“ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นนักกิจกรรม (Activist) แต่ที่บ้านก็ไม่ค่อยมีความสุขที่เราไปม็อบ”
ในมุมมองของ “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี เขาไม่ได้นิยามว่าตัวเองเป็นนักกิจกรรมตัวยงเพราะไม่ได้จริงจังกับมันมาก แต่ก็ถือว่ายังเป็นคนที่ออกไปร่วมกิจกรรมอยู่บ่อยครั้ง แม้ว่าการออกไปชุมนุมจะทำให้ครอบครัวไม่สบายใจ และเมื่อถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมยิ่งทำให้สถานการณ์ในบ้านและความสัมพันธ์ชีวิตคู่เต็มไปด้วยความตึงเครียด แต่เขาก็ยังคงมีความหวังว่าการออกไปชุมนุมของเขาจะทำให้สังคมไทยหันมาพูดคุยกันมากขึ้น
ฟ้าถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 จากการเข้าร่วมการชุมนุมและการแสดงออกรวม 6 คดี โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้ว 3 คดี คดีแรก คือคดีปราศรัยและร้องเพลงหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวนักศึกษาธรรมศาสตร์ ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 2 ปี ก่อนให้ประกันระหว่างอุทธรณ์ และหลังจากทั้งโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 6 พ.ค. 2568 นี้
คดีที่สอง คดีปราศรัยในการชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 ศาลลงโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือน และให้รอการลงโทษมีกำหนด 3 ปี
ส่วนคดีล่าสุดคือ คดีที่ฟ้าได้ร่วมกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง ที่หน้า สภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 ศาลลงโทษจำคุกทุกข้อหา รวมโทษจำคุก 2 ปี 10 เดือน คดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์ และได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
ท่ามกลางสถานการณ์คดีที่เขายังสุ่มเสี่ยงจะต้องถูกจองจำ ชวนทำความรู้จักกับ “ฟ้า” พรหมศร ในมุมมองของลูก คนรัก และคนธรรมดา ที่อยากให้สังคมไทยรับฟังกันมากขึ้น
.
จุดเริ่มต้นทางการเมืองจากการชุมนุมเสื้อแดง : แค่อยากเห็นชีวิตคนอื่นดีขึ้น
ฟ้า เกิดที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา แต่เติบโตและใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ มาโดยตลอด ครอบครัวของเขานับได้ว่าเป็นครอบครัวคนชั้นกลาง มีกินมีใช้พอสมควร ในช่วงสมัยที่เขายังเรียนมหาวิทยาลัยเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง “สมัยนั้นเป็นเด็กมหาลัย เป็นกะเทยหัวทองเลย ตอนนั้นได้ขึ้นไปปราศรัยด้วย” ฟ้ากล่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นกับเราเมื่อนึกย้อนไปถึงการชุมนุมครั้งแรกของเขาในช่วงปี 2553
“ก็ในเมื่อคนชั้นกลาง (Middle Class) กับคนชั้นสูง (Upper Class) ยกระดับชนชั้นทางสังคมด้วยการศึกษาเอย สังคมเอย รวมถึงคอนเน็คชั่น แล้วทำไมวันหนึ่งคนชั้นล่าง (Lower Class) จะลืมตาอ้าปากกับเขาบ้างไม่ได้?”
เหตุผลที่เลือกไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง เพราะพรหมศรมองว่าโลกของเราไม่ได้มีแค่สีขาวหรือสีดำ ไม่มีพรรคเทพหรือพรรคมาร และไม่มีนักการเมืองคนไหนมือสะอาดจิตใจบริสุทธิ์อย่างแท้จริง ในช่วงการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร เขาเห็นว่า รัฐบาลสามารถช่วยให้คนชั้นล่างลืมตาอ้าปากได้จริง ดูได้จากธุรกิจของที่บ้านที่เจริญเติบโตได้ดี รวมถึงลูกน้องของพ่อหลายคนก็เริ่มมีการเจริญเติบโตทางการเงิน และบ้านยายของเขาในต่างจังหวัดสามารถปล่อยที่นาให้คนเช่าทำนาโดยรับค่าเช่าเป็นข้าวที่เกี่ยวเสร็จแล้ว ช่วงนั้นเขาจำได้ว่าเศรษฐกิจมันดีขนาดที่ว่าบ้านเขาได้ข้าวเป็นค่าเช่ามาเยอะมากจนต้องเอาไปบริจาคตามวัดต่าง ๆ
พรหมศรเข้าร่วมการชุมนุมของคนเสื้อแดงจนถึงวันสุดท้ายที่มีการสลายการชุมนุม ในความทรงจำของเขา ในวันที่สลายการชุมนุม เมื่อเขาไปถึงที่ชุมนุมปรากฏว่าไม่มีใครอยู่เลย โทรหาคนอื่น ๆ ทุกคนก็บอกว่าให้รีบออกมาเดี๋ยวนี้ เขาออกจากที่ชุมนุมมาถึงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยประมาณเกือบ 5 โมงเย็น เจอคนพลุกพล่าน เพราะทุกคนต้องการจะกลับบ้าน และมีทหารโปรยกระดาษประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
.
การเมืองแบบเดิม ๆ นำมาสู่จำเลยคดี 112 ในปัจจุบัน
หลังจากปี 2553 พรหมศรก็เก็บตัวและไม่ได้ออกไปชุมนุมอีกเลย เขารู้สึกว่าโลกนี้มันไม่ยุติธรรม การเมืองไทยผลิตซ้ำการเมืองรูปแบบเดิม เลือกตั้งแล้วก็รัฐประหารซ้ำไปมา จนกระทั่งปี 2563 เขาเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมเราต้องทนกับการเมืองแบบเดิม ๆ ทำไมเราไม่หาทางออกทางการเมืองที่ดีกว่านี้ เช่นนั้นเขาจึงเริ่มออกมาชุมนุมอีกครั้งและได้ปราศรัยครั้งแรกที่ห้าแยกลาดพร้าว แต่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีจากการปราศรัยในครั้งนั้น หลังจากนั้นเขาได้เข้าร่วมการชุมนุมอีกหลายครั้งและต่อมาได้ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 จากการเข้าร่วมการชุมนุม รวม 6 คดี
ฟ้าเป็นลูกคนเดียวและปัจจุบันเป็นเสาหลักของบ้านในการดูแลพ่อแม่ซึ่งยังอาศัยอยู่ด้วยกัน หลังจากถูกดำเนินคดี เขาสังเกตว่าอาการป่วยของพ่อทรุดลง และเมื่อครั้งที่เขาต้องเข้าเรือนจำครั้งแรกในปี 2564 แม่ก็ล้มป่วย เส้นเลือดในสมองแตก เป็นอาการที่บอกว่าพ่อและแม่ได้รับผลกระทบกับเรื่องที่เกิดขึ้น แม้ทั้งสองจะไม่ได้พูดออกมาตรง ๆ ฟ้าอธิบายให้เราฟังว่า “บ้านเราเป็นบ้านที่นั่งคุยกันทุกวันเป็นเรื่องปกติ แต่ความตึงเครียดมันแสดงออกทางอาการป่วยของเขา”
แฟนของเขาก็เริ่มมีอาการซึมเศร้าและค่อนข้างเครียด เมื่อต้องเห็นเขาเข้าออกเรือนจำโดยที่ไม่รู้ว่าจะมีเวลาใช้ชีวิตภายนอกเรือนจำได้อีกนานแค่ไหน ท่ามกลางความไม่มีมาตรฐานของศาลทั้งการให้ประกันตัวและการพิพากษาคดีจากการแสดงออกทางการเมือง ส่งผลให้ชีวิตคู่เริ่มมีปัญหา
พรหมศรเล่าว่า ในขณะที่คู่รักคู่อื่นใช้ชีวิตคู่ ออกไปทานข้าว เที่ยว หรือทำกิจกรรมนอกบ้านด้วยกัน แต่สำหรับคู่ของเขาที่ยังต้องคอยหาเงินชักหน้าให้ถึงหลังและไม่รู้ว่าวันไหนจะต้องกลับเข้าไปในเรือนจำอีก ทำให้พวกเขาเลือกที่จะไม่ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ไม่ทำกิจกรรมที่ต้องใช้เงินเยอะ เพื่อเก็บเงินไว้ใช้ในครอบครัว คู่ของเขาจึงเน้นการใช้เวลาร่วมกัน เน้นการทำกิจกรรมในบ้านที่ใช้เงินน้อยกว่า เช่น ทำอาหาร หรือดูหนังออนไลน์ ขอเพียงแค่ได้ทำอะไรบางอย่างด้วยกันก็พอจะเติมเต็มความโรแมนติกในชีวิตคู่ได้บ้าง
.
ภาระที่หนักอึ้ง ความกังวลที่ยังทำใจรับไม่ได้หากต้องเดินเข้าเรือนจำอีกครั้ง
พรหมศรจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะเทคโนโลยีการสื่อสารมวลชน จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัจจุบันทำงานเป็นฟรีแลนซ์รับจ้างทั่วไป ถึงแม้จะมีรายได้ค่อนข้างสูง แต่รายรับก็ยังคงสวนทางกับรายจ่าย ทุกอย่างในชีวิตเขาเกิดขึ้นไวมาก หลังจากที่เขาเข้าเรือนจำครั้งแรกในวันที่ 17 มี.ค. 2564 ภายในเดือนเดียว จู่ ๆ พ่อก็อาการทรุด อาหารที่เคยกินได้ก็กินไม่ได้ ต้องปรับการใช้ชีวิตทุกอย่างแม้กระทั่งอาหารการกิน
“พ่อต้องฟอกไต สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 2,000 กว่าบาท ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมาเดือนละประมาณ 24,000 บาท โดยที่ตัวเราเองยังไม่สามารถตั้งรับได้”
สำหรับพรหมศรแล้วหลังถูกดำเนินคดีชีวิตเขาเรียกได้ว่า “เละตุ้มเป๊ะ” ไปหมด การทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ติดขัดออกมาได้ไม่ดีอย่างที่ตั้งใจไว้ แทบจะทำงานไม่ได้เลย จะสมัครงานใด ๆ ก็ไม่ได้ รายได้ก็หดหายไป ยิ่งในช่วงที่ศาลให้ประกันโดยให้ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ทำให้การเดินทางไปไหนมาไหนก็ค่อนข้างมีปัญหา
ในแต่ละเดือนฟ้าต้องหาเงินให้ได้อย่างต่ำ 35,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่รวมค่ารักษาพยาบาลของพ่อและใช้ชีวิตทั้งเดือนแบบประหยัด ในบางเดือนค่าใช้จ่ายพุ่งสูงไปถึง 50,000 บาท ซึ่งฟ้าก็ต้องทำงานหาเงินมาให้ได้
เมื่อถูกถามถึงการตัดสินใจรับสารภาพ เขาตอบว่า “เราอ่านรูปคดีก่อนทุกครั้งก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร คดีนี้ไม่รู้จะสู้ทางไหน จึงตัดสินใจรับสารภาพและไปทำอย่างอื่นมาทดแทน” เขาพูดถึงคดีที่ไปปราศรัยและร้องเพลงหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564
ฟ้าเข้าใจถึงความเสี่ยงที่จะต้องเข้าไปในเรือนจำอีกครั้ง แต่ในใจของเขาก็ไม่สามารถรับได้หากต้องกลับเข้าไปอีก เขายังไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจในเรื่องนี้เลย ถึงแม้เขาจะเคยเข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้ว แต่ก็ไม่สามารถทำใจยอมรับได้ถ้าจะต้องกลับเข้าไปอีกครั้ง เนื่องจากประสบการณ์ที่ต้องเข้าเรือนจำ ทำให้รู้ว่าเมื่อเสาหลักของบ้านหายไป พ่อและแม่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อ
ถ้าหากศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ตัดสินให้จำคุกโดยไม่รอลงอาญาจะทำให้เขาต้องกลับไปเรือนจำอีกครั้ง ชีวิตของเขาจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร เขาเองก็ยังจินตนาการไม่ออก ตอนนี้เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังกังวลเรื่องอะไร ปกติแล้วคนเราเมื่อมีความกังวลก็จะรู้ว่าต้องจดจ่อแก้ปัญหาเรื่องไหน แต่เขามีเรื่องให้คิดมากมายจนเลือกไม่ถูก จนความสุขในชีวิตสั้นลงทุกวัน สิ่งเดียวที่ยังทำให้เขาใช้ชีวิตได้อยู่ทุกวันนี้ คือการหารายได้มาดูแลครอบครัว เขาทำทุกอย่างเพื่อจะได้มีเงินซื้อข้าวปลาอาหาร มีเงินมารักษาคนในบ้าน และมีเงินที่จะไปใช้จ่ายอื่น ๆ
เดิมทีฟ้าเป็นโรคซึมเศร้าและโรคไบโพลาร์อยู่แล้ว แต่ความเครียดที่ตามมาจากการถูกดำเนินคดีเกินกว่าที่ยาจะช่วยได้ ฟ้าไม่ไปพบจิตแพทย์อยู่ 2 เดือน เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เฉพาะค่ายาของเขาก็ตกเดือนละประมาณ 3,000 บาท
“เหมือนเด็กเลี้ยงแกะ หลอกตัวเองทุกวันว่ามีความสุข แต่ในใจเรารับอะไรไม่ได้อีกแล้ว” เขากล่าว
จนฟางเส้นสุดท้ายขาดออก เมื่อฟ้ารู้สึกว่าชีวิตของเขามันทรมานเกินไป จึงตัดสินใจกลับไปพบจิตแพทย์อีกครั้ง แม้จะเป็นการเพิ่มรายจ่ายแต่ก็ยังดีกว่าใช้ชีวิตแบบเศร้าไปทุกวัน ครั้งนี้เขาได้ยาเพิ่มมามากกว่าเดิม
นอกจากการพึ่งยาต้านซึมเศร้าแล้ว สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจตอนนี้คือการทำงาน การเข้าโบสถ์ ทำบุญ ทำทาน ปล่อยสัตว์ และนั่งสมาธิ เขาเล่าว่าการทำแบบนี้มันทำให้จิตใจสงบมากขึ้น มีสติและสามารถจดจ่อกับสิ่งตรงหน้าได้ดีกว่าเดิม นอกจากนี้ฟ้าพยายามหางานอดิเรกหลายอย่างทำให้ชีวิตไม่ว่างจนเกินไป เช่น อ่านหนังสือ หรือเขียนบทความ รวมถึงวางแผนการเรียนปริญญาตรีอีกใบให้จบซึ่งเขาเล่าว่า ก่อนหน้าถูกดำเนินคดีเขาเหลืออีกประมาณ 1 ปี ก็จะเรียนจบคณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง แต่เมื่อถูกดำเนินคดีทำให้ยังไม่ได้ศึกษาต่อ
.
“ฟ้า” ยังมีหวัง
“เราเป็นมนุษย์ชอบรอมชอม เราเชื่อว่าการพูดคุยและการเจรจาต่อรองกัน มันเป็นอํานาจอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย” พรหมศรคาดหวังว่า สังคมปัจจุบันจะมีการรับฟังกันมากขึ้น เขามองว่าสังคมไทยเป็นสังคมกบเลือกนาย มันไม่มีใครที่จะดีเลิศไปจนตลอด เขาอยากจะจัดสัมมนาวิชาการเชิญตัวแทนคนที่เห็นต่างมาจับเข่านั่งคุยกัน ยังอยากเห็นสังคมที่คนหันหน้าคุยกัน ไม่ใช่สังคมที่คนจงเกลียดจงชังกัน
ฟ้ากล่าวถึงคดีมาตรา 112 ที่เขาถูกดำเนินคดีในพื้นที่ภาคใต้อีกคดีหนึ่งจากเรื่องที่เขามองว่าไร้สาระ โดยมีกลุ่มเห็นต่างไปกล่าวหา เขาเปรียบให้ฟังว่า “คุณปาหินใส่เขา แล้วหวังว่าเขาจะปาดอกไม้กลับ มันก็เป็นเรื่องที่น่างุนงง ทั้งนี้ก็รวมถึงฝ่ายเราด้วย”
“อยากแต่งงานปีนี้” ฟ้าบอกถึงอีกหนึ่งความหวังที่ยังทำให้เขามีแรงฮึดในชีวิต คือ การคิดถึงงานแต่งงาน การมีความสุขในชีวิตครอบครัว ถึงแม้ชีวิตของเขาจะต้องดิ้นรนทำงานหาเงินประคองตัวเองไปวัน ๆ แต่เขาเองก็ยังใช้ชีวิตแบบมีความหวังว่า สังคมและชีวิตเขาจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
.