10 ต.ค. 2567 เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เข้าเยี่ยม “พลอย” ธนพร แม่ลูกอ่อนชาวอุทัยธานีวัย 24 ปี ซึ่งถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. 2567 หลังถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดีมาตรา 112 จากการใช้บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ของเพจเมื่อช่วงปี 2564 และทำให้คดีถึงที่สุดลง
ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ส.ค. ธนพรได้เข้าร่วมอบรมการเป็นอาสาพยาบาลของเรือนจำ เป็นเวลา 5 วัน โดยในตอนนั้นเธอได้ใส่เสื้อสีชมพู แตกต่างจากผู้ต้องขังคนอื่นที่ใส่เสื้อสีฟ้า นอกจากจะได้ประกาศนียบัตรไว้ประกอบสำหรับการเลื่อนชั้นนักโทษแล้ว ธนพรบอกว่าเธอจะต้องย้ายแดนกลับไปที่แดนแรกรับอีกครั้ง หากได้รับเลือกเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ ซึ่งทำหน้าที่เป็นอาสาพยาบาล
“หนูเข้าอบรมมาแล้ว 5 วัน เขาให้สมัครว่าใครจะไปเป็นผู้ช่วยที่แดนแรกรับ หนูก็ยกมือลงชื่อกับเขาด้วย ก็มีคนสมัครเยอะอยู่นะคะ” ธนพรเล่าด้วยน้ำเสียงสดใส อย่างไรก็ตามจากการติดตามสอบถามในอาทิตย์ถัดมา พบว่าธนพรยังไม่ได้รับเลือกให้เป็นอาสาพยาบาลอย่างที่เธอตั้งใจ
ลูกยังเป็นพลังใจให้อยู่ได้
ธนพรเล่าให้ฟังว่าสถานการณ์ในเรือนจำ ยังปกติสุขตามอัตภาพ เริ่มอยู่ได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้นในเดือนที่สี่ แม้จะยังคิดถึงลูกอยู่ ก่อนหน้านี้เธอบอกว่าพ่อสามีอาจจะพาลูกมาเยี่ยมในวันใดวันหนึ่ง เพียงแค่ฝันถึงเรื่องนี้เธอก็มีความสุขมาก ๆ อย่างไรก็ตามเธอเข้าใจว่าการพาเด็กเล็กถึงสองคน เดินทางมาเรือนจำไม่ใช่เรื่องง่ายจึงพยายามไม่คาดหวังว่าจะได้พบหน้าลูก
“พ่อบอกว่าอาจจะพาลูกมาเยี่ยม หนูก็อยากเจอพวกเขานะ แต่ไม่รู้ว่าเขาจะจำหนูได้มั้ย ถ้าเขาจำได้ ตอนจากกันเขาจะร้องไห้งอแงมั้ย แต่ถ้าเขาจำไม่ได้ ก็อาจเป็นเราที่เสียใจ”
“พ่อเขาเล่าให้ฟังว่าลูกคนโตก็ยังเล่นกับน้องดี ดูรักน้องอยู่ถึงเขาจะยังเล็กกันทั้งคู่ ได้รู้ว่าเขาสองคนรักกันดี หนูก็มีความสุข”
ยังสนใจความเป็นไปของบ้านเมือง-การนิรโทษกรรม
ธนพรยังได้ทราบเรื่องราวทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมาอยู่กลาย ๆ เนื่องจากคนในเรือนจำพูดกันอย่างมาก ทั้งเรื่องการยุบพรรคก้าวไกลและเรื่องการอภัยโทษ เธอสอบถามแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์การเมืองข้างนอก และพูดถึงความรู้สึกตอนที่ทราบว่าพรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบถูกยุบพรรคอีกครั้ง
“เชื่อมั้ย หนูร้องไห้เลย อภัยโทษที่ทุกคนเฝ้ารอในรอบนี้ มีหลายคนไม่ได้อภัยโทษเพราะติดเงื่อนไขต้องรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 หนูเองก็ไม่ได้ แต่หนูไม่ร้องไห้นะ ไม่ได้คาดหวังมากนักกับครั้งนี้ แต่ตอนรู้ว่าพรรคถูกยุบ พิธาถูกตัดสิทธิ์หนูร้องไห้เลย เสียใจยิ่งกว่าตัวเองไม่ได้อภัยโทษอีก”
นอกจากนี้ธนพรยังมักถามถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับกระบวนพูดคุยเรื่องการนิรโทษกรรมทางการเมืองอยู่เสมอเพราะอาจเป็นหนึ่งในหนทางที่เธอจะได้กลับบ้านเร็วขึ้น
ธนพรบอกว่าการได้ทราบข่าวสารข้างนอกจากคนที่มาเยี่ยมนั้นสำคัญและมีความหมายมาก แม้จะเป็นการเข้าเยี่ยมเพียง 15 นาทีก็ตาม เพราะคนที่ไม่มีใครมาเยี่ยมเลยกว่าจะรู้เรื่องราวข้างนอกบางทีผ่านไปนานเป็นเดือนเลยทีเดียว
เธอยังเล่าว่าพี่สาวที่เป็นญาติกันเพิ่งได้มีโอกาสมาเยี่ยมเธอครั้งแรกในรอบหลายเดือน เธอเข้าใจดีว่าการเดินทางมาเยี่ยมที่เรือนจำต้องสละเวลาทั้งวัน ยิ่งเดินทางมาจากที่ไกล ๆ (บ้านของเธออยู่ที่จังหวัดอุทัยธานี) จึงไม่บ่อยนักที่จะมีใครมาเยี่ยมเธอ การที่ได้เจอญาติจึงทำให้เธอดีใจมาก
ยื่นขออภัยโทษเฉพาะรายตามสิทธิที่ทำได้
ในช่วงต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ธนพรยังได้ยื่นเรื่องขออภัยโทษเป็นการเฉพาะรายไปผ่านทางเรือนจำ เธอเล่าให้ฟังว่าเธอเป็นแค่ 1 ใน 2 คน ของเรือนจำที่ยื่นขอ แม้จะไม่ได้คาดหวังมากนักเพราะใคร ๆ ก็ดูเหมือนจะบอกว่ามีโอกาสได้น้อย และคงใช้เวลาพิจารณานาน ทั้งไม่สามารถติดตามผลได้อย่างแน่ชัด แต่เธอคิดว่าเป็นหนึ่งในช่องทางที่อยากจะลองดูเพราะอย่างน้อยก็ถือว่าได้พยายาม
เจ้าหน้าที่ที่มาพูดคุยแจ้งว่าคงจะประสบความสำเร็จยาก เนื่องจากเธอไม่มีคุณงามความดีหรือเกียรติบัตรใดใดไปแสดงให้เจ้าหน้าที่เห็น เจ้าหน้าที่บอกว่าคนอื่นมีผลงานแสดงความดีจำนวนมาก ขณะที่ธนพรมีเพียงภาพถ่ายกับลูก ๆ ที่ยังเล็กเท่านั้น
เสื้อผ้าไม่หายอีกต่อไปเมื่อใช้บริการเรือนจำ
ปัจจุบัน ธนพรยังคงทำงานในกองงานร้อยมาลัย เธอบอกว่าอาจจะเหมาะกับงานนี้เพราะทำให้จิตใจสงบขึ้น นอกจากนี้เธอยังบอกว่าหนังสือเป็นเพื่อนที่ดี โดยหลัง 4 โมงเย็นที่เธอต้องเข้าห้องขังอยู่จนถึงรุ่งเช้าของอีกวัน ทำให้การอ่านเป็นกิจกรรมหนึ่งในเวลาแบบนี้ “หนูชอบอ่านหนังสือนะ ห้องสมุดที่นี่ดี มีหนังสือหลายประเภทมากเลยค่ะ”
ทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ของเธอ ธนพรเล่าเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ของไม่หายอีกต่อไป หลังจากช่วงก่อนหน้านี้เธอประสบปัญหาผ้าที่ตากไว้มักหายไปเสมอ
“หนูจ่ายค่าซักรีดหลวงค่ะ ราคา 380 บาทต่อเดือน ของไม่หายอีกเลย” เธอบอกว่าดีมากที่มีบริการนี้เพราะเป็นมาตรฐานที่จะได้รับเสื้อผ้าที่สะอาดและไม่สูญหาย ไม่ต้องคอยเฝ้าหรือจ้างนักโทษด้วยกันซัก เพราะเป็นบริการซักผ้าของตัวเรือนจำเอง
ถูกจับตามองว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง เพราะได้รับความช่วยเหลือจากคนข้างนอก
ธนพรยังตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่เธอเข้ามาอยู่ในเรือนจำเกือบจะเข้าเดือนที่ 5 แล้ว เธอรู้สึกว่าตัวเองถูกจับตามองพอสมควร และมักจะได้รับคำถามที่เธอเองรู้สึกว่า “แปลก”
“ปกติหนูพยายามที่จะไม่คุยกับใครมากเพราะกลัวจะมีปัญหากับคนอื่น แต่ว่าหลายครั้ง ก็มักมีคนเข้าใจว่าหนูถูกจ้างมาให้ทำผิด และติดคุกโดยมีค่าตอบแทน”
“เขาคิดว่าการที่เราโพสต์เฟซบุ๊ก แล้วถูกศาลพิพากษามีเบื้องหน้าเบื้องหลัง จากการที่ถึงแม้ว่าเราจะติดคุกแต่ก็มีกองทุนคอยช่วยเหลือเป็นเงินรายเดือนและมีคนมาเยี่ยมเสมอ เขาชอบถามว่าคนที่มาเยี่ยมเป็นใคร เป็นอะไรกัน คนช่วยยื่นเอกสารอภัยโทษเป็นใคร”
ธนพรบอกว่าการที่คน ๆ หนึ่ง จะแสดงความคิดเห็นลงในช่องทางออนไลน์แล้วถูกลงโทษ แต่ก็ยังมีคนช่วยเหลือเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนอื่น
ก่อนจากกันธนพรพูดย้ำถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตเธอนั่นก็คือ “ลูก”
“หนูคิดถึงพวกเขามากแต่ก็จะพยายามอดทน ที่อดทนอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะมีลูก ถึงจะไม่ได้เจอตัวลูกจริง ๆ มาหลายเดือนแล้ว”
แม้มีการพูดคุยกันมาหลายครั้งว่าแฟนของเธอจะนำลูกมาเยี่ยม แต่เธอก็เข้าใจว่าเขาต้องทำงาน ส่วนเธอเองก็หวั่นใจว่าลูกอาจงอแง หรือไม่ก็อาจลืมเธอไปแล้ว ทำให้ยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะนัดแนะกันเพื่อพาลูกมาเยี่ยม เธอรู้สึกว่าไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาทางไหน เธอก็คงจะรู้สึกเจ็บปวดทั้งสิ้น จึงเลือกที่จะให้สามีพาลูกมาดีกว่าเพราะอย่างน้อยก็จะได้เจอตัวกันจริง ๆ เสียที
“คุยกันว่าสิ้นเดือนนี้เขาจะพาลูกมาเยี่ยม อย่างน้อยก็ให้ลูกเห็นเราไปเลย มันคงเป็นวันที่หนูตั้งตารอ”
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
บันทึกเยี่ยม “ธนพร” 2 เดือนในเรือนจำ ยังหลับฝันถึงลูกทุกคืน
บันทึกเยี่ยมธนพร: 1 เดือนผ่านเหมือนนานมาก คิดถึงลูกจนไม่อยากทำอะไร
“อยากเป่าเค้กวันเกิดกับลูกอีกสักครั้ง”: คุยกับ “ธนพร” แม่ลูกอ่อน จำเลย ม.112 ในวันใกล้ฟังคำพิพากษาศาลฎีกา