ขังเกินกำหนดโทษคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ทนายยื่นร้องขอให้ปล่อยตัวไผ่

ขังเกินกำหนดโทษคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ทนายยื่นร้องขอให้ปล่อยตัวไผ่


ตัวแทนทนายเข้ายื่นหนังสือขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน เนื่องจากทนายเห็นว่าไผ่ถูกขังเกินเกินกว่า 6 เดือนตามโทษจำคุกสูงสุดของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 แล้ว ด้านไผ่รอฟังคำสั่งของศาลวันที่ 20 พ.ย. 60

30 ต.ค. 60 เวลาประมาณ 09.00 น. ทนายอานนท์ นำพา ซึ่งเป็นทนายของ ไผ่ จตุภัทร์ ในคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร หมายเลขคดีดำที่ 61/2559 ได้มอบหมายให้ตัวแทนไปยื่นหนังสือที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) เพื่อร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวไผ่ เนื่องจากไผ่ถูกฟ้องคดีอาญาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่ปรากฏว่า ในระหว่างพิจารณาคดีของศาล จำเลยได้ถูกขังระหว่างสอบสวน และระหว่างพิจารณาคดีโดยหมายขังของศาล ตั้งแต่วันที่ 22-23 พ.ค. 58 วันที่ 19-23 ส.ค. 59 และวันที่ 27 มี.ค. 60 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาเกินกว่า 6 เดือน ตามโทษจำคุกสูงสุดของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 แล้ว จึงขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยจำเลย เพื่อมิให้จำเลยในฐานะผู้ที่ได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนโดยกฎหมายว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ ถูกปฏิบัติเหมือนผู้ถูกกระทำความผิด และลงโทษหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิด อันเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 ให้การคุ้มครองจำเลยไว้ ทั้งนี้ศาลได้รับเรื่องไว้แล้ว

ด้านทนายของไผ่กล่าวว่า ไผ่จะมารอฟังคำสั่งของศาลว่าจะมีคำสั่งปล่อยตัวหรือไม่ ในวันที่ 20 พ.ย. 60 นี้ ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันนัดสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23)

คดีดังกล่าว สืบเนื่องมาจากกรณีที่ไผ่พร้อมเพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มดาวดิน รวม 7 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร จับกุมขณะชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ในวาระครบครอบ 1 ปีรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 58 โดยป้ายผ้าของนักศึกษาที่ชูมีข้อความเกี่ยวกับประเด็นปัญหาของทรัพยากร เช่น เรื่องเขื่อน เรื่องเหมืองแร่โปแตช เหมืองแร่ทองคำ เรื่องป่าไม้ที่ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บท เรื่องม.นอกระบบ และเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกลิดรอนภายหลังรัฐประหารและขณะที่นักศึกษากำลังชูป้ายได้มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบประมาน 10 กว่านาย ได้เข้าไปแย่งป้ายผ้ากับนักศึกษาและควบคุมตัวทั้ง 7 คน เข้าค่ายทหาร ก่อนจะถูกตั้งข้อหาในเวลาต่อมา โดย พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง ผู้กล่าวหา

ทั้งนี้ปัจจุบันไผ่ถูกย้ายจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นไปที่เรือนจำจังหวัดภูเขียวเพื่อพิจารณาคดีประชามติต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สห.ยัน ชูป้าย “คัดค้านรัฐประหาร” เป็นการทำลายประชาธิปไตย

เลื่อนสืบพยาน คดี ‘ไผ่’ ชูป้ายค้าน รปห.-ศาลอนุญาตโจทก์แก้ไขฟ้อง

เลื่อนนัดสืบพยาน คดีชูป้ายต้านรัฐประหาร เหตุศาลขอนแก่นไม่ส่งตัว ‘ไผ่’ มาศาลทหาร

 

X