เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2568 อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล หรือ “ก้อง” นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางบางขวาง ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 2 คดี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ขออนุญาตให้นำตัวออกจากเรือนจำไปทำการสอบที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต
แม้ว่าก่อนหน้านี้ ก้องได้ยื่นขอประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีมาแล้ว 8 ครั้ง แต่ศาลปฏิเสธคำร้องขอประกันเรื่อยมา โดยเคยขอวางหลักประกันถึง 4 แสนบาท ทั้งระบุความจำเป็นด้านการศึกษาและสอบซ่อมเพื่อทำเรื่องขอจบการศึกษาต่อไป แต่ศาลยังคงไม่อนุญาตให้ประกันตัว
.
ก้องร้องขอสอบ 3 วิชาสุดท้ายเพื่อเรียนจบ แต่มหาวิทยาลัยไม่จัดสอบ-ศาลไม่อนุญาต
คำร้องของก้องในการขออนุญาตให้นำตัวไปสอบ ได้แถลงต่อศาลโดยสรุปว่า เขาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และได้ลงทะเบียนเรียนในภาคฤดูร้อนปีการศึกษา 2567 รวมจำนวน 9 หน่วยกิต (3 รายวิชา) ซึ่งหากสามารถสอบไล่ได้ครบก็จะสำเร็จการศึกษาและได้รับปริญญาตามหลักสูตร
แม้ก้องจะถูกคุมขัง แต่ยังตั้งใจเรียนอย่างมุ่งมั่นภายใต้ข้อจำกัดของเรือนจำ และได้พยายามใช้สิทธิตามระเบียบมหาวิทยาลัย โดยการยื่นคำร้องต่อคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จำนวน 2 ครั้ง และสภานักศึกษายังมีหนังสือถึงมหาวิทยาลัยฯ เพื่อขอให้จัดสอบภายในเรือนจำอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีมติไม่อนุมัติคำร้องขอสอบในเรือนจำทั้งหมด โดยมีแถลงการณ์ ให้เหตุผลโดยสรุปอ้างว่าไม่สามารถจัดสอบเฉพาะบุคคลภายในเรือนจำได้ เนื่องจากอาจเกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้เรียนคนอื่นที่ประสบเหตุสุดวิสัยในลักษณะเดียวกัน
แม้ว่าก้องจะถูกควบคุมคัวในระหว่างการพิจารณา แต่ก็ยังมีสิทธิศึกษาตามรัฐธรรมนูญฯ ดังนั้นการควบคุมตัวในระหว่างพิจารณาจะทำให้ก้องเสียสิทธิการศึกษาอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ย่อมทำให้ก้องได้รับผลกระทบอย่างหนัก และจะส่งผลให้ต้องพ้นจากสภาพนักศึกษาด้วย
ขอให้อนุญาตให้ก้องออกนอกเรือนจำบางขวาง เพื่อเดินทางไปสอบที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงตามวันและเวลาในตารางสอบ โดยอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ หรือมาตรการอื่นตามดุลยพินิจ
อย่างไรก็ตามศาลมีคำสั่งในวันเดียวกัน โดยระบุเหตุผลสั้น ๆ ว่า “กรณียังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะอนุญาต ยกคำร้อง”
.
นักศึกษาไร้ทางเลือก: สิทธิในการศึกษาถูกปฏิเสธทุกทาง
การที่ศาลไม่อนุญาตให้ออกจากเรือนจำเพื่อเข้าสอบ ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็ไม่อนุญาตให้จัดสอบในเรือนจำ ทำให้ก้องตกอยู่ในภาวะ “ไร้ทางเลือก” ทั้งที่เขาเหลืออีกเพียง 3 วิชาก็จะสำเร็จการศึกษา และพยายามทุกทางที่กฎหมายเปิดให้เพื่อรักษาสิทธิทางการศึกษาไว้
กรณีของก้องเป็นตัวอย่างสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมที่ยังไม่สามารถประกันหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะสิทธิในการศึกษาในระหว่างพิจารณาคดีที่บุคคลยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม สิทธิในการศึกษาไม่ควรถูกตัดขาดเพียงเพราะการคุมขัง หากรัฐยังยืนยันว่าจะยึดหลักสมดุลแห่งสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรม กระบวนการทางกฎหมายควรมีช่องทาง และยืดหยุ่นเพียงพอเพื่อการส่งเสริมการศึกษาแม้จะถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดี
.
ย้อนอ่านประเด็นปัญหาการสอบของก้อง
คำถามจาก ‘ก้อง’ ถึง ม.รามคำแหง: นี่คือโอกาสทางการศึกษา หรือความเหลื่อมล้ำ?
ขัง ‘ก้อง อุกฤษฏ์’ ครบ 1 ปี กับการต่อสู้ของ ‘เพื่อนราม’ เพื่อให้ก้องต้องได้สอบ
.