เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2568 เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เข้าเยี่ยม “พลอย” ธนพร แม่ลูกอ่อนชาวอุทัยธานีวัย 24 ปี ซึ่งถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 อยู่ที่ทัณฑสถานหญิงธนบุรี มาตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. 2567 หลังถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปี จากการใช้บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์เมื่อช่วงปี 2564 ทำให้คดีสิ้นสุดลง
เมื่อเจอกัน พลอยฝากขอบคุณเรื่องการระดมเงินเป็นค่าอาหารปีใหม่ให้ผู้ต้องขังทางการเมือง เป็นความสุขเล็ก ๆ ที่เธอได้รับและได้แบ่งปันให้คนอื่น เพื่อน ๆ ร่วมห้องขังรู้สึกแปลกใจที่เธอได้รับอาหารจำนวนมาก เธอเล่าให้ฟังว่าที่นี่ถ้าใครไม่มีเงิน ก็จะลำบากไปจนถึงโดนบูลลี่เลยทีเดียว
“ยิ่งถ้าคดีการเมืองแล้วติดคุก คนก็อาจจะมาพูดว่าสมน้ำหน้าไม่มีคนช่วย” แต่บังเอิญว่าเธอได้รับการช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอจากสองกองทุน ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออาหารหรือการฝากเงิน ทำให้ไม่ต้องมีเรื่องกับใคร
.
เยี่ยมญาติใกล้ชิดครั้งแรก – ลูกคนเล็กไม่ให้อุ้ม จำแม่ไม่ได้
ปัจจุบัน “พลอย” ธนพร ถูกขังมาแล้ว 8 เดือน ในวันที่ 24 ม.ค. 2568 เป็นครั้งแรกที่พลอยได้รับอนุญาตให้เยี่ยมญาติใกล้ชิด ได้พบหน้ากับ สามี แม่ และลูกทั้งสองคน ซึ่งเดินทางมาจากอุทัยธานี โดยไม่ได้มีสิ่งใดขวางกั้น พร้อมรับประทานอาหารร่วมกัน ราว 2 ชั่วโมง
พลอยร้องไห้อยู่ตลอดขณะได้อุ้มลูกคนโต (อายุ 2 ขวบเศษ) ส่วนลูกคนเล็ก (อายุ 1 ขวบ) จากกับเธอตอนที่ยังแบเบาะมาก ทำให้ดูเหมือนไม่สามารถจดจำพลอยได้ และไม่ยอมให้เธออุ้ม สามีบอกว่า แม้ลูกคนเล็กจะได้เห็นหน้าแม่อยู่บ้างเวลาที่เขาจองเยี่ยมพลอยผ่านทางไลน์ แต่การไม่ได้อยู่ร่วมกันและเจอกันอย่างใกล้ชิด ทำให้ลูกไม่สามารถจำพลอยได้ จึงเป็นที่มาทำให้เธอร้องไห้ไปตลอดจนหมดเวลาเยี่ยม
พลอยเล่าให้ฟังว่าช่วงก่อนจะมีการประกาศเพิ่มรอบเยี่ยมญาติใกล้ชิด มีคนน้อยมากได้รับอนุญาตให้เยี่ยมญาติใกล้ชิด ปัจจุบันจากการทำกิจกรรมในเรือนจำและรับโทษมาแล้ว 8 เดือน ถือได้ว่าพลอยรับโทษเข้าเกณฑ์ 1 ใน 3 ที่จะได้เลื่อนเป็นนักโทษชั้นดีแล้ว อย่างไรก็ตามในช่วงที่มีการเปิดเยี่ยมญาติใกล้ชิด พลอยและเพื่อน ๆ อีกหลายคนยังไม่ได้รับการปรับชั้นนักโทษ ทำให้ไม่มีสิทธิ์ได้เยี่ยมญาติใกล้ชิด พลอยบอกว่าเธอร้องไห้อยู่พักใหญ่หลังจากทราบเรื่องนี้ แต่ภายหลังเรือนจำได้พิจารณาเพิ่มรอบเยี่ยมญาติใกล้ชิดให้กับนักโทษชั้นกลางด้วย ทำให้เธอได้มีโอกาสเจอลูกและครอบครัวในวันนี้
ช่วงหลัง ๆ ทุกครั้งที่เจอหน้ากัน พลอยมักพูดถึงเรื่องการคุมขังนอกเรือนจำ เนื่องจากไม่ว่าจะมีความเคลื่อนไหวใด ๆ เกี่ยวกับเรือนจำ ก็มักจะมีข่าวลือลักษณะต่าง ๆ เข้ามาเสมอ เธอสนอกสนใจเรื่องการคุมขังนอกเรือนจำมาก ถ้าหากเรื่องนิรโทษกรรมที่รวมคดี 112 ยังไม่เกิดขึ้น นโยบายนี้ก็ดูจะเป็นความหวังใหม่ของเธอ
อย่างไรก็ตาม ระเบียบการคุมขังนอกเรือนจำยังอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นโดยกรมราชทัณฑ์ ไปเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา และยังไม่ได้มีการประกาศใช้ หรือหากประกาศใช้ ต้องพิจารณาเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นด้วย เธอทราบว่าต้องเผื่อใจไว้
.
เรือนจำเปลี่ยนกฎเกณฑ์ จำกัดการใช้น้ำ-กำหนดเวลากินข้าว สร้างความเครียดให้ผู้ต้องขัง
นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงโยกย้ายผู้บริหารเรือนจำ พลอยบอกว่าในช่วงแรกทำให้เธอรู้สึกกดดันเป็นอย่างมาก เนื่องจากกฎการใช้ชีวิตในเรือนจำเข้มข้นขึ้น ก่อนหน้านี้เธอไม่เคยแสดงความเครียดหรือบ่นเรื่องการดูแลหรือกฎเกณฑ์ในเรือนจำมากนัก เพียงบอกว่าเข้าใจว่าที่นี่เป็นเรือนจำ ยังไงก็คงมีกฎ และคิดว่าปรับตัวที่จะอยู่ได้
แต่ประมาณเดือนพฤศจิกายน เธอเริ่มพูดถึงกฎเกณฑ์ของเรือนจำที่เคร่งครัดขึ้น สิ่งที่เคร่งครัดมากเป็นต้นว่า การอาบน้ำ กินข้าว จะมีเสียงเตือนว่าหมดเวลาแล้ว เธอไม่แน่ใจว่ามันนานเท่าไหร่ แต่ในความรู้สึกของเธอ คิดว่าเวลาที่ถูกกำหนดขึ้นมาใหม่ สั้นกว่าเวลาการทำกิจวัตรประจำวันในช่วงก่อน เธอบอกว่าดีที่เธอไม่ได้ซักผ้าเอง ไม่เช่นนั้นเวลาของการอาบน้ำคงจะถูกบีบลงไปอีก
นอกจากนี้กฎของการซักผ้าก็เปลี่ยนใหม่ คนที่ซักผ้าจะได้รับอนุญาตให้ซักได้แค่ตอนเช้าเท่านั้น เป็นช่วงเวลาหลังอาบน้ำตอนเช้ามืดเสร็จ ทั้งที่ปกติแล้วจะซักผ้าช่วงเย็นก่อนขึ้นเรือนนอนได้ พลอยบอกว่าดูเหมือนจะมีการควบคุมการใช้น้ำ โดยมีคำอธิบายว่าน้ำไม่พอใช้ แต่เธอไม่ทราบว่าเหตุผลจริง ๆ คืออะไรกันแน่
“เรือนจำยังเพิ่มกฎจุกจิก เช่น ห้ามเอาขนมขึ้นไปกินบนเรือนนอนหลังจากเข้าห้องขังช่วงเย็น การไม่ได้กินอะไรอีกเลยหลัง 3 โมงเย็น เป็นเรื่องผิดปกติจากเวลาอาหารทั่วไป แม้ไม่ได้กินข้าวมื้อใหญ่ก็ควรได้กินอะไรรองท้องบ้าง จนกว่าจะเข้าสู่เช้าของอีกวันนึง” พลอยสะท้อนความบีบคั้นของการใช้ชีวิตในเรือนจำ
“ในเรือนจำที่มีคนอยู่จำนวนมาก จะต้องมีเสียงดังของคนที่พูดคุยกันอยู่แล้ว แต่ถ้าที่นี่ห้ามไม่ให้คุยกันเสียงดัง หมายถึงว่าทั้งแดนถ้าเริ่มเสียงดังขึ้นมาเมื่อไหร่ก็อาจจะมีการโดนทำโทษ อาจจะโดนทำโทษยกแดน ด้วยการงดขายอาหาร-ของใช้”
พลอยยังคงเล่าเรื่องกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เคร่งครัดขึ้น รวมไปถึงเรื่องแนวคิดที่จะแยกห้องให้ทอมอยู่กับทอม เพื่อป้องกันการจับคู่กันเองของผู้ต้องขัง พลอยมองว่ามันดูเป็นเรื่องตลกและเธอไม่อยากเดือดร้อนจากกฎนี้
“ถ้าหากมีการแยกห้องโดยเฉพาะ ห้องที่ถูกระเบิดออกเพื่อมาเป็นห้องขังทอม ก็อาจจะเป็นห้องของหนู หนูไม่อยากจะต้องไปทำความรู้จักเพื่อนร่วมห้องใหม่ และหัวหน้าห้องใหม่” อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้เรื่องนี้ยังคงเป็นเพียงแนวคิดอยู่ และพลอยก็โล่งใจที่ยังไม่มีนโยบายแยกขังอย่างชัดเจนในเรือนจำ เธอบอกว่าในเรือนจำนี้ น่าจะมีผู้มีความหลากหลายทางเพศราว 60 คน
.
หาช่วงเวลาที่สงบ ท่ามกลางความวุ่นวายในเรือนจำ
พลอยยังเล่าว่า เธออยากได้ช่วงเวลาที่เงียบสงบของชีวิตและไม่ถูกกดดันบ้าง เพราะว่าในเรือนจำมีแต่ความวุ่นวาย เธอจึงไปเข้าอบรมนุ่งขาวห่มขาวเป็นเวลาหนึ่งเดือน เป็นกิจกรรมปฏิบัติธรรมที่เรือนจำจัดให้ โดยเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. ถึง 31 ม.ค. ต้องใส่เสื้อขาว สวดมนต์ เดินจงกลม นั่งสมาธิ ฟังเทศน์ ทำวนไปทั้งวัน เว้นช่วงพักเที่ยงกิน เลิกกิจกรรมประมาณบ่ายสองโมงครึ่ง
ก่อนจากกันพลอยบอกว่ามีเรื่องที่อยากจะขอความช่วยเหลือ คือเรื่องสายตา เธอบอกว่าเพิ่งรู้ตัวว่าตัวเองมองอะไรไม่ค่อยเห็นมาตลอด น่าจะมาจากการเคยจ้องมือถือกับเลี้ยงลูก ไม่ได้ต้องมองอะไรไกล ๆ ทำให้ไม่เคยรู้ว่าตัวเองสายตาสั้น โดยจากการลองใส่แว่นสายตาของเพื่อนในเรือนจำ เธอคิดว่าตัวเองน่าจะมีค่าสายตาสั้นประมาณ 250 จึงอยากขอความช่วยเหลือในเรื่องการตัดแว่น
“มองทีวีอะไรก็ไม่เคยเห็นกับชาวบ้านเค้าเลย แต่ก็คิดว่าไม่มีอะไร จนลองเอาแว่นเพื่อนมาใส่ และพบว่าโลกสดใสขึ้น จึงฝากว่าถ้าเป็นไปได้ อยากขอให้ส่งแว่นเข้ามาซักหนึ่งอัน” เธอฝากทิ้งท้ายเพื่อประสานความช่วยเหลือต่อไป
.
ย้อนอ่านเรื่องของธนพร
.