2 ก.ย. 2567 ทนายความเข้าเยี่ยม ทิวากร วิถีตน ผู้ต้องขังคดี 112 วัย 48 ปี ซึ่งกลางเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาให้จําคุก 6 ปี จากเหตุโพสต์ภาพสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” และโพสต์ข้อความถึงสถาบันกษัตริย์เกี่ยวกับการใช้มาตรา 112 รวม 3 โพสต์ในปี 64
หลังคำพิพากษาจำคุก ทนายได้ยื่นขอประกันทิวากรระหว่างฎีกาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2567 โดยศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลฎีกาพิจารณา และวันถัดมา (30 ส.ค. 2567) ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 6 ปี หากปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างฎีกา ให้ยกคำร้อง”
ขณะนี้ (4 ก.ย. 2567) ทิวากรถูกคุมขังในทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นมาได้ 22 วันแล้ว โดยทนายเพิ่งมีโอกาสเข้าเยี่ยมได้ 2 ครั้ง เพราะก่อนหน้านั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์บอกว่า ผู้ต้องขังเข้าใหม่ต้องกักตัว 1 สัปดาห์ก่อน จึงจะอนุญาตให้เยี่ยม แต่เมื่อครบ 7 วัน ทนายไปเยี่ยมอีกครั้งเจ้าหน้าที่กลับแจ้งอีกว่า ต้องกักตัวให้ครบ 10 วันก่อน
กระทั่งทนายได้เยี่ยมครั้งแรกตอนปลายเดือน (27 ส.ค. 2567) จึงได้ทราบว่า 2 สัปดาห์ในฐานะผู้ต้องขังทิวากรเป็นไข้หวัด มีอาการปวดแข้งขา หน้ามืดขณะลุกขึ้นยืน ไปพบฝ่ายพยาบาลแล้ว แต่ได้ยาลดไข้มากินอย่างเดียว
เรื่องความเป็นอยู่นั้น ทิวากรเล่าว่า เขาได้กินข้าวไม่ค่อยอิ่ม ประกอบกับไม่สบายด้วย ทำให้กินไม่ค่อยได้ เรือนนอนมีผู้ต้องขังจำนวนมากทำให้ต้องนอนเบียดกันแน่นกันเกินไป แม้เขาได้ย้ายไปเรือนนอน 2 ก็ยังแน่นเช่นเดิม ของใช้ที่ต้องมีส่วนตัว เช่น แปรงสีฟัน ทางเรือนจำไม่มีให้ จะซื้อโดยใช้เงินที่เขามีติดตัวไปขณะเข้าเรือนจำ ก็ยังใช้ไม่ได้ เขาจะใช้ได้หลังเข้าเรือนจำ 15 วันไปแล้ว
ทิวากรเล่าด้วยว่า มีผู้ต้องขังมาถามเขาว่า โดนคดีอะไรเข้ามา พอบอกว่าเป็นคดี 112 ผู้ต้องขังคนนั้นก็บอกคนอื่น ๆ ว่า อย่าไปยุ่ง อย่าไปช่วยเหลือ แต่ก็มีผู้ต้องขังที่เป็นคนบ้านเดียวกัน ซึ่งจำทิวากรได้ว่าเคยเตะตะกร้อด้วยกัน คอยช่วยเหลือ แบ่งปันอาหาร มีครั้งหนึ่งที่ช้อนของทิวากรหายเขาก็เป็นคนหาอันใหม่มาให้
จนถึงวันที่ 2 ก.ย. 2567 จากการได้พบทนายความอีกครั้ง ทิวากรพูดถึงอุปสรรคของการใช้ชีวิตในเรือนจำเพิ่มเติมว่า เขานั่งขัดสมาธิไม่ได้ ทำให้โดนผู้คุมดุบ่อย ๆ บางครั้งโดนไล่ให้ไปต่อแถวด้านหลัง ส่วนไข้หวัดที่ยังไม่หายดี ทำให้วันก่อนเขาไปต่อคิวเข้าพบหมอ แต่ยังไม่ได้พบหมอก็ถูกตัดคิว เจ้าหน้าที่บอกว่าครบโควต้าแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังมีผู้ต้องขังไม่ได้ตรวจอีกนับ 10 คน
ปกติทิวากรเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เขาพบว่า หนังสือในเรือนจำมีหลายแบบ มีหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาจิตใจ รวมถึงผู้ป่วยทางจิตด้วย แต่ไม่มีหนังสือเกี่ยวกับการเมือง เขาจึงเลือกนิยายภาษาอังกฤษที่มีคำแปลภาษาไทยด้านข้างมาอ่าน
ทิวากรรู้สึกว่า ทางเรือนจำดูแลผู้ต้องขังเหมือนต้องการให้ผู้ต้องขังลำบากเกินจำเป็น เช่น ให้ข้าวที่ไม่อิ่มท้อง ไม่มีแปรงสีฟันให้
20 กว่าวันที่ผ่านมา ทิวากรเล่าว่า เขามองเห็นสัจธรรมจากเพื่อนร่วมห้องขัง บางคนต้องมาอยู่ในเรือนจำเพราะอารมณ์ชั่ววูบ เช่น ผู้ต้องขังคดีเจตนาฆ่า พอได้พูดคุยกันก็รู้สึกว่าเขาก็เป็นคนปกติ ยิ้มแย้มแจ่มใส ส่วนนักโทษคดียาเสพติด ทิวากรรู้สึกว่าคนเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตทางการเมือง ขณะที่เขาพบว่า คนกลุ่มนี้ไม่รู้เรื่องการเมืองเลย
ทิวากรถามทนายความถึงสถานการณ์คดี 112 ว่ามีคนถูกดำเนินคดีเพิ่มอีกมั้ย และคดีของอาย กันต์ฤทัย ศาลพิพากษาอย่างไร เมื่อทนายบอกว่า ศาลพิพากษาจำคุกราว 12 ปี และไม่ให้ประกันตัว ทิวากรก็มีท่าทีตกใจ
ทิวากรฝากข้อความผ่านทนายความเพื่อสื่อสารถึงฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่า อยากให้ทบทวนการใช้มาตรา 112 ว่าเป็นการปกป้องหรือบ่อนทำลายสถาบันกษัตริย์มากกว่ากัน “ถ้าหากฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะรู้สึกสะใจที่ผมต้องติดคุก ก็ไม่เป็นไรก็ให้เขาหัวเราะได้ตามใจชอบ เพราะยิ่งแสดงให้เห็นว่าการใช้มาตรา 112 ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น”
สุดท้ายทิวากรบอกเล่าสิ่งที่อยู่ในใจมาตลอดที่ต้องถูกคุมขังในเรือนจำว่า เป็นห่วงพ่อแม่ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ เพราะปกติเขาเป็นคนพาพ่อกับแม่ไปหาหมอที่โรงพยาบาล ซึ่งนับเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาเปลี่ยนใจขอให้ทนายยื่นประกันระหว่างฎีกา แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาเคยแจ้งความประสงค์ไว้ว่า ไม่ต้องการยื่นประกันหากศาลพิพากษาจำคุก
ทิวากรย้ำว่า การได้สิทธิประกันตัวเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีความจำเป็นที่อยากจะไปดูแลพ่อแม่ที่อายุเยอะมากแล้ว เขากลัวว่าจะไม่ทันได้ออกไปเจอพ่อแม่ก่อนตาย ซึ่งหากไม่ได้ประกันก็ไม่เป็นไร ก็ให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหัวเราะเยาะชอบใจได้ตามสะดวกเลย เพราะจะได้เป็นการตอกย้ำว่าการใช้กฎหมายนี้เป็นสิ่งที่ทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสียมากกว่า