกรรม We Walk: เมื่อตำรวจยังไม่ให้เดินสู่ถนนมิตรภาพ

นอกจากนั้นผู้ฟ้องคดียังเห็นว่าศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดยังเคยมีความเห็นตรงกันในคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเป็นการปิดกั้นการชุมนุม และมีคำสั่งให้คุ้มครองการชุมนุมครั้งนี้ไปแล้วเมื่อ 14 ก.พ.2561

ศาลปกครองสูงสุดคุ้มครองชั่วคราว We Walk หลัง สตช. อุทธรณ์

ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีเห็นด้วยในประเด็นที่ศาลปกครองพิจารณาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่ไม่เห็นด้วยที่ศาลระบุว่าหนังสือตอบกลับของตำรวจผู้รับแจ้งจัดการชุมนุมเป็นคำสั่งทางปกครอง เพราะเห็นว่าหนังสือตอบกลับดังกล่าวไม่ได้มีคำสั่งให้ทางเครือข่ายปรับปรุงแก้ไขการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่อย่างใด อีกทั้งในหนังสือตอบกลับของตำรวจยังมีการอ้างใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. มากำหนดให้เครือข่ายต้องไปขออนุญาตจัดชุมนุมกับหัวหน้า คสช.

ดังนั้น การที่ศาลปกครองให้เหตุผลมาดังกล่าวเป็นการขยายอำนาจให้แก่เจ้าหน้าที่ในการกำหนดเนื้อหารูปแบบการชุมนุมอย่างไร้ขอบเขต ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ อย่างชัดเจน และเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตามกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ใช่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยที่มีอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับดังกล่าวอีกด้วย

ผู้ฟ้องคดีจึงเห็นว่า การปิดกั้น ขัดขวาง และข่มขู่คุกคามการใช้เสรีภาพการชุมนุมในการจัดกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” เป็นการปฏิบัติการทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการละเมิดทำให้ผู้ฟ้องคดีและผู้ร่วมชุมนุมได้รับความเสียหายต่อการใช้เสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ได้รับความเสียหายร้ายแรงจากผู้ถูกฟ้องคดีและตำรวจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ได้บัญญัติไว้ให้ผู้ละเมิดต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน

ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณากลับหรือแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและให้พิพากษาว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องและตำรวจที่เกี่ยวข้องเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดทำให้ผู้ฟ้องและผู้ร่วมชุมนุมได้รับความเสียหาย ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะหน่วยงานรัฐ ชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ของเงินต้นนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น เพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ฟ้องและผู้ชุมนุม และเป็นการวางบรรทัดฐานที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ และเพื่อคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุมและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองไว้

ทั้งนี้ หลังจากยื่นอุทธรณ์ไปแล้วยังต้องรอศาลปกครองสูงสุดแจ้งนัดอีกครั้ง

X