นับตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. 2567 ก็เป็นเวลา 67 วันแล้วที่ ทิวากร วิถีตน เกษตกรชาวจังหวัดขอนแก่น ถูกคุมขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น หลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาให้จําคุก 6 ปี จากเหตุโพสต์ภาพสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” และโพสต์ข้อความถึงสถาบันกษัตริย์เกี่ยวกับการใช้มาตรา 112 รวม 3 โพสต์ในปี 2564 โดยไม่ได้รับสิทธิประกันระหว่างฎีกา
ทั้งนี้ช่วงเดือน ก.ย. 2567- ต้นเดือน ต.ค. 2567 ทนายความเข้าเยี่ยมทิวากรทั้งหมด 3 ครั้ง โดยทิวากรพูดคุยแสดงความเห็นต่อการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เขาเห็นว่าไม่ควรจะต้องมีการนิรโทษกรรมด้วยซ้ำ เพราะไม่ควรเป็นความผิดมาตั้งแต่แรก และแจ้งทนายความว่ายังไม่ต้องยื่นประกันอีก หลังยื่นไป 2 ครั้งแล้ว แต่ศาลฎีกาไม่ให้ประกัน เพราะถือว่าเขาบรรลุเป้าหมายในการแสดงเจตนาว่าไม่ได้เต็มใจติดคุกแล้ว ทั้งเล่าถึงชีวิตปัจจุบันที่ได้ช่วยงานในห้องสมุด ทำให้มีเวลาได้อยู่กับหนังสือ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาค่อนข้างชอบ รวมถึงเล่าเรื่องอาหารในเรือนจำที่ทิวากรรู้สึกกินไม่ค่อยอิ่ม
หากมองในภาพรวมขณะนี้ทิวากรยังคงอยู่ในช่วงปรับตัวกับการเป็นผู้ต้องขัง ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ อาหารการกิน และการสร้างมิตรภาพ อย่างไรก็ตาม ทิวากรยังมีความหวังที่จะได้ออกไปดูแลพ่อแม่ในวัยชรา ผ่านสิทธิประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดีชั้นฎีกา
วันที่ 11 ก.ย. 2567 ระหว่างทนายเข้าเยี่ยมเพื่อทราบถึงสถานการณ์ในเรือนจำ ทิวากรกล่าวแสดงความเห็นถึงการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยรวมคดีมาตรา 112 ด้วยว่า ไม่ควรจะต้องมีการนิรโทษกรรม เพราะไม่ควรเป็นความผิดมาตั้งแต่แรก กฎหมายมาตรานี้ไม่มีความชอบธรรม การแก้ไขครั้งล่าสุดที่เพิ่มโทษให้สูงขึ้นก็เป็นการแก้ไขตามคำสั่งคณะรัฐประหารที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ยิ่งไม่มีความชอบธรรม
ทิวากรยังเห็นว่า ควรแก้ไขมาตรา 112 โดยด่วน เนื่องจากถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
ส่วนตัวทิวากรไม่อยากรับคำว่านิรโทษกรรม เพราะเป็นถ้อยคำที่ผิดจากความเป็นจริง หากมีนิรโทษกรรมเขาก็ไม่อยากรับ อยากให้ระงับการใช้แล้วปล่อยผู้ต้องขังทุกคนมากกว่า จากนั้นก็กลับมาเริ่มจัดทำกฏหมายขึ้นมาใหม่ “จะมาดำเนินคดีผมซ้ำอีกทีก็ได้แต่ขอให้เป็นกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบมาจากประชาชน หรือจากสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนมาจากประชาชน”
วันที่ 26 ก.ย. 2567 ทนายความเข้าเยี่ยมทิวากรอีกครั้งเพื่อแจ้งผลการประกันตัวที่ทนายยื่นประกันเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2567 เป็นครั้งที่ 2 วางเงินประกัน 500,000 บาท พร้อมทั้งระบุเหตุผลความจำเป็นในการออกมาดูแลพ่อแม่ที่ชรา มีโรคประจำตัว และพิการ ช่วยตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้ไม่สะดวก แต่ศาลฎีกายังมีคำสั่งไม่ให้ประกัน ระบุคำสั่งสั้น ๆ ว่า “พิเคราะห์เหตุผลตามคำร้องของผู้ขอประกันแล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง”
ทิวากรแจ้งว่า เขาได้รับคำสั่งศาลฎีกาด้วยเช่นกัน เมื่อทนายปรึกษาหารือเรื่องการยื่นประกันครั้งต่อไป ทิวากรเห็นว่า ช่วงนี้ยังไม่ต้องยื่นประกันอีก เพราะถือว่าเขาบรรลุเป้าหมายในการแสดงเจตนาว่าไม่ได้เต็มใจติดคุกแล้ว หากเขาเปลี่ยนใจหรือสถานการณ์เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ค่อยพิจารณายื่นประกันอีกครั้ง
วันที่ 7 ต.ค. 2567 ทิวากรอัพเดตว่า ตอนนี้ผู้ช่วยผู้คุมจัดให้เขาไปอยู่งานห้องสมุด ซึ่งเขาชอบมาก โดยช่วงนี้เขายังอ่านหนังสือภาษาอังกฤษของ Oxford ที่มีแปลภาษาไทยด้านข้างเล่มเดิมอยู่
เกี่ยวกับอาหารที่กองทุนจัดซื้อให้ ทิวากรเล่าว่าบางครั้งเขาก็เอาไปแบ่งปันกับผู้ต้องขังที่เข้าใหม่ เพราะคิดถึงตอนที่เขาเข้าเรือนจำใหม่ ๆ อาหารที่ได้ไม่พออิ่ม ก็มีเพื่อนผู้ต้องขังแบ่งอาหารให้เขาเหมือนกัน
ทิวากรเล่าต่อไปอีกว่า ตอนแรกที่เข้ามาเขาถูกจัดไปอยู่แดนแรกรับซึ่งจะเรียกว่าเป็นแดนพิเศษ ไม่มีโต๊ะให้ ต้องนั่งกินข้าวกับพื้นแล้ว อาหารที่จ่ายให้ผู้ต้องขังแต่ละคนก็น้อย ทำให้เขากินไม่อิ่ม เมื่อย้ายเข้าแดนปกติ ที่โรงอาหารมีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งกินข้าว อาหารก็ดีกว่าและกินได้อิ่มกว่า แต่สำหรับเขาถือว่ายังไม่อิ่มเท่าไหร่
ในแต่ละวันผู้ต้องขังจะได้ทานอาหารในช่วงเวลาประมาณ 07.00 น., 11.30 น. และ 15.00 น. ผู้ต้องขังจะต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าไปกินโดยต้องทำเวลาให้เร็วที่สุดไม่เกิน 15 นาที อาหารในแดนปกติก็จะมี เช่น ข้าวต้ม ผัดหมี่ ผลไม้ก็จะมีในบางวัน เปรียบเทียบกับอาหารที่ข้างนอกซื้อฝากเข้าไป ทิวากรบอกว่า อาหารที่ซื้อดีกว่า สดใหม่และหลากหลายกว่า และไม่ต้องไปกินที่โรงอาหาร จะแยกกันไปกินที่โรงฝึกก็ได้ แต่บางครั้งอาหารที่ได้ไม่ตรงกับรายการที่สั่งซื้อ เป็นอาหารที่มีราคาถูกกว่าบ้าง
ส่วนเรื่องน้ำดื่มนั้น ในทัณฑสถานฯ มีตู้กดน้ำเขียนว่า น้ำกรอง ทิวากรให้ความเห็นว่า น่าจะสะอาดเพราะรสชาติก็ไม่ได้รู้สึกแตกต่างจากน้ำที่เคยกินข้างนอก โดยปกติเขาจะใช้ขวดพลาสติกส่วนตัวกรอกขึ้นไปกินบนเรือนนอน
ส่วนเรื่องที่ทิวากรส่งรายชื่อคนในครอบครัวและเพื่อนแจ้งทางทัณฑสถานฯ ไว้ว่าเป็นผู้มีสิทธิเข้าเยี่ยมรวม 10 รายชื่อ แต่เพื่อนที่มีรายชื่อไปเยี่ยมแล้วเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าเยี่ยม ให้เหตุผลว่าไม่ใช่ญาติ ทิวากรเล่าว่า น่าจะเกิดปัญหารายชื่อตกหล่น แต่เขาได้กำชับผู้ช่วยผู้คุมไปอีกครั้งแล้ว และอยากให้เพื่อนลองมาเยี่ยมดูอีกครั้งว่าสามารถเข้าเยี่ยมได้หรือยัง
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
22 วันในเรือนจำของ ‘ทิวากร’ เป็นห่วงพ่อแม่ หวังได้สิทธิประกัน กลับไปดูแลเหมือนที่ผ่านมา