วันที่ 1 พ.ค. 2568 เวลา 10.00 น. ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางเข้าพบอำนวย เปรมกิจพรพัฒนา ผู้บังคับบัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรี และคณะเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เพื่อรับฟังการชี้แจงกรณีการเผยแพร่ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรือนจำ ของ “อนุชา” ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่ถูกย้ายจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2568
ก่อนหน้านี้ 11 เม.ย. 2568 ทนายความได้เดินทางไปเยี่ยมอนุชา ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ซึ่งถูกคุมขังตามคำพิพากษาโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน มาตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 2567 ทั้งนี้เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2568 อนุชาถูกย้ายตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ตามนโยบายการย้ายผู้ต้องขังของราชทัณฑ์ โดยเขาเป็นผู้ต้องขังทางการเมืองเพียงคนเดียวที่ถูกย้ายมาเรือนจำแห่งนี้
อนุชาได้เล่าถึงชีวิตในเรือนจำพิเศษธนบุรี โดยบอกเล่าปัญหาความแออัด ระเบียบการตรวจค้นร่างกายที่รุกล้ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สภาพสุขอนามัยที่น่าเป็นห่วง โดยผู้ต้องขังจำนวนมากต้องเผชิญกับโรคผิวหนังเรื้อรัง และขาดการดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสม
นอกจากนี้ อนุชายังได้เล่าถึงระบบแรงงานบังคับในเรือนจำ เช่น การพับถุงกระดาษ ทำฟองน้ำล้างจาน หากผู้ต้องขังทำไม่ได้ตามเป้าจะมีการถูกลงโทษ และยังบอกเล่าประสบการณ์หวาดเสียวจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ที่แสดงให้เห็นถึงการจัดการภาวะฉุกเฉินและการจัดสรรพื้นที่อย่างมีข้อจำกัดในเรือนจำอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2568 ทนายความได้เดินทางไปเยี่ยมอนุชาอีกครั้ง แต่ก่อนได้เข้าเยี่ยม มีเจ้าหน้าที่เรียกตัวให้ไปพบกับ ผบ.เรือนจำพิเศษธนบุรี โดยอ้างว่าเรื่องราวของอนุชาวันที่ 11 เม.ย. ที่ได้มีการเผยแพร่ลงวันที่ 18 เม.ย. นั้น ทางเรือนจำเห็นว่าเป็นการกล่าวหาและต้องการชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ในการเข้าเยี่ยมในวันดังกล่าว ทนายได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าสามารถคุยกับอนุชาได้เพียง 15 นาทีเท่านั้น เนื่องจากอนุชาเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดแล้ว ทั้งอนุชาอยู่แดน 2 ซึ่งวันนี้ไม่ใช่วันเยี่ยมของแดน 2 แต่ที่วันนี้สามารถเยี่ยมได้ เนื่องจากทนายไม่ทราบว่าอนุชาถูกย้ายไปแดน 2 แล้ว
.
ต่อมา วันที่ 30 เม.ย. 2568 ศูนย์ทนายฯได้เข้าเยี่ยมอนุชา และได้ทราบว่าทางเรือนจำได้เรียกเขาไปสอบถามข้อเท็จจริงถึงสองครั้งแต่ไม่มีการลงโทษใดๆ ศูนย์ทนายฯยัง ได้ส่งหนังสือชี้แจงกระบวนการทำงานเยี่ยมผู้ต้องขังของศูนย์ทนายฯ และข้อเท็จจริงในโพสต์ที่เรือนจำอ้างว่าเป็นประเด็นสร้างความเสื่อมเสียให้เรือนจำ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการเข้าเยี่ยมอนุชาของทนายความ ทั้งศูนย์ทนายฯ ยินดีเข้าพบกับทางเรือนจำเพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนและรับฟังข้อเสนอแนะ ตลอดจนชี้แจงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เรือนจำชี้แจงทำถูกต้องตามระเบียบทุกอย่าง สามารถตรวจสอบได้
วันที่ 1 พ.ค. 2568 ผบ.เรือนจำพิเศษธนบุรี พร้อมกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ตอบรับการเข้าพบกับศูนย์ทนายฯ ซึ่งในการพูดคุย เป็นการชี้แจงแลกเปลี่ยนเพื่อการปรับปรุงระบบของเรือนจำให้มีมาตรฐานมากขึ้น โดยทางเรือนจำได้เตรียมการชี้แจงตามหนังสือของศูนย์ทนายฯ ในประเด็นต่าง ๆ รวม 8 เรื่อง ดังนี้
- ประเด็นความแออัดในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
ผู้บังคับบัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรี ชี้แจงว่าเรือนจำว่าสามารถรองรับผู้ต้องขังได้ราว 4,000 คน โดยการโยกย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระลอกล่าสุด (ตั้งแต่เดือน ก.พ. 68) มีผู้ต้องขังถูกย้ายมาเรือนจำพิเศษธนบุรี ประมาณ 200 คน
ผบ. ได้ชี้แจงว่าความแออัดตามคำบอกเล่าของอนุชาไม่เป็นความจริง โดยเปิดรูปภาพห้องนอนจากกล้องวงจรปิดในห้องขังให้ดูว่าไม่ได้มีความแออัดตามข้อเท็จจริงตามที่กล่าว ทั้งนี้เมื่อถามถึงจำนวนผู้ต้องขังต่อหนึ่งห้องขังว่ามีการจัดให้อยู่รวมกันเป็นจำนวนเท่าไหร่ ผบ.ได้ชี้แจงว่าไม่สามารถตอบเรื่องจำนวนได้ ขึ้นอยู่กับขนาดห้องขังซึ่งมีหลายขนาดแตกต่างกัน
- ประเด็นการถอดเสื้อผ้าตรวจค้นร่างกายก่อนขึ้นเรือนนอน
ในการตรวจค้นร่างกายตามข้อเท็จจริงที่ได้รับจากอนุชาว่าก่อนหน้านี้ที่เขาอยู่แดน 6 มีการให้ผู้ต้องขังทุกคนถอดเสื้อผ้า กางเกง เพื่อตรวจค้นสิ่งแปลกปลอมก่อนเข้าเรือนนอน แต่เมื่อโพสต์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวออกไป อนุชาก็ได้อัปเดตว่ามีการเปลี่ยนแปลงการตรวจค้นในแดน 6 ที่ดีขึ้นทันที
ทางเรือนจำได้ชี้แจงว่าการตรวจค้นร่างกายเป็นการตรวจค้นที่ถูกต้องตามระเบียบ และข้อกำหนดแมนเดลาทุกประการ โดยได้นำรูปภาพแสดงวิธีการปฏิบัติคือให้ผู้ต้องขังถอดเสื้อท่อนบนให้ดู แต่ลักษณะท่อนล่างจะใช้วิธีการตรวจแบบดึงกางเกงให้ดูข้างในเท่านั้น โดยยืนยันว่าเรือนจำไม่ได้ปฏิบัติกับผู้ต้องขังตามตามคำบอกเล่าของอนุชาแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ทางเรือนจำไม่ได้แจ้งว่ารูปภาพดังกล่าวเป็นรูปภาพการตรวจค้นเมื่อใด และเมื่อถามว่าในการตรวจค้นผู้ต้องขังกลุ่ม LGBTQ+ ที่แปลงเพศแล้ว ก็ใช้วิธีการเดียวกันนี้ทั้งหมดหรือไม่ ผบ.เรือนจำพิเศษธนบุรีได้แจ้งว่าใช้วิธีการเดียวกันกับผู้ต้องขังชาย แม้ผู้ต้องขังจะแปลงเพศแล้วก็ตาม แต่ในการตรวจจะมีฉากกั้นไว้ด้วยสำหรับกลุ่มผู้ต้องขังหลากหลายทางเพศ โดยอ้างว่ามีผู้ต้องขังที่มักลักลอบนำเข้าสิ่งผิดกฎหมาย และอาวุธเข้ามาทำร้ายกันในเรือนจำ อาจส่งผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่ถูกลดขั้นและเงินเดือน หากมีผู้ต้องขังได้รับบาดเจ็บถึงชีวิต จึงขอให้เข้าใจด้วย
- ประเด็นการดูแลผู้ต้องขังป่วย
หัวหน้าฝ่ายงานพยาบาล ได้ชี้แจงว่าผู้ต้องขังทุกคนที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำพิเศษธนบุรี จะต้องได้รับการประเมินสุขภาพกาย และสุขภาพจิต อาทิเช่น การตรวจวัดปริมาณสารเสพติด, ระดับแอลกอฮอล์, และโรคอื่น ๆ จากแพทยผู้เชี่ยวชาญ
เรือนจำพิเศษธนบุรี กล่าวว่าที่นี่มีแพทย์จากโรงพยาบาลเข้ามาตรวจร่างกายผู้ต้องขังทุกวัน และมีทันตแพทย์เข้ามาตรวจสุขภาพช่องปากทุกวันพุธ โดยกล่าวว่าเรือนจำพิเศษธนบุรีเป็นเรือนจำนำร่องเรื่องสุขภาพช่องปากอีกด้วย
ทั้งนี้ ในประเด็นเรื่องปัญหาโรคผิวหนังในเรือนจำ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลแดนพยาบาลได้ชี้แจงว่า โรคผิวหนังในกลุ่มผู้ต้องขังเกิดขึ้นได้บ่อยจากลักษณะการใช้ชีวิตของตัวผู้ต้องขังเอง บางคนไม่อาบน้ำ ก็ทำให้เกิดสุขภาวะที่แย่ลงได้ แต่ที่เรือนจำได้รับความอนุเคราะห์จากแพทย์ผิวหนัง จากสถาบันโรคผิวหนังมาตรวจให้ โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2568 ที่ผ่านมา
- ประเด็นเรื่องแรงงานในเรือนจำ
ตามข้อมูลที่กล่าวว่าผู้ต้องขังถูกใช้แรงงานให้ไปพับถุง ทำฟองน้ำล้างจานนั้น ทางเรือนจำชี้แจงว่าในการประกอบอาชีพในเรือนจำไม่มีการบังคับให้ผู้ต้องขังต้องทำงาน การทำงานของผู้ต้องขังต้องเกิดจากความสมัครใจ โดยงานที่เรือนจำพิเศษธนบุรีส่วนใหญ่จะเน้นการเสริมสร้างอาชีพช่างไม้ งานแกะสลัก ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากช่าง 10 หมู่ จากสำนักพระราชวัง เข้ามาช่วยสอนให้ หากผู้ต้องขังเรียนจนจบ ก็จะออกใบรับรองการจบหลักสูตรให้ด้วย
ทั้งนี้ ผบ.เรือนจำ ชี้แจงว่าพยายามจะไม่ให้ผู้ต้องขังอยู่เฉย ๆ โดยจะมีการส่งเสริมให้ทุกคนทำงาน เพราะหากผู้ต้องขังไม่ทำงาน ก็มักจะเกิดความวุ่นวายในเรือนจำได้
- ประเด็นการลงโทษทางวินัย
ผบ.เรือนจำ ชี้แจงตามที่ถามถึงการลงโทษทางวินัยกลางแจ้งนั้นมีจริง โดยเรียกว่าเป็นการฝึกวินัย ‘10 ท่าพญายม’ โดยยืนยันว่าเป็นการทำถูกต้องตามระเบียบแล้ว และเป็นการส่งเสริมวินัยให้ผู้ต้องขังตามนโยบายของกรมราชทัณฑ์ โดยนำภาพถ่ายที่ผู้ต้องขังกำลังฝึกอยู่กลางแจ้งให้ทนายความได้ดู
- ประเด็นการตรวจสอบอาคารสถานที่ตอนเหตุแผ่นดินไหว
ในประเด็นนี้ ทางเรือนจำได้มีการตรวจสอบอาคารสถานที่ในบริเวณเรือนจำทั้งหมด เมื่อวันที่ 28 มี.ค. โดย ผบ.เรือนจำ ได้แจ้งว่ามีการย้ายผู้ต้องขังจากชั้นบนลงมาชั้นล่าง ให้ทุกคนได้อยู่ในที่ปลอดภัย ซึ่งเมื่อมีผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจอาคารเสร็จสิ้น ก็ได้โยกย้ายให้ผู้ต้องขังกลับขึ้นบนอาคารเช่นเดิม
- ประเด็นการพูดจาคุกคามแพทย์หญิงที่เข้ามาตรวจผู้ต้องขัง
ในประเด็นนี้ ทาง ผบ.เรือนจำ ได้ชี้แจงว่าหากผู้ต้องขังคนไหนมีพฤติกรรมที่ชัดเจน แม้เป็นเพียงการพูดจา ก็จะถูกอุ้ม ซึ่งหมายถึงการเข้าไปจัดการย้ายตัวไปไว้ที่อื่น และมีการลงโทษทางวินัย พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวน เรือนจำยืนยันว่าตัวเองได้ปฏิบัติงานอย่างเข้มงวดทุกกรณี
- ประเด็นการเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษธนบุรี
เรือนจำชี้แจงว่าในกรณีการเยี่ยมผู้ต้องขังเด็ดขาดจะกำหนดเวลาไว้ที่ 15 นาที และอนุชาเป็นกลุ่มผู้ต้องขังเด็ดขาดแล้ว ทนายความไม่มีเหตุให้ต้องเข้าเยี่ยมเพื่อการปรึกษาใด ๆ อีก
ทั้งนี้ ทนายความได้ชี้แจงว่าการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังของศูนย์ทนายฯ ไม่เพียงแต่การปรึกษาพูดคุยทางคดี แต่ยังรวมไปถึงสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำ และชีวิตจิตใจของพวกเขา ทั้งเป็นการรณรงค์สื่อสารที่เกี่ยวเนื่องกับผู้ต้องขังทางการเมืองอีกด้วย จึงขอให้เรือนจำปรับเวลาให้เหมาะสม โดยในเรือนจำอื่น ก็ไม่ได้มีการกำหนดเวลาเช่นนี้ ประกอบกับคำพิพากษาของศาลปกครอง ที่ได้วินิจฉัยในประเด็นว่า แม้ผู้ต้องขังจะมีสถานะทางคดีสิ้นสุดแล้ว แต่ทนายความก็ยังมีสิทธิในการเข้าพบผู้ต้องขังในเรือนจำได้
อย่างไรก็ตาม ในการพูดคุยและชี้แจงทั้งหมดในวันนี้ ศูนย์ทนายฯ ได้รับทราบข้อเท็จจริงจากเรือนจำพิเศษธนบุรี และหวังว่าจะทำงานร่วมกันในการปรับปรุงและพัฒนาเรือนจำด้วยกันต่อไป โดยทางเรือนจำได้แจ้งว่ามีการชี้แจงข้อร้องเรียนต่าง ๆ ไปยังอธิบดีกรมราชทัณฑ์และสภาทนายความเรียบร้อยแล้ว