ศาลปกครองสูงสุดคุ้มครองชั่วคราว We Walk หลัง สตช. อุทธรณ์

ศาลปกครองสูงสุดคุ้มครองชั่วคราว We Walk หลัง สตช. อุทธรณ์

15 ก.พ. 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ยกคำร้องอุทธรณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้ ผบ.ตร. สั่งการให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 มิให้ปิดกั้น ขัดขวางการชุมนุม และคุ้มครองความสะดวกของประชาชนในกิจกรรม “We walk เดินมิตรภาพ”

อ่าน: สตช. อุทธรณ์คำสั่งคุ้มครอง We walk ฟังคำสั่งศาลพรุ่งนี้

14.00 น. ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดในคดีที่นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์กับพวกรวม 4 คน ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กับพวกรวม 7 คน จากการร่วมชุมนุมและจัดกิจกรรม “We walk เดินมิตรภาพ” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มุ่งสู่ จ.ขอนแก่น โดยมีคำขอให้ สตช. และเจ้าหน้าที่ตำรวจยุติการดำเนินการปิดกั้น ขัดขวาง คุกคาม ข่มขู่ การใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมายและให้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ชุมนุม กับให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการละเมิด

Download : คำสั่งศาลปกครองสูงสุด (ฉบับเต็ม)

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดมีใจความว่า การที่ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครอง เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้ จะต้องเป็นที่พอใจของศาลว่า คำฟ้องมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้ เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ด ตั้งใจจะกระทำซ้ำ หรือกระทำต่อไปซึ่งการละเมิด การผิดสัญญา การกระทำที่ผู้ถูกฟ้องร้องหรือผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จะได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไปเนื่องจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ด หรือมีเหตุจำเป็นอื่นใด ตามที่ศาลเห็นเป็นการยุติธรรมและสมควร ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นจากการบริหารงานของรัฐประกอบด้วย

โดยที่เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ เป็นสิทธิและเสรีภาพที่สำคัญประการหนึ่งของประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในการที่จะใช้เสรีภาพในการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็น การรวมพลัง หรือแสดงให้ฝ่ายปกครองได้รับรู้ และแก้ปัญหาที่ตนประสบอยู่ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 และมาตรา 45 บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ โดยเฉพาะเสรีภาพในการชุมนุมจะถูกจำกัดมิได้ หากเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และเสรีภาพในการชุมนุมจะถูกจำกัดได้เฉพาะกรณีเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐความปลอดภัยสาธารณะความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นซึ่งในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ ดังเช่นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ประกอบกับ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มีเหตุผลในการใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ คือโดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจนและโดยสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ทั้งนี้ เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปโดยความสงบเรียบร้อยไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ตลอดจนสุขอนามัยของประชาชน หรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ไม่กระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

ขณะเดียวกันได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ได้กำหนดมาตรการในการดำเนินการ เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ การฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช. เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุจริตชน และความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป ซึ่งข้อ 12 กำหนดมิให้ผู้ใดมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย กรณีจึงต้องตรวจสอบและพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นกรณีๆ ไป

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมชุมนุมในนามเครือข่ายประชาชน People Go Network ได้ร่วมจัดกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพ ขึ้นระหว่างวันที่ 20 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 ด้วยการเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มุ่งหน้าสู่ จ.ขอนแก่น ระยะทาง 450 กิโลเมตร โดยผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับสถานีตำรวจท้องที่แล้ว ต่อมาผู้กำกับสถานีตำรวจท้องที่มีหนังสือลงวันที่ 19 มกราคม 2561 ถึงผู้จัดการชุมนุม สรุปสาระสำคัญสำหรับการชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยหนังสือดังกล่าวมิได้แจ้งว่าเป็นการขัดต่อมาตรา 7 และมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

นอกจากนี้ ผู้กำกับสถานีตำรวจท้องที่ยังได้มีหนังสือลงวันที่ 19 มกราคม 2561 ถึงผู้จัดการชุมนุม แจ้งเพิ่มเติมว่า การชุมนุมสาธารณะในครั้งนี้มีบางพฤติการณ์ที่มีลักษณะเป็นการชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง ขัดต่อข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 หากผู้จัดการชุมนุมประสงค์ที่จะชุมนุมต่อไป ให้ดำเนินการขออนุญาตต่อผู้มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายต่อไป

ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่ผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งการชุมนุมตามที่กฎหมายกำหนดก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 แล้ว อีกทั้งเจ้าหน้าที่มิได้เห็นว่าการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ดังกล่าวขัดต่อ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และมิได้มีคำสั่งให้แก้ไข หรือมีคำสั่งห้ามการชุมนุม ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้นผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ และผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่มีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมได้ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ ตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ. ข้างต้นในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ และผู้เข้าร่วมการชุมนุม ในการจะใช้ที่สาธารณะอันเป็นสถานที่ชุมนุม รักษาความปลอดภัย อำนวยความสะดวก หรือบรรเทาเหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ชุมนุม รักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมในสถานที่ชุมนุม อำนวยความสะดวกในการจราจรและการขนส่งสาธารณะในบริเวณที่มีการชุมนุมและบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการชุมนุมน้อยที่สุด

แต่กรณีนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในวันที่ 20 มกราคม 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 200 นาย ปิดกั้นประตูทางออกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการติดตามถ่ายภาพ ถ่ายภาพบัตรประจำตัวประชาชน ถ่ายภาพเคลื่อนไหว ตรวจค้นรถของผู้ชุมนุม และควบคุมตัวผู้ชุมนุม มีการเจรจากดดันมิให้เจ้าของสถานที่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้เข้าร่วมชุมนุมเข้าพักอาศัยในช่วงเวลากลางคืน

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด สตช. มีการปิดกั้นขัดขวางและทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ และผู้เข้าร่วมชุมนุมรู้สึกหวาดกลัว ซึ่งอาจจะมีการกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปในเหตุที่ถูกฟ้องร้อง ซึ่งทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุมได้รับความเสียหายต่อไปได้นั้น เป็นการกระทำที่กระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามที่มีการบัญญัติรับรองไว้ในกฎหมาย

อีกทั้ง การมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองดังกล่าว ก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคแก่การบริหารงานของ สตช. แต่อย่างใด กรณีจึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาได้

อย่างไรก็ดี เมื่อศาลได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาแล้ว ในระหว่างที่มีการชุมนุมสาธารณะหากเจ้าพนักงานตำรวจในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุมกระทำการใดๆ อันนำไปสู่การชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และกฎหมายอื่น เจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะหรือเจ้าพนักงานตำรวจในบังคับบัญชาของ สตช. ก็ชอบที่จะพิจารณากำหนดเงื่อนไข หรือมีคำสั่ง หรือประกาศให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 หรือผู้ร่วมชุมนุมเลิกการชุมนุม หรือแก้ไข หรือร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งเลิกชุมนุม หรือสั่งให้ยุติการกระทำนั้น หรือดำเนินการอื่นใดตามอำนาจหน้าที่เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะหรือกฎหมายอื่นได้อุทธรณ์ของ สตช. ฟังไม่ขึ้น

การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ สตช. โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งการให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 19 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 หรือผู้ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 19 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว มิให้กระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวาง ในการใช้เสรีภาพการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ และผู้ร่วมชุมนุม ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และดำเนินการใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 19 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ. เดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนการดูแลชุมนุมสาธารณะ และการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยเคร่งครัด จนถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 อันเป็นวันสิ้นสุดการชุมนุมสาธารณะ

หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุมกระทำการใดอันเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ หรือเจ้าพนักงานตำรวจในบังคับบัญชาของ สตช. ก็ชอบที่จะพิจารณากำหนดเงื่อนไข หรือมีคำสั่ง หรือประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม หรือแก้ไขหรือร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้ยกเลิกการชุมนุม หรือดำเนินการอื่นใดตามอำนาจหน้าที่ เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะหรือกฎหมายอื่นได้นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น

อ่าน: ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง ที่ให้ ผบ.ตร.สั่งการให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 มิให้ปิดกั้น ขัดขวางการชุมนุมและคุ้มครองความสะดวกของประชาชนในกิจกรรม We walk เดินมิตรภาพ

 

X