เปิดคำพิพากษาศาลปกครองยกฟ้องคดีปิดกั้นกิจกรรม We Walk ชี้เป็นการดูแลจราจร-ความปลอดภัย

วันที่ 28 ก.ย. 61 ศาลปกครองกลางนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่ตัวแทนเครือข่าย People Go Network ได้แก่ นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์, นายณัฐวุฒิ อุปปะ และนายนิมิตร์ เทียนอุดม ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, พ.ต.อ.ฤทธินันท์ ปุ้ยพันธวงศ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง, พล.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี และพล.ต.ต.สมหมาย ประสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1, 3 และ 4 เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1- 7 จากกรณีการถูกเจ้าหน้าที่ ปิดกั้นการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย ขณะทำกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” ช่วงระหว่างวันที่ 19-21 ม.ค. 61   (ดูรายละเอียดการไต่สวนคดีก่อนหน้านี้)

เวลา 14.15 น. ศาลปกครองได้อ่านคำพิพากษาคดี โดยวินิจฉัยใน 3 ประเด็น ได้แก่

ศาลปกครองเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลปกครอง

ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โต้แย้งว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตนตามกรณีพิพาทไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ตามข้อ 13 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง

ศาลปกครองเห็นว่าผู้ฟ้องคดีบรรยายฟ้องว่าการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึง 4 ซึ่งทำให้ผู้ฟ้องคดีและผู้ชุมนุมไม่สามารถเดินเท้าออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต รบกวนผู้ฟ้องคดีและผู้ชุมนุม โดยติดตามถ่ายรูป ถ่ายรูปบัตรประชาชน ถ่ายภาพเคลื่อนไหว ตรวจค้นรถเสบียงของผู้ชุมนุม และควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีที่ 3 โดยปฏิเสธมิให้ทนายความเข้าร่วมกระบวนการ และเจรจากดดันมิให้เจ้าของสถานที่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีและผู้ชุมนุมเข้าพักในช่วงเวลากลางคืนได้ อันเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอันมีลักษณะเป็นการปฏิบัติการทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ถึง 4

ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องยุติการกระทำที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวาง คุกคาม ข่มขู่ และทำให้หวาดกลัวซึ่งการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการโต้แย้งถึงการกระทำของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ และชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการจำกัดเสรีภาพการชุมนุม อันมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) (3) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ และก็ยังไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นข้าราชการทหารตั้งแต่ยศร้อยตรีขึ้นไป ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ได้อาศัยอำนาจตามคำสั่งดังกล่าวสั่งห้ามการชุมนุม หรือสั่งเลิกการชุมนุม ข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่อ้างว่าผู้ฟ้องไม่มีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครอง จึงไม่อาจรับฟังได้

ศาลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องออกคำบังคับให้เจ้าหน้าที่ยุติการปิดกั้น เนื่องจากการชุมนุมได้สิ้นสุดไปแล้ว

ประเด็นที่สอง ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลออกคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดียุติการดำเนินการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวาง คุกคาม ข่มขู่ และทำให้หวาดกลัวซึ่งการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลจำเป็นต้องออกข้อบังคับให้หรือไม่

ศาลปกครองเห็นว่าโดยข้อเท็จจริงปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ คร.33/2561 กำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ผู้ถูกฟ้องมิให้กระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวาง ในการใช้เสรีภาพการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีและผู้ชุมนุมภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย จนถึงวันที่ 17 ก.พ. 2561 อันเป็นวันสิ้นสุดการชุมนุม ตามหนังสือแจ้งการชุมนุม และเมื่อปัจจุบัน ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการชุมนุมสาธารณะเสร็จสิ้นไปแล้ว ส่งผลให้หน้าที่นิติสัมพันธ์ที่ผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้อง ในการควบคุมดูแลการชุมนุมพ้นวิสัยที่จะกระทำได้ การที่ศาลจะออกคำบังคับดังกล่าวไม่อาจจะบรรลุวัตถุประสงค์และไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป การแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายจึงไม่จำต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง

ศาลเห็นว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ชอบด้วยกฎหมาย การปิดกั้นไม่ให้เดินออก มธ. เป็นการดูแลการจราจร-ความปลอดภัย

ประเด็นที่สาม ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะเจ้าพนักงานการดูแลการชุมนุมสาธารณะได้ดำเนินการตรวจค้น ปิดกั้น ขัดขวางการชุมนุมของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการกระทำละเมิดผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากเป็นการกระทำละเมิด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ เพียงใด

ศาลปกครองเห็นว่าข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้รับแจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งข้อสรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับการชุมนุมให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ตัวแทน และผู้จัดกิจกรรมทราบ และยังได้มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีที่ 1 กรณีที่หน่วยความมั่นคงพบว่าการชุมนุมมีการจำหน่ายเสื้อยืดที่มีข้อความสื่อความหมายทางการเมือง มีการชักชวนประชาชนให้ลงลายมือชื่อยกเลิกกฎหมาย ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่การชุมนุมตามพ.ร.บ.การชุมนุมฯ ที่อยู่ในอำนาจควบคุมดูแลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แต่มีองค์ประกอบที่ขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558

ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมไว้ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไม่ให้ผ่านออกไปได้เนื่องจากมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก มีการนำยานพาหนะมาใช้ในการชุมนุม โดยพิจารณาเห็นว่าบริเวณที่มีการชุมนุมเป็นสถานที่ราชการ หากปล่อยออกสู่ถนนอาจก่อให้เกิดปัญหาการจราจรและเป็นอุปสรรคต่อการรักษาความปลอดภัย ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบปราศจากอาวุธเป็นผู้ตั้งแถวกั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงอยู่ในแถวด้านหน้า มีการดูแลน้ำดื่ม-จัดสุขาให้ผู้ชุมนุม ไม่มีการใช้กำลังสลายการชุมนุม แม้จะปรากฏว่ามีการติดตามถ่ายภาพผู้เดินชุมนุมก็เพื่อรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปแทรกแซง ขัดขวาง ข่มขู่ สั่งให้ยุติ หรือจับกุมแต่อย่างใด

ประกอบกับเมื่อพิจารณาภาพและเสียงจากเหตุการณ์วันที่ 21 ม.ค. 2561 เกี่ยวกับการตรวจค้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 พบว่าเวลาประมาณ 7 นาฬิกา ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้ตั้งจุดตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันเหตุบริเวณข้างอบต.ลำไทร ได้มีรถยนต์กระบะผ่านจุดตรวจ และมีลักษณะมีพิรุธว่ามีสิ่งของในครอบครองเพื่อใช้ในการกระทำผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำผิด หรือมีไว้เป็นความผิด เนื่องจากบรรทุกสัมภาระจำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารร่วมตรวจสอบสิ่งของที่บรรทุกมา โดยการตรวจค้นนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารถอยห่างจากตัวรถ และได้แสดงความบริสุทธ์จนเป็นที่พอใจของเจ้าของรถ แม้ในเหตุการณ์ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จะได้พูดเสียงดัง ก็ด้วยเหตุเพราะสถานที่ตรวจค้นเป็นสถานที่โล่งแจ้ง เจตนาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เพียงเพื่อชี้แจงและอธิบายแก่ผู้ถูกตรวจสอบ ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้ใช้อำนาจในทางมีพฤติการณ์ข่มขู่บังคับให้ผู้ฟ้องคดีที่ 3 รู้สึกหวาดกลัวยอมจำนนในการรื้อค้นรถเสบียงแต่อย่างใด

ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงการชุมนุมสาธารณะต้องเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบกระเทือนความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ หรือศีลธรรมอันดี สุขอนามัยของประชาชน หรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ จึงฟังได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ถึง 4 ในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุม ตามมาตรา 19 วรรค 4 แห่งพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไปโดยชอบแล้ว หาได้ปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะปิดกั้น ขัดขวางการใช้เสรีภาพการชุมนุม อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการขัดขวางการเดินโดยสั่งห้ามไม่ให้ทางวัดให้ผู้ชุมนุมเข้าพักอาศัยนั้น เห็นว่าผู้ฟ้องคดีกับพวกสามารถเข้าพักที่วัดลาดทรายได้ตามปกติ ส่วนวัดสหกรณ์ที่ไม่ได้เข้าพักเนื่องจากเดินเท้าถึงวัดเร็วกว่ากำหนด จึงไม่ได้เข้าพักแต่อย่างใด  ขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ถึง 7 ศาลปกครองก็เห็นว่าได้ดำเนินการรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านการจราจรแก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ร่วมชุมนุมไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ศาลปกครองจึงเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ถึง 7 ซึ่งอยู่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ดำเนินการใช้อำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลการชุมนุมสาธารณะเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย มิได้กระทำการตรวจค้น ปิดกั้น ขัดขวางการชุมนุม อันเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี จึงพิพากษายกฟ้อง

เครือข่าย People Go เตรียมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา พร้อมรณรงค์ยกเลิก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

หลังฟังคำพิพากษา ทางเพจเครือข่าย People Go ได้เปิดเผยว่าเตรียมจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด โดยเห็นว่าหาก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการปิดกั้นจำกัดเสรีภาพการชุมนุมได้เช่นนี้แล้ว ก็จำเป็นต้องมีการรณรงค์ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เพราะเป็นกฎหมายที่กำลังถูกใช้ปิดกั้นเสรีภาพการชุมนุม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

ด้านนายสุรชัย ตรงงาม ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังฟังคำพิพากษาว่าทางเครือข่ายไม่อาจเห็นพ้องกับคำพิพากษาดังกล่าว เพราะโดยข้อเท็จจริงการปิดกั้นการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 300 นาย ที่ศาลเองก็วินิจฉัยเอาไว้ ไม่ได้เป็นการควบคุมตรวจสอบตามที่ศาลวินิจฉัย แต่เป็นการปิดกั้นการชุมนุม หรือกรณีที่มีการตรวจค้นรถ และมีการควบคุมตัวผู้ชุมนุมไปสอบสวนโดยไม่ให้ทนายเข้าร่วม ก็เป็นการกระทำละเมิดอย่างแน่นอน ทางเครือข่ายจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน

“กล่าวได้ว่าการใช้เสรีภาพการชุมนุมในรัฐบาลทหารก็มีความขรุขระแบบนี้ ทั้งขรุขระทั้งบนท้องถนน และขรุขระในกระบวนการยุติธรรม แต่เราก็จะใช้สิทธิในการดำเนินคดีต่อไป” นายสุรชัยกล่าว

นายนิมิตร์ เทียนอุดม หนึ่งในตัวแทนผู้ฟ้องคดี ระบุว่าคดีนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นการยืนยันถึงสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม ประชาชนทุกคน เมื่อเรามีปัญหา กระบวนการชุมนุมหรือการเดินออกมาเรียกร้อง เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ในตอนนี้ ตนคิดว่าพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเกินขอบเขต โดยการอ้างว่าเป็นการอำนวยความสะดวก แต่กลับใช้กำลังตำรวจทหาร 200 กว่านาย ปิดถนนทั้งหมด แล้วไม่ให้เดินออกไป ไม่ใช่การดูแลความสงบเรียบร้อย จึงจะมีการอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาล และมีภารกิจในการเรียกร้องให้ยกเลิกพ.ร.บ.ชุมนุมฯ นี้ต่อไป

 

อ่านเพิ่มเติม

กว่าจะเดินถึงเสรีภาพ: ประมวลคดี We Walk…เดินมิตรภาพ

อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี ‘We walk เดินมิตรภาพ’

We Walk ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ  

คดี We Walk และ คดี We Want to Vote Movement : คำถามที่รัฐไทยต้องตอบผู้รายงานพิเศษของ UN

 

X