เปิดคำเบิกความ สมบัติ คดีโพสต์ชวนชู 3 นิ้ว ผิดข้อหายุยงปลุกปั่น ม.116

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ หนูหริ่ง ขึ้นเบิกความต่อศาลทหาร 2 ครั้งเมื่อวันที่ 3 มี.ค. และ 25 มิ.ย. ในคดีที่ตนตกเป็นจำเลย เพราะอัยการฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 จากข้อความที่สมบัติโพสต์ลงในบัญชีเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของตนเองหลายข้อความ ช่วงวันที่ 30 พ.ค. – 4 มิ.ย.2557  เช่น ชักชวนให้คนออกมาชูสามนิ้ว แสดงจุดยืนคัดค้านการรัฐประหารโดย คสช. และยืนยันว่าตนเองจะไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งเรียก

สมบัติเบิกความตอบคำถามของทนายความถึงประวัติตนเองว่าตนเริ่มทำงานเพื่อสังคมหลายแห่งตั้งแต่ปี 2531 ทั้งโครงการละครเพื่อพัฒนาเยาวชน มูลนิธิมะขามป้อม และมูลนิธิกระจกเงา วัตถุประสงค์มีหลายด้านเป็นองค์กรส่งเสริมนวัตกรรมทางสังคม เช่น ตั้งศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อติดตามคนที่หายไปจากบ้านหรือครอบครัว โครงการอาสาภัยพิบัติ  เช่นในปี 2547 ก็ได้ตั้งศูนย์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทสึนามิอยู่ 3 ปี จนเสร็จสิ้นภารกิจ นอกจากนั้นยังเคยเป็นอาจารย์พิเศษสอนละครใบ้ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร 1 เทอมและสอนโรงเรียนรุ่งอรุณ เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอซีที

นอกจากนั้นยังเคยเป็นอนุกรรมการของ กสม.ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการชุมนุมของ นปช.ด้วย เคยได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นนักพัฒนาจากองค์กรพัฒนาเด็กและเยาวชน เคยได้รับรางวัลในฐานะผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมจากมูลนิธิดวงประทีป และรางวัล Ashoka Fellow หมวดส่งเสริมการศึกษาจากองค์กร Ashoka เมื่อปี 2544

สมบัติเบิกความว่าตนเชื่อมั่นในระบอบการปกครองประชาธิปไตย และจะออกมาคัดค้านหากเกิดเหตุการณ์ที่มีคนออกมาล้มล้างระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2534 และในปี 2535 ตนก็ยังเข้าร่วมการเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ด้วย แล้วก็เคยออกมาต้านการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ด้วย

สมบัติเชื่อมั่นในการปกครองแบบประชาธิปไตยเพราะเชื่อว่าเป็นการปกครองที่เคารพสิทธิมนุษยชนและอธิปไตยของประชาชน และหลักการของประชาธิปไตยยังถูกระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ เรื่อง สิทธิเสรีภาพและในรัฐธรรมนูญ 2540 2550 ก็ยังมีมาตราที่ให้ประชาชนออกมาต่อต้านการยึดอำนาจปกครองที่ไม่ได้มาด้วยวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยด้วยสันติวิธีได้ และยังบัญญัติไว้ด้วยว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนอีกด้วย

สมบัติยังเห็นว่าการใช้กำลังยึดอำนาจนั้นไม่ถูกต้อง ผิดทั้งรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ว่าด้วยเรื่องการทำรัฐประหารถือว่าเป็นกบฏล้มล้างการปกครอง และในเมื่อตนไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารจึงไม่ยอมรับคำสั่งเรียกไปรายงานตัวของคสช. และแสดงออกในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ว่าการทำรัฐประหาของ คสช. ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย

สมบัติเบิกความถึงกิจกรรมต่อต้านการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ ศอฉ. สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยสันติและปราศจากอาวุธ

เกี่ยวกับคดีนี้เมื่อ 22พ.ค.2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจการบริหารประเทศจากรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งและอยู่ระหว่างยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้ง และยังยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ด้วย ผลของการรัฐประหารส่งผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ไป

สมบัติเชื่อว่าตนมีสิทธิคัดค้านไม่ยอมรับการรัฐประหารในฐานะที่เป็นพลเมืองไทย การรัฐประหารถือว่าขัดหลักนิติรัฐและนิติธรรม และตนยังเชื่อว่ารัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจจะไม่มีประสิทธิภาพ และยังได้ลิดรอนสิทธิของประชาชน อีกทั้งนานาประเทศก็จะไม่ให้การยอมรับ และเมื่อนานาประเทศไม่ยอมรับจึงส่งผลต่อเศรษฐกิจและการทำสนธิสัญญาต่างๆ เช่น ประเทศยุโรปก็จะไม่ทำ FTA กับไทย

อีกทั้งประชาชนก็จะใช้สิทธิได้จำกัดและไม่มีความชัดเจนว่าตนจะสามารถใช้สิทธิได้อย่างไรถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวจะถูกประกาศใช้แล้วก็ตาม และยังมีการดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารอีกด้วย อีกทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐก็ทำได้ยากลำบากและสุ่มเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีด้วย

สมบัติยอมรับว่าข้อความบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่ถูกนำมาฟ้องในคดีนี้เป็นของตนจริง  เหตุที่โพสต์ข้อความเพราะต้องการแสดงให้เห็นว่าตนและประชาชนจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ คสช. ตนเห็นว่าเป็นหน้าที่เพราะเป็นการแสดงออกที่สุจริตและทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ

สมบัติเห็นว่าถ้อยคำของตนที่โพสต์ลงในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของเขาไม่เป็นการยั่วยุทำให้เกิดความวุ่นวายและยังเป็นการแสดงออกตามปกติในสื่อสังคมออนไลน์ และรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้รับรองการแสดงออกแบบนี้เอาไว้ด้วยและไม่มีกฎหมายห้ามเอาไว้ กติการระหว่างประเทศสิทธิพลเมืองแลสิทธิทางการเมืองด้วย อีกทั้งยังมีอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 19 ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซงและที่จะแสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารและ ข้อคิดผ่านสื่อใด และโดยไม่คํานึงถึงพรมแดน

สมบัติกล่าวอีกว่าสิทธิเสรีภาพเป็นสิทธิที่มีมาแต่เกิดติดตัวกับมนุษย์ทุกคนธรรมชาติที่ไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ ดังนั้นตนจึงได้ให้การปฏิเสธตามที่โจทก์ฟ้อง เพราะการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ถือเป็นการแสดงออกโดยสุจริตไม่ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

สมบัติอธิบายความหมายของการชูสามนิ้วคือ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ เป็นความหมายของการแสดงนี้ ซึ่งมาจากบทภาพยนตร์เรื่องฮังเกอร์เกมส์ ซึ่งข้อความมันไม่มีผลให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ไม่เป็นเรื่องที่ก่อความวุ่นวายแต่เป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจจบลง คสช.ที่กล่าวว่าการทำผิดกฎหมายของ คสช. ก็มีการนิรโทษกรรมการที่ คสช. ยึดอำนาจ

สมบัติเบิกความว่าไม่เคยต้องโทษจำคุกในคดีอาญามาก่อน ส่วนที่เคยถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลแขวงพระนครเหนือมีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548 จากเหตุช่วงสลายการชุมนุมพฤษภาคม 2553 ศาลให้เหตุผลที่ยกฟ้องว่าในเหตุการณ์นั้นมีความรุนแรงเกิดขึ้น ก่อนการจัดกิจกรรม มีการใช้กระสุนจริง จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ในขณะที่กิจกรรมของนายสมบัติ เป็นไปโดยสันติ ปราศจากอาวุธ และเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่การยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงตามที่ถูกฟ้อง

นอกจากนั้นในคดีที่สมบัติถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เรียกรายงานตัว เคยมีนักวิชาการเบิกความว่าหลักการเรื่องใครเป็นรัฏฐาธิปัตย์ถ้าเป็นในระบอบประชาธิปไตยประชาชนจะถือเป็นรัฏฐาธิปัตย์แต่หากอำนาจรัฏฐิปัตย์อยู่กับบุคลใดบุคคลหนึ่งจะถือว่าเป็นระบอบการปกครองแบบเผด็จการ ระบบกฎหมายจะเป็น Rule by law ไม่ใช่ Rule of law  และยังมีนักวิชาการด้านกฎหมายเคยเบิกความในคดีนี้ด้วยว่าประชาชนสิทธิเสรีภาพและสิทธิในการต่อต้านบุคคลที่เข้ายึดอำนาจด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

นอกจากนั้นยังมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ยังเคยมาเบิกความในคดีนี้อีกว่าการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและการชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิของประชาชนและยังได้รับการรับรองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญอีกด้วย

ในส่วนของอัยการถามค้านเพียงประเด็นว่าสมบัติยอมรับหรือไม่ว่าบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่ถูกนำมาฟ้องชื่อบัญชีเดียวกับตนหรือไม่ และทราบหรือไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำการยึดอำนาจและประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ เมื่อ 22 พ.ค. 2557 ทั้งนี้นายสมบัติยอมรับว่า บัญชีผู้ใช้ทั้งสองเป็นชื่อของตนจริง และทราบว่า คสช. ยึดอำนาจการปกครองเมื่อ 22 พ.ค. 2557 แต่ไม่ทราบเรื่องการประกาศกฎอัยการศึกในวันดังกล่าว แต่ทราบว่ามีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศเมื่อ 20 พ.ค. 2557 ซึ่งการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศต้องมีพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

นอกจากนั้น อัยการยังได้ถามถึงคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. และคดีที่สมบัติถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวที่ศาลฎีกาได้เคยพิพากษาลงโทษไปก่อนหน้านี้ สมบัติยอมรับว่าทราบว่ามีการเรียกรายงานตัว แต่ไม่ได้ไป และศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้ว แต่อธิบายเพิ่มเติมในคำถามติงของทนายความจำเลยว่า ที่ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. เพราะไม่ทราบว่า คสช. เป็นองค์กรที่ชอบธรรมตามกฎหมายหรือไม่ เพราะขณะนั้นมีพฤติกรรมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 และไม่ทราบว่าเรียกตนไปรายงานตัวด้วยเหตุผลใด

ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ระบุว่า คสช. ยึดการปกครองประเทศได้สำเร็จ จำเลยไม่มีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เนื่องจากสิทธิดังกล่าวถูกเลิกโดยประกาศ คสช. สมบัติ เห็นว่า การพิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทย ที่ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พ.ศ.2540 และ 2560 แม้ คสช. จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ ก็เป็นสิทธิตามธรรมชาติที่ประชาชนจะแสดงความไม่เห็นด้วยต่อผู้ปกครอง และยังมีสิทธิเสรีภาพตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไม่ได้ถูกยกเลิกไปพร้อมรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ไม่มีคำถามค้านใดของอัยการที่ถามเกี่ยวกับเนื้อหาของโพสต์ว่าเข้าองค์ประกอบความผิดข้อหายุยงปลุกปั่น ม.116 หรือไม่

หลังสมบัติเบิกความเสร็จสิ้น ศาลได้นัดสืบพยานฝ่ายจำเลยปากถัดไปคือ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้มาเบิกความในวันที่ 3 ก.ย.2561

X