เดือนที่ 8 ของการคุมขัง “ทิวากร”: โรคหิด และจดหมายที่ไม่ถึง “อานนท์” 

ปลายเดือนมีนาคม และเดือนเมษายน 2568 ทนายความเดินทางไปที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นหลายครั้ง เพื่อเข้าเยี่ยม ทิวากร วิถีตน เกษตรกรชาวขอนแก่นวัย 49 ปี ผู้ถูกคุมขังระหว่างฎีกาในคดีมาตรา 112 และพบปัญหาของเรือนจำที่หลากหลาย ทั้งปัญหาสุขภาพของทิวากรจากสุขอนามัยในเรือนจำที่ไม่ค่อยดี เนื่องจากพื้นปูนที่ไม่ได้ปูกระเบื้องซึ่งมักจะชื้นอยู่เสมอ ขณะที่ผู้ต้องขังบางส่วนที่อยู่กองงานเย็บผ้าต้องนั่งทำงานในบนพื้นวันละหลายชั่วโมง 

นอกจากนี้จดหมายที่ทิวากรเขียนถึง อานนท์ นำภา ก็ถูกตีกลับ ไม่สามารถส่งออกจากเรือนจำไปถึงปลายทางได้ รวมถึงหนังสือร้องเรียนเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ทิวากรเขียนถึง สส. โดยคาดหวังอย่างยิ่งว่าจะถูกนำไปพูดในสภา ก็ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบและอนุมัติของเรือนจำแม้ว่าจะเนิ่นนานกว่า 2 เดือนแล้ว

ทิวากรถูกศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องให้ลงโทษจำคุก 6 ปี จากคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เหตุโพสต์ภาพสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” และโพสต์ข้อความถึงสถาบันกษัตริย์เกี่ยวกับการใช้มาตรา 112 รวม 3 โพสต์ ในปี 2564 หลังศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษา ศาลฎีกาก็ไม่อนุญาตให้ประกันเรื่อยมา จนปัจจุบันทิวากรถูกขังมาครบ 9 เดือนแล้ว 

.

27 มี.ค. 2568

เมื่อยกหูโทรศัพท์ขึ้นคุยเรื่องแรกที่ทิวากรกล่าวก็คือ อยากย้ายเรือนจำไปเรือนจำกลางขอนแก่น เพราะรับไม่ได้ที่ทางฝ่ายบริหารไม่ยอมรับบริจาคดิกชันนารีที่ทนายบริจาคเข้าห้องสมุด นอกจากนี้เขายังได้ยินจากเพื่อนผู้ต้องขังว่า ห้องสมุดของเรือนจำกลางมีระบบที่ดีกว่า มีบาร์โค้ดให้ยืมหนังสือได้ และมีหนังสือที่หลากหลายกว่า ขณะที่ห้องสมุดที่นี่ให้ยืมตามความรู้จัก แล้วก็มีแต่หนังสือในลักษณะอนุรักษ์นิยม ถ้าเขาได้ย้ายไปก็ตั้งใจว่าจะอ่านหนังสืออย่างเดียว 

ทนายอธิบายว่า ผู้ต้องขังที่เรือนจำกลางต้องเป็นผู้ต้องขังที่คดีสิ้นสุดแล้ว เป็นเรือนจำที่มีความมั่นคงสูงขึ้น มีระเบียบเคร่งครัดกว่า

เมื่อพูดคุยถึงเรื่องสุขภาพ ทิวากรบอกว่า ตอนนี้เขาติดโรคหิด น่าจะเป็นเพราะทุกวันเขาต้องนั่งนาน ๆ บนพื้นปูนที่ชื้น ขณะทำงานที่กองงานเย็บผ้า ช่วงนี้เขาเลยถูกแยกขังอยู่กับกลุ่มที่เป็นหิดโดยเฉพาะ 

ทิวากรเล่าด้วยว่า เขาส่งจดหมายฉบับที่ 2 ให้ทนายอานนท์แล้ว โดยส่งไปที่แดน 4 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วนหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมอีก 2 ฉบับที่เขาเขียนถึง สส. เข้าใจว่า หนังสือได้รับอนุญาตแล้ว และอยู่ที่ฝ่ายทัณฑปฏิบัติ ให้ทนายไปติดต่อรับได้

.

11 เม.ย. 2568

เจอกันครั้งนี้ทนายถามเกี่ยวกับโรคหิดว่าดีขึ้นหรือยัง ทิวากรอัพเดตว่า หายแล้ว เขาถูกแยกกักตัวกับกลุ่มที่เป็นโรคหิดถึงประมาณวันที่ 3 เม.ย. แต่ช่วงนี้อากาศร้อนเลยมีผื่นคันขึ้นแทน เจ้าหน้าที่มียาให้ทาแก้คัน แต่เป็นยาที่เอาไปผสมน้ำเจือจางลงแล้วใส่สเปรย์ฉีด แล้วให้ทาลูบบาง ๆ เอา

ทิวากรเล่าต่อว่า หลังออกจากกักตัวโรคหิดเขาก็ยังกลับไปทำงานที่กองงานเย็บผ้าเหมือนเดิม รวมทั้งยังอยู่เรือนนอนที่เอาไว้กักโรคเช่นเดิม “ส่วนตัวผมกลัวว่าจะกลับไปติดโรคหิดมาอีกรอบ ก็เลยอาศัยการนั่งยอง ๆ ทำงาน หรือหาของมารองนั่ง อย่างรองเท้า ให้มันสูงขั้นมาจากพื้นนิดนึง” 

ทิวากรยังเล่าด้วยว่า มีผู้ต้องขังที่นี่จำนวนหนึ่งถูกย้ายออกไปเรือนจำกลางขอนแก่น โดยเมื่อวานมีคนถูกย้ายไป 50 คน เขาเองได้แจ้งหัวหน้าฝ่ายทัณฑปฏิบัติไว้แล้วตอนที่ออกจากกักตัวโรคหิดว่า อยากย้ายไปเรือนจำกลางขอนแก่น หัวหน้าฯ บอกว่า เขาไม่ได้มีคุณสมบัติที่ต้องห้าม ก็น่าจะย้ายได้

จากนั้นทนายได้แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับการติดตามหนังสือร้องเรียนเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ทิวากรเขียนถึง สส. โดยเล่าว่า หลังการเยี่ยมครั้งก่อนได้ไปติดต่อขอรับหนังสือที่ฝ่ายทัณฑปฏิบัติตามที่ทิวากรบอก แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ไม่เคยเห็นหนังสือดังกล่าว คงต้องให้ทิวากรติดตามหนังสือกับทางเจ้าหน้าที่อีกครั้ง

ตอนท้ายการสนทนาทิวากรเล่าเรื่องจดหมายที่เขาเขียนถึงทนายอานนท์ว่า “เหมือนจะส่งไม่สำเร็จ มันถูกตีกลับมา ผมยังไม่รู้ว่าเพราะอะไรถึงถูกตีกลับ” 

.

25 เม.ย. 2568

ครั้งนี้ ทิวากรเล่าว่า หลังจากออกจากกักหิด เขามีตุ่มคันขึ้นมาอีกและกังวลว่าจะกลับไปเป็นหิดอีกครั้ง จึงได้สอบถามเพื่อนผู้ต้องขังที่เคยเป็นว่าทำยังไงไม่ให้เป็นอีก มีคนแนะนำให้ใช้ผงซักฟอกถูบริเวณตุ่ม ส่วนอาสาสมัครเรือนจำแนะนำยาที่จำชื่อไม่ได้ ให้เขาซื้อมากินเองดูก่อน ทิวากรจึงลองใช้ผงซักฟอก ซึ่งก็ดูจะได้ผล ตุ่มคันหายไป แต่ที่ได้มาแทนคืออาการแพ้ผงซักฟอก คือเป็นแผลเปื่อย มีน้ำเหลืองออกมา แต่ตอนนี้ก็หายเกือบหมดแล้ว ยังเหลือตุ่มที่ขาตุ่มเดียวซึ่งก็ใกล้จะหายแล้ว

นอกจากอาการทางผิวหนัง ทิวากรเล่าด้วยว่า ตอนนี้เขามีอาการเจ็บคอเล็กน้อย มีเสลดบ้าง แต่ไม่ไอ ไม่มีไข้ เป็นมาได้ 4-5 วันแล้ว วันแรกเสลดมีเลือดด้วย แต่หายไปแล้ว เขายังไม่ได้ลงชื่อเพื่อขอพบหมอ เพราะคิดว่าไม่น่าเป็นอะไรมาก แต่ถ้าเป็นมากกว่า 2 สัปดาห์ แล้วยังไม่ดีขึ้น ค่อยไปลงชื่อ

เมื่อถามว่า หากทำอยู่ที่กองงานเย็บผ้าต่อไป อาจจะเสี่ยงเป็นหิดหรือโรคผิวหนังอื่น ๆ อีก อยากจะย้ายกองงานมั้ย ทิวากรเล่าย้อนไปว่า ช่วงหลัง ๆ ที่ยังอยู่ที่กองงานห้องสมุด เขามีอาการวูบ คือไม่รู้ตัวไปชั่วขณะหนึ่ง เป็นอยู่ 2-3 ครั้ง ซึ่งเขาคาดว่าน่าจะเกิดจากความเครียด ตอนอยู่ข้างนอกเขาเคยมีอาการแบบนี้อยู่บ้างในช่วงที่ติดโซเชียล พอลองงดเข้าโซเชียล อาการก็ดีขึ้น ครั้งนี้เขาเลยคิดว่า ถ้าไม่ทำที่กองงานห้องสมุด อาการน่าจะหายไป ซึ่งก็เป็นไปตามที่เขาคิด

ส่วนที่มาทำกองงานเย็บผ้า เพราะตอนเข้ามาเรือนจำใหม่ ๆ เขาเคยจ้างปักชื่อตัวเองลงบนเสื้อ ซึ่งแพงมาก เขาเลยตั้งใจว่าจะทำเองให้ได้ พอได้มาทำเจ้าหน้าที่สอนให้ปักเป็นรูปดอกไม้ ทำเสร็จแล้วก็ดูสวยดี เขาชอบมาก ยังอยากทำต่อไป อาศัยนั่งยอง ๆ หรือยืนทำงาน แก้ปัญหาการติดโรคผิวหนังจากพื้นปูนที่ไม่ได้ปูกระเบื้องซึ่งทำให้มีความชื้นตามธรรมชาติและเป็นที่สะสมของเชื้อโรค ซึ่งเขาก็รู้สึกว่าสะดวกดี และมีคนยืนทำงานตามเขาหลายคน 

ทิวากรเล่าต่ออีกว่า เขาเคยถามเจ้าหน้าที่ว่า รูปดอกไม้ที่ปักเสร็จแล้วเขาจะซื้อเก็บไว้เองได้มั้ย เจ้าหน้าที่บอกว่า ไม่ได้ ต้องเอาส่งให้พ่อค้า เพื่อนผู้ต้องขังที่ทำอยู่ก่อนหน้าเขาก็เคยเล่าให้ฟังว่า เขาจะได้รายได้จากการปักชิ้นงานปีละ 3 ครั้ง บางครั้งไม่ถึง 100 บาท แต่บางครั้งก็ได้ 100 กว่าบาท ซึ่งทิวากรคิดว่าก็ยังดี

ก่อนเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นขึ้นมาว่า “อาทิตย์นี้หัวหน้าฝ่ายบอกว่า ผมอาจจะได้ย้ายไปเรือนจำกลางขอนแก่นอาทิตย์หน้า” เขารู้ว่าการย้ายเรือนจำทำให้ต้องไปเริ่มต้นอะไรใหม่ทั้งหมด รวมถึงการยื่นรายชื่อผู้มีสิทธิเยี่ยม แต่เขาก็คิดว่าเป็นการดีที่เขาจะได้ไปเรียนรู้สภาพของเรือนจำกลางตามความเป็นจริงเหมือนผู้ต้องขังทั่วไป เช่นเดียวกับตอนที่เข้ามาที่นี่ใหม่ๆ จะดีกว่าอยู่หน่อยตรงที่เขาจะรู้จักผู้ต้องขังจำนวนหนึ่งแล้วซึ่งเป็นกลุ่มที่ย้ายไปจากที่นี่ ไม่ได้ไปเริ่มทำความรู้จักใหม่ทั้งหมด 

ทนายถามถึงเอกสารที่สังเกตว่าวางอยู่ใกล้โทรศัพท์ ทิวากรบอกว่า เป็นจดหมายที่ได้รับจากเอกชัย หงส์กังวาน ซึ่งเขียนมาอัปเดตคดีทางการเมืองทุกเดือน ทำให้เขารับรู้ข่าวภายนอก อย่างน้อยก็เรื่องคดีทางการเมือง เพราะที่นี่ไม่เปิดข่าวให้ดูเลย แม้จะเปิดทีวีตั้งแต่ขึ้นเรือนนอนตอน 15.00 – 21.00 น. แต่ก็มีแค่มิวสิกวิดีโอกับหนังที่โหลดมาเท่านั้น 

นอกจากนั้นก็เป็นจดหมายจากแอมเนสตี้ที่รวบรวมข้อความที่มีคนเขียนถึงเขาปรินท์ส่งมาให้ ซึ่งเขาได้รับมาราว 3 ครั้งแล้ว “รู้สึกขอบคุณทุกคนที่เขียนจดหมายมา มีคนหนึ่งวาดรูปแมวส้มส่งมาให้ แล้วบอกว่าเอาไว้ดูตอนไม่สบายใจ ซึ่งผมดูแล้วก็สบายใจขึ้นทุกครั้ง” 

ทนายจึงถามต่อว่า ในเรือนจำมีแมวมั้ย ทิวากรเล่าว่า มีหลายตัว มา ๆ ไป ๆ ถ้ามาเขาก็จะเทเศษปลาหรือเศษอาหารให้ คนอื่น ๆ ก็เหมือนกัน “ผมไม่เคยเห็นผู้ต้องขังคนไหนใจร้ายกับแมวเลย แม้ว่าบางคนจะโดนคดีร้ายแรง ผมว่าก็แปลกดี”

ในปึกนั้นยังมีจดหมายที่เขาเขียนถึงทนายอานนท์เป็นฉบับที่ 2 ซึ่งถูกส่งกลับมาให้เขาโดยยังไม่ได้ส่งไปรษณีย์ไปยังปลายทาง ทิวากรชี้ให้ดูว่า เขาเขียนจดหมายราวปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และด้านล่างจดหมายมีข้อความปั๊มว่า ตรวจแล้ว แต่ยังไม่มีลายเซ็นกำกับ เขาเดาว่า จดหมายไม่ผ่านการตรวจ    

ทนายความถามต่อถึงการติดตามหนังสือร้องเรียนถึง สส. ทิวากรกล่าวว่า จากการสอบถามทราบว่า หัวหน้าฝ่ายทัณฑปฏิบัติเซ็นอนุมัติแล้ว และส่งไปให้ ผอ.เรือนจำ ตอนนี้น่าจะยังอยู่ที่ ผอ.เรือนจำ ซึ่งหัวหน้าฯ จะติดตามให้ “ผมว่าผมจะยังรอกระบวนการตรวจหนังสือนี้อยู่ เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เฉพาะสำหรับผม แต่สำคัญกับผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน อยากให้มีการพูดถึงในสภา ผมไม่อยากเขียนใหม่เพราะอารมณ์ความรู้สึกก็จะไม่เหมือนกับที่เขียนครั้งแรกแล้ว”

ก่อนหมดเวลาเยี่ยมทนายได้ถ่ายทอดข้อความจากแม่ทิวากรซึ่งฝากมาว่า “คึดฮอด (คิดถึง) อยู่เด้อ แต่บ่มีคนพาไปเรือนจำ เขาบ่ว่างกัน” พร้อมทั้งเล่าถึงสุขภาพของแม่ว่า ปวดขา เดินไม่ค่อยไหว ต้องใช้วอล์คเกอร์ช่วยพยุงตลอด วันก่อนก็ได้ไปหาหมอทั้งวัน ทิวากรรับฟังด้วยสีหน้าห่วงกังวล ก่อนยิ้มได้ในตอนท้ายเมื่อได้ยินว่า “พ่อแข็งแรงดี ออกไปสวนได้ทุกวัน”   

.

จดหมายที่ทิวากรเขียนถึงทนายอานนท์ นำภา

ทนายบอกผมว่า ทนายอานนท์ยังไม่ได้รับจดหมายฉบับแรกของผมที่ส่งให้ทนายอานนท์เมื่อราวเดือนพฤศจิกายน 2567 ก็ไม่รู้ว่าทำไมจดหมายผมถึงส่งไปไม่ถึงทนายอานนท์ ตอนผมไปขึ้นศาลที่จังหวัดลำปางในคดีมาตรา 116 ทนายก็บอกกับผมว่า ทนายอานนท์คิดว่าผมเป็นผู้นำของการต่อสู้ทางการเมืองในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2563 แต่ผมไม่เชื่อว่าทนายอานนท์จะคิดแบบนั้น เพราะจริง ๆ แล้วผมเป็นแค่เหยื่อผู้น่าสงสารที่ทนายอานนท์มาช่วยไว้เท่านั้น 

หากทนายอานนท์และทุก ๆ คนไม่ออกมาช่วยผมตอนที่ผมโดนอุ้มเข้าโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น โดนจับฉีดยาทั้ง ๆ ที่ไม่ได้บ้า ป่านนี้ผมคงจะถูกทำให้กลายเป็นบ้าจริง ๆ หรืออาจถึงขั้นถูกทำให้ตายไปแล้ว ซึ่งผมต้องกราบขอบพระคุณทนายอานนท์เป็นอย่างสูงที่เอาตัวเข้าเสี่ยงเพื่อช่วยผม ผมระลึกอยู่ในใจเสมอว่าทนายอานนท์และทุก ๆ คนที่ออกมาช่วยเหลือผมในครั้งนั้นคือผู้มีพระคุณของผม 

ด้วยรักและศรัทธา

ทิวากร วิถีตน

.

📩 เนื่องจากยังต้องติดตามสถานการณ์ถูกย้ายเรือนจำของทิวากร จึงสามารถเขียนจดหมายออนไลน์ถึงเขา ผ่านโครงการ Free Ratsadon โดยแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่ลแนล

.

ย้อนอ่านเรื่องราวและบทสัมภาษณ์ของทิวากร

กว่าจะ ‘หมดศรัทธาฯ’: เรื่องราวของ ‘ทิวากร วิถีตน’ กับวิถีการต่อสู้ที่ตนเลือกเอง

.

X