‘ไผ่’ ชี้ เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การต่อต้านก็เป็นหน้าที่

นัดสืบพยานจำเลยคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร จตุภัทร์เบิกความ การทำรัฐประหารไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาของประเทศไทย ด้านอาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง พยานผู้เชี่ยวชาญ ระบุปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ปกครองโดยรัฐบาลทหาร

9 ก.ค. 61 ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) นัดสืบพยานจำเลยคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ซึ่งอัยการศาล มทบ.23 เป็นโจทก์ฟ้องนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” เป็นจำเลยในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยนัดนี้ทนายจำเลยนำจตุภัทร์เข้าเบิกความเป็นพยานตนเองต่อจากนัดที่แล้ว (15 พ.ค.61) และนายชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าเบิกความในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มีประชาชนที่มาให้กำลังใจและร่วมรับฟังการพิจารณาคดีประมาณ 20 คน

ก่อนเริ่มพิจารณาคดีทนายจำเลยได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ระบุให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าเบิกความเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ ศาลมีคำสั่งอนุญาต โดยจะสืบพยานจำเลยปากดังกล่าวในนัดต่อไปคือวันที่ 10 ก.ค. 61

จตุภัทร์เริ่มเบิกความโดยอธิบายการทำกิจกรรมของกลุ่มดาวดินว่า ได้รับเงินสนับสนุนจากประชาชน จากการที่พวกตนเล่นดนตรีเปิดหมวก กลุ่มดาวดินมีที่พักเป็นบ้านเช่าและอยู่กันอย่างเปิดเผย มีชื่อว่า บ้านดาวดิน อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มดาวดินจะใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ จึงถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่ โดยมักจะมีเจ้าหน้าที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนไปสังเกตการณ์เป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังรัฐประหาร

ไผ่เบิกความต่อว่า ในวันเกิดเหตุ 22 พ.ค. 58 ตนและเพื่อนสมาชิกกลุ่มดาวดินตั้งใจจะทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที โดยใช้วิธีการ Flash Mob ซึ่งใช้เวลาการสื่อสารในช่วงสั้นๆ ขณะทำกิจกรรมตนได้พูดถึงมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งเป็นปัญหา เนื่องจากได้ให้อำนาจบุคคลคนเดียว คือ หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งและบังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งมีผลทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยไม่สามารถตรวจสอบได้

ไผ่เบิกความอีกว่า ในวันดังกล่าวตนและสมาชิกกลุ่มดาวดินได้ทำกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นลานกิจกรรมที่ยกสูงจากพื้นถนน โดยไม่ได้กีดขวางการจราจรแต่อย่างใด ขณะทำกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่เข้ามาห้าม ซึ่งตนได้บอกเจ้าหน้าที่ว่า ขอเวลาแค่ 5 นาที เสร็จแล้วจะเดินทางกลับ เมื่อตนและเพื่อนเริ่มทำกิจกรรมโดยชูป้ายผ้าผืนใหญ่ที่เขียนว่า “คัดค้านรัฐประหาร” และป้ายขนาดเล็กอีกหลายแผ่นที่เขียนอธิบายเหตุผลในการคัดค้านรัฐประหาร รวมทั้งตะโกนว่า “คัดค้านรัฐประหาร” เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบก็ได้เข้ามาแย่งและยึดป้ายเหล่านั้นไป จากนั้น พันเอกสุรศักดิ์ สำราญบำรุง ได้เดินเข้ามาบอกว่า จะใช้มาตรา 44 เพื่อจับกุม แต่ไม่ได้แสดงเอกสารทางราชการใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ได้รับการแต่งตั้งจากหัวหน้า คสช. ต่อมา ทั้งทหารและตำรวจก็เข้ามาจับกุมตนและเพื่อนซึ่งคล้องแขนกันอยู่ โดยขณะจับกุมเจ้าหน้าที่ได้ใช้กำปั้นทุบเข้าที่อวัยวะเพศของนายภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มดาวดินที่ทำกิจกรรม จนทำให้แขนของนายภาณุพงศ์หลุดจากเพื่อน เจ้าหน้าที่จึงนำตนและเพื่อนขึ้นรถไปที่ มทบ. 23 ค่ายศรีพัชรินทร

จตุภัทร์เบิกความถึงเหตุการณ์ขณะถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้ามาบอกว่า ถ้ายอมปรับทัศนคติจะไม่ถูกดำเนินคดี แต่พวกตนไม่ยอมรับการปรับทัศนคติ เนื่องจากเห็นว่าหากยอมปรับทัศนคติเท่ากับว่ายอมรับการทำรัฐประหาร ซึ่งขัดกับหลักการของประชาธิปไตย ตนและเพื่อนไม่ยอมรับการทำรัฐประหารและไม่ยอมรับเงื่อนไขต่าง ๆ ที่คณะรัฐประหารสร้างขึ้น เช่น การห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งหมายถึงการห้ามคิดด้วย

จตุภัทร์เบิกความต่อถึงเจตนารมณ์ที่ตั้งใจไปแสดงออกในวันที่ 22 พ.ค. 58 ซึ่งครบรอบ 1 ปี การทำรัฐประหาร ก็เพื่อยืนยันว่าการทำรัฐประหารไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาของสังคมไทย ตนคิดว่าสิ่งที่ทำคือหน้าที่ของพลเมืองที่ควรต้องทำเพื่อต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรม “เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การต่อต้านก็เป็นหน้าที่ ข้าฯ จึงทำหน้าที่นั้นในฐานะสามัญชนคนธรรมดาคนหนึ่งที่ต้องยืนหยัดในเรื่องนี้ และเมื่อเวลาผ่านไป ข้าฯ จะได้พูดกับคนรุ่นต่อไปได้ว่า เราได้ทำหน้าที่แล้ว แม้สู้แล้วไม่ชนะแต่เราก็ได้สู้ สู้ทั้งที่รู้ว่าแพ้ ยังดีกว่าแพ้ทั้งที่ยังไม่คิดจะสู้”

ต่อมา โจทก์ได้ถามค้านว่า ขณะที่พันเอกสุรศักดิ์ได้เข้ามาบอกและอ้างใช้มาตรา 44 นั้น แม้จะไม่ได้แสดงบัตรหรือเอกสารใด ๆ แต่พันเอกสุรศักดิ์ได้แต่งกายในเครื่องแบบใช่หรือไม่ ขณะทำกิจกรรมพยานทราบหรือไม่ว่า มีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 แล้ว จตุภัทร์ตอบว่า ในวันเกิดเหตุพันเอกสุรศักดิ์ได้แต่งกายด้วยเครื่องแบบทหาร และตนทราบว่าขณะทำกิจกรรมมีการประกาศใช้คำสั่งดังกล่าวแล้ว แต่ตนคิดว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ใช่กฎหมาย จึงยืนยันทำกิจกรรมดังกล่าว

 

พยานผู้เชี่ยวชาญชี้การชูป้ายคัดค้านรัฐประหารไม่กระทบความมั่นคงและไม่ผิด 3/58

นายชำนาญ จันทร์เรือง เบิกความถึงระบบการเมืองในปัจจุบันว่า แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ ระบบรัฐสภา และระบบประธานาธิบดีซึ่งมีน้อยมากที่ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ปกครองโดยรัฐบาลทหาร โดยส่วนใหญ่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหลักการพื้นฐาน คือ อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ส่วนหลักการอื่นที่นำมาขยายนั้นเกี่ยวเนื่องกับหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นหรือวิธีอื่นใด และประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกตั้งผู้นำของตนเองหรือกำหนดอนาคตของตนเองในการออกกฎหมาย

อาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ในทางรัฐศาสตร์ไม่มีการยอมรับในการเข้าสู่อำนาจโดยการทำรัฐประหาร แต่ในทางนิติศาสตร์ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เรื่องการเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แนวความคิดแรก เมื่อเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้วและได้ออกคำสั่ง ถือว่าคำสั่งนั้นเป็นกฎหมายใครไม่ปฏิบัติตามถือว่าจะต้องได้รับโทษ แนวความคิดดังกล่าวนี้ถูกเอามาใช้ในระบบอำนาจนิยม ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ล้าสมัยและไม่เป็นที่นิยมในโลกสมัยใหม่ ส่วนแนวความคิดที่สอง เป็นแนวความคิดเสรีประชาธิปไตยหรือแนวคิดสมัยใหม่ ถือว่ากฎหมายที่จะนำมาบังคับใช้กับประชาชนนั้น ต้องมาจากประชาชน ตามหลักการอำนาจอธิปไตยต้องมาจากประชาชน โดยผ่านระบบรัฐสภาและประชาชนมีส่วนร่วม

พยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความอีกว่า การยึดอำนาจหรือการทำรัฐประหารแล้วเป็นรัฏฐาธิปัตย์หรือไม่นั้น ตนมองว่าไม่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ เนื่องจากรัฏฐาธิปัตย์หมายถึง ผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินโดยไม่ต้องเชื่อใครหรือกฎหมายใดอีก ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฏฐาธิปัตย์คือ พระมหากษัตริย์ ส่วนในระบอบประชาธิปไตย รัฏฐาธิปัตย์คือประชาชน ดังนั้น การทำรัฐประหารในครั้งนี้คณะ คสช. จึงไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์ เพราะยังมีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือ คสช. และขณะที่มีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว แม้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะให้อำนาจตามมาตรา 44 ก็เป็นไปเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ

นายชำนาญเบิกความตอบทนายจำเลยถึงกิจกรรมของนักศึกษาในวันเกิดเหตุว่า ตนเห็นว่าไม่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ และไม่เข้าข่ายตามเจตนารมณ์ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 4 ยังระบุให้รัฐต้องผูกพันกับพันธกรณีระหว่างประเทศซึ่งรัฐได้ลงนามไว้แล้ว ซึ่งในกรณีนี้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้ ได้รับรองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและสิทธิในการแสดงออกไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกโดยการพูด เขียน หรือวิธีอื่นใด และในรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับก็บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าว ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันเป็นสากล จำเลยในคดีนี้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเท่านั้น และประเทศก็ไม่ได้ประกาศกฎอัยการศึกหรือมีภาวะศึกสงครามหรือจลาจล การจับกุมจำเลยจึงถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ  อีกทั้งจำเลยในคดีนี้ขณะถูกจับกุมยังเป็นนักศึกษาอยู่ ซึ่งการควบคุมตัวต้องทำเพียงชั่วคราวเพื่อไม่ให้เป็นการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เท่านั้น ไม่ใช่การส่งตัวดำเนินคดีเช่นนี้

 

อ่านคำให้การพยานโจทก์และพยานจำเลยก่อนหน้านี้:

หัวหน้ากองข่าวชี้ ‘ไผ่’ ไม่ยอมถูกปรับทัศนคติหลังชูป้าย ‘คัดค้านรัฐประหาร’ จึงถูกดำเนินคดี

สห.ยัน ชูป้าย “คัดค้านรัฐประหาร” เป็นการทำลายประชาธิปไตย

นักข่าวเผยเจ้าหน้าที่ห้ามถ่ายภาพขณะนักศึกษาดาวดินถูกจับกุม

‘ไผ่’ แถลงกลางศาล พยานจับกุมโดยอ้างเพียงคำสั่ง ไม่คำนึงถึงหลักการทางกฎหมาย

ประหลาด! ค้านรัฐประหาร ต้องขออนุญาต คสช. พงส.ชี้ต้องปรับทัศนคติที่สนับสนุน รปห.

“ไผ่” ชี้การทำรัฐประหารคือการประทุษร้ายต่อโครงสร้างทางการเมือง

 

X